5 พฤศจิกายน 2556

ปัญหาจากการปฏิวัติเขียว จุดยืนร่วมของปู่ฟูและปู่บิล

เมื่อได้รับทราบประวัติของผู้กำเนิดแนวคิดทั้ง สองท่านแล้วผมก็อดคิดไม่ได้ว่าอะไรทำให้ปราชญ์หลายๆ ท่านในโลกในช่วงเวลาใกล้เคียงกันต่างเสาะแสวงหาคำตอบของคำถามว่า "มนุษย์จะอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้อย่างไร?" เมื่อศึกษาลงไปให้ลึกผมคิดว่าต้นเหตุคือปราชญ์เหล่านี้ต่างมองเห็นปัญหาของ การ "ปฏิวัติเขียว"

ฟริตซ์ ฮาเบอร์
การ "ปฏิวัติเขียว" เริ่มต้นจากการค้นพบปุ๋ยเคมี  โดยฟริตซ์  ฮาเบอร์ (Fritz Haber) นักเคมีชาวเยอรมัน เขามีบทบาทในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็นสงครามของนักเคมี  เพราะมีการผลิตสารเคมีมีพิษ เช่น คลอรีน เพื่อใช้ในการทำลายฝ่ายตรงกันข้าม  ในระหว่างที่พยายามจะสร้างอาวุธทางเคมี ฟริตซ์  ฮาเบอร์ร่วมกับเพื่อนร่วมงาน  คาร์ล  บอสซ์ (Carl Bosch) ได้ค้นพบกระบวนการจับไนโตรเจนในอากาศ ในปี ค.ศ.1909 (พ.ศ. 2452)  จนสามารถนำมาผลิตปุ๋ยเคมีในระดับอุตสาหกรรมได้ โดยกระบวนการผลิตแอมโมเนียจากปฏิกิริยาระหว่างไนโตรเจนกับไฮโดรเจน มีธาตุเหล็กเข้มข้นเป็นตัวกระตุ้น แอมโมเนียสารมารถนำไปผลิตไนเตรต และไนไตรต  โดยสารไนเตรตนับเป็นอาวุธสำคัญ เพราะสามารถนำไปผลิตเป็นระเบิดสังหารชีวิตผู้คน และมีอำนาจในการทำลายล้างสูง  แต่ขณะเดียวกันก็สามารถนำไปผลิตปุ๋ยเคมีไนโตรเจนซึ่งช่วยเร่งการเจริญเติบ โตทางใบ  ซึ่งทำให้ฟริตซ์  ฮาเบอร์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ในปี ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461)  ต่อมาพบว่าปุ๋ยเคมีไนโตรเจนมีผลข้างเคียงทำให้พืชอ่อนแอ โรคแมลงเข้าทำลายได้ง่าย  แต่ก็ยังมีการใช้กันอย่างกว้างขวาง  เนื่องจากองค์ความรู้จากการผลิตอาวุธเคมีในช่วงสงครามโลก  ทำให้นักเคมีสามารถผลิตยาฆ่าแมลงขึ้นมาใช้งานควบคู่กับปุ๋ยเคมี


หมายเหตุ ปู่ฟูเกิดในปี ค.ศ. 1913 (พ.ศ. 2456) ส่วนปู่บิลเกิดในปี ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) ซึ่งพวกเขาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของการปฎิวัติเขียว

นอร์แมน บอร์ลก
ต่อ ในปี ค.ศ. 1943 (พ.ศ.2486) บุคคลสำคัญในการ "ปฏิวัติเขียว" คนที่ 2 ดร.นอร์แมน  บอร์ลก (Norman Borlaug) ซึ่งทำงานให้มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ประสพความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสาลี ในเม็กซิโก ให้มีลักษณะต้นเตี้ย ให้ผลผลิตสูง ให้ผลผลิตได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับฤดูกาล (ไม่ไวแสง)  จนทำให้ ดร.นอร์แมน บอร์ลก ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) และเขาเป็นเจ้าของวาทะ “สันติภาพจะเกิดเมื่อท้องอิ่ม”  เขาเป็นที่เชิดชูของวงการเทคโนโลยีชีวภาพ แม้ว่าข้าวสาลีพันธุ์ปรับปรุงจะให้ผลผลิตได้สูง แต่ก็ต้องเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีระบบชลประทานดี และมีการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี

ในปี ค.ศ.1960 (พ.ศ. 2503) รัฐบาลสหรัฐและมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งสถาบันวิจัย ข้าวนานาชาติ (IRRI) ขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์  และได้ใช้องค์กรนี้ในการขับเคลื่อนการ "ปฏิวัติเขียว"  ด้วยการนำเทคโนโลยีพันธุ์ข้าวของ ดร. นอรแมน ไปเผยแพร่  นับว่าเป็นความสำเร็จที่ทำให้มูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์ในการขยายอำนาจออกไปทั่วโลก

ข้าวพันธุ์ IR8 ได้รับการพัฒนาขึ้นครั้งแรกโดยสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ที่ประเทศฟิลิปปินส์ และถูกเรียกว่าเป็นพันธุ์ข้าวมหัศจรรย์ ที่มีลักษณะต้นเตี้ยจนกระทั้งหญิงตั้งครรภ์ไม่สามารถจะก้มเกี่ยวได้ แตกกอดี ให้ผลผลิตสูง และไม่ไวต่อช่วงแสง แต่ต้องเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีระบบชลประทานดี  การปลูกโดยใช้ข้าวพันธุ์นี้ทำให้ประเทศฟิลิปปินส์มีข้าวเพียงพอรับประทานในประเทศจนกระทั่งสามารถส่งออกข้าวได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ในปี ค.ศ. 1961 ประเทศอินเดียประสพปัญหาความอดอยากอย่างรุนแรง  จึงได้เชิญ ดร.นอรแมน ไปเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงเกษตร มีการนำพันธุ์ข้าว IR8 ของมาทดลองปลูกในรัฐปัญจาบ ของประเทศอินเดีย  การทดลองประสบความสำเร็จอย่างมาก  ชาวนาอินเดียที่ใช้ข้าว IR8 โดยใช้ปุ๋ยเคมีได้ผลผลิตถึง 10 ตันต่อเอเคอร์ (ประมาณ 1.6 ตันต่อไร่) ซึ่งมากกว่าผลผลิตต่อไร่ของข้าวพันธุ์ดั้งเดิมในประเทศอินเดียถึง 10 เท่าตัว  มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความอดอยากในประเทศอินเดีย

ความสำเร็จของพันธุ์ข้าวของ IRRI ในประเทศอินเดีย ทำให้ข้าว IR8 ถูกขนานนามว่า "ข้าวมหัศจรรย์" และมีการพัฒนาสายพันธุ์ต่อมาเป็น IR36 ทำให้อินเดียสามารถขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญรายหนึ่งของโลกในเวลาต่อมา  ส่วนตระกูลร็อกกี้เฟลเลอร์ซึ่งเดิมร่ำรวยจากการค้าน้ำมัน (ผู้ผลิตน้ำมัน Esso) กลายเป็นตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก (http://www.askmen.com/top_10/entertainment/11b_top_10_list.html)  สามารถขยายฐานอำนาจจนผูกขาดตลาดและถูกฟ้องร้องในที่สุด

ส่วนตลาดของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปผู้ค้าเพียง 10 รายควบคุมตลาดเมล็ดพันธุ์กว่าครึ่งหนึ่งของทั้งโลก โดย 2 รายที่เป็นผู้ค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นบริษัทของประเทศสหรัฐอเมริกา (DuPont และ Monsanto) และยังเป็นผู้ผลิตยาฆ่าแมลงรายใหญ่ของโลก  ในขณะเดียวกันบริษัท Bayer (Germany) และ Syngenta (Switzerland) ก็มีลักษณะคล้ายกันคือเป็นทั้งผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ และยาฆ่าแมลงรายใหญ่ของโลก ....ประเทศกำลังพัฒนากำลังกลายเป็นทาสของมหาอำนาจโดยใช้การ "ปฎิวัติเขียว" เป็นระเบิดนำร่อง และมีเมล็ดพันธุ์ / ยาฆ่าแมลง เป็นโซ่ตรวน

ส่วนแบ่งตลาดเมล็ดพันธุ์


ส่วนแบ่งตลาดยาฆ่าแมลง

ส่วนเรื่องข้าวพันธุ์มหัศจรรย์ IR8 ในไทย ไม่ประสบความสำเร็จมากนักเพราะเป็นข้าวแข็ง  รสนิยมการกินข้าวของคนไทยละเอียดลึกล้ำเกินกว่าจะยอมรับข้าวแข็งอย่าง IR8 ได้ แม้ว่าจะให้ผลผลิตสูงจนกระทั้งปัจจุบันก็ไม่พบว่ามีความนิยมข้าวพันธุ์นี้  แม้นว่าข้าวพันธุ์ IR8 ไม่เป็นที่นิยมในไทย  เกษตรไทยก็ให้ความสนใจการเพิ่มอัตราการให้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้นของการ "ปฏิวัติเขียว" ในช่วงปี ค.ศ. 1940-2000 เราเริ่มเห็นการคัดเลือกสารพันธุ์พืชชนิดต่างๆ การจดทะเบียนลิขสิทธิ์ของพันธุ์พืชต่างๆ มีการโปรโมทเมล็ดพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่ เกษตรกรการนำเอาพืชพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งมาปลูกเป็นจำนวนมากจนทำให้พืชพันธุ์พื้นเมืองเริ่มสูญพันธุ์ไป เกษตรกรเริ่มตกเป็นทาสของบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ และที่สำคัญที่สุด  พืชที่บริษัทขายเมล็ดพันธุ์จำหน่าย และเป็นที่นิยมปลูกมักไม่สามารถเติบโตได้เองในธรรมชาติ  พืชเหล่านี้ต้องการระบบชลประทานที่ดี ฮอร์โมน ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และพลังงาน  เพื่อจะให้ผลผลิตสูง   เราเริ่มเห็นราคาผลผลิตต่างๆ ในตลาดโลกราคาตกต่ำลงเนื่องจากทุกประเทศต่างก็สามารถผลิตอาหารได้มากขึ้น  เกษตรกรไม่ได้เห็นผลกำไรมากมายจากการที่มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นเหมือนที่พวก เขาคาดหวัง  

สิ่งที่เราเห็นประเทศกำลังพัฒนาคือกลับมาพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง พันธุ์พืช และเครื่องจักรกลทางการเกษตรมากขึ้น หลังจากกว่า 50 กว่าปีของการ "ปฏิวัติเขียว" เกษตรกรเริ่มหลงลืมวิถีของการเพาะปลูกแบบเก่าๆ  เราใช้พลังงานมากขึ้นมากในการผลิตอาหาร การผลิตในสมัยใหม่ต้องการ input ในการเพาะปลูกมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นพันธุ์พืช ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง เพื่อให้สามารถแข่งขันกับเกษตรรายใหญ่ที่เริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตร  แตกต่างกับระบบเกษตรอินทรีย์เดิมๆ input เหล่านี้เกษตรกรไม่มีเทคโนโลยีที่จะผลิตได้เองทำให้จำเป็นต้องมีเงินมาซื้อ/ลงทุน ก่อนจะได้ผลผลิต  แต่เนื่องจากในชนบทมีเกษตรกรยากจนมีจำนวนมาก จึงเกิดแหล่งเงินกู้จำนวนมากในชนบท ทั้งแบบบนดิน และใต้ดิน   คนที่เข้าถึงทรัพยากรมากกว่า ไม่ว่าเป็นเงินทุนต้นทุนต่ำ (จ่ายดอกเบี้ยน้อย) หรือถือครองที่ดินจำนวนมากจึงเริ่มได้เปรียบเกษตรกรที่ยากจนกว่าจึงเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเริ่มเข้าไปใช้เทคโนโลยีในช่วงต้นๆ  ผลลัพธ์จาก"ปฏิวัติเขียว" ทำให้มีผลผลิตออกมาในตลาดมากขึ้นกว่าปกติจนราคาพืชผลตกต่ำ  ทำให้เกษตรกรรายย่อยยิ่งย่ำแย่ลงไป  เพราะมีต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่า มีภาระดอกเบี้ยสูง แต่..รายได้ต่ำ  คนรวยที่เป็นนายทุนปล่อยกู้ยิ่งร่ำรวยมากขึ้น  ยึดครองที่ดินที่เกษตรกรที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด  ทำให้ยิ่งมีที่ดินมาปล่อยเช่าให้เกษตรกรที่ยากจนเช่า  ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีมากขึ้นพร้อมกับการมาถึงของเทคโนโลยี  เกษตรกรที่ปรับตัวไม่ทันต่างตกเป็นเหยื่อ

การปฏิวัติเขียวคราวที่ผ่านมานั้น ช่วยให้ประชาชนในหลาย ๆ ประเทศมีความเป็นอยู่ดีขึ้นในภาพรวม โดยเฉพาะในอินเดียด้วยแล้ว เรียกได้ว่าแทบจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนประเทศจากความยากจนมาเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ ‘กำลังจะรวย’ อย่างเช่นทุกวันนี้ (แต่ไม่ได้หมายความว่ารายได้จะกระจายไปยังคนยากจน คนที่รวยขึ้นอาจจะกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มนายทุนส่วนน้อยในประเทศ ) แต่ขณะเดียวกัน ผลกระทบที่ตามมาจากการปฏิวัติเขียวในคราวนั้น ทำให้โลกต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ ๆ ตามมา การผูกขาดพันธุ์พืช การสูญเสียความหลากหลายของพืชที่ปลูก เราใช้ปุ๋ยเคมีไปมากอย่างไม่น่าเชื่อ ประมาณว่าช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเราใช้ปุ๋ยเคมีทั่วโลกไปแล้วเกือบ 200 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นราว 500% ในทุก ๆ ปี ตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในปี ค.ศ. 1961 สารเคมีเพื่อการเกษตร (ทั้งปุ๋ย และยาฆ่าแมลง) เหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำลายหน้าดิน ทำให้ดินเสื่อม เกิดดินเสีย และกลายเป็นดินตายในที่สุด ปัจจุบันทั่วโลกสูญเสียดินจากการทำเกษตรเคมีเฉลี่ย 13-53 กิโลกรัมต่อทุก 1 กิโลกรัมของอาหารที่เรารับประทาน ปัญหาวิกฤตคุณภาพดินเพิ่มมากขึ้นตามปริมาณการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร คุณภาพดินจากการทำเกษตรเคมีมีแต่จะเสื่อมลง ดังนั้นเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตเท่าเดิม ผู้ผลิตจึงต้องใช้สารเคมีในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ดินเสียหายหนักขึ้นและเร็วขึ้น นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าหากภาวะเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไป ทั่วโลกอาจจะมีดินเหลือให้ทำการเกษตรได้อีกไม่เกิน 40 ปี

ถึงแม้ประเทศไทยจะมีการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาวิกฤตทั้งหลายด้วยการรณรงค์เผยแพร่วิถีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันอย่างแพร่หลายมากว่า 2 ทศวรรษแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถชักจูงและดึงดูดให้เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศละทิ้งการทำเกษตรเคมีและหันมาทำเกษตรอินทรีย์แทนได้ ทั้งนี้เนื่องจากวิธีการทำเกษตรอินทรีย์ที่ส่งเสริมและเผยแพร่กันทั่วไปในประเทศไทย ต้องใช้เวลาราว 3-7 ปี เพื่อปรับพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของดินที่เสื่อมโทรมจากการใช้สารเคมี ให้สามารถให้ผลผลิตที่เทียบเคียงกับการทำเกษตรเคมี ขึ้นกับสภาพความเสื่อมของดิน เกษตรกรที่สนใจจะหันมาทำเกษตรอินทรีย์จำเป็นต้องแบกรับภาระรายได้ที่ลดลงในช่วงการปรับเปลี่ยนที่ยาวนานนี้ไว้เอง หรือรัฐต้องใช้งบประมาณมาช่วยสนับสนุน  แต่เกษตรอินทรีย์อย่างเดียวนั้นยังไม่พอ  เรายังจะเจอปัญหาอีกหลายอย่าง เช่น การบริหารจัดการน้ำ ดังนั้นปู่ฟูจึงพัฒนาแนวทาง "เกษตรธรรมชาติ" และปู่บิลจึงพัฒนาแนวทาง"เพอร์มาคัลเชอร์"

ผมคิดว่าปู่ฟู ปู่บิล และปราชญ์อีกหลายท่านมองเห็นปัญหาเหล่านี้ของการ "ปฏิวัติเขียว" ทั้งผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม  จนกระทั่งมีแรงบันดาลใจให้แสวงหาทางออกให้มนุษยชาติในการอยู่ในโลกนี้โดยใช้ทรัพยากรให้น้อยลง เพื่อจะสามารถอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างยั่งยืน


สุดท้ายผมอยากจะขอ อนุญาตแชร์บางส่วนของบทนำของหนังสือ"ปฏิวัติยุคสมัยด้วบฟางข้าวเส้น เดียว"ที่เขียนโดยอาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ

"ใน ด้านการเกษตรนั้น การเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดที่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติก็คือ "การปฏิวัติเขียว" (The Green Revolution) โดยเริ่มต้นจากเทคโนโลยีการผลิต เช่น การผสมพันธุ์พืชสัตว์ที่ให้ผลผลิตสูง การใช้สารเคมีชนิดต่าง ๆ เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ และการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม ตลอดจนสุขภาพอนามัยและระบบนิเวศวิทยาของโลก

จุด เด่นของการปฏิวัติเขียวอยู่ที่การนำเอาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เละ เทคโนโลยี มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอย่างได้ผลชััดเจนดังเช่นการเพิ่ม ผลผลิตต่อไร่ของพันธุ์ข้าว "มหัศจรรย์" ต่าง ๆ เป็นต้น แต่จุดอ่อนของมันก็คือละเลยต่อผลกระทบด้านอื่น ๆ เช่น สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาซึ่งมีความละเอียดอ่อน และซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง

โดยอาศัยเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ในที่สุด ระบบการเกษตรในแนวทาง "การปฏิวัติเขียว" ก็กลายเป็นนโยบายหลักของแทบทุกประเทศ และประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเกษตรกรต่างถูกชักจูงให้ยอมรับระบบการเกษตรดัง กล่าวด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมทั้งผ่านระบบการศึกษาและสื่อสารมวลชนนานาชนิด จนกระทั่งกลายเป็นกระแสหลักของระบบการเกษตรในปัจจุบัน

กล่าวโดยสรุป ระบบการเกษตรปัจจุบันตั้งอยู่บนหลักการใหญ่ ๆ เพียง ๒ ประการคือ ความมักง่ายและความรุนแรง

"ความมักง่าย" แสดงออกโดยการมองทุกสิ่งอย่างแยกส่วน เช่น มองเห็นดินเป็นเพียงพื้นที่สำหรับพืชอาศัยยืนต้นและเป็นแหล่งธาตุอาหารเท่า นั้นเมื่อดินขาดความอุดมสมบูรณ์ก็เพียงแต่ใส่ธาตุอาหารลงไปโดยตรงในรูปของ ปุ๋ยเคมี ซึ่งในที่สุดก็พัฒนามาจนไม่ต้องปลูกพืชบนดินก็ได้ กล่าวคือ ปลูกบนกกรวดทรายที่มีสารละลายของธาตุอาหารหล่อเลี้ยงอยู่แทน (Hydroponic)

ส่วน "ความรุนแรง" จะเห็นได้จากการแก้ปัญหาศัตรูพืช เช่น โรครา แมลง วัชพืชหรือสัตว์อื่น ๆ เช่นหนูนา โดยการฆ่าหรือทำลายโดยตรงด้วยสารเคมีพิษชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นยากำจัดเชื้อรา ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช หรือยาเบื่อหนูก็ตาม

ระบบ การเกษตรปัจจุบันพยายามแยกตัวออกจากธรรมชาติ โดยใช้วิธีการควบคุมและบังคับธรรมชาติไปในทิศทางที่มนุษย์ต้องการ เพียงเพื่อสนอง "ความต้องการเทียม" ของคนกลุ่มน้อยที่มีกำลังซื้อ ตัวอย่างเช่น การปลูกพืชเมืองร้อนในประเทศเขตหนาว หรือปลูกพืชเมืองหนาวในประเทศเขตร้อน รวมทั้งการบังคับให้ต้นไม้ออกผลนอกฤดูกาล เป็นต้น

รูปธรรมอันเป็นผล จากระบบการเกษตรดังกล่าวที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน ก็คือ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของกิจการกลุ่มบรรษัทผลิตสารเคมีและเครื่องจักรกลที่ ใช้ในการเกษตร การล่มสลายของเกษตรกรรายย่อย หนี้สินต่างประเทศของประเทศเกษตรกรรม ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยา ปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนทั่วไปในฐานะผู้บริโภคผลจากระบบการเกษตรนี้

และ เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปอีกก็พบว่าแท้จริงแล้ว ระบบการเกษตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้กลับมิได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นดังที่ กล่าวอ้างกันมาแต่ต้น หากแต่เป็นระบบที่ด้อยประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการผลิตอาหารให้ได้พลังงาน ๑ แคลอรี่นั้น จะต้องใช้พลังงานในการผลิตถึง ๗ แคลอรี่ ในขณะที่ระบบการเกษตรดั้งเดิมนั้นใช้พลังงานการผลิตเพียง ๑ แคลอรี่ แต่ผลิตอาหารได้พลังงานถึง ๕๐ แคลอรี่ ดังนั้น ระบบการเกษตรในปัจจุบันจึงใช้ทรัพยากรของโลกอย่างฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดและไม่อาจหมุนเวียนกลับมาใช้้ใหม่ได้อีก เช่น น้ำมันดิบ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติและแร่ธาตุต่าง ๆ เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดของเของเสียซึ่งเป็นพิษต่อดิน น้ำ อากาศ ตลอดจนปนเปื้อนมากับอาหารที่ผลิตได้ เป็นพิษภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วย

ปัญหา อันเกิดจากระบบการเกษตรทั้งทางตรงและทางอ้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ทวีความรุนแรงและคับขันยิ่งขึ้นทุกขณะ จนอาจกล่าวได้ว่าใกล้ถึงจุด "วิกฤต" แล้ว เช่นเดียวกับปัญหาด้านอื่น ๆ เช่น เศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ฯลฯ

ทางออก ของ "วิกฤตการณ์" ดังกล่าวก็คือ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้านเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น "การปฏิวัติ" ครั้งใหม่ในระบบการเกษตรของโลก

ปฏิวัติ ยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว ของมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ เป็นทั้งแนวความคิดและรูปธรรมในการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้านดังกล่าว แต่เป็นการปฏิวัติด้วยฟางเส้นเดียว กล่าวคือเปลี่ยนระบบการเกษตรปัจจุบัน เป็นระบบเกษตรกรรมธรรมชาติ (Natural Farming) นั่นเอง"


ปล. ท่านที่ไม่รู้จักอาจารย์เดชา  ลองเข้าหาข้อมูลอ่านเพิ่มเติมได้ที่

https://www.facebook.com/khaokwanfoundation?ref=ts&fref=ts

https://www.facebook.com/pages/%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B8%B2-%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%97%E0%B8%A3/176870855699598?ref=ts&fref=ts

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น