10 พฤศจิกายน 2556

เกษตรธรรมชาติ และวัฏจักรของน้ำ ( Water cycle )

วัฏจักรของน้ำ (อังกฤษ : water cycle) หรือชื่อในทางวิทยาศาสตร์ว่า วัฏจักรของอุทกวิทยา (hydrologic cycle) หมายถึงการเปลี่ยนแปลงสถานะของน้ำระหว่างของเหลว ของแข็ง และก๊าซ ในวัฏจักรของน้ำนี้ น้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงสถานะไปกลับ จากสถานะหนึ่งไปยังอีกสถานะหนึ่ง อย่างต่อเนื่อง ไม่มีสิ้นสุด ภายในอาณาจักรของน้ำ (hydrosphere) เช่น การเปลี่ยนแปลงระหว่าง ชั้นบรรยากาศ น้ำพื้นผิวดิน ผิวน้ำ น้ำใต้ดิน และ พืช. กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ สามารถแยกได้เป็น 4 ประเภทคือ การระเหยเป็นไอ (evapotranspiration), หยาดน้ำฝน (precipitation), การซึม (infiltration)  และ การเกิดน้ำท่า (runoff)

hydrosphere
  • การระเหยเป็นไอ (evapotranspiration) เป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะของน้ำของเหลวกลายเป็นไอน้ำไปสู่บรรยากาศ กระบวนนี้ในธรรมชาติอาจจะเกิดขึ้นจากความร้อนจากไฟ (เช่น การต้ม) หรือไม่ใช้ความร้อนก็ได้ โดยระเหยเป็นไอน้ำ (evaporation) มีปัจจัยจากความชื้นในอากาศที่ผิวพื้น ความเร็วลมผิวพื้น แรงกดอากาศ ปริมาณพื้นที่ผิวพื้น และอุณหภูมิ นอกจากนั้นน้ำยังสามารถระเหยกลายเป็นไอจากการคายน้ำของพืช (transpiration) ซึ่งเรียกว่ารวมๆ ว่า evapotranspiration

  • หยาดน้ำฝน (precipitation) เป็นการตกลงมาของน้ำในบรรยากาศสู่พื้นผิวโลก โดยละอองน้ำในบรรยากาศจะรวมตัวกันเป็นก้อนเมฆ และในที่สุดกลั่นตัวเป็นฝนตกลงสู่ผิวโลก รวมถึงหิมะ และลูกเห็บ

  • การซึม (infiltration) จากน้ำบนพื้นผิวลงสู่ดินเป็นน้ำใต้ดิน อัตราการซึมจะขึ้นอยู่กับประเภทของดิน หิน และ ปัจจัยประกอบอื่นๆ น้ำใต้ดินนั้นจะเคลื่อนตัวช้า และอาจไหลกลับขึ้นบนผิวดิน หรือ อาจถูกกักอยู่ภายใต้ชั้นหินเป็นเวลาหลายพันปี โดยปกติแล้วน้ำใต้ดินจะกลับเป็นน้ำที่ผิวดินบนพื้นที่ที่อยู่ระดับต่ำกว่า ยกเว้นในกรณีของบ่อน้ำบาดาล

  • น้ำท่า (runoff) หรือ น้ำไหลผ่านเป็นการไหลของน้ำบนผิวดินไปสู่มหาสมุทร น้ำไหลลงสู่แม่น้ำ และไหลไปสู่มหาสมุทร ซึ่งอาจจะถูกกักชั่วคราวตามบึง หรือ ทะเลสาบ ก่อนไหลลงสู่มหาสมุทร น้ำบางส่วนกลับกลายเป็นไอก่อนจะไหลกลับลงสู่มหาสมุทร

เพื่อนๆ คงสงสัยว่าแล้วเราจะรู้แหล่งที่มาของน้ำได้อย่างไร เพราะน้ำก็คือน้ำเหมือนกันหมด แต่คงมีอีกหลายคนอาจจะยังไม่รู้จักคำว่า ไอโซโทป (อังกฤษ: isotope) ไอโซโทปก็คืออะตอมต่าง ๆ ของธาตุชนิดเดียวกัน ที่มีจำนวนโปรตอนหรือเลขอะตอมเท่ากัน แต่มีจำนวนนิวตรอนต่างกัน ส่งผลให้เลขมวลต่างกันด้วย และเรียกเป็นไอโซโทปของธาตุนั้นๆ ในน้ำก็เช่นกัน เราอาจจะเคยเรียนมาว่าน้ำคือ H2O  แต่ในความเป็นจริงจำนวนของนิวตรอนใน H หรือใน O ที่มาประกอบรวมกันเป็นน้ำ (H2O) จะแตกต่างกันออกไป

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าน้ำในทะเล และน้ำในแผ่นดินจะมีไอโซโทปที่แตกต่างกัน เมื่อน้ำระเหยกลายเป็นไอก็จะยังคงคุณสมบัติของไอโซโทปเหล่านี้อยู่  เมื่อเราติดตามทดสอบไอโซโทปของน้ำในน้ำฝนจะทำให้เรารู้ถึงแหล่งที่มาของไอน้ำที่มารวมตัวกันเป็นฝนในแต่ละพื้นที่ว่ามีต้นกำเนิดมาจากทะเล หรือแหล่งอื่นในแผ่นดิน  รวมทั้งต้นกำเนิดของน้ำที่ไหลเวียนในจุดต่างๆ ของโลก  จากผลการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์มีคนทำออกมาเป็นแผนภาพอย่างง่ายข้างล่าง

วัฏจักรน้ำ

เป็นที่น่าประหลาดใจกับผมเป็นอย่างยิ่งในครั้งแรกที่ทราบข้อมูลนี้  ปริมาณน้ำที่ระเหยจากทะลขึ้นไปเป็นเมฆจะตกมาเป็นฝนในทะเลมากถึง 91% จะมีเพียง 9% เท่านั้นที่จะมาตกในแผ่นดิน (ตอนแรกผมคิดว่าฝนตกเพราะเมฆที่เกิดจากไอน้ำจากทะเลเป็นส่วนใหญ่)  การตกในแผ่นดินส่วนใหญ่จะตกใกล้ชายทะเลก่อน (น้ำฝนแถวชายฝั่งจะเป็นน้ำจากทะเลประมาณ 60% และน้ำจากในแผ่นดิน 40%)  แล้วน้ำในแผ่นดินจะระเหยกลายเป็นไอน้ำ ก่อตัวเป็นเมฆค่อยๆ เคลื่อนลึกเข้าไปในแผ่นดิน  ฝนที่ตกลึกเข้ามาในแผ่นดินจะมีสัดส่วนของน้ำที่ระเหยจากแผ่นดินมากขึ้นเรื่อยๆ จนในบางพื้นที่ 100% ของน้ำฝนที่ตกจะเป็นน้ำที่มาจากในแผ่นดิน

นี่หมายความว่าฝนที่ตกในส่วนลึกเข้ามาในแผ่นดินอย่าง อ.แก่งกระจานจะเป็นฝนที่ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำในแผ่นดินนะสิ  จากการเฝ้าสังเกตุการตกของฝนจากสถานีวัดอากาศอัตโนมัติที่ http://www.thaiweather.net/fs_show_file.php?geo_code=01&type=province  ผมก็ชักจะเห็นจริงตามนั้น  ในกรณีที่ไม่ได้มีพายุเข้า  ฝนส่วนใหญ่จะเริ่มตกที่ริมทะเลก่อน (แถวชะอำ หรือ ปึกเตียน)  จากนั้น 1-3 วันจึงจะเริ่มตกในแผ่นดินมากขึ้น  โดยในช่วงต้นๆ ที่ดินยังแห้งมากๆ (ช่วงต้นๆ ฤดูฝน) จะไม่ค่อยมีฝนตกในแผ่นดินภายหลังจากที่ฝนตกตามชายทะเลมากนัก  ต่อมาเมื่อมีฝนตกถี่มากขึ้น แผ่นดินเริ่มเก็บสะสมน้ำในดินพอก็จะค่อยๆ เริ่มฝนตกตามมาในแผ่นดินแถบแก่งกระจานจริงๆ  ในช่วงท้ายๆ ของฤดูฝน  จะมีอยู่หลายครั้งที่ฝนแถวๆ ชายทะเลอย่างชะอำ จะไม่ได้ตกมากแล้ว  แต่ในแผ่นดินแถวแก่งกระจานกลับมีฝนตกเรื่อยๆ

ฤ นี่จะเป็นการอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ของคำพูดของปู่ฟูที่ว่า
"คนมักจะพูดว่าไม่ค่อยมีต้นไม้แถบนี้เพราะไม่ค่อยมีฝนมากพอ  แต่ความจริงแล้วการไม่มีต้นไม้มากพอต่างหากที่ทำให้ไม่ค่อยมีฝน"  ต้นไม้/ป่าไม้น่าจะมีส่วนอย่างมากกับปริมาณฝนที่ตกในแผ่นดิน  หาใช่ไอน้ำจากทะเลอย่างทีเราเข้าใจกัน  การที่เราหวังพึ่งพายุให้หอบฝนจากทะเลเข้ามา แต่ยังคงตัดไม้ทำลายป่าโดยไม่ทราบเลยว่านั้นคือการลดปริมาณน้ำฝนที่จะตกในแผ่นดิน  การแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งที่แท้จริงไม่ใช่การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำฝนจากพายุ  แต่เป็นสร้างป่าให้กลับคืนมามากกว่า เรามาติดตามดูกันว่าทำไมต้นไม้/ป่าไม้จึงเป็นแหล่งกำเนิดของฝนในแผ่นดินชั้นในที่แท้จริง

วัฏจักรชีวธรณีเคมี (อังกฤษ: Biogeochemical cycle) คือวงจรหรือแนวกระบวนการที่เกี่ยวกับการที่ธาตุหลักทางเคมีหรือโมเลกุลเคลื่อนที่ผ่านสภาพแวดล้อมของระบบนิเวศทั้งที่มีชีวิต (ชีวภาพ) และไม่มีชีวิต (ธรณีภาพ) โดยหลักการแล้ว วัฏจักรทุกวัฏจักรย่อมซ้ำกระบวนการเสมอ แม้ว่าในบางวัฏจักร จะใช้เวลาซ้ำกระบวนการนานมาก โดยการเปลี่ยนรูปนี้จะเกิดผ่านทั้งบรรยากาศ น้ำ และบนบก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยทางกายภาพและชีวภาพ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีส่วนร่วมในวัฏจักร

วัฎจักรหลักที่เราสนใจศึกษาสำหรับเกษตรธรรมชาติ คือ วัฏจักรของธาตุอาหารหลักของพืช ได้แก่ ไฮโดรเจน(H) ออกซิเจน(O) คาร์บอน(C) ไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P) โพแทสเซียม (P) แคลเซียม(Ca) และกำมะถัน(S) ซึ่งความเข้าใจในวัฏจักรเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในความพยายามที่จะรักษาสมดุลให้มีแร่ธาตุต่างๆ หมุนเวียนในธรรมชาติที่เพียงพอสำหรับพืชที่เราปลูก โดยมนุษย์ไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงมากจนเกินไป ผมจึงได้รวบรวมเรื่องราวของวัฏจักรสำคัญๆ ไว้ดังนี้ :


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

วัฏจักรของน้ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น