13 กุมภาพันธ์ 2557

การขุดสระในพื้นที่ลาด และสระว่ายน้ำธรรมชาติ

วันนี้ขอออกนอกเรื่องนิดหน่อยไป  ขอพูดเรื่องการขุดสระน้ำ (ที่ผมก็ยังไม่เห็นด้วยสำหรับการอนุรักษ์น้ำในพื้นที่แล้งจัด) เนื่องจากมีคนถามเกี่ยวกับตำแหน่งขุดสระน้ำในพื้นที่ลาดเทซึ่งจะต่างกับ พื้นที่ราบลุ่ม  ในพื้นที่ราบลุ่มไม่ค่อยมีความแตกต่างของระดับ  เราจะขุดตรงไหนก็อาจจะไม่แตกต่างมากนักเนื่องจากดินอยู่ในระดับพอๆ กัน  ปัญหาเล็กน้อยก็คือเราอาจะต้องปรับระดับที่ดินบ้างเพื่อให้น้ำไหลมาลงสระ น้ำ  แต่ปกติในที่ราบลุ่มจะมีสัดส่วนของดินที่มีความละเอียด (ดินเหนียว) มากกว่าที่ดอนจึงมีโอกาสที่จะเก็บน้ำได้มากกว่า  รวมทั้งการอยู่ในพื้นที่ต่ำจึงมีระดับน้ำใต้ดินที่สูงอยู่แล้วจะได้เปรียบ เรื่องอัตราการซึมของน้ำลงใต้ดินที่น้อยกว่า

สำหรับคนที่มีที่ดินบน ที่ลาดเทจะได้เปรียบเรื่องทิศทางการไหลของน้ำที่ชัดเจน   หากสระน้ำที่จะขุดมีขนาดใหญ่มากก็จะต้องการพื้นที่รับน้ำมากอาจจะต้องเลือก พื้นที่ที่ต่ำที่สุดในดิน  แต่ก็จะต้องใช้พลังงานในการสูบน้ำขึ้นมาใช้งานมากกว่าการขุดสระไว้บนที่สูง ที่สุดในที่ดินซึ่งเราสามารถปล่อยน้ำให้ไหลลงจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำได้โดยไม่ ใช้ปั๊ม   แต่การขุดสระไว้บนที่สูงสุดของที่ดินเราก็ต้องมั่นใจว่ามีที่ดินที่สูงขึ้น ไปกว่าตำแหน่งของสระที่ใหญ่พอที่จะเป็นพื้นที่รับน้ำให้ไหลมาลงสระของเรา  ไม่งั้นปริมาณน้ำลงสระจะมีไม่พอ

แต่หากสระที่เราจะขุดมีขนาดไม่ใหญ่ มาก และ/หรือที่ดินของเรามีขนาดใหญ่ (ขออภัยที่โจทย์ข้อนี้อาจจะเกี่ยวข้องเฉพาะสำหรับคนที่มีที่ดินขนาดใหญ่กว่า 10 ไร่ และอยู่ในพื้นที่ลาดเอียง) ปัญหาเรื่องพื้นที่รับน้ำอาจจะไม่ใช่ประเด็นใหญ่ ประเด็นจะอยู่ที่ปริมาณดินที่เราต้องเคลื่อนย้าย  ยิ่งเราเคลื่อนย้ายดินมากก็จะแปลงเป็นเงินค่าขุดที่มากขึ้นตามตัว  ในกรณีนี้ผู้รู้จึงแนะนำให้ขุดที่ตำแหน่ง key line คือบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงความลาดชันของที่ดินจากชันมากมาเป็นชันน้อยลง  การขุดที่ตำแหน่งนี้จะเป็นจุดที่การเคลื่อนย้ายดินจะทำน้อยที่สุดสำหรับ ขนาดสระที่ใหญ่เท่ากัน  วิธีการขุดคือการตักเอาดินด้านที่สูงกว่ามาโป๊ะเป็นเนินในด้านที่ต่ำกว่า  น้ำที่ปกติไหลจากที่สูงมาสู่ที่ต่ำก็จะถูกดักลงสระของเรา



หาก เราเลือกตำแหน่งขุดที่สูงขึ้นไปทางด้านที่ชันมากกว่า  ที่ระดับความลึกที่เท่ากันสระที่ขุดได้จะเก็บน้ำได้น้อยกว่าและเนินดินด้าน ที่ต่ำกว่าจะมีความเสี่ยงมากกว่าเนื่องจากจะต่ำว่าระดับดินเดิมเยอะ จึงจะต้องทำเนินดินขนาดใหญ่ขึ้น (เปลืองเงินมากขึ้น)   ในขณะที่การเลือกขุดสระในต่ำแหน่งที่ต่ำลงไป  ที่ระดับความลึกที่เท่ากันสระจะกินบริเวณที่จะโดนน้ำท่วมเยอะกว่า  ทำให้เราสูญเสียพื้นที่ปลูกต้นไม้ไปเยอะกว่า



นอก จากนั้นผู้รู้ยังบอกอีกว่าในลักษณะที่ดินแบบนี้เวลามีไฟป่า  อากาศร้อนจะไหลจากล่างขึ้นบน  ตำแหน่งสร้างบ้านที่เหมาะสมคือ อยู่ด้านที่สูงกว่าสระน้ำ  เวลาไฟไหม้จากด้านที่ต่ำว่าเปลวไฟจะได้โดนน้ำในสระกั้นไว้ไม่มาถึงบ้าน  ส่วนไฟไหม้ในป่าด้านที่สูงกว่าตำแหน่งบ้านก็จะไหม้ขึ้นไปด้านบนมากกว่าจะ ลามมาทางบ้าน



ด้วย เหตุนี้กระมังผู้รู้จึงไม่แนะนำให้สร้างบ้านบนเนินสูงสุดในที่ดินเพราะจะโดน ลมแรงมากเนื่องจากไม่มีเนินที่สูงกว่าบังลมให้  ลักษณะที่ดินที่เหมาะสมจึงมีความลาดบ้าง แต่ไม่ควรติดชายเขามากนัก (ไม่แนะนำให้สร้างบ้านในบริเวณที่ชันกว่า 20 องศา) เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดินโคลนถล่มตอนฝนตกเยอะๆ  (ในรูปผมวาดให้ลาดเอียงเว่อร์ๆ เพื่อให้เห็นภาพ  ในทางปฏิบัติไม่ควรสร้างบ้านบนที่ดินที่ชันเกิน 20 องศา)
เนื่องจากเจ้าขอที่ดินเลือกขุดสระในบริเวณแนว ร่องน้ำเดิม  ซึ่งมีข้อดีคือไม่ต้องปรับระดับที่ดินมาก น้ำฝนที่ตกในพื้นที่รอบๆ ก็จะไหลมาลงสระน้ำเอง  และเราก็รู้ทิศทางการไหลของน้ำ แต่เพื่อให้สมบูรณ์แบบมากขึ้นขอแนะนำองค์ประกอบอีก 2 ส่วนคือ

1. บ่อดักตะกอน (silk catchment basin) ซึ่งจะต่อท่อน้ล้นเหมือนในรูปด้านล่าง หรือทำเป็นแนวให้น้ำล้นข้ามมาเลยก็ได้  วัตถุประสงค์ของบ่อดักตะกอนจะเป็นเหมือนชื่อคือช่วยยืดอายุของสระน้ำ ไม่ให้ตื้นเขินเร็วจนเกินไปด้วยการชะลอน้ำที่ไหลมาเร็วในช่วงฝนตกหนัก  ทำให้ตะกอนบางส่วนตกตะกอนในบ่อดักตะกอนทำให้ชะลอการตื้นเขินของสระน้ำ  นานๆ ไปบ่อดักตะกอนก็จะตื้นเขินขึ้น เราค่อยมาขุดลอกบ่อดักตะกอนซึ่งตื้นในระดับที่ใช้แรงงานคนในการขุดได้  ส่วนการขุดลอกสระจะเป็นเรื่องใหญ่กว่าเนื่องจากต้องขุดลงไปลึกอาจจะต้องใช้ รถตักในการขุดลอก

2. ท่อน้ำล้น หรือทางน้ำล้น  ซึ่งควรจะติดตั้งที่ระดับต่ำกว่าขอบสระอย่างน้อย 50 ซม. เพื่อให้น้ำที่มากเกินไปในสระ (ในช่วงฝนตกมาก) สามารถล้นออกไปยังแนวร่องน้ำเดิมได้โดยไม่เซาะทำลายคันดิน  ส่วนจะทำเป็นท่อน้ำล้น หรือทางน้ำล้นขึ้นอยู่กับการออกแบบของเจ้าของที่ดินครับ



นอก จากนั้นประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ พยายามให้สระลึกเพียงด้านเดียว (ควรจะเป็นทางด้านคันดินตามรูป)  พยายามอย่าให้สระสมมาตรเกินไป  เนื่องจากการทำแบบนี้จะทำให้เกิดการไหลเวียนของน้ำได้ดีกว่า  โดยน้ำในด้านที่ตื้นกว่าจะร้อนกว่า น้ำในด้านที่ลึกกว่าจึงเกิดการไหลเวียนของน้ำเนื่องจากความแตกต่างของ อุณหภูมิ และความที่สระไม่สมมาตร   ในระหว่างที่เกิดการไหลเวียนน้ำที่อยู่ด้านล่างก็จะขึ้นมาด้านบนบ้างทำให้ สัมผัสกับอากาศเกิดการละลายตัวของอ๊อกซิเจนลงไปในน้ำมากกว่าน้ำที่ไม่ไหล เวียนเลย   หากต้องการให้มีความแตกต่างของอุณหภูมิมากขึ้นไปอีกให้นำเอาหินก้อนใหญ่ๆ ไปวางทางด้านที่ตื้นของสระให้มากพอ น้ำจะอุ่นมากกว่าสระที่ไม่มีหินเลย



ส่วน จะแต่งสระให้เป็นต่างระดับหรือไม่นั้นไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญที่สุด  แต่ถ้าเพิ่มส่วนที่ลึกมีน้ำลึกไม่เกิน 1 เมตรให้เยอะหน่อยก็จะมีพื้นที่ปลูกไม้น้ำได้มากขึ้น  และไปชดเชยความจุของสระ (ปริมาตรน้ำ) ด้วยการขุดส่วนที่ลึกให้ลึกมากขึ้น  มีผู้รู้ให้แนวทางไว้ว่าให้แบ่งพื้นที่เป็นน้ำตื้น 30% น้ำลึกปานกลาง 30% และน้ำลึกมาก 40% คล้ายๆ กับรูปด้านล่าง


ส่วนเรื่อง natural swimming pool นั้นอย่าเพิ่งคิดไกล  เราพยายามเก็บน้ำในสระให้ได้ก่อน  เรื่องอื่นค่อยๆ มาทำเพิ่มทีหลัง  "เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง" อย่างครับ  (อย่าทำทีละพัน ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม)  ถ้าคิดจะให้เด็กเล็กๆ ลงไปว่ายน้ำอย่างปลอดภัยในภายหลังก็พยายามอย่าเลี้ยงปลาตัวโต หรือมีครีบแหลมคม เช่น  ไม่ควรเลี้ยง ปลาจาระเม็ดน้ำจืด (หรือ ปลาคู้แดง ปลาเปคู) ตามอาจารย์ยุทธ (รายนั้นเป็นความสามารถเฉพาะตัวของท่านอาจารย์ครับ เพราะอย่างไรก็เป็นครู)  หรือปลาหมอ ปลานิล ปลาทับทิม ปลาดุก เป็นต้น ถ้าจะเลี้ยงปลาไว้กินลูกน้ำ  เอาปลาเล็กๆ และทนๆ เช่น ปลาหางนกยูง ปลาสอดแดง ไปก่อนครับ  ส่วนการเลี้ยงในธรรมชาติต้องทำใจเรื่องมีลูกอ๊อดมาวางไข่ และมีคางคง/นก/งู ลงมากินปลาในสระนะครับ

สำหรับเพื่อนๆ ที่งงว่าพี่ลักษณ์พูดเรื่องอะไรเกี่ยวกับ swimming ลองดู VDO ข้างล่างครับ


How To Make a DIY Natural Swimming Pool

Natural Swimming Pools BBC Inside Out


 

Natural Pools - Natural Pool selfbuild



DIY Natural Swimming Pools

Natural Swimming Pool Pond - Typical - Total Habitat

Natural swimming pools- Swimming with the lotus



ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น