25 พฤษภาคม 2557

ต้นชายา

ต้นชายา

เจ้าต้นในภาพได้รับกิ่งพันธุ์มาจากพี่ทิดโสซึ่งสามารถผ่านฤดูแล้งที่สวนฯ มาโดยไม่ได้รดน้ำเลยทั้งๆ ที่ปลูกอยู่กลางแจ้ง เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ถึงความทนความแล้งของต้นที่มีชื่อว่า ต้น"ชายา" ซึ่งไม่ได้แปลว่ามเหสี เนื่องจากเป็นการเรียกทับศัพท์ชื่อภาษาอังกฤษของต้นชายาที่ว่า Chaya หรือ Tree Spinach ( ผักโขมต้น)  ชื่อวิทยาศาสตร์ Cnidoscolus aconitifolius วงศ์ Euphorbiaceae เชื่อกันว่าต้นชายามีแหล่งกำเนิดที่แหลม Yucatán ในประเทศเม๊กซิโก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวพบต้นชายาหลากหลายสายพันธุ์มากที่สุด และยังเป็นศูนย์การของอารายธรรมของชาวมายาแห่งหนึ่ง

ชาวมายาใช้ต้นชายาในการทำอาหารมานานก่อนที่ชาวสเปนเข้าไปยึดครองดินแดนของพวกเขา ต่อเมื่อชาวตะวันตกจึงนำเอาต้นชายาไปทวีปต่างๆ แต่เนื่องจากต้นชายาไม่ค่อยจะออกดอก หรือเป็นเมล็ด โดยทั่วไปทำการขยายพันธุ์ทำโดยใช้การปักชำกิ่ง ทำให้การพกพาไปกับเรือเพื่อพาไปยังดินแดนใหม่ไม่สะดวกเหมือนพืชชนิดอื่นที่เอาไปแต่เมล็ดก็เพียงพอ (ไม่ต้องรดน้ำ หรือดูแลมากตอนอยู่ในเรือ) นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ต้นชายาไม่ค่อยจะแพร่หลายจนเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในแถบอาเซียน เท่าที่อ่านดูเหมือนว่าชายาจะถูกนำเข้ามาครั้งแรกที่ฟิลิปปินส์ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมมากนักเนื่องจากชาวบ้านคิดว่าเป็นต้นมันสำปะหลัง จากนั้นคงจะเข้าในประเทศไทยทางเวียดนาม และกัมพูชา (น่าจะคล้ายๆ กับเส้นทางการนำเอามันแกวเข้ามาในประเทศไทย) ต้นที่ผมมีในครอบครองก็ดูเหมือนว่าจะมาจากกัมพูชา ความจริงแล้วต้นชายามีหลายพันธุ์แต่เนื่องจากความรู้เรื่องพืชชนิดนี้ในไทยมีน้อยมาก ทำให้ไม่ทราบว่าต้นที่ผมมีอยู่เป็นพันธุ์ไหน

ชายาเป็นไม้พุ่มสูงได้ถึง 6 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นได้ถึง 6 นิ้ว แต่ส่วนใหญ่จะตัดแต่งต้นให้สูงประมาณ 2 เมตรเพื่อให้ง่ายในการเก็บเกี่ยวใบ โดยเมื่อกิ่งของต้นชายาโดนตัดจะมียางสีขาวไหลออกมา ต้นชายาสามารถเติบโตได้ดีในดิบทุกประเภทชอบความชื้น แต่ก็ทนความแล้งได้ในระดับหนึ่ง (ที่สวนขี้คร้านก็ปลูกโดยไม่มีการรดน้ำเลย)

ใบชายาสามารถเติบโตกลับขึ้นมาใหม่หลังจากที่ถูกตัดไปแล้วได้อย่างรวดเร็ว ใบเป็นแหล่งที่ดีของโปรตีน, วิตามิน, แคลเซียมและเหล็กและยังเป็นแหล่งอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ใบชายาจึงถูกใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเม็กซิกัน และอาหารอเมริกากลางหลายชนิด ใบชายาเองไม่ค่อยจะมีรสชาติมากนัก แต่จะดูดซับกลิ่นและรสชาติของเครื่องปรุงอื่นที่เราใช้ผสมในการทำอาหาร

ในใบชายาจะมีสาร hydrocyanic ที่เป็นพิษ การปรุงให้สุกก่อนที่จะกินจะช่วยสลายสาร hydrocyanic ให้ส่วนที่เป็นพิษกลายเป็นไอทำให้สามารถรับประทานใบที่ผ่านความร้อนแล้วได้อย่างปลอดภัย การรับประทานใบชายาดิบในปริมาณน้อยๆ พิษอาจจะยังไม่แสดงอาการ แต่สาร hydrocyanic สามารถสะสมในร่างกายมนุษย์ได้ (เหมือนกับโลหะหนักอย่างตะกั่ว) หากมีการรับประทานดิบๆ ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานอาจจะทำให้พิษแสดงอาการในภายหลัง แต่ถ้าเราทำให้สุกก่อนแล้วนำมารับประทานเหมือนที่ชาวมายันทำมาเป็นพันๆ ปีก็น่าจะปลอดภัย ลองอ่านข้อมูลเพิ่มเติมใน http://www.rilab.org/pdfs/Ross-Ibarra_Molina-Cruz-2002.pdf

ต้นชายาจะเป็นญาติกับต้นมันสำปะหลัง (Cassava) ชื่อวิทยาศาสตร์ Manihot esculenta วงศ์ Euphorbiaceae ซึ่งใบของมันสำปะหลังก็เป็นพิษเหมือนกับต้นชายา แต่จะมีปริมาณพิษที่มากกว่า นอกจากนั้นในหัวของมันสำปะหลังก็มีพิษของไซยาไนด์เช่นกัน ในการนำหัวมันสำปะหลังมาบริโภคจึงจำเป็นต้องทำให้สุกด้วยความร้อนก่อน ผมจึงเอาภาพของใบต้นมันสำปะหลังที่สวนฯ มาให้ดูเปรียบเทียบกับใบต้นชายาด้านบน เพื่อนๆ จะสังเกตุว่าจริงๆ แล้วลักษณะใบแตกต่างกันชัดเจน แต่ถ้าดูเร็วๆ เราอาจจะไม่ทันสังเกตว่าเป็นคนละต้นกัน

มันสำปะหลัง

คุณสมบัติที่ทำให้การบริโภคใบชายา น่าสนใจกว่าการบริโภคใบมันสำปะหลัง คือ คุณสมบัติทางยา ซึ่งมนุษย์มายาใช้เป็นยารักษา พิษสุราเรื้อรัง โรคนอนไม่หลับ โรคเกาต์ พิษจากแมลงป่อง บำรุงสมอง และสายตา นักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เองก็ทำการทดลองในสัตว์เพื่อยืนยันคุณสมบัติดังกล่าว เช่น การรักษาตับอักเสบ http://alcalc.oxfordjournals.org/content/46/4/451.full หรือ http://alcoholreports.blogspot.com/2011/05/cnidoscolus-aconitifolius-leaf-extract.html และยังมีบางคนเชื่อว่าการบริโภคใบชายาจะช่วยรักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ เป็นต้น ด้วยคุณสมบัติที่ไม่เหม็นเขียวมากนักทำให้บางกลุ่มนำมากินสด หรือคั้นน้ำคลอโรฟิล ซึ่งจะกินง่ายกว่าผักชนิดอื่นที่เหม็นเขียว แต่ก็ยังคงกังวัลเรื่องความเป็นพิษในใบชายาสด อย่างไรก็ตามในอเมริกากลางก็มีชาวบ้านเอามาใบชายามาทุบให้ละเอียด และกินสด ซึ่งยังไม่มีผลของพิษทางร่างกายที่ปรากฎเด่นชัดในกลุ่มชาวบ้านดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานว่าการทุบใบชายาทำให้สาร hydrocyanic สัมผัสอาหารอาจจะเพียงพอที่จะทำให้ไซยาไนด์กลายเป็นไอ แต่ก็ยังไม่มีผลสรุปอย่างเป็นทางการว่าจะช่วยลดพิษของสาร hydrocyanic ได้จริงหรือไม่ ดังนั้นจึงขอให้หลีกเลี่ยงการรับประทานใบสดจะดีกว่าครับ

สุดท้ายอยากจะพูดถึงผักโขมธรรมดาที่เป็นพืชล้มลุก ชื่อวิทยาศาสตร์ Amaranthus lividus วงศ์ Amaranthaceae ซึ่งเป็นคนละวงศ์กับต้นชายา หรือ ผักโขมต้น และยังมีผักโขมในวงศ์ Amaranthaceae อีกหลายชนิดที่พบในประเทศไทย จึงขอรวมรายชื่อไว้ดังนี้

  • ผักโขมฝรั่ง/ปวยเล้ง (ชื่อภาษาอังกฤษ: Spinach) ชื่อวิทยาศาสตร์ Spinacia oleracea
  • ผักโขม (ชื่อภาษาอังกฤษ: Amaranth) ชื่อวิทยาศาสตร์ Amaranthus lividus
  • ผักโขมสวน/ผักโขมสี (ชื่อภาษาอังกฤษ: Red amaranth, Joseph' s coat ) ชื่อวิทยาศาสตร์ Amaranthus tricolor
  • ผักโขมหัด (ชื่อภาษาอังกฤษ: Slender amaranth ) ชื่อวิทยาศาสตร์ Amaranthus viridis
  • ผักโขมหนาม (ชื่อภาษาอังกฤษ: Spiny amaranth, Spiny pigweed ) ชื่อวิทยาศาสตร์ Amaranthus spinosus
  • ผักโขมจีน (ชื่อภาษาอังกฤษ: Chinese Spinach ) ชื่อวิทยาศาสตร์ Amaranthus dubius


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมใน http://my-experimental-farm.blogspot.com/p/plants.html

5 พฤษภาคม 2557

สารพันต้นไม้ในพุทธประวัติ

ต้นไม้ในพุทธประวัติ
1. ต้นสาละ หรือ "สาละอินเดีย" ชื่อวิทยาศาสตร์ Shorea robusta วงศ์ Diptercaroaceae มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าโดยตรง ท้งตอนประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน มีความสำคัญในพุทธประวัติดังนี้

สาละอินเดีย
ตอนพระพุทธเจ้าประสูติ
ก่อนพุทธศักราช 80 ปี พระพุทธมารดาคือพระนางสิริมหามายาทรงครรภ์ใกล้ครบกำหนดพระสูติการ จึงเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อไปมีพระสูติการที่กรุงเทพวทหะ อันเป็นเมืองต้นตระกูลของพระนาง ตามธรรมเนียมประเพณีพราหมณ์ เมื่อขบวนเสด็จมาถึงครึ่งทางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ณ ที่ตรงนั้นเป็นสวนมีชื่อว่า "สวนลุมพินีวัน" เป็นสวนป่าไม้ "สาละ" พระนางได้ทรงหยุดพักอิริยาบท (ปัจจุบันคือตำบล "รุมมินเด" แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล) พระนางประทับยืนชูพระหัตถ์ขึ้นเหนี่ยวกิ่งสาละ และขณะนั้นเองก็รู้สึกประชวรพระครรภ์ และได้ประสูติพระสิทธัตถะกุมาร ซึ่งตรงกับวันศุกร์เพ็ญเดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี คำว่าสิทธัตถะแปลว่า "สมปรารถนา"

ตอนก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้
เมื่อพระองค์เสวยข้าวมธุปายาสที่บรรจะอยู่ในถาดทองคำของนางสุชาดาแล้ว ได้ทรงอธิษฐานว่า ถ้าพระองค์ได้สำเร็จพระโพธิญาณ ขอให้การลอยถาดทองคำนี้สามารถทวนกระแสน้ำแห่งแม่น้ำเนรัญชลาได้ เมื่อทรงอธิษฐานแล้วได้ทรงลอยถาด ปรากฎว่าถาดทองคำนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำ จากนั้นพระองค์เสด็จไปประทับยังควงไม้สาละ ตลอดเวลากลางวัน ครั้นเวลาเย็นก็เสด็จไปยังต้นพระศรีมหาโพธิ ประทับนั่งบนบัลลังก์ภายใต้ต้นโพธิ และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลารุ่งอรุณ ณ วันเพ็ญเดือน 6

ตอนสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
เมื่อพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์สาวก เสด็จถึงเขตเมืองกุสินาราของมัลละกษัตริย์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญวดี พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยมาก จึงมีรับสั่งให้พระอานนท์ ซึ่งเป็นองค์อุปัฏฐากปูลาดพระที่บรรทม โดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ระหว่างต้นสาละทั้งคู่ แล้วพระองค์ก็ทรงสำเร็จสีหไสยาสน์ โดยพระปรัศว์เบื้องขวา (นอนตะแคงขวาพระบาทซ้ายซ้อนทับพระบาทขวา) และแล้วเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน

ต้นสาละอินเดียนี้มักจะถูกเรียกสับสนกับ "สาละลังกา" หรือ "ต้นลูกปืนใหญ่" (Cannonball Tree) ชื่อวิทยาศาสตร์ Couroupita guianensis เป็นพืชในวงศ์จิก (วงศ์ Barringtoniaceae)

อ่านเพิ่มเติมใน http://my-experimental-farm.blogspot.com/2014/03/blog-post_3111.html

2. ต้นโพธิ ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus religiosa วงศ์ Moraceae ดังความในพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้

ต้นโพธิ
เจ้าชายสิทธัตถะ ในระหว่างบำเพ็ญพรต เพื่อหาสัจธรรมได้ประทับนั่งที่โคนต้นโพธิ จนกระทั่งพระองค์ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ คือ อริยสัจ 4 ประกอบด้วย ทุข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อวันเพ็ญเดือน 6 หลังจากพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว แต่ก็ยังต้องทรงทำจิตให้แน่วแน่ตั้งมั่นยิ่งขึ้น จนกิเลสมิอาจรบกวนได้ต่อไป พระองค์ยังคงประทับอยู่ใต้ต้นโพธิอีกเป็นเวลา 7 วัน และกล่าวกันว่า ต้นพระศรีมหาโพธิที่พระพุทธองค์ประทับจนตรัสรู้นั้น ได้ถูกประชาชนผู้ถือนับถือศาสนาอื่นโค่นทำลายไป แต่ด้วยบุญญาภินิหาร มื่อนำนมโคไปรดที่รกจึงมีแขนงแตกขึ้นมาใหม่ และมีชีวิตอยู่มานานและแล้วก็ตายไป แล้วกลับแตกหน่อขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ต้นโพธิที่พุทธคยาที่อยู่ในปัจจุบันนี้ นับว่าเป็นช่วงที่สามของต้นดั้งเดิม

3. ต้นนิโครธ ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus bengalensis วงศ์ Moraceae หมายถึง เป็นที่พำนักของคนเลี้ยงแกะ ต้นนิโครธ แปลว่า ต้นไทร ตามพุทธประวัติกล่าวถึง

ต้นนิโครธ
ตอนที่ 1 เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญเพียรทุกขกิริยาแล้วเสด็จไปประทับนั่งที่ควงไม้อชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา

ตอนที่ 2 เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ 7 วันแล้วจึงได้ทรงย้ายไปประทับ ณ ต้นไทรนิโครธ เป็นเวลาอีก 7 วัน เป็นต้นไทรนิโครธชนิดใบกลม

4. ต้นจิกมุจลินท์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Arringtonia Acutangula วงศ์ Barringtoniaceae ในพุทธประวัติกล่าวว่า หลังจากพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ทรงประทับอยู่ใต้ต้นนิโครธ 7 วัน แล้วเสด็จไปประทับใต้ต้นจิกอีก 7 วัน ในขณะที่ประทับใต้ต้นจิกนี้ ได้มีฝนตกอยู่ไม่ขาดสาย อากาศหนาวจัดมาก มีพญานาคชื่อ "พญามุจลินท" เห็นพระพุทธองค์แล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา เกรงว่าพระพุทธองค์จะลำบากและทรมาน จึงทำขดล้อมพระวรกายของพระพุทธเจ้าไว้ 7 รอบ และแผ่พังพานปกคลุมพระเศียร ดูคล้ายเป็นเศวตฉัตรช่วยกันฝนและช่วยให้บริเวณนั้นอบอุ่นขึ้น
ต้นจิกมุจลินท์

5. ต้นเกด ชื่อวิทยาศาสตร์ Manikara hexandra วงศ์ Sapotaceae ในพุทธประวัติกล่าวว่า หลังจากพระพุทธองค์ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ 7 วันแล้วจึงได้ทรงย้ายไปประทับอยู่ใต้ต้นนิโครธ 7 วัน แล้วเสด็จไปประทับใต้ต้นจิกอีก 7 วัน แล้วได้เสด็จไปทรงประทับต่อใต้ต้นเกดอีก 7 วัน
ต้นเกด

ุ6. ต้นหว้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Eugenia cumini วงศ์ Mytaceae ในพุทธประวัติกล่าวถึงต้นหว้าถึง 2 ตอน
ต้นหว้า
ตอนที่ 1 เมื่อครั้นพระเจ้าสุทโทธนะ พระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จไปทรงประกอบพิธีแรกนาขวัญ ได้นำพระราชบุตรซึ่งมีอายุ 8 ขวบ ไปด้วยและให้ประทับอยู่ใต้ต้นหว้าใหญ่ บรรดาพระพี่เลี้ยง นางนม ต่างพากันไปดูพิธีแรกนาขวัญกันหมด พระกุมารจึงนั่งสมาธิ และบรรลุถึงปฐมฌาน เป็นเหตุที่น่ามหัศจรรย์ยิ่งนัก แม้ว่าตะวันจะบ่ายคล้อยไปแล้ว ร่มเงาของไม้หว้าก็ยังบดบังให้ความร่มเย็นแก่พระองค์โดยปรากฎเป็นปริมณฑลตรงอยู่ ประดุจเงาของตะวันตอนเที่ยงตรง

ตอนที่ 2 พระฤๅษีอุรุเวลกัสสปะได้ทูลนิมนต์ภัตตากิจ พระพุทธองค์ตรัสให้ไปก่อนแล้วจะตามไป จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์เสด็จเหาะไปนำผลหว้าใญ่ประจำทวีปป่าหิมพานต์ แล้วกลับไปสู่ที่โรงเพลิงก่อนที่กัสสปะชฎิลจะไปถึง

7. ต้นกุ่มบก ชื่อวิทยาศาสตร์ Crateva religiosa วงศ์ Capparaceae ตามพุทธประวัติกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปซักผ้าบังสุกุลที่ห่อศพนางบุณณทาสี ในอามกสุสาน (ป่าช้าผีดิบ) แล้วนำไปซัก จากนั้นก็หาที่ที่จะตากผ้าบังสุกุลนี้ พฤกษเทวดาซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ต้นกุ่มบก ได้โน้มกิ่งต้นกุ่มบกให้ต่ำลงมา เพื่อให้เป็นที่ตากจีวร

8. ต้นประดู่แขก ชื่อวิทยาศาสตร์ Dalbergia sissoo วงศ์ Leguminosae-Papilionaceae ในพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้ากลับจากเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโทธนะพระราชบิดาแล้ว ได้พาพระอานนท์ พระราหุล พร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารไปสู่กรุงราชคฤห์ ประทับยังสีสปาวัน คือป่าไม้ประดู่แขก โดยทรงหยิบใบไม้ขึ้นมากำมือหนึ่ง แล้วถามภิกษุว่า ใบไม้ในกำมือของพระองค์ กับใบไม้ทั้งหมดในป่าประดู่นี้ ใบไม้ที่ไหนมีมากกว่ากัน ภิกษุก็ได้ตอบว่า ใบไม้ในป่านี้ทั้งหมดมีมากกว่าในกำมือของพระองค์

พระองค์จึงตรัสต่อไปว่า เรื่องที่เรารู้นะเท่ากับใบไม้ทั้งป่า แต่ที่นำสอนเธอเท่ากับใบไม้ในกำมือ คือสอนแต่เรื่องทุกข์ กับเรื่องดับทุกข์เท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นๆนั้น ปรากฎว่ามีคนสอนกันมากมาย ฉะนั้นพระองค์จึงมุ่งไปสอนแต่เรื่องทุกข์ กับเรื่องดับทุกข์ ส่วนสูตรอื่น วิชาอื่นมีคนสอนแล้ว

อ่านเพิ่มเติมใน http://my-experimental-farm.blogspot.com/2014/03/blog-post_3111.html

9. ต้นสีเสียด ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia catechu วงศ์ Leguminosae-Mimosaceae ตามพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ 8 พรรษา ได้เสด็จไปประทับ ณ "ภูสกภวัน" บางเล่มเรียก "เภสกลาวัน" คือ ป่าไม้สีเสียด ใกล้สุงสุมารคีรีในภัคคฏฐี บางเล่มว่าในแคว้นภัคคะ

10. ต้นตะเคียน ชื่อวิทยาศาสตร์ Hopea odorata วงศ์ Dipterocarpaceae ตามพุทธประวัติกล่าวว่า พระพุทธเจ้าจะทำยมกปาฏิหาริย์ ณ เมืองสาวัตถี ฝ่ายเดียรถีย์จะทำแข่งบ้าง โดยเตรียมมณฑลมีเสาซึ่งทำด้วยไม้ตะเคียน หลังคามุงด้วยดอกนิลอุบล

อีกตอนหนึ่งกล่าวเกี่ยวกับต้นตะเคียนว่า สิริคุตถ์หลอกให้พวกนิครนถ์ ผู้เป็นอาจารย์ของครหพินน์ ตกลงไปในหลุมอจจาระ พวกครหพินน์จึงคิดจะแก้แค้นพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นอาจารย์ของสิริคุตถ์ โดยทำหลุมไฟ ใช้ไม้ตะเคียนเป็นเชื้อเพลิง แล้วทำเป็นกระดานกลปิดไว้ที่ปากหลุม เมื่อพระพุทธองค์ทรงพระราชดำเนินไปที่ปากหลุมไฟนั้น ก็มีดอกบัวมารองรับพระบาท จึงมิได้รับอันตรายแต่อย่างใด

11. ต้นสะเดาอินเดีย ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica วงศ์ Meliaceae ตามพุทธประวัติว่า ในพรรษาที่ 11 พระพุทธเจ้าได้จำพรรษาใต้ต้นปจิมมันทพฤกษ์ คือต้นสะเดา ซึ่งเป็นมุขพิมานของนเฬรุยักษ์ อยู่ใกล้นครเวรัญชรา

12. ต้นมะม่วง ชื่อวิทยาศาสตร์ Mangifera indica วงศ์ Anacardiaceae ตามพุทธประวัติกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับอยู่ใน "สวนอัมพวาราม" ของหมอชีวกโกมารภัจจ์ คือป่ามะม่วง

อีกตอนหนึ่ง ในขณะที่พระพุทธเจ้าได้ไปพำนักอยู่กับกัสสปะชฎิลดาบส ซึ่งเป็นพระฤๅษี พระฤๅษีได้กราบทูลนิมนต์ภัตตากิจ พระพุทธองค์ตรัสให้พระฤๅษีไปก่อน แล้วเสด็จเหาะไปเก็บผลมะม่วง ผลหว้า ฯลฯ และเสด็จไปสู่ดาวดึงส์เทวโลก นำเอาปาริฉัตรพฤกษชาติกลับมาด้วย และแล้วเสด็จกลับไปสู่ที่โรงเพลิงก่อนฤๅษีตนนั้น

13. ต้นส้ม ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus aurantium วงศ์ Meliaceae ตามพุทธประวัติเมื่อคราวเสด็จไปเก็บพืชพรรณที่ภูเขาหิมพานต์เพื่อแสดงให้ชฎิลดาบสเห็นเป็นการปราบพยศนั้น ซึ่งพืชพรรณที่เอากลับมานั้นนอกจากหว้า มะม่วง แล้วก็ยังมีส้มอีกด้วย

14. ต้นมะขามป้อม ชื่อวิทยาศาสตร์ Phylanthus emblica วงศ์ Euphorbbiaceae ตามพุทธประวัติเมื่อคราวเสด็จไปเก็บพืชพรรณที่ภูเขาหิมพานต์เพื่อแสดงให้ชฎิลดาบสเห็นเป็นการปราบพยศนั้น ซึ่งพืชพรรณที่เอากลับมานั้นนอกจากหว้า มะม่วง ส้ม แล้วก็ยังมีมะขามป้อมอีกด้วย

นอกจากนั้นในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ปุสสพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 21 พระนามว่า พระปุสสพุทธเจ้า ผู้ทรงกำจัดความมืดทั้งปวง ทรงสางความรกชัฏเป็นอันมาก ได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้มะขามป้อม หลังทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน

15. ต้นปาริฉัตร ชื่อวิทยาศาสตร์ Erythrina variegata วงศ์ Leguminosae-Papilionaceae ในพุทธประวัติ กล่าวว่าพุทธองค์เสด็จไปสู่ดาวดึงส์เทวโลก ได้นำเอาปาริฉัตรพฤกษชาติกลับมาด้วย

16. ต้นตาล ชื่อวิทยาศาสตร์ Borussus flabellifer วงศ์ Palmae ตามพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า ในพรรษาที่ 2 หลังจากที่พระพุทธองค์สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณแล้วได้ไปประทับ ณ ลัฏฐีวนุทยานคือวนอุทยานที่เป็น "สวนตาลหนุ่ม" เพื่อโปรดให้พระเจ้าพิมพิสาร ผู้ซึ่งเป็นราชาแห่งแคว้นมคธ รวมทั้งบริวารทั้งหลายเข้าเฝ้า แล้วพระเจ้าพิมพิสารได้ทูลเชิญเสด็จเข้าประทับในเมือง และถวายพระกระยาหาร เสร็จแล้วได้ถวายเวฬุวนาราม แด่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก

นอกจากนี้ ตาลปัตร ที่พระสงฆ์ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ นั้น สมัยโบราณทำมาจากใบตาล ซึ่งมาจากภาษาบาลีว่า ‘ตาลปตฺต’ ซึ่งแปลว่าใบตาลนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันพระสงฆ์บ้านเราไม่นิยมใช้ตาลปัตรที่ทำจากใบตาลแล้ว แต่พระสงฆ์ในประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนา เช่น พม่า, ศรีลังกา, กัมพูชา และลาว ยังนิยมใช้ตาลปัตรที่ทำจากใบตาลอยู่ และถือเป็นพัดสารพัดประโยชน์ใช้พัดวีโบกไล่แมลง รวมทั้งใช้บังแดดด้วย

17. ต้นมะตูม ชื่อวิทยาศาสตร์ Aegle marmelos วงศ์ Rutaceae ในพุทธประวัติ ตอนที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ นิโครธาราม เขตกบิลพัสดุ์ เช้าวันหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จเข้าสู่พระนครกบิลพัสดุ์ เพื่อบิณฑบาต เมื่อเสด็จกลับได้เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวันเพื่อทรงพักผ่อนในเวลากลางวัน และทรงประทับ ณ โคนต้นมะตูมหนุ่ม

18. ต้นไผ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Bambusa spp. วงศ์ Gramineae มีความสำคัญในพุทธประวัติมาก เพราะเป็นพระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนาเรียก "เวฬุวนาราม" โดยพระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้ถวาย ต่อมาพระอรหันต์ (พระขีณาสพ) จำนวน 1,250 รูป ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ อารามแห่งนี้โดยมิได้มีการนัดหมาย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสาม พระพุทธองค์ได้ถือเอาวันนี้เป็นวันประกาศหลักสามประการของพระพุทธศาสนาเรียกว่า "โอวาทปาฏิโมกข์" ชาวพุทธทั้งหลายจึงถือวันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา นั่นคือ "วันมาฆะบูชา" สืบเนื่องกันมาตราบเท่าทุกวันนี้

19. ต้นฝ้าย ชื่อวิทยาศาสตร์ Gossypium barbadense วงศ์ Malvaceae ตามพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้า ได้ทรงส่งสาวก ซึ่งสำเร็จเป็นพระอรหันต์ชุดแรกจำนวน 60 องค์ ไปโปรดเวไนยสัตว์แล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จอุรุเวลาประเทศ ครั้นถึงไร่ฝ้ายจึงหยุดยังรุกขมูล (โคนต้นไม้) ฝ้ายต้นหนึ่ง

20. ต้นจันทน์แดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Pterocarpus santalinus วงศ์ Leguminosae-Papilionaceae ในพุทธประวัติกล่าวว่า มีเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ ได้ปุ่มไม้จันทน์แดง จึงนำมาทำเป็นบาตร แล้วนำไปแขวนไว้บนยอดเสา ซึ่งทำขึ้นจากไม้ไผ่ต่อๆกันจนสูงถึง 60 ศอก และประกาศว่าผู้ใดสามารถเหาะมาเอาบาตรไปได้ จะเชื่อว่าผู้นั้นเป็นองค์อรหันต์ พระปิณโฑลภารทวาชเถระได้แสดงปาฏิหาริย์ไปนำเอาบาตรมาได้ ความทราบถึงพระพุทธเจ้า ทรงตำหนิในการกระทำเช่นนั้นแล้วทำลายบาตรให้เป็นจุล แจกให้พระสงฆ์ทั้งหลายบดใช้เป็นโอสถใส่จักษุ และทรงมีบัญญัติห้ามมิให้สาวกกระทำปาฏิหาริย์สืบไป

21. ต้นสมอ ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia chebula วงศ์ Combretaceae ในพุทธประวัติกล่าวว่า ขณะที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับเสวยวิมุตผลสุขสมบัติอยู่ใต้ต้นไม้ พระอินทร์ทรงเห็นว่า พระพุทธองค์ควรเสวยพระกระยาหาร จึงนำผลสมอทิพย์มาถวาย เมื่อเสวยแล้วจะช่วยให้ลดอาการกระหายน้ำและช่วยระบายด้วย

22. ต้นมณฑา ชื่อวิทยาศาสตร์ Talauma candollei วงศ์ Magnoliaceae ในพุทธประวัติกล่าวว่า พระมหากัสสปะเถระ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์บริวาร 500 รูป จะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่กรุงกุสินารา ได้หยุดพักอยู่ข้างทาง เห็นอาชีวกผู้หนึ่งถือดอกมณฑามาแต่เมืองกุสินารา โดยเอาไม้เสียบดอกมณฑาเข้าเป็นคันกั้นต่างร่มเดินสวนทางมา พระมหากัสสปะเห็นดังนั้นก็สงสัยมาก เพราะดอกมณฑาเป็นดอกไม้ที่มิได้มีในมนุษยโลก แต่ปรากฎเฉพาะตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ครรภ์พระมารดา หรือเมื่อประสูติออกสู่มหาภิเนษกรมณ์อภิสมโพธิ ตรัสเทศนาพระธรรมจักรกระทำยมกปาฏิหาริย์ เสด็จจากเทวโลก กำหนดปลงพระชนมายุสังขาร จึงจะบันดาตกลงมาจากเทวโลก แต่บัดนี้มีดอกมณฑาปรากฎ หรือพระพุทธเจ้าจะเข้าสู่ปรินิพพานเสียแล้ว จึงเข้าไปถามอาชีวกผู้นั้น และได้ทราบว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จสู่ปรินิพพานมาแล้ว 7 วัน พระมหากัสสปะจึงพาพระภิกษุสงฆ์รีบเดินทางไปสู่นครกุสินารา

23. ต้นหญ้ากุศะ ชื่อวิทยาศาสตร์ Desmostachy bipinnata วงศ์ Gramineae ในพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า พระสิทธัตถะได้รับหญ้ากุศะ 8 กำ จากโสตถิยะพราหมณ์ นำเอามาทรงลาดต่างบัลลังก์ ภายใต้ควงศรีมหาโพธิ พอรุ่งอรุณก็ได้สำเร็จพระโพธิญาณ และต่อมาก็ได้ทรงชนะมารบนบัลลังก์หญ้ากุศะนี้ หญ้านี้จึงเป็นหญ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง

24. ต้นหญ้าแพรก ชื่อวิทยาศาสตร์ Cynodon dactylon วงศ์ Gramineae ในพุทธประวัติกล่าวว่าพระสิทธัตถะได้ทรงพระสุบิน ก่อนที่จะสำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณคำรบสองว่า ต้นหญ้าแพรกต้นหนึ่ง ได้ขึ้นแต่พื้นพระนาภี และเจริญสูงขึ้นไปจนจดคัดนาดลนภากาศ ซึ่งทำนายว่าการที่หญ้าแพรกงอกจากพระนาภี สูงไปจดอากาศนั้น เป็นบรรพนิมิตที่ได้ตรัสเทศนาพระอริยมรรคมีองค์ 8 (อัฏฐังคิกมรรค) แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งปวง

25. ต้นบัวหลวง ชื่อวิทยาศาสตร์ Nelumbo nucifera วงศ์ Nelumbonaceae ในพุทธประวัติ ตอนแรกกล่าวถึงสุบินนิมิตของพระนางสิริมหามายาว่า มีพระเศวตกุญชรใช้งวงจับดอกบัวหลวงสีขาวที่เพิ่งบานใหม่ๆ ส่งกลิ่นหอมตรลบ และทำประทักษิณสามรอบ แล้วจึงเข้าสู่พระครรภ์พระนางสิริมหามายาด้านข้าง ในขณะนั้นได้เกิดบุพนิมิตขึ้น 32 ประการ ประการหนึ่งเกี่ยวกับดอกบัว คือมีดอกบัวปทุมชาติห้าชนิด เกิดดารดาษไปในน้ำและบนบกอย่างหนึ่ง มีดอกบัวปทุมชาติ ผุดงอกขึ้นมาจากแผ่นหินแห่งละเจ็ดดอกอย่างหนึ่ง และต้นพฤกษาลดาชาติทั้งหลาย ก็บังเกิดดอกปทุมชาติออกตามลำต้นและกิ่งก้านอีกอย่างหนึ่ง

ตอนประสูติ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติที่สวนลุมพินี ทรงบ่ายพระพักตร์ไปทางทิศอุดร และย่างพระบาทไป 7 ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ 7 ดอก ต่อมาเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเจริญพระชนมายุได้ 7 พรรษา พระราชบิดาโปรดให้ขุดสระโบกขรณี 3 สระ สำหรับพระราชโอรสทรงลงเล่นน้ำ โดยปลูกอุบลบัวขาบสระหนึ่ง ปลูกปทุมบัวหลวงสระหนึ่ง และปลูกบุณฑริกบัวขาวอีกสระหนึ่ง

อีกตอนกล่าวว่า ครหพินน์เจ็บใจที่สิริคุตถ์หลอกเดียรถีย์อาจารย์ ให้ตกลงในหลุมอุจจาระ จึงคิดแก้แค้นแก่พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอาจารย์สิริคุตถ์เคารพเลื่อมใสมาก โดยล่อให้ตกลงในหลุมที่ก่อไฟด้วยไม้ตะเคียน เมื่อพระพุทธองค์ย่างพระบาทลงในหลุมเพลิง ก็พลันมีดอกบัวผุดขึ้นและรองรับพระบาทไว้มิให้เกิดอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงพิจารณาถึงธรรมะที่ได้ทรงตรัสรู้ว่าเป็นธรรมะอันล้ำลึกยากที่ชนผู้ยินดีในกามคุณจะรู้ตามได้ แต่ผู้ที่มีกิเลสเบาบางอันอาจรู้ตามก็มี จึงเกิดอุปมาเวไนยสัตว์เหมือน "ดอกบัว" ว่า เวไนยสัตว์ย่อมแบ่งออกเป็นสี่เหล่า คือ

  • เหล่า 1 อุคคติตัญญูบุคคล คือผู้ที่มีกิเลสน้อย เบาบาง มีสติปัญญาแก่กล้า เปรียบเสมือนดอกปทุมชาติที่โผล่พ้นเหนือพื้นน้ำขึ้นมา พอสัมผัสรัศมีพระอาทิตย์ก็จะบานทันที
  • เหล่า 1 วิปัจจิตัญญบุคคล ผู้ที่มีกิเลสค่อนข้างน้อย มีอินทรีย์ปานกลางถ้าได้ทั้งธรรมคำสั่งสอนอย่างละเอียด ก็สามารถรู้แจ้งเห็นธรรมวิเศษได้ เปรียบเสมือนดอกบัวที่เจริญเติบโตขึ้นมา พอดีกับผิวน้ำจักบานในวันรุ่งขึ้น
  • เหล่า1 เนยยบุคคล ผู้ที่มีกิเลสยังไม่เบาบาง ต้องหมั่นศึกษาพากเพียรเล่าเรียน และคบกัลยาณมิตร จึงสามารถรู้ธรรมได้ เปรียบเสมือนดอกบัวที่ยังจมอยู่ในน้ำ คอยเวลาที่จะโผล่ขึ้นมาจากน้ำ และจะบานในวันต่อๆ ไป
  • เหล่า 1 ปทปรมบุคคล ผู้ที่มีกิเลสหนา ปัญญาทึบหยาบ หาอุปนิสัยไม่ได้เลย ไม่สามารถจะบรรลุธรรมวิเศษได้ เปรียบเสมือนดอกบัวที่เติบโตและจมอยู่ใต้น้ำ ไม่สามารถที่จะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำได้ จะอยู่ได้เพียงใต้น้ำและเป็นอาหารของเต่า ปู และปลา
จะเห็นว่า บัวเป็นดอกไม้ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาหลายๆตอน ชาวพุทธนิยมใช้ดอกบัวบูชาพระรัตนตรัย มาตั้งแต่โบราณกาล ประเทศไทยใช้บัวเป็นดอกไม้ประจำพระพุทธศาสนา

26. ต้นบุนนาค ชื่อวิทยาศาสตร์ Mesua ferrea วงศ์ Guttiferae ในพระไตรปิฎก หัวข้อ ‘คิริปุนนาคิยเถราปทาน’ ได้กล่าวถึง ผลแห่งการถวาย ‘ดอกบุนนาค’ บูชาของพระคิริปุนนาคิยเถระ ไว้ว่า

“ครั้งนั้น พระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโสภิตะ ประทับอยู่ที่ภูเขาจิตตกูฏ เราได้ถือเอาดอกบุนนาคเข้ามาบูชาพระสยัมภูในกัลปที่ 94 แต่กัลปนี้เราได้บูชาพระสัมพุทธเจ้า ด้วยการบูชานั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้”

การเป็นมงคล คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นบุนนาคไว้ประจำบ้านจะทำให้เป็นผู้มีความประเสริฐและมีบุญ เพราะบุนนาคคือผู้มีบุญผู้ประเสริฐ และยังเชื่ออีกว่ายังสามารถป้องกันภัยอันตรายจากภายนอกได้อีกด้วย

27. ต้นกากะทิง ต้นกระทิง หรือต้นนาคะ ชื่อวิทยาศาสตร์ Calophylum inophyllum วงศ์ Guttiferae ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 กล่าวไว้ว่า

พระพุทธเจ้า 4 พระองค์ คือ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 6 พระนามว่า พระมังคลพุทธเจ้า ผู้ทรงชูดวงไฟคือพระธรรมให้สว่างไสว ซึ่งทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม, พระพุทธเจ้าองค์ที่ 7 พระนามว่า พระสุมนพุทธเจ้า ผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนโดยธรรมทั้งปวง ซึ่งทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 10 เดือนเต็ม, พระพุทธเจ้าองค์ที่ 8 พระนามว่า พระเรวตพุทธเจ้า ผู้ทรงยศ มีพระปัญญามาก ซึ่งทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 เดือนเต็ม และพระพุทธเจ้าองค์ที่ 9 พระนามว่า พระโสภิตพุทธเจ้า ผู้ทรงมีพระทัยมั่นคงสงบระงับไม่มีใครเสมอเหมือน ซึ่งทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน ทั้งสี่พระองค์จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้กากะทิง เช่นเดียวกัน

28. ต้นอ้อยช้างใหญ่ ต้นมหาโสณกะ, ต้นกุ๊ก หรือต้นกอกกัน ชื่อวิทยาศาสตร์ Lannea coromandelica วงศ์ Anacardiaceae ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้า 3 พระองค์ คือ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 11 พระนามว่า พระปทุมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม, พระพุทธเจ้าองค์ที่ 12 พระนามว่า พระนารทพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน และ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 24 พระนามว่า พระเวสสภูพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 6 เดือนเต็ม ทั้งสามพระองค์จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้อ้อยช้างใหญ่ เช่นเดียวกัน

29. ต้นโสกน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Saraca indica หรือ Saraca asoca วงศ์ Leguminosae-Caesalpinioideae ในการแปลพระพุทธประวัติจากภาษาอินเดียโบราณบางครั้งก็จะมีการแปลชื่อกิ่งของต้นไม้ที่พระนางสิริมหามายาเหนี่ยวตอนที่พระพุทธเจ้าประสูติว่าเป็นต้น Ashoka Tree ซึ่งคือต้นโสกน้ำนั่นเอง แต่นักวิชาการไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันคิดว่าน่าจะเป็นต้นสาละอินเดียมากกว่า แต่ในยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้แปลว่าต้นไม้ดังกล่าวเป็นต้นโสกน้ำ (ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับชื่อของพระองค์เองที่มีคำว่า "อโศก" อยู่หรือไม่) จึงทำให้มีการปลูกต้นโสกน้ำตามวัดในประเทศอินเดียสืบมา

นอกจากนั้นในศาสนาฮินดูยังเชื่อว่าต้นโสกน้ำเป็นต้นไม้ของกามเทพ(Kamadeva) และในวรรณกรรมอิงพุทธประวัติเรื่อง “กามนิต” โดย เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป นั้น ต้นอโศกได้เข้ามาเกี่ยวพันกับความรักของกามนิต เพราะบริเวณที่กามนิตได้พบกับวาสิฏฐีทุกค่ำคืน ก็คือลานอโศกนั่นเอง ซึ่งต้นอโศกในภาษาอินเดียจะไม่ได้หมายถึงต้นอโศกอินเดีย (ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyalthia longifolia วงศ์ Annonaceae) ตามที่มีคนเข้าใจผิด แต่จะหมายถึงต้นโสกน้ำ

อ่านเพิ่มเติมใน http://my-experimental-farm.blogspot.com/2014/05/blog-post_3.html







อ่านข้อมูลเพิ่มเติมใน http://my-experimental-farm.blogspot.com/p/plants.html

3 พฤษภาคม 2557

อโศกอินเดีย - โสกน้ำ - โสกเขา - โสกวัด - โสกใหญ่ - โสกเหลือง - โสกระย้า - โสกพวง - โสกสะปัน

ต้นอโศก

อโศกอินเดีย ชื่อภาษาอังกฤษ False Ashoka ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyalthia longifolia เป็นไม้ยืนต้นสูง ในวงศ์ Annonaceae มีลักษณะเป็นไม้ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มเป็นรูปปิรามิดแคบ ๆ สูงเต็มที่ได้ถึง 25 เมตร กิ่งโน้มลู่ลงทั้งต้น ทำให้แลดูต้นสูงชลูดมาก เปลือกต้นเกลี้ยงสีเทาเข้ม หรือเทาปนน้ำตาล ใบเดี่ยวรูปใบหอกแคบ ๆ ปลายแหลมยาว 15 - 20 เซนติเมตร สีเขียวเป็นมันเงางาม ขอบใบเป็นคลื่น

ออกดอกในระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายน จะออกดอกสีเขียวอ่อนเป็นกระจุกตามข้างๆ กิ่ง แต่ละดอกเป็นรูปดาว 6 แฉก กลีบดอกเป็นคลื่นน้อย ๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 - 2 เซนติเมตร ดอกบานอยู่นาน 3 สัปดาห์

ผลรูปไข่ ยาว 2 เซนติเมตร เมื่อสุกมีสีดำ เป็นไม้ต้นทรงสูงชะลูด สามารถสูงได้เกินกว่า 30 ฟุต เป็นแท่งกลมปลายแหลม ทรงพุ่มแผ่นทึบ ใบรูปหอก แนว ยาวสีเขียวเข้ม ขอบใบเป็นคลื่น ดอกออกเป็นช่อสีเขียวอ่อน รูปดาว 6 แฉก ดอกมีกลิ่นอ่อน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับและเป็นร่มเงา มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินเดียและศรีลังกา

เหตุผลที่ภาษาอังกฤษเรียกต้นนี้ว่า False Ashoka หรือ "อโศกเทียม" เนื่องจากต้น Ashoka ที่แท้จริงไม่ได้อยู่ในวงศ์ Annonaceae แต่กลับอยู่ในวงศ์ถั่ว เวลาภาษาอังกฤษเรียกว่า Ashoka Tree ปกติจะหมายถึงต้นชื่อวิทยาศาสตร์ Saraca asoca หรือ Saraca indica

เข้าใจว่าต้นอโศกที่แท้จริง (ชื่อวิทยาศาสตร์ Saraca indica) เดิมก็ถูกเรียกว่าต้นอโศกตามชื่อในภาษาอินเดีย เมื่อนำมาเมืองไทย คนไทยเรียกสั้นลงเป็นโศก ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปเป็นตรงข้ามคือ จากไม่มีโศก (อโศก) เป็นโศกเศร้า เช่นเดียวกับต้นอรัก (ไม่รัก) เมื่อมาถึงไทยกลายเป็นต้นรักนั่นเอง ต่อมาคำว่า"โศก"ก็ถูกสะกดเพื้ยนกลายเป็น "โสก" (น่าจะเป็นเพราะไม่ต้องการให้ไปดูเหมือนกับคำว่าโศกเศร้า) ในปัจจุบันต้น Saraca indica มักจะเรียกว่า "โสกน้ำ"

ซึ่งในการแปลพุทธประวัติบางครั้งมีความสับสนในการแปลชื่อต้นไม้ในภาษาโบราณ ในตอนที่พระพุทธเจ้าประสูตินั้นในบางครั้งก็จะมีคนแปลว่าพระมารดาประทับยืนชูพระหัตถ์ขึ้นเหนี่ยวกิ่ง Ashoka Tree (ต้นโสกน้ำ) และขณะนั้นเองก็รู้สึกประชวรพระครรภ์ และได้ประสูติพระสิทธัตถะกุมาร บางท่านก็แปลว่าเป็นกิ่งของต้น Sal (ต้นสาละอินเดีย) ในปัจจุบันนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จะมีความคิดเห็นว่าเป้นต้น Sal (ต้นสาละอินเดีย) กันมากกว่า

นอกเหนือจากต้น "โสกน้ำ" แล้วในประเทศไทยยังพบพืชตระกูลอโศกแท้อีกหลายชนิดในวงศ์ Leguminosae-Caesalpinioideae ได้แก่

  • โสกน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Saraca indica หรือ Saraca asoca ชื่อภาษาอังกฤษ Ashoka Tree
  • โสกเขา ชื่อวิทยาศาสตร์ Saraca triandra
  • โสกวัด ชื่อวิทยาศาสตร์ Saraca bijuga
  • โสกใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Saraca declinata
  • โสกเหลือง หรือศรียะลา ชื่อวิทยาศาสตร์ Saraca thaipingensis ชื่อภาษาอังกฤษ Yellow Saraca
  • โสกระย้า หรือโสกฝรั่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Amherstia nobilis ชื่อภาษาอังกฤษ Pride of Burma
  • โสกพวง ชื่อวิทยาศาสตร์ Brownea ariza ชื่อภาษาอังกฤษ Mountain Rose
  • โสกสะปัน ชื่อวิยาศาสตร์ Brownea grandiceps ชื่อภาษาอังกฤษ Rose of Venezuela
  • โสกดาวกระจาย ชื่อวิยาศาสตร์ Brownea macrophylla ชื่อภาษาอังกฤษ Panama Flame Tree
ซึ่งต้นโสกระย้าเองนั้นมีชื่อภาษาฮินดูว่า Simsapa ซึ่งในตำนานใบไม้ของต้น Simsapa ได้ถูกใช้ในการแสดงธรรมโดยพระพุทธเจ้า แต่ต้น Simsapa ในภาษาฮินดูอาจจะหมายถึงต้นที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia sissoo หรือต้นประดู่แขกในภาษาไทยได้เช่นกัน (อ่านรายละเอียดใน http://my-experimental-farm.blogspot.com/2014/03/blog-post_3111.html )   แต่ตามหลักฐานในปัจจุบันเรามักจะพบต้นโสกระย้าตามวัดในประเทศพม่า และประเทศศรีลังกา แต่กลับไม่ค่อยพบในประเทศอินเดีย  นักประวัติศาสตร์โดยทั่วไปจึงเชื่อว่าน่าจะหมายถึงต้นประดู่แขกมากกว่า   แต่ด้วยความสับสนบางประการบางท่านจึงเข้าใจผิดว่าต้นประดู่แขก เป็นต้นประดู่ลาย (ชื่อวิทยาศาสตร์ Dalbergia errans) ทั้งๆ ที่เป็นคนละต้นกัน   บางท่านถึงกลับบอกผิดว่าต้นประดู่ลายเป็นต้นไม้ในพระพุทธประวัติด้วยซ้ำไป

สนใจเรื่องพืชที่น่าสับสนแบบนี้อีกติดตามได้ที่ http://my-experimental-farm.blogspot.com/p/plants.html

สนใจเรื่องราวต่างๆ ในสวนขี้คร้านติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

2 พฤษภาคม 2557

วงจรธาตุอาหารพืช - Dynamic accumulator

วัฏจักรไนโตรเจน

Dynamic accumulator คือพืชที่สามารถดูดเอาแร่ธาตุต่างๆ ในดินจากทางราก และเก็บสะสมไว้ในใบ กิ่ง และลำต้น พืชเหล่านี้อาจจะถูกใช้ในการช่วยลดภาวะความเป็นพิษของดินโดยการดูดซึมแร่ธาตุที่มีปริมาณมากจนเป็นพิษกับพืชทั่วๆ ไปมาสะสมไว้ จนทำให้มีความเข้มข้นของแร่ธาตุนั้นๆ ในดินลดลงจนกระทั่งพืชชนิดอื่นสามารถเติบโตได้ ในอีกด้านหนึ่งพืชเหล่านี้จะเป็นแหล่งสะสมแร่ธาตุที่ดี ซึ่งเมื่อย่อยสลายแล้วก็จะกลายเป็นอาหารสำหรับพืชชนิดอื่นต่อไป  จึงนับได้ว่า Dynamic accumulator เป็นพืชที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการหมุนเวียนของวัฏจักรแร่ธาตุต่างๆ

Dynamic accumulator ที่นิยมแต่ละชนิดมักจะมีความสามารถพิเศษที่เป็นส่วนเติมเต็มให้กับพืชชนิดอื่นๆ Dynamic accumulator ที่เราพบเห็นบ่อยๆ คือ พืชวงศ์ถั่ว ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์แบบ symbiotic กับจุลินทรีย์ที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ โดยจุลินทรีย์เหล่านี้จะตรึงก๊าซไนโตรเจนจากอากาศแล้วแปลงไปอยู่ในรูปแบบที่พืชวงศ์ถั่วนำไปใช้ได้ (อ่านรายละเอียดได้จาก http://my-experimental-farm.blogspot.com/2014/04/blog-post_25.html ) ส่วนพืชวงศ์ถั่วเองก็จะให้น้ำตาลที่ได้จากการสังเคราะห์แสงกับจุลินทรีย์เป็นการตอบแทน ด้วยความสามารถนี้พืชวงศ์ถั่วจึงมักจะสามารถเติบโตในดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ หรือมีธาตุอาหารน้อยได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น จึงมักจะเป็นต้นไม้เบิกนำโดยธรรมชาติ (เช่น กระถินไทย ขี้เหล็ก กระถินเทพา นนทรี จามจุรี เป็นต้น ) ไนโตรเจนที่พืชวงศ์ถั่วได้จากจุลินทรีย์ก็จะสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของพืชวงศ์ถั่ว เมื่อใบร่วงลง หรือถูกตัดแต่งกิ่งก็จะถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ กลายเป็นปุ๋ยสำหรับต้นไม้ต่อไป (ส่วนหนึ่งของธาตุไนโตรเจนจะสูญเสียไประหว่างกระบวนการย่อยสลาย) ดังนั้นหากเราปลูกพืชวงศ์ถั่วปะปนไปกับไม้ผลในสัดส่วนที่เพียงพอ ใบไม้ของพืชวงศ์ถั่วที่ร่วงก็จะแหล่งธาตุไนโตรเจนตามธรรมชาติ ทำให้ลดภาระที่จะต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มเติม

นอกเหนือจากพืชวงศ์ถั่วยังมีพืชมีหลายชนิด โดยแต่ละชนิดจะมีสัดส่วนของแร่ธาตุที่จะสะสมแตกต่างกันไปตามชนิดของพืช เช่น ตารางใน http://oregonbd.org/Class/accum.htm ดังนั้นในการที่เราจะได้ธาตุอาหารจากใบไม้ที่ร่วงของต้นไม้ที่ปลูกในบริเวณที่เราปลูกไม้ผลนั้น เราก็ควรจะต้องมีต้นไม้หลากหลายชนิดที่จะเติมเต็มแร่ธาตุซึ่งกันละกัน ผมยกตัวอย่างของพืชวงศ์ถั่วซึ่งจะมีแร่ธาตุไนโตรเจน (บำรุงใบ) เป็นตัวเด่นแล้ว หากเรามองหาพืชที่ช่วยเสริมแร่ธาตุ ตัวอย่างเช่น

ต้นคอมเฟรย์ที่นอกจากจะมีธาตุไนโตรเจนเยอะที่ใบแล้ว ยังมีธาตุโปแตสเซียม (บำรุงผล ราก) อยู่มาก โดยคอมเฟรย์มีระบบรากที่มักจะแทงรากลึกในแนวดิ่งทำให้สามารถไปดูเอาแร่ธาตุโปแตสเซียมจากที่ระดับชั้นดินที่ลึกกว่าพืชทั่วไปมาสะสมที่ใบ เมื่อเราตัดใบคอมเฟรย์ หรือใบแห้งเหี่ยวเองตามธรรมชาติก็จะย่อยสลายและทิ้งธาตุโพแตสเซียมไว้ที่ใกล้ผิวดินซึ่งจะเป็นประโยชน์กับต้นไม้ที่ไม่ได้มีระบบรากลึกแบบคอมเฟรย์ นอกเหนือจากคอมเฟรย์ยังมี Dynamic accumulator ชนิดอื่นที่ดูดธาตุโปแตสเซียมได้ดี เช่น ตำแย, สะระแหน่, โกฐจุฬา, ลินิน, คาโมมายล์, พาร์สเลย์ และยาร์โรว์ เป็นต้น  หากเราหาต้นที่จะช่วยดึงธาตุฟอสฟอรัส (บำรุงดอก) ก็อาจจะปลูกต้นดาวเรือง กระเทียม ยี่หร่า เป็นต้น

พืชหลายชนิดที่มีการศึกษาเรื่องปริมาณแร่ธาตุมักจะเป็นจำพวกพืชล้มลุกที่มีอายุสั้น แต่ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีระบบรากลึกเองก็ทำหน้าที่เป็น Dynamic accumulator ได้เช่นกัน และน่าจะทำหน้าที่ได้ดีกว่าด้วยซ้ำไป เนื่องจากจะทำหน้าที่เป็นเหมือนปั๊มที่จะลงไปดูดแร่ธาตุจากชั้นดินที่ลึกมาเป็นใบไม้ และร่วงหล่น ถูกย่อยสลายกลายเป็นแร่ธาตุที่ผิวดินให้ต้นไม้ที่มีรากตื้นชนิดอื่นๆ ในป่าธรรมชาติจึงเป็นเสมือนกับดงของ Dynamic accumulator ที่มีต้นไม้หลากหลายชนิด ซึ่งจะผลิตแร่ธาตุแตกต่างกัน และส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทำให้ดินในป่าธรรมชาติจึงมีความอุดมสมบูรณ์สูงทั้งๆ ที่ไม่มีใครมาคอยเติมปุ๋ยให้กับต้นไม้

ส่วนพืชที่มีความสามารถในการดูดธาตุโลหะ (เช่น Aluminium, Silver, Arsenic, Beryllium, Chromium, Copper, Manganese, Mercury, Lead เป็นต้น) ได้มากกว่าพืชชนิดอื่นจะเรียกว่า "Hyper accumulator" ซึ่งธาตุโลหะเหล่านี้ถ้ามีอยู่ในดินมากจนเกินไปก็จะเป็นพิษ ทำให้ต้นไม้ไม่ค่อยเติบโต เราจึงต้องอาศัย Hyperaccumulator ในการดูดซับธาตุโลหะเหล่านี้ออกจากดิน ตัวอย่างของพืชที่เป็น Hyperaccumulator ได้แก่ http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_hyperaccumulators

โดยสรุปทั้ง Dynamic accumulator และ Hyper accumulator ต่างก็เป็นพืชชนิดพิเศษที่ช่วยเร่งการหมุนเวียนของแร่ธาตุต่างๆ ตามกลไลของวัฏจักรชีวธรณีเคมี ช่วยลดการสูญเสียแร่ธาตุต่างๆ ลงไปในดินชั้นล่างเร็วจนเกินไป ทำให้เกษตรกรรมธรรมชาติกลับเข้าสู่จุดสมดุลเร็วมากขึ้น และลดกิจกรรมที่เราจะต้องเข้าไปแทรกแซงธรรมชาติเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ (เช่น การใส่ปุ๋ย) แต่เราเองก็ควรจะระมัดระวังการสูญเสียแร่ธาตุจากปัญหาการชะล้างที่ผิวดิน ซึ่งก็มีมาตรการต่างๆ ที่กลุ่มเพอร์มาคัลเจอร์นำมาใช้เพื่อลดปัญหาดังกล่าว
วัฏจักรชีวธรณีเคมี (อังกฤษ: Biogeochemical cycle) คือวงจรหรือแนวกระบวนการที่เกี่ยวกับการที่ธาตุหลักทางเคมีหรือโมเลกุลเคลื่อนที่ผ่านสภาพแวดล้อมของระบบนิเวศทั้งที่มีชีวิต (ชีวภาพ) และไม่มีชีวิต (ธรณีภาพ) โดยหลักการแล้ว วัฏจักรทุกวัฏจักรย่อมซ้ำกระบวนการเสมอ แม้ว่าในบางวัฏจักร จะใช้เวลาซ้ำกระบวนการนานมาก โดยการเปลี่ยนรูปนี้จะเกิดผ่านทั้งบรรยากาศ น้ำ และบนบก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยทางกายภาพและชีวภาพ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีส่วนร่วมในวัฏจักร

วัฎจักรหลักที่เราสนใจศึกษาสำหรับเกษตรธรรมชาติ คือ วัฏจักรของธาตุอาหารหลักของพืช ได้แก่ ไฮโดรเจน(H) ออกซิเจน(O) คาร์บอน(C) ไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P) โพแทสเซียม (P) แคลเซียม(Ca) และกำมะถัน(S) ซึ่งความเข้าใจในวัฏจักรเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในความพยายามที่จะรักษาสมดุลให้มีแร่ธาตุต่างๆ หมุนเวียนในธรรมชาติที่เพียงพอสำหรับพืชที่เราปลูก โดยมนุษย์ไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงมากจนเกินไป ผมจึงได้รวบรวมเรื่องราวของวัฏจักรสำคัญๆ ไว้ดังนี้ :

1 พฤษภาคม 2557

ละไม - มะไฟ - มะไฟกา - จำปูลิง - มะไฟลิง - ลังแข

ปกติผมรู้จักมะไฟ และที่สวนขี้คร้านก็มีต้นมะไฟอยู่แล้ว 2-3 ต้น แต่เมื่อวานนี้ไปร้านต้นไม้แถวบ้านแพ้ว แล้วคนขายแนะนำให้ลองเอาต้นละไมไปปลูก ผมก็บ้าจี้ซื้อไปปลูกทั้งๆ ที่ไม่เคยรับประทานมาก่อน เมื่อกลับถึงบ้านเล่าให้คุณแม่ฟังจึงเพิ่งรู้ว่าคุณแม่เคยรับประทาน ว่าแล้วจึงต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าต้นละไมเป็นอย่างไร
ผลไม้คล้ายมะไฟ
ละไม
ละไม ชื่อภาษาอังกฤษ Rambai ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea motleyana วงศ์ Phyllanthaceae บางครั้งก็ถูกเรียกว่ามะไฟฝรั่ง เป็นผลไม้พื้นเมืองทางภาคใต้ สูงประมาณ 9-12 เมตร ใบขนาดใหญ่ แต่ละต้นจะให้ดอกเพียงเพศเดียว ถ้าจะปลูกให้่ได้ผลจะต้องมีทั้งต้นดอกตัวผู้่และตัวเมียในบริเวณเดียวกัน ผลออกเป็นพวงยาว ออกผลประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี ห้อยย้อยตามลำต้น ลักษณะคล้ายผลมะไฟ ผลอ่อนสีเขียว แก่แล้วเป็นสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน ภายในผลแบ่งเป็นกลีบๆ มี 3-5 กลีบ เนื้อสีขาว รสอมเปรี้ยวอมหวาน รับประทานเป็นผลไม้สด ใส่ในแกงต่างๆ

วิธีสังเกตุว่าเป็นละไม หรือมะไฟ ให้ดูที่ขั้วผลถ้ากลีบเลี้ยงครอบจะเป็นละไม (ดูภาพด้านบนขวา)  มีขนาดผลใหญ่กว่า และมีรสชาติหวานกว่ามะไฟ

พันธุ์ไม้ในวงศ์ Phyllanthaceae นี้มี 300 สกุล 5,000 ชนิด กระจายพันธุ์ในประเทศไทยประมาณ 80 สกุล 400 ชนิด พบไม้ต้นในป่าพรุ 6 สกุล 10 ชนิด

ส่วนพันธุ์ไม้ในสกุลมะไฟ (Baccaurea) ซึ่งเป็น 1 ใน 80 สกุลในวงศ์ Phyllanthaceae ที่พบในประเทศไทย มีพบพืชสกุลมะไฟในประเทศประมาณ 80 ชนิด โดยพบในป่าพรุ 3 ชนิด ซึ่งนอกเหนือจาก "ละไม" แล้วก็ยังมีที่เราพอรู้จักทั่วไปได้แก่ (บางชนิดเป็นผลไม้ป่าอาจจะไม่มีชื่อไทยอย่างเป็นทางการ)


มะไฟ
มะไฟ
มะไฟ ชื่อภาษาอังกฤษ Burmese grape ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea ramiflora วงศ์ Phyllanthaceae เช่นเดียวกับละไม เป็นพืชพื้นเมืองของอินโดนีเซีย ต่อมาจึงแพร่หลายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูงประมาณ 10-20 เมตร ใบเดี่ยว รูปไข่ ดอกเป็นช่อสีชมพูอ่อนหรืออมเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียส่วนมากอยู่ต่างต้นกัน ส่วนน้อยที่อยู่บนต้นเดียวกันแต่ก็จะอยู่กันคนละกิ่ง ผลออกเป็นช่อ ผลอ่อนมีขนคล้ายกำมะหยี่ พอแก่ผิวเกลี้ยง เปลือกสีเหลือง สีชมพู สีแดง(เช่น พันธุ์มะไฟแดง) และสีม่วง เนื้อสีขาวขุ่น(เช่น พันธุ์เหรียญทอง) หรือขาวใสอมชมพู(เช่น พันธุ์ไข่เด่า) แล้วแต่พันธุ์ เมล็ดแบนสีน้ำตาล


มะไฟกา
มะไฟกา ชื่อภาษาอังกฤษ Wild Rambai หรือ Setambun Merah ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea parviflora วงศ์ Phyllanthaceae เปลือกต้นสีน้ำตาล ใบเดี่ยว ออกรวมเป็นกลุ่ม ข้อต่อระหว่างโคนใบกับก้านใบบวมพอง ดอกออกที่ลำต้นและปลายกิ่งเป็นช่อ ดอกแยกเพศแยกต้น ดอกตัวผู้มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ มีขนสีขาวปกคลุม ดอกตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่า ผลกลม เปลือกหุ้มเหนียวและหนา แก่แล้วผลเป็นสีแดงแกมม่วง เนื้อหุ้มเมล็ดสีเหลืองอ่อน รสเปรี้ยว เมล็ดกลมแบน

ในประเทศไทยบางครั้งก็เรียกมะไฟ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea ramiflora) ที่มีเปลือกด้านนอกสีแดง (คือรูปมะไฟแดงด้านบน) ว่า"มะไฟกา" เช่นกัน ดังนั้นคำว่า"มะไฟกา" ในภาษาไทยจึงหมายถึงพืชอย่างน้อย 2 ชนิด


จำปูลิ่ง จำปูลิ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea minor วงศ์ Phyllanthaceae คล้ายๆกับ “มะไฟ” ลักษณะของก้านช่อ และการจัดเรียงตัวของผลเล็กๆ ในช่อ หากแต่มะไฟ มีลูกโตกว่า เปลือกหนากว่า ผลสีเหลืองอมส้ม ผลค่อนข้างกลมมีขนาดเล็กกว่ามะไฟ


มะไฟลิง
มะไฟลิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea polyneura วงศ์ Phyllanthaceae มีลักษณะคล้ายกับจำปูลิ่ง แต่เปลือกของผลไม่เหมือนกัน


ละไมป่า
ละไมป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea bracteata วงศ์ Phyllanthaceae


ละไมลิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea javanica วงศ์ Phyllanthaceae


กะดองดอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea reticulata วงศ์ Phyllanthaceae


ลังแข
ลังแข หรือ ลำแข ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea macrophylla วงศ์ Phyllanthaceae เปลือกหนาลูกคล้าย ๆ กระท้อน แต่ข้างในจะเหมือนมะไฟ มีรสชาดคล้ายๆ มะไฟหวาน


Rambai tikus
Rambai tikus ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea odoratissima วงศ์ Phyllanthaceae พบในฟิลิปปินส์และบรูไน ลักษณะของต้นและใบดูคล้ายกับมะไฟกามาก(Baccaurea parviflora) แต่เนื้อของผลข้างในจะเป็นสีฟ้า


Tampoi Belimbing
Tampoi Belimbing ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea angulata วงศ์ Phyllanthaceae พบในอินโดนีเซีย


Airy Shaw
ส้มไฟดิน หรือ Airy Shaw ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea ptychopyxis วงศ์ Phyllanthaceae พบที่จังหวัดภูเก็ต


Menteng
Menteng ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea racemosa วงศ์ Phyllanthaceae พบที่อินโดนีเซีย

สนใจเรื่องพืชที่น่าสับสนแบบนี้อีกติดตามได้ที่

http://my-experimental-farm.blogspot.com/p/plants.html


สนใจเรื่องราวต่างๆ ในสวนขี้คร้านติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0