31 ตุลาคม 2556

วิวาทะเรื่องพลังงาน

ท่านมรรนพ:
ทิด..ทิดคิดว่าเมื่อถึงเวลานั้นที่พลังานน้ำมันหมดจริงๆแล้ว หากให้มีการเลือก หนึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์(หรือพลังงานจากแหล่งอื่นๆ)ที่จะมาขับเคลื่อนระบบแทนน้ำมัน หรือสองเลือกที่จะค่อยๆปรับตัวให้เข้ากับสภาพแบบที่ทิดว่าให้ค่อยๆชิน ในสังคมที่คัลเจอร์มันค่อนข้างจะเพอมาแนนซ์แบบนี้ซะแล้ว(ยืมคำของคุณธีระพันธ์มากลับซะหน่อย) ทิดว่าใครจะเลือกอะไรมั่ง?

ไม่แน่น๊ะครับ ตอนนี้แหล่งกำเนิดพลังงานรูปแบบใหม่อาจมีแล้ว แต่ยังไม่คุ้มที่จะลงทุนหรือสังคมยังไม่ยอมรับ เลยยังไม่โชว์ที่พอจะโชว์ให้เห็นได้ตอนนี้ก็บนดาวอังคารครับ ไม่รู้หม้อพลังงานแบบไหน หม้อเล็กๆเห็นจากข่าวว่าจะใช้ไปได้อีกนาน...

ส่วนรูปแบบสังคมแบบเพอร์มาคัลเจอร์แบบที่คุณธีระพันธ์ทดลองอยู่ โดยส่วนตัวผมเห็นว่าก็จะยังพัฒนาควบคู่อยู่ร่วมไปกับสังคมรูปแบบอื่นๆไปต่อครับ....


ท่านเจมส์ :
ท่านมหรรนพครับ ก่อนที่น้ำมันจะหมดไป มนุษย์จะต้องค้นหาพลังงานมาทดแทนอย่างแน่นอนในสภาวะที่ค้นหานั้นก็จะควบคู่ไปกับการวิกฤต อย่างที่คุณธีรพันธ์ได้กล่าวไว้ เหตุเพราะเครื่องจักรครื่องยนต์ที่เรามีนั้นต่างออกแบบมาเพื่อใช้น้ำมันเป็นหลัก การที่จะสับเปลี่ยนไปใช้พลังงานในรูปแบบอื่นๆ คงไม่สามารถทำได้ในระยะอันสั้น หรือมีไม่เพียงพอ ในส่วนของพลังงานไฟฟ้านิวเครียร์นั้น น่าจะเป็นทางเลือกหลังๆ พลังงานสะอาดอื่นๆดูเหมือนจะเป็นทางเลือกก่อน

ข้าพเจ้า :
ช้าก่อนท่านมหรรนพ และท่านเจมส์  ก่อนจะด่วนสรุปเรามาดูสถิติเรื่องพลังงานจากเวป www.nationmaster.com กันก่อนดีกว่า



เรา จะพบว่าในเรื่องการใช้พลังงานต่อคนนั้น  ไทยยังเป็นรองประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย  แต่ก็ใช้พลังงานมากกว่าประเทศอื่นรอบๆประเทศไทยทั้งสิ้น  สิ่งที่น่าตกใจมากกว่านั้นคือการนำเข้าพลังงานสุทธิ  ประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ไทยมีอัตราการนำเข้าพลังงานติดลบ นั่นหมายถึงพวกเขาส่งออกพลังงาน เช่น มาเลเซียส่งออกน้ำมัน เวียดนามและอินโดนีเซียส่งออกถ่านหิน พม่าส่งออกก๊าซธรรมชาติ ลาวส่งออกไฟฟ้า และประเทศไทยก็เป็น 1 ในลูกค้าชั้นดีของเพื่อนบ้านเหล่านี้  เพราะเรานำเข้าพลังงานมากถึง 48.39% ของพลังงานที่เราใช้ในประเทศไทยทั้งหมด

หากมองในเรื่องการนำเข้า พลังงานนั้น เราดูเหมือนจะคล้ายๆ กับประเทศคิวบา ซึ่งก็มีนักมวยเก่งเหมือนประเทศไทย :-D คิวบาก็ไม่มีแหล่งพลังงานในประเทศมากนักดูได้จากแหล่งพลังงานในการผลิตกระแส ไฟฟ้า  คิวบาก็ใช้พลังงานฟอสซิสในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากเกิน 90% เหมือนประเทศไทย  ทำให้เขามีความอ่อนไหวต่อราคาพลังงานของโลก  แต่หลังจากช่วง special period ประเทศคิวบาพยายามลดการใช้พลังงานต่อประชากรเหลือเพียง 62% ของอัตราการใช้พลังงานประชากรในประเทศไทย   ทำให้เขามีผลกระทบจากเรื่องพลังงานน้อยลง

เพื่อนบ้านของเรา (ยกเว้นพม่า และเวียดนาม) ก็มีการใช้พลังงานฟอสซิลในการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่มากว่า 80% แต่....พวกเขามีแหล่งพลังงานในประเทศมากพอที่จะส่งออกด้วยซ้ำไป  แต่..เราต้องนำเข้าพลังงานมาบริโภคในประเทศ

ประเทศที่น่าสนใจมากใน มุมมองของผมคือประเทศบราซิล เนื่องจากมีอัตราการบริโภคพลังงานต่อประชากรใกล้เคียงประเทศไทย  แต่มีอัตราการนำเข้าพลังงานน้อยกว่าเราครึ่งหนึ่ง  พลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบราซิลผลิตจากพลังงานน้ำ  และมีการใช้พลังงานฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ  แต่บราซิลก็ยังต้องนำเข้าพลังงานน้ำมัน  ชาวบราซิลตระหนักดีถึงความเสี่ยงของประเทศเขาจึงใช้ข้อได้เปรียบเรื่อง ปริมาณน้ำฝนมาใช้ในการผลิตพืชเพื่อนำมาใช้ผลิตพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบของ แก๊สโซฮอล์  พร้อมทั้งบังคับให้รถยนต์ค่ายใหญ่ๆ ผลิตรถยนต์ที่ต้องสามารถใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของแก๊สโซฮอล์สูงกว่าในประเทศ ไทยเป็นอย่างมาก

เพื่อนๆ อาจจะคิดว่าเราก็ copy แบบบราซิลสิ  ไม่เห็นจะยาก  แต่อย่าลืมว่ามีตัวอย่างเรื่องการผลิตแก๊สโซฮอล์ในทวีปอเมริกามาแล้ว  เนื่องจากคนในทวีปอเมริกาทานอาหารที่ทำมาจากข้าวโพดเป็นหลัก  เมื่อรัฐบาลสหรัฐอเมริการรณรงค์ให้มีการผลิตแก๊สโซฮอล์จากข้าวโพด  ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนข้าวโพด  ราคาอาหารส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  เนื่องจากข้าวโพดได้ถูกใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารจำนวนมาก รวมทั้งถูกใช้เป็นอาหารสัตว์ด้วย  การหันมาปลูกข้าวโพดจำนวนมากก็จะทำให้เหลือน้ำชลประทาน และพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารน้อยลง  ดังนั้นหากเราจะทำตามบราซิลให้เพียงพอที่จะใช้แทนน้ำมันโดยไม่ระมัดระวัง  เราจะเจอข้อจำกัดเรื่องปริมาณน้ำเพื่อการเกษตร และพื้นที่เพาะปลูกที่จะไปแย่งชิงกับพืชอาหาร  อาจจะทำให้พืชอาหารแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว  นอกจากนั้นเราจะเจอปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เพราะรถยนต์ในประเทศไทยไม่สามารถจะใช้พลังงานแก๊สโซฮอล์ได้มากเหมือนรถยนต์ ในบราซิลที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ

เอ...งั้นเราก็มาปลูกปาล์มน้ำมัน เอามาทำไบโอดีเซลแทนสิ  บางท่านอาจจะคิดเช่นนั้น  ท่านคงทราบกันดีว่าพืชตระกูลปาล์มต้องการน้ำมาก (จึงปลูกได้ดีทางภาคใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ดังนั้นเราก็จะเจอปัญหาเรื่องน้ำชลประทาน และพื้นที่เพาะปลูกเช่นกัน  นอกจากนั้นน้ำมันปาล์มยังเป็นน้ำมันปรุงอาหาร  ถ้าเราเอามาทำไบโอดีเซลในจำนวนมากก็จะทำให้ราคาน้ำมันพืชแพงมากขึ้น ราคาอาหารสำเร็จก็จะแพงตาม  นอกจากนั้นรถยนต์ส่วนตัวส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่เครื่องยนต์ดีเซล  ถ้ารัฐบาลจะส่งเสริมให้ทุกคนใช้รถยนต์ดีเซลกันหมดตอนนี้ก็จะไปแย่งกันใช้ น้ำมันดีเซลซึ่งเป็นพลังงานหลักในภาคการขนส่ง  หากเกิดการขาดแคลนน้ำมันดีเซลก็จะกระทบกับภาคขนส่ง มีผลต่อราคาอาหารที่คนในเมืองต้องพึ่งพิงจากขนส่งมาจากต่างจังหวัด

สรุปแล้วการแก้ไขปัญหามันไม่ง่าย  จะทำอะไรก็ดูเหมือนจะกระทบกับราคาอาหาร  เราจะต้องวางแผนและเริ่มลงมือทำตั้งแต่เมื่อวานนี้   โกรธ โกรธ โกรธ เพราะจะต้องใช้เวลามากในการเตรียมตัว และในการปรับตัว  สุดท้ายเราก็จะสามารถปรับตัวได้  แต่เมื่อดูสถิติแล้ว  เราคงจะลำบากในการปรับตัวมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านของเรา เพราะประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันมากกว่าประเทศเพื่อน บ้านของเรา  เมื่อเกิดวิกฤตน้ำมัน เราก็จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า  และผมเห็นด้วยกับพี่เจมส์ที่ว่ายังมีทางอื่นในการแก้ไขปัญหาก่อนที่เราจะ ต้องหันไปใช้นิวเคียร์  แต่ภาครัฐจะต้องนำประชาชนไปในทิศทางที่ถูกต้อง  เราต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องพลังงาน  ประชาชนชาวไทยจะหวังเพียงแต่จะหาแหล่งพลังงานทดแทนใหม่ๆ อย่างเดียวคงไม่ได้  วันนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะหันมาพิจารณาการลดการใช้พลังงานในประเทศ ไทย  หรือ..เราจะรอให้วิกฤตเกิดขึ้นแล้วค่อยหันมาหาทางแก้ไขปัญหากัน

ปล. พี่ชุติพนต์อาจจะบอกว่าเพื่อนๆ อย่าเพิ่งรีบหาทางแก้ไขเลย  พี่ชุติพนต์อยากจะเห็นวิถีชีวิตเก่าๆ กลับคืนมาในเร็ววัน (ล้อเล่นนะครับ)  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม

Peak Oil (ตอนที่ 4) - ถอดรหัสบทเรียนจากกรณีประเทศคิวบา

ย้อนกลับไป ก่อน special period เกษตรกรในคิวบาเน้นปลูกอ้อย และยาสูบเป็นแปลงขนาดใหญ่ และใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยมากมายเพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงเพื่อส่งออก แลกกับน้ำมัน และนำเข้าพืชอาหารจากต่างประเทศ (ฟังดูคุ้นๆ คล้ายแนวคิดชาวสวนยางหลายๆ แห่ง)  ทันทีที่เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำมัน   ทำให้เกิดปัญหาหลัก 2 อย่างคือ เกษตรกรไม่มีทักษะการปลูกพืชอาหารอื่นมากนัก และเกษตรกรไม่คุ้นเคยกับการเพาะปลูกโดยไม่มีน้ำมัน   ทำให้ไม่สามารถสร้างผลผลิตส่งให้ผู้คนในเมืองได้เพียงพอกับความต้องการ หรือทดแทนอาหารนำเข้าที่ลดลงมากถึง 80% ผลที่ตามมาในระยะสั้นคือไม่มีอาหารเพียงพอจำหน่าย  ไม่ว่าคุณจะยินดีจ่ายแพงแค่ไหนก็ไม่อาหารเพียงพอ  อาหารมีราคาแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว  ปัญหาดูเหมือนว่าจะซับซ้อนและมีเรื่องเกี่ยวโยงกันหลายอย่าง

เหมือนที่ Bill Mollison ผู้บัญญัติคำว่าเพอร์มาคัลเชอร์เคยกล่าวไว้ว่า "Though the problems of the world are increasingly complex, the solutions remain embarrassingly simple." วิธีการแก้ไขปัญหาชาวคิวบาตามสัญชาตญาณการเอาตัวรอดกลับเป็นเรื่องที่ดูเหมือนง่าย  เรามาดูวิธีการแก้ไขปัญหาในหลายๆ ด้าน

1. แปลงผักคนเมือง (Urban Garden)
เนื่องจากอาหารที่จัดสรรจากรัฐลดลงเหลือเพียง 20% ของปริมาณอาหารที่คนปกติควรจะได้รับ  ผู้คนในสังคมเมืองเริ่มปรับตัวเพื่อหลีกหนีให้พ้นจากการอดตาย  พวกเขากลับไปหาพื้นดินที่รกร้างว่างเปล่าในเมือง บางที่ก็เป็นที่ทิ้งขยะ  พวกเขาเริ่มทำความสะอาดพื้นที่และลงมือปลูกพืชกันเองในรูปแบบของแปลงผักชุมชน  หลายๆ คนไม่เคยมีประสบการณ์ทำเกษตรมาก่อนในชีวิต  พวกเขาเริ่มลงมือทำอย่างลองผิดลองถูก ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง หวังเพียงจะได้มีอาหารยังชีพบ้าง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 มีอาสาสมัครนักเพอร์มาคัลเชอร์จากออสเตรเลียเดินทางมาต่อยอดการแก้ไขปัญหาด้วยการถ่ายทอดเทคนิคต่างๆ ในการทำการเกษตรในแปลงผักคนเมืองของชุมชน  ไม่ว่าจะเป็น การดักเก็บน้ำฝนเพื่อเอามาใช้งานในการเกษตร การใช้ประโยชน์จากน้ำทิ้งในครัวเรือน  การลดการชะล้างหน้าดินจากน้ำฝน การทำปุ๋ยหมัก การเลี้ยงไส้เดือน การดูแลเรื่องศัตรูพืช และการทำการเกษตรอินทรีย์ 

นักเพอร์มาคัลเชอร์เหล่านี้ยังสอนเทคนิคใหม่ๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการเพาะปลูกในเมือง โดยการนำพื้นที่ที่ไม่มีสัมผัสดินมาใช้งาน เช่น  การปลูกผักในภาชนะ, การปลูกผักบนดาดฟ้า, การทำแปลงผักแบบ wicking bed บนพื้นซิเมนต์ เป็นต้น  นอกจากนั้นมีการเปิดอบรมหลักสูตร train the trainer เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ที่จะถ่ายทอดเทคนิคเหล่านี้ออกไปทั่วประเทศคิวบา

ชาวคิวบาที่ร่วมในการทำแปลงผักคนเมืองพวกเขาเริ่มจากนำผลผลิตมาบริโภค ส่วนที่เกินบริโภคก็จะแบ่งปันอาหารให้คนชรา หญิงมีครรภ์ และเด็กๆ  แปลงผักกลายเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนความรู้กัน  ถ้าพวกเขาช่วยตอบคำถามไม่ได้ก็จะแนะนำให้ว่าควรจะไปคุยกับใคร ผลิตผลส่วนเกินจากการแจกก็จะมีการแลกเปลี่ยนกัน ทำให้ค่อยๆ เกิดตลาดในชุมชนจากการแลกเปลี่ยนอาหาร และแลกเปลี่ยนความรู้ จนกระทั่งพัฒนามาเป็นการซื้อขาย โมเดลแบบนี้เริ่มขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ทำให้มีตลาดชุมชนเล็กจำนวนมากถูกจัดตั้งขึ้นมา  โมเดลแบบนี้ช่วยแก้ไขปัญหาได้หลายๆ อย่างได้แก่


  • ผักที่ปลูกเป็นเกษตรอินทรีย์ ไม่ได้ใช้สารเคมีที่ต้องใช้พลังงานน้ำมันในการผลิตเหมือนระบบการเกษตรเพื่อการค้าแบบเดิมๆ
  • แปลงผักเป็นแปลงขนาดเล็ก และมีพืชหลากหลาย จึงลดปัญหาเรื่องแมลง ทำให้ไม่ต้องสูญเสียพลังงานในการกำจัดศัตรูพืช
  • การ ขาย/แลกเปลี่ยนกันเองในชมชุมในรัศมีไม่เกิน 5-10 กิโลเมตร  ทำให้ไม่ต้องเสียเงินในการเดินทาง ผู้ซื้อผู้ขายสามารถเดิน หรือใช้จักรยานเดินทางมายังตลาดได้
  • เนื่องจากไม่ต้องขนส่งไกล จึงไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มาก
  • เนื่องจากไม่ต้องขนส่งไกล ทำให้พืชผักมีความสด และมีคุณค่าอาหารสูง  ลดปัญหาเรื่องขาดสารอาหาร
  • การ ผลิตโดยคนในชุมชนเพื่อคนในชุมชน  ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นที่ต้องการชุมชน  ทำให้ไม่ผลิตพืชพักที่ตลาดๆ ไม่ต้องการ ทำให้มีอาหารที่เหลือเกินจนถูกทิ้งให้เน่าเปื่อย ( waste ) น้อยลง เป็นการประหยัดพลังงานเช่นกัน

การเริ่มต้นทำแปลงผักคนเมืองดูเหมือนจะแก้ไขปัญหาได้หลายอย่างโดยไม่ต้องใช้พลังงานมากเหมือนวิธีการเดิมๆ แต่ก็ไม่อาจรองรับปัญหาทั้งหมดในชุมชนเนื่องจากมีประชากรอยู่ในสังคมเมืองหนาแน่นจนทำให้พื้นที่เพาะปลูกในเมืองอย่างเดียวไม่เพียงพอกับการบริโภคของทุกคนในชุมชนเมือง

2.การทำการเกษตรอย่างยั่งยืน
ก่อนที่จะเกิดวิกฤตนี้คิวบาถูกครอบงำโดยต่างชาติผู้ซึ่งแสวงหาผลประโยชน์จากการผลิตน้ำตาลของคิวบา ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าอย่างกว้างขวางเพื่อเปลี่ยนมาเป็นไร่อ้อย มีการใช้สารเคมีอย่างมากจนทำลายดินไปเกือบหมด  ภายหลังจากที่เริ่มเกิด special period รัฐบาลคิวบาจึงส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างกว้างขวาง แต่การฟื้นตัวของธรรมชาติไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน  ขบวนการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในดินเพื่อให้สามารถทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มรูปใช้เวลา 3-5 ปี  แต่ก็เป็นวิถีที่ยั่งยืนกว่าการทำการเกษตรแบบเดิมที่ใช้เครื่องจักร และสารเคมีจำนวนมาก

เกษตรกรเริ่มกลับไปใช้แรงงานคน และสัตว์ในการเกษตรเหมือนยุคสมัยเดิม เพื่อทดแทนเครื่องจักรกลการเกษตร  ก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคเกษตรอย่างมาก  อาชีพเกษตรกลายเป็นอาชีพที่ร่ำรวยที่สุด  เพราะไม่ต้องเสียเงินไปหาซื้ออาหาร สามารถปลูกในสิ่งที่กิน/กินในสิ่งที่ปลูก และยังสามารถขายส่วนที่เหลือกินให้กับคนในเมืองได้อีกด้วย

3. การจัดสรรที่ดิน
เมื่อเริ่มนโยบายการทำการเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ  รัฐบาลคิวบาพบว่าไม่สามารถใช้เทคนิคการบริหารงานแปลงเพาะปลูกเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่กับวิถีของเกษตรอินทรีย์แบบที่ไม่ใช้เครื่องจักรได้  เนื่องจากการทำการเกษตรในรูปแบบที่ไม่มีน้ำมันให้ใช้จะพึ่งแรงงานคนมาก  ทำให้ไม่สามารถทำเป็นแปลงขนาดใหญ่มาก  รัฐบาลคิวบาตัดสินใจแบ่งพื้นที่การเกษตรของรัฐมากกว่า 40% มาจัดสรรให้เกษตรกรทำการเกษตรอินทรีย์แปลงขนาดเล็ก โดยไม่เรียกเก็บค่าเช่าภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องลงมือเพาะปลูกพืชอาหารแบบ เกษตรอินทรีย์ด้วยตนเอง (ไม่ใช่เอาไปปล่อยเช่าต่อ)  ถ้าไม่ดำเนินการจะยึดที่ดินคืนเพื่อมอบให้เกษตรกรรายอื่นเข้ามาดำเนินการ และมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าเมื่อมีความจำเป็นรัฐจะสามารถยึดที่ดินคืนเพื่อมาทำประโยชน์อื่นในอนาคต

เกษตรกรหลายรายตัดสินใจออกจากการเป็นลูกจ้างทำงานเกษตรของรัฐ ออกมาทำการเกษตรด้วยตนเองในฟาร์มขนาดเล็กที่เกิดขึ้นมาจำนวนมากรอบๆ เขตเมือง รวมทั้งมีคนที่เคยอาศัยอยู่ในชุมชนเมืองหลายครอบครัวแสดงความสนใจ และยินดีย้ายออกจากเมืองมาอาศัยในชนบทเพื่อทำการเกษตร

การจัดสรรพื้นที่แบบนี้ช่วยแก้ไขปัญหาหลายๆ อย่าง เช่น

  • ทำให้รัฐแบกรับภาระในการจ้างงานน้อยลง (ลูกจ้างต้องออกไปทำมาหากินเอง รัฐไม่ต้องเลี้ยง)
  • มีคนยินดีย้ายออกจากเขตเมืองทำให้ประชากรในเมืองมีความหนาแน่นนอนลง (อย่าลืมว่าแปลงผักคนเมืองมีพื้นที่ไม่เพียงพอจะตอบสนองการบริโภคของคนในเมือง) รัฐก็สามารถจัดสรรอาหารให้กับคนในเมืองได้มากขึ้น (ปริมาณอาหารประมาณเดิมแต่เหลือคนน้อยลง  คนพวกที่รับจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตรต้องไปหากินเอาเอง รัฐไม่ต้องดูแล)
  • เริ่มมีเอกชนเข้ามาดำเนินการเพาะปลูก และจำหน่ายสินค้าเกษตรในราคาย่อมเยา (เพราะไม่มีต้นทุนเรื่องที่ดิน) เป็นทางเลือกให้กับชุมชนเมืองในการหาซื้ออาหารเพิ่มเติมจากที่รัฐจัดสรรให้ (รัฐจัดสรรอาหารให้ไม่เพียงพอ)
  • มีคนมาช่วยรัฐปรับสภาพดิน ฟื้นฟูระบบธรรมชาติอย่างรวดเร็ว  โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนของรัฐ
  • รัฐมี option ที่จะยึดคืนหากไม่ทำตามนโยบายของรัฐ เป็นการควบคุมการใช้งานที่ดินไม่ให้ผิดวัตถุประสงค์

4. การศึกษาและสุขภาพ
เมื่อเกิดเหตุ special period ปัญหาความไม่เพียงพอของระบบขนส่งสาธารณะทำให้ลดประสิทธิภาพในการทำงานของประเทศเป็นอย่างมาก  แม้นจะมีการนำเข้าจักรยานจำนวนมากจากจีน  แต่...ถ้าคุณเคยปั่นจักรยานแม่บ้านซึ่งไม่มีเครื่องทุ่นแรงอย่างระบบเกียร์เป็นระยะทางไกลกว่า 20 กิโลเมตร (ปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง) คนรู้ว่ามันจะทรมานก้นมาก  ยิ่งถ้าต้องปั่นไปกลับ (40 กิโลเมตร) ทุกวันคุณจะยิ่งเข้าใจว่ามันทรมานมากสำหรับคนทั่วไปที่คุ้นเคยกับการนั่งรถ

เพื่อเป็นการลดจำนวนคนที่ต้องเข้าไปใช้บริการรถสาธารณะ  จึงมีความจำเป็นจะต้องกระจายระบบศึกษา และสาธารณสุขพื้นฐานออกไปยังชุมชนต่างๆ ในอุดมคติแล้วระยะเดินทางไม่เกิน 10 กิโลเมตรจะอยู่ในวิสัยที่ผู้คนสามารถจะใช้จักรยานเดินทางได้โดยไม่ลำบากมากนัก รัฐบาลคิวบาจึงส่งทีมแพทย์และพยาบาลที่มีอยู่จำนวนมากออกไปทำงานอยู่ในชุมชน แทนที่จะอยู่ที่โรงพยาบาล  เข้าไปให้การรักษาพื้นฐาน ให้คำแนะนำเรื่องอาหาร (ทำงานร่วมกับเกษตรกร และแปลงผักชุมชนด้วย) และสมุนไพร  เน้นหนักที่การป้องกัน มากกว่าจะไปรักษาเมื่อเจ็บป่วยมาก  นโยบายแบบนี้ทำให้คิวบาเป็นประเทศที่มีสัดส่วนของประชากรเป็นนักวิทยาศาสตร์ และบุคคลากรทางด้านการแพทย์สูงที่สุดในทวีปอเมริกา  (คิวบามีแพทย์ประมาณ 5.7 คนต่อประชากร 1000 คน ประเทศไทยมีแพทย์ 0.37 คนต่อประชากร 1000 คน  ร้องไห้ )
จำนวนแพทย์ต่อประชากร

กอปรกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปเนื่องจากรัฐย้ายสถานที่ที่ประชาชนต้องไปติดต่อบ่อยๆ เข้ามาใกล้มากขึ้น  คนจึงหันไปใช้จักรยาน และเดินเท้ามากขึ้น  (ช่วยลดปริมาณคนใช้รถสาธารณะไปในตัว)  ทำให้อัตราการเป็นโรคหลายอย่างลดลง (เช่น อัตราคนเป็นโรคเบาหวานลดลงมากว่า 50% เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงด้านอาหารการกินที่กินผักมากขึ้น และต้องออกกำลังด้วยการเดินเท้า/การปั่นจักรยานมากขึ้นในชีวิตประจำวัน) ประชาชนคิวบามีสุขภาพดีพอๆ กับประชาชนในสหรัฐอเมริกาทั้งๆ ที่มีการบริโภคน้ำมันน้อยกว่าสหรัฐอเมริกาอย่างมาก (หมายเหตุ  ตัวเลขอัตราการบริโภคน้ำมันต่อประชากรนี้จะรวมถึงน้ำมันที่ถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่งในประเทศด้วย)
อัตราการบริโภคน้ำมันต่อประชากร
(ข้อมูลปี 2003 ของปริมาณพลังงานที่ใช้ต่อประชากรต่อปีในหน่วย kWh/person/year ของคิวบา 1,245 สหรัฐ 10,381 ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 1,872 เย้ๆๆๆ เราก็ไม่เลวร้ายมากนัก  อายจัง ....ก่อนที่จะมีการซื้อรถเพิ่มอีก 500,000 คันในปี 2555 ร้องไห้ )
ปริมาณพลังงานที่ใช้ต่อประชากรต่อปี

ในระยะต่อมาเมื่อประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น  คิวบาจึงส่งออกบุคคลากรทางการแพทย์ออกไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแลกกับการนำเข้าสินค้าอื่นๆ

รัฐบาลคิวบายังให้ความสำคัญในด้านการศึกษาโดยให้งบประมาณมาถึง 20% ของงบรัฐบาลเป็นงบการศึกษา ในขณะที่อังกฤษให้งบ 11% และสหรัฐอเมริกาให้งบ 14%  ในช่วง special period รัฐบาลคิวบาเพิ่มจำนวนสถานศึกษาใกล้บ้านของประชาชนมากขึ้น  จำนวนมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นจาก 3 เป็น 50 แห่ง (คิวบามีประชากรเพียงแค่ 11 ล้านคน) ทำให้นักเรียนนักศึกษาไม่ต้องเดินทางไกลจากบ้าน  เพื่อให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง  และแน่นอนว่าการทำการเกษตรอินทรีย์ก็ถูกบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน

ความจริงแล้วยังมีอีกหลายมาตรการที่ประเทศคิวบานำมาใช้งานเพื่อรับมือกับวิกฤตพลังงาน และการปิดกั้นทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา  แต่คิดว่าทุกคนคงเข้าประเด็นพอสังเขปแล้วว่า  ก่อน special period ชาวคิวบาคุ้นชินกับสิ่งอำนวยความสะดวก และเครื่องทุ่นแรงต่างๆ โดยไม่ได้ตระหนักว่าหลายสิ่งในชีวิตประจำวันในเมืองต่างเกี่ยวพันกับการใช้พลังงานอย่างซับซ้อน  กลไกของเศรษฐกิจที่ตีมูลค่าของสิ่งต่างๆ บิดเบือนการตัดสินใจให้ทำลายธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อแสวงหาผลตอบแทนในรูปตัวเงิน  การสนใจมูลค่ามากกว่าคุณค่าทำให้หลงระเริงอยู่ได้เพราะมีน้ำมันเป็นตัวสร้างภาพมายาว่าทุกสิ่งกำลังไปได้ดี  หลงไปกับพลังงานหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า หรือน้ำประปา ที่ส่งตรงมาถึงบ้านให้ใช้กันจนแทบไม่รู้สึกว่ามันมีอยู่ (คล้ายๆ กับอากาศที่เราจะรู้สึกว่ามันมีอยู่เมื่อไม่มีอากาศจะหายใจ)  วันหนึ่งที่การเข้าถึงพลังงานน้ำมันทำได้ยาก  ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างไม่น่าเชื่อ บทเรียนเหล่านี้สอนว่าก่อนที่เราจะไปไทอย่างแท้จริงได้ เราต้องเป็นไททางพลังงานให้ได้ก่อน  เรื่องที่น่าสนใจคือสุดท้าย special period ในคิวบาก็ค่อยๆ มีสถานะการณ์ดีขึ้นในช่วงหลังของทศวรรษ 1990 แต่ชาวคิวบาเหมือนจะได้รับ Wake up call จากเหตุการณ์นี้ และก็ไม่ได้หวนกลับไปใช้ชีวิตที่ยึดติดกับพลังงานฟอสซิลอย่างหนักเหมือนเดิม

บทเรียนจากชาวคิวบาทำให้ต้องกลับมาทบทวนวิถีการใช้ชีวิตของตนเองว่าวันนี้พวกเราพร้อมแล้วหรือยังเมื่อ Peak Oil มาถึงจริงๆ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า?  ทำให้มีคำถามผุดขึ้นมาในหัวอีกหลายๆ ประเด็นวิถีชีวิตที่เรากำลังทำอยู่ อยากให้ลองคิดหาทางหนีทีไล่เมื่อเหตุการณ์นั้นมาถึง

  • การหาซื้อบ้านใหญ่โตเมื่ออายุน้อยๆ เพราะกะว่าจะซื้อบ้านครั้งเดียวในชีวิต สุดท้ายได้บ้านชายเมืองต้องขับรถวันละหลายสิบกิโลเมตร
  • การพักอยู่ในที่คอนโดชั้นสูงๆ ชนิดที่เรียกว่าถ้าไฟดับก็ไม่อยากคิดเรื่องเดินลงจากตึกเลย
  • การพึ่งพิงอาหารที่ขนส่งจากจังหวัดที่ห่างไกลของชุมชนเมือง
  • การผลิตแปลงขนาดใหญ่ที่วันนี้ยังทำอยู่ได้เพราะอาศัยเครื่องจักร และพลังงาน
  • การผลิต และขนส่งไปขายในจังหวัดที่ห่างไกล
  • การทำการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อแลกเงิน (และส่งของไปขายไกลๆ)  แล้วเอาเงินมาหาซื้ออาหารที่ขนส่งมาจากที่อื่น
  • การพึ่งพิงสารเคมีที่ต้องนำเข้า หรือผลิตโดยโรงงานต่างถิ่น
  • การปล่อยน้ำฝนที่ตกลงมาไหลลงท่อระบายน้ำ  แล้วใช้น้ำประปามารดน้ำสนามหญ้าแทน
  • การทำการเกษตรที่พึ่งพิงการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศที่ห่างไกล
  • และ...กิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่ใช้พลังงาน

ผมไม่ได้มีเจตนาจะสร้างความตื่นตระหนก  เราอาจจะๆ ไม่ได้เผชิญปัญหาในทันทีทันใดที่ oil peak มาถึง  ตัวอย่างเช่นใน สหรัฐอเมริกานั้น peak oil เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1970 ความสามารถในการผลิตน้ำมันของสหรัฐเกิดขึ้นจริง  แต่ก็ถูกชดเชยด้วยการนำเข้าจากต่างประเทศ  วิกฤตจริงๆ กลับมาเกิดในช่วงปี ค.ศ. 1973 และ 1976 เนื่องจากปัญหาการนำเข้าจากตะวันออกกลาง  ต่อมามีการค้นพบแหล่งน้ำมันที่อะลาสกาทำให้วิกฤตน้ำมันของสหรัฐเบาบาง  ทำให้สหรัฐเรียนรู้ว่าประเทศของเขาเปราะบางแค่ไหนต่อการเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลาง  อย่างไรก็ตามไทยไม่ได้อยู่ในสถานะเดียวกันกับสหรัฐ และช่วงเวลาที่เรากำลังจะเผชิญจะเป็น peak oil ของโลก ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง  ในช่วงเวลานั้นนานาประเทศที่มีน้ำมันอาจจะหยุดส่งออกน้ำมันเพื่อเก็บไว้เพื่อความอยู่รอดของคนในชาติตนเอง  จึงเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากว่าวิกฤตจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ขอย้ำว่าผมไม่ได้มีเจตนาจะสร้างความตื่นตระหนก  ผมไม่ได้มีเจตนาให้ท่านเลิกทำสิ่งที่ท่านทำอยู่  เพียงต้องการนำเสมออีกหนึ่งมุมในการทำการเกษตรซึ่งแตกต่างจากแนวคิดเรื่องผลตอบแทนต่อไร่สูงสุด และแนวคิดเรื่องผลตอบแทนในรูปตัวเงินสูงสุด  สักวันหนึ่งบางท่านจะเข้าใจว่าเงินเป็นเพียงมายา  ในธรรมชาติไม่มีแนวคิดเรื่องเงิน คนมีเงิน 10 บาท และมีเงิน 10 ล้านก็ต่างเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่แตกต่างกัน ต่างก็อยู่ในกรอบของธรรมชาติ... ที่ดินราคาไร่ละสิบล้าน และที่ดินราคาไร่ละไม่กี่หมื่นบาทใช้ปลูกพืชได้ไม่แตกต่างกัน... เงินไม่มีความหมายในโลกของธรรมชาติ  ทำอย่างไรเราจึงจะหาที่ยืนเล็กๆ ในโลกของธรรมชาติ มีอาหารพอประทังชีวิตโดยไม่ไปเบียดเบียนระบบนิเวศที่สมดุลมากจนเกินไป  ทำอย่างไรเราจึงจะได้ผลผลิตพอประทังชีวิตโดยใช้พลังงานฟอสซิลต่ำสุด  ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถทำงานร่วมกับธรรมชาติ  แทนที่จะพยายามเอาชนะธรรมชาติ  ติดตามการเดินทางหาคำตอบ และการลงมือทดลองในสวนขี้คร้านตอนต่อไป 

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0 

Peak Oil (ตอนที่ 3) - ตามรอยเส้นทางการใช้น้ำมัน

หากเรามาติดตามดูว่าน้ำมันถูกนำไปใช้อย่างไร  เราจะเห็นว่าพลังงานเหล่านี้ถูกใช้ไปในภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง ภาคการเกษตร และภาคครัวเรือน  เมื่อเราพิจารณาดูการใช้พลังงานน้ำมันในภาคครัวเรือนให้ใกล้ชิดอีกนิดนึง  เราจะเห็นว่าการใช้พลังงานในภาคครัวเรือนมีมากกว่าที่เราคิดเนื่องจากมีการใช้พลังงานน้ำมันแอบแฝงอยู่หลายส่วนไม่ใช่เฉพาะน้ำมันที่เราใช้กับรถยนต์  ในงานวิจัยของสหรัฐแบ่งหมวดการใช้พลังงานออกเป็น 3 ส่วน มีอัตราการใช้พลังงานต่อคนต่อปีดังนี้ (สัดส่วนการใช้น้ำมันต่อคนของอเมริกายังสูงกว่าประเทศไทย)
อัตราการใช้น้ำมันต่อคน
1. การใช้พลังงานกับตัวบ้าน 7 บาเรล (835 ลิตร) ต่อคนต่อปี เช่น ไฟฟ้า พลังงานที่ใช้ในระบบผลิตและลำเลียงน้ำประปา ระบบปั๊มน้ำ ระบบทำความร้อน/ความเย็น ค่าน้ำมันตัดหญ้า เป็นต้น
2. การใช้พลังงานกับรถยนต์ 9 บาเรล (1073 ลิตร) ต่อคนต่อปี เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเครื่อง พลังงานที่ใช้ในการผลิตอะหลั่ย และวัสดุสิ้นเปลืองเกี่ยวกับรถอื่นๆ  รวมถึงพลังงานที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะก็รวมนำมาเฉลี่ยด้วย (สำหรับคนที่ใช้ระบบสาธารณะ)
3. การใช้พลังงานเกี่ยวกับอาหาร 10 บาเรล (1192 ลิตร) ต่อคนต่อปี !!! นับเป็นสัดส่วนที่สูงมากที่สุด  สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ทำงานวิจัย แต่เมื่อศึกษาในเชิงลึกพบว่ามีการใช้น้ำมันในทุกขั้นตอน


3.1 พลังงานในการผลิตอาหาร 
มีการศึกษาถึงปริมาณพลังงานที่ใช้ในขั้นตอนผลิตพืชอาหารโดยมีการวัดปริมาณพลังงานน้ำมันที่ใช้ในการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นพลังงานที่ใช้ในเครื่องจักร เครื่องตัดหญ้า ระบบให้น้ำ ระบบชลประทาน พลังงานที่ใช้ในการผลิตปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช ยาฆ่าแมลง ถุงเพาะ พลาสติกคลุม ดิน ฯลฯ เปรียบเทียบกับพลังงานในอาหารที่ผลิต  เรียกว่า Energy Efficiency = Food Energy / Energy Input มีค่าตามภูมิภาคต่างๆ ดังนี้
ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน
สังเกตว่าค่า Energy Efficiency จะสูงในประเทศกำลังพัฒนา เพราะไม่มีโอกาสเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรเท่าประเทศที่เจริญแล้ว  เมื่อเราดูค่าเฉลี่ยของโลกที่ 3.77 เท่า (หมายถึง 27% ของพลังงานอาหารที่เราผลิตเกิดจากการใช้พลังงานน้ำมัน) ในทวีปอเมริกาจะแย่กว่านั้นคือ 2.37 เท่า  (หมายถึง 42% ของพลังงานอาหารที่เราผลิตเกิดจากการใช้พลังงานน้ำมัน) ==> เรากำลังกินน้ำมัน !!!

แม้นจะไม่มีตัวเลขสถิติของประเทศคิวบาโดยตรงมาเปรียบเทียบ  เราก็สามารถดูได้จากตัวเลขอื่นๆ ในช่วงก่อนเกิด special period ตามแผนภาพข้างล่าง ไม่ว่าจะเป็นปริมาณพื้นที่ที่มีระบบชลประทาน (แน่นอนว่าจะใช้พลังงานในการชลประทาน) ปริมาณเครื่องจักรที่ใช้ และปริมาณสารเคมีที่ใช้  ตัวเลขต่างๆ ของคิวบามากกว่าประเทศอื่นๆ ในละตินอเมริกา  หรือสหรัฐอเมริกา  สื่อให้เห็นว่าคิวบามีการใช้พลังงานในภาคการผลิตไม่ยิ่งหย่อนกว่าในสหรัฐอเมริกา
อัตราการใช้พลังงานเดิมของคิวบา
ผมไม่มีตัวเลขพลังงานในการผลิตเนื้อสัตว์ แต่ทุกท่านคงเข้าใจได้ว่าจะต้องมากยิ่งขึ้นไปอีก  เพราะสัตว์ก็จะต้องกินพืช หรือเนื้อสัตว์ด้วยกัน  และเรายังต้องใช้พลังงาานเข้าไปขบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเก็บเกี่ยวพืชมาให้สัตว์กิน การแปรรูปอาหารสัตว์ การขนย้ายสัตว์ ฯลฯ


3.2 พลังงานในการแปรรูปสินค้า 
ก่อนจะมาถึงมือผู้บริโภค  เรายังต้องใส่พลังงานเข้าไปในการแปรรูป  ไม่ว่าจะเป็นการบรรจุหีบห่อต่างๆ (ทุกท่านคงรู้อยู่แล้วว่าพลาสติกผลิตจากน้ำมัน) รวมถึงพลังงานที่ใช้ขบวนการถนอมอาหาร เช่น การแช่แข็ง, UHT, Pasteurization ล้วนแต่ใช้พลังงาน

3.3 พลังงานในระบบกระจายสินค้า
พลังงานยังหมดไปกับการขนส่ง และกระจายสินค้าเนื่องจากแหล่งผลิตอาหารไปยังผู้บริโภค  ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของน้ำมันเชื้อเพลิงในการขนส่ง  ค่าพลังงานในการทำความเย็นเพื่อรักษาอาหาร  ซ้ำร้ายจะมีอาหารส่วนหนึ่งเน่าเสีย หรือหมดอายุก่อนจะถึงมือผู้บริโภค  โดยงานวิจัยในอเมริกาพบว่ามีอาหารที่เน่าเสียในขบวนการกระจายสินค้าสูงถึง 14-18%  เสมือนหนึ่งกับการขนอาหารจากนอกเมืองเข้าไปทิ้งในเมืองเกือบ 1 ใน 5 ของปริมาณที่ขน  ชั่งเป็นการใช้พลังงานที่ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย

หมายเหตุ ที่บ้านผมบางทีก็ซื้ออาหารจากนอกบ้านมาเก็บในตู้เย็นจนเสีย เพราะเก็บไว้จนลืมกัน  หมดพลังงานไปกับการทำความเย็นให้กับอาหารพวกนี้ไปเฉยๆ  ยิ่งคิดยิ่งรู้สึกผิด นิสัยขี้ลืมนี้ก็ยังแก้ไม่หาย โกรธ โกรธ โกรธ

เมื่อดูค่าพลังงานที่ใช้ในขบวนการต่างๆ รวมกันแล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่มีปริมาณน้ำมันถูกใช้ในหมวดอาหารสูงยิ่งกว่าพลังงานน้ำมันที่ถูกใช้ในรถยนต์ซะอีก ==> เรากำลังกินน้ำมัน !!!  (ตัวเลขเหล่านี้เป็นของทางสหรัฐอเมริกา  หวังว่าถ้ามีการสำรวจในประเทศไทยในอนาคตแล้ว ตัวเลขของเราจะดีกว่านี้)

เนื่องจากการใช้ชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันมีการพึ่งพาพลังงานน้ำมันในอาหารเป็นสัดส่วนที่สูง  จึงไม่น่าประหลาดใจที่ว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำมันจะส่งผลกระทบกับปัญหาอาหารขาดแคลนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  นับเป็นความท้าทายของคิวบาในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ก่อนจะส่งผลกระทบกับชีวิตและสุขภาพของประชาชนในประเทศ  ในตอนต่อไปเราจะติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างมากที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตรของคิวบาในช่วง special period

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0 

Peak Oil (ตอนที่ 2) - ประเทศคิวบา ห้องทดลองปัญหาพีคออย์ของโลก

สาธารณรัฐคิวบา ประกอบด้วยเกาะคิวบา (เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะแอนทิลลิสใหญ่) เกาะคูเบนตุด และเกาะเล็ก ๆ ใกล้เคียง ตั้งอยู่ในภูมิภาคแคริบเบียนเหนือ  คิวบาตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสหรัฐอเมริกาภาคตะวันออก และหมู่เกาะบาฮามาส ทางทิศตะวันตกของประเทศเฮติ ทางทิศตะวันออกของเม็กซิโก และทางทิศเหนือของหมู่เกาะเคย์แมนและเกาะจาเมกา มีประชากรประมาณ 11 ล้านคน

ประเทศคิวบา

ชาวสเปนเดินทางมาถึงเกาะคิวบาครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2035 แต่ไม่ได้สนใจเกาะนี้มากนักในระยะแรกเพราะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติและมีชาวอินเดียนอยู่น้อย จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติในเฮติเมื่อปี พ.ศ. 2333 คิวบาจึงกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมน้ำตาลของสเปนแทนที่เฮติ  เมื่อพ.ศ. 2438 มีการเรียกร้องเอกราชจากสเปนของคิวบาได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา 

หลังจากได้รับเอกราช คิวบาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาอย่างมาก ทั้งนี้เพราะสหรัฐมีผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำตาลของคิวบา อิทธิพลของสหรัฐสิ้นสุดลงเมื่อฟีเดล กัสโตร เข้ายึดอำนาจจากประธานาธิบดีฟุลเคนซีโอ บาติสตา และบริหารประเทศด้วยระบอบสังคมนิยมเมื่อ พ.ศ. 2502 และหันไปสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตและจีนแทน จนกลายเป็นเพียงประเทศเดียวในบริเวณภูมิภาคนี้ที่ยังคงมีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์อยู่

แม้นจะถูกปิดกั้นทางการค้าจากสหรัฐแต่คิวบาก็อาศัยความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตเป็นหลัก  ต่อมาเกิดการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ.2534 คิวบาจึงเดือดร้อนอย่างหนักเนื่องจากก่อนหน้านี้ถูกสหรัฐปิดกั้นทางการค้า แต่คิวบาอาศัยซื้อน้ำมันจากสหภาพโซเวียตช่วยรรเทาปัญหา  เมื่อไม่มีสหภาพโซเวียตคอยปกป้องทางสหรัฐก็เพิ่มมาตรการปิดกั้นทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้นกับคิวบา เช่น ห้ามไม่ให้เรือที่เคยเทียบท่าที่คิวบาเข้าสหรัฐเป็นเวลานานถึง 6 เดือน  ทำให้ไม่มีเรือเอกชนต้องการเดินทางไปยังคิวบา  แต่รัฐบาลของฟีเดล กัสโตร ก็ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับสหรัฐ ทำให้เกิดสภาพยากลำบากอย่างหนักในประเทศยาวนานไม่น้อยกว่า 5 ปี (ในภาษาอังกฤษเรียกช่วงเวลานี้ว่า special period )

ปริมาณอาหารที่เคยนำเข้าจากต่างประเทศลดลง 80%  ประชาชนมีอาหารแจกจ่ายจากรัฐเหลือเพียง 20% ของปริมาณอาหารที่คนควรจะบริโภคต่อวัน  การปิดกั้นเรือขนส่งของสหรัฐทำให้แม้นแต่โครงการช่วยเหลืออาหารจาก UN ไม่สามารถส่งอาหารเข้าไปช่วยประชาชนที่อดอยากของคิวบาได้  ช่วงเวลาดังกล่าวน้ำหนักของชาวคิวบาลดลงไปเฉลี่ยคนละ 10 กิโลกรัม  ประชาชนต้องดิ้นรนหาทางหาอาหารเพิ่มเติมเองเพื่อเอาชีวิตรอด

ปริมาณน้ำมันที่เคยมีการนำเข้าปีละ 14-15 ล้านบาเรล ลดลงอย่างรวดเร็วเหลือเพียง 4 ล้านบาเรลต่อปี ปริมาณน้ำมันมีไม่เพียงพอที่จะจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ทั้งวัน ไม่มีพลังงานพอที่จะปั๊มน้ำขึ้นอาคารสูง รถยนต์ส่วนตัวไม่มีน้ำมันเพียงพอที่จะแล่น รถประจำทางมีไม่พอ คนต้องรอรถประจำทางประมาณ 3-4 ชั่วโมงเพื่อไปทำงาน และอีก 3-4 ชั่วโมงเพื่อเดินทางกลับ

รถอูฐ
มีการดัดแปลงรถบรรทุกสินค้ามาเป็นรถโดยสารประจำทางที่เรียกว่าอูฐ (เพราะเป็นรถมี 2 โหนกเหมือนอูฐ)

รถจักรยานจักรยานจำนวน 1.2 ล้านคันถูกนำเข้ามาจากจีน และผลิตเพิ่มในประเทศอีก 5 แสนคัน

รถม้า/ล่อรถม้า/ล่อ เริ่มถูกนำกลับมาใช้งาน

เพื่อใช้บรรเทาปัญหาการเดินทางไปทำงาน โรงงาน/บริษัทจำนวนมากต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีพลังงาน เหลือเพียงงานรับจ้างทั่วไปที่มีค่าตอบแทนต่ำ มูลค่างานลดลงอย่างมหาศาล  ชาวคิวบาได้รับค่าจ้างเหลือเพียงประมาณ 2 ดอลล่าร์ (ประมาณ 60-70 บาท) ต่อเดือน  ทำให้พวกเขาไม่มีเงินพอที่จะไปซื้อของนำเข้าจากต่างประเทศได้เลย

เครื่องจักรในการเกษตรแทบทั้งหมดไม่สามารถใช้งานได้เพราะไม่มีน้ำมัน ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง วัคซีนรักษาโรคในสัตว์ ไม่มีให้ใช้งาน ในช่วงแรกเกษตรกรคิดว่าช่วงเวลาแบบนี้จะยาวนานเพียงไม่กี่เดือน แต่ special period ยาวนานติดต่อกันหลายปี เกษตรกรต้องเปลี่ยนวิถีในการทำเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์อย่างสิ้นเชิง 



ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0 

Peak Oil (ตอนที่ 1) - บทนำ

ขอออกนอกเรื่องหน่อย ความจริงเรื่อง Peak Oil เป็นเรื่องที่มารู้ในภายหลังเมื่อไม่นานมานี่  สร้างความประหลาดใจว่าทำไมตัวเองไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อนเลย  แต่บังเอิญเรื่องนี้มีเหตุผลสนับสนุนจุดเริ่มว่าควรจะมาเรียนรู้เรื่องการ ทำการเกษตรธรรมชาติ  จึงอยากจะแบ่งปันให้เพื่อนๆ ฟัง  


Hubbert Curve

Oil Peak หมายถึงจุดที่อัตราการดูดน้ำมันขึ้นมาผลิตใช้งานได้ถึงจุดสูงสุด เนื่องจากไม่มีการค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ หลังจากนั้นปริมาณการผลิตจะค่อยๆ ลดลง  โดยคนที่เสนอแนวคิดนี้ครั้งแรกคือ ดร. M. King Hubbert  เป็นคนสร้างโมเดลจำลองอัตราการผลิตน้ำมันของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) และได้ทำนายว่า Peak Oil ของอเมริกาจะอยู่ในช่วงปี 1965-1971 บางครั้งเราจึงเรียกกราฟคำนายจากโมเดลนี้ว่า Hubbert Curve ตามชื่อของ ดร. Hubbert  สุดท้าย peak oil ของอเมริกาก็มาถึงจริงๆ ในปี 1970 (พ.ศ. 2513) ตรงตามที่ Hubbert พยากรณ์ไว้ล่วงหน้า 14 ปี

อ้าว..เรื่อง นี้มันตั้ง 40 กว่าปีที่แล้ว แล้วทำไมเรายังมีน้ำมันใช้อยู่เรื่อยๆ ล่ะ?  อ๋อ...มันเป็นเพราะว่ามีการค้นพบแหล่งน้ำมันที่อื่นๆ ในโลกเพิ่มเติมขึ้นมา เช่น ตะวันออกกลาง รัสเซีย ทะเลเหนือ จีน เป็นต้น  รวมทั้งเทคโนโลยีในการผลิตทำให้เราสามารถผลิตพลังงานจากวัตถุดิบในรูปแบบ อื่นนอกเหนือจากน้ำมันดิบ เช่น แก๊สธรรมชาติ หินน้ำมัน แหล่งน้ำมันเหล่านี้จึงยังคงช่วยประคองให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของโลกยังคง เพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นโดยตลอด  แต่แหล่งขุดเจาะที่ค้นพบใหม่ๆ มีน้อยลงเรื่อย  ด้วยอัตราที่น่าเป็นห่วง
Oil Producion Profile

อย่าง ไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์เริ่มมีการเก็บข้อมูลและได้พยากรณ์ไว้ว่า Peak Oil ของโลกน่าจะอยู่ในช่วงปี 2017 - 2018 (อีกประมาณ 5-6 ปีข้างหน้า) นี่หมายความว่าหลังจากนั้นอัตราการผลิตน้ำมันของโลกมีแต่ละลดลงทั้งๆ ที่ความต้องการการใช้งานน้ำมันไม่เคยลดลงเคย   น้ำมันจะแพงมากขึ้น  และทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันจะแพงมากขึ้น  แล้ว...จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมล่ะ?  เราจะปรับตัวกันอย่างไร?  เราต้องเตรียมพร้อมอย่างไรบ้าง?  โชคดี..ด้วยเหตุบังเอิญ  โลกของเราได้ทำการทดลองเหตุการณ์การขาดแคลนน้ำมันกับประเทศ ประเทศหนึ่งที่มีชื่อว่า "
คิวบา"  เรามาติดตามดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศคิวบา  และพวกเขาเอาตัวรอดกันได้อย่างไร?  มีอะไรที่เราเรียนรู้ได้ หรือ เตรียมความพร้อมก่อนที่เหตุการณ์ PeakOil ของโลกจะมาถึงได้?


ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0 

30 ตุลาคม 2556

ปฐมบท

ย้อนเวลากลับไปเมื่อเกือบ 2 ปีแล้ว ระหว่างที่กำลังรื้อของในบ้าน สายตาก็ได้เหลือบไปเห็นหนังสือหน้าปกเก่าที่ไม่เคยถูกเปิดขึ้นมาอ่านอีกเป็น เวลาร่วม 20 ปีมาแล้ว ผมยังจำวันแรกที่เลือกซื้อหนังสือนี้ได้ดี ผมเลือกซื้อเพราะชื่อมันแปลกดี "ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว" แถมยังคิดในใจ...ขี้โม้จัง แต่ก็ซื้อมาอ่าน  อ่านจบก็ได้รับแรงบันดาลใจจากทัศนคติอันลุ่มลึก และประสบการณ์อันน่าทึ่งผ่านงานเกษตรกรรมของคุณปู่ฟูกูโอกะ  ทำให้ติดตามผลงานเขียนในหนังสือ "วิถีสู่ธรรมชาติเล่ม 1-3"

มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ (ขอเรียกสั้นๆ ว่าปู่ฟู)

อ่านจบสรุปใจความรวมๆ ได้ว่าหลักการทำการเกษตรธรรมชาติของปู่ฟูคือ

1. ไม่ไถพรวนดิน
ทันที ที่เลิกการไถพรวนดิน จำนวนวัชพืชจะลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ประเภทของวัชพืชในที่ดินแปลงนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย วิธีการโดยทั่วไปในการจัดการกับวัชพืชก็คือการไถพรวนดิน แต่เมื่อคุณไถพรวนดิน เมล็ดที่อยู่ลึกในดินซึ่งไม่มีโอกาสงอกอยู่แล้วก็จะถูกพรวนให้ขึ้นมาอยู่ที่ ผิวดิน และเป็นโอกาสให้มันได้งอกขึ้นมา ยิ่งกว่านั้นการไถพรวนดินก็เป็นวิธีที่ทำให้วัชพืชที่งอกไวโตเร็วทั้งหลาย แพร่ขยายตัวยิ่งขึ้น ดังนั้น คุณอาจพูดได้ว่าเกษตรกรที่พยายามควบคุมการเติบโตของวัชพืชโดยการไถพรวนดิน นั้น แท้จริงแล้วเป็นผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความโชคร้ายด้วยตัวเขาเอง

2. ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยหมัก
คน เรามักจะเข้าไปวุ่นวายกับธรรมชาติ และเขาก็ไม่สามารถแก้ไขผลเสียที่เกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะพยายามอย่างไร วิธีการเพาะปลูกที่เลินเล่อสะเพร่าทำให้สูญเสียหน้าดินอันอุดมสมบูรณ์ไป และดินก็จะจืดลงทุกปี แต่ถ้าปล่อยดินอยู่ในสภาพของมันเองดินจะสามารถรักษาความอุดมสมบูรณ์ตาม ธรรมชาติเอาไว้ได้ ซึ่งเป็นไปตามวงจรชีวิตของพืชและสัตว์อย่างมีระเบียบ

3. ไม่กำจัดวัชพืช ไม่ว่าโดยการถางหรือใช้ยาปราบ
วัชพืช มีบทบาทสำคัญในการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินและช่วยให้เกิดความสมดุลใน สิ่งแวดล้อมทางชีววิทยา ตามหลักการพื้นฐาน วัชพืชเป็นสิ่งที่ต้องควบคุม แต่ไม่ต้องกำจัด

4. ไม่ใช้สารเคมี
เมื่อ พืชอ่อนแอลงเพราะผลจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ อันได้แก่การไถพลิกดิน การใช้ปุ๋ยเป็นต้น ความไร้สมดุลของโรคพืช และแมลงก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ในการเกษตรธรรมชาตินั้นหากปล่อยไว้ตามลำพังจะอยู่ในสภาพสมดุล แมลงที่เป็นอันตรายและโรคพืชมักมีอยู่เสมอ แต่ไม่เคยเกิดขึ้นในธรรมชาติจนถึงระดับที่ต้งองใช้สารเคมีที่มีพิษเหล่านั้น เลย วิธีการควบคุมโรคและแมลงที่เหมาะสม ก็คือการปลูกพืชที่แข็งแรงในสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์

ว้าว...มันชั่ง เข้ากับนิสัยขี้คร้านของเราจังเลย  เราไม่ต้องทำอะไรเดี๋ยวธรรมชาติเขาจะปรับตัวของเขาเอง  ฟังดูชั่งอุดมคติซะจริงๆ  จนแล้วจนรอดความขี้คร้านเข้ามาเยือน มัวแต่หลงระเริงไปกับยุคเทคโนโลยีทำให้ไม่เคยลงมือปฏิบัติ  ก็...ไม่ต้องทำอะไร  เดี๋ยวธรรมชาติเขาจัดการเอง...คิ คิ   เย้ย...ไม่ใช่ หาข้ออ้างไปได้

ว่าแล้วก็อยากไขข้อข้องใจที่คาใจมากว่า 20 ปี  เราจะทำแบบที่ปู่ฟูทำได้มั๊ย? ตอนแรกตั้งใจไว้ว่าจะเรียนกับปู่ฟูเลย  แต่ตอนนี้ก็ทำไม่ได้แล้ว  เราปล่อยวันเวลาผ่านไปโดยไม่ได้ลงมือทำจนปู่ฟูมาเสียชีวิตไปเมื่อ 16 สิงหาคม 2008 (2551) ตอนนี้คิดจะไปเรียนกับบรมอาจารย์ ปู่ฟู ก็ทำไม่ได้แล้ว  วันนี้มีกำลังทรัพย์ แต่ไม่ค่อยเหลือกำลังกายเราจะทำไหวมั๊ยเนี่ย...ในใจคิด  สุดท้ายตัดสินใจลองดู ไม่อยากเสียดายที่ไม่ได้ลงมือทำแบบที่ผ่านมา

ตั้งแต่ นั้นก็เริ่มตะเวณหาซื้อที่ดินที่ในดวงใจเพื่อใช้เป็นห้องทดลองแนวการทำการ เกษตรแบบปู่ฟู  จากนั้นหาอีกสารพัดเหตุผลในการขออนุมัติงบประมาณจากภรรยา ไม่ว่าที่ดินนี้จะเป็นที่พักผ่อน จะเป็นที่ปลูกผักผลไม้ปลอดสารพิษ จะเป็นที่ได้ออกกำลังกายเวลาทำสวน เป็นงานอดิเรกหลังเกษียณ และอีกสารพัดเหตุผลจากแม่น้ำทั้งห้า จนภรรยาเห็นชอบในหลักการ จากนั้นผมและภรรยาก็ค่อยๆ ใสความต้องการเข้ามาทีละข้อได้แก่
  • ถูก
    อัน นี้สำคัญมาก  เพราะอยากทำแบบพอเพียงตามกำลังทรัพย์  เผื่อเป็นที่พักผ่อนเวลาเกษียณ  ไม่ได้อยากลงทุนแพงๆ  หวังว่าของที่ดินราคาไร่ละไม่ถึงแสน ไม่งั้นก็จะแสนสาหัส   ยิ้มกว้างๆ ยิ้มกว้างๆ ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
  • ระยะทางไม่ไกลจาก กทม. มากนัก
    (ไม่ อยากให้เกิน 200 กิโลเมตร) อยากจะใช้เวลาในการเดินทางไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง  ไม่งั้นความขี้คร้านจะเข้ามาเป็นใหญ่ มีหวังได้ไปสวนปีละครั้งเดียวแน่ๆ อีกอย่างก็คือจะได้มีเวลาไปทดลอง และติดตามผลการทดลองของเราบ่อยๆ
  • ที่ดินอยู่สูงไว้ก่อน
    ได้ ยินเรื่องโลกร้อนกรอกหูมาเป็นสิบปีก็เลยกังวัลเรื่องน้ำท่วม  ภรรยาขอให้เป็นที่สูงเกิน 60-80 เมตรจากระดับน้ำทะเล  สูงเป็นร้อยเมตรได้ยิ่งดี
  • ไม่ไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ
    จะ เกษตรธรรมชาติยังงัย ก็ขอแหล่งน้ำกันเหนียวไว้สักหน่อย  เผื่อไม่เป็นแบบที่ปู่ฟูบอก  หากต้องทำระบบน้ำจะได้มีแหล่งน้ำให้ทำได้ (ขุดบ่อแล้วได้น้ำบ้างก็ยังดี)
  • ใกล้แหล่งท่องเที่ยว
    อัน นี้ภรรยาขอ เพราะเวลามีคนมาเยี่ยมเราจะได้มีที่เที่ยวที่อยู่ไม่ไกล นอกเหนือจากมาที่สวนด้วย ตอนแรกก็เป็นอะไรก็ได้  ต่อมาภรรยาก็บอกว่าไหนๆ เราก็จะเลือกวิวภูเขา (เพราะเลือกที่สูง) แล้ว ขอเป็นแบบไม่ไกลจากทะเลด้วยดีกว่า  เลยยิ่งเหลือน้อยจังหวัดไปเลย  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม


สรุปแล้วเรื่องมากเลยใช้เวลามากกว่า 6 เดือนกว่าจะหาที่ดินได้ตามสเปคได้ทุกข้อ  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม  และเป็นจุดเริ่มเล็กๆ ของสวนขี้คร้าน

ขออนุญาตแทรก link ของหนังสือของปู่ฟู 4 เล่มดังนี้ :
1. ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว
http://www.neutron.rmutphysics.com/teaching-glossary/index.php?option=com_content&task=view&id=7786&Itemid=8
http://www.homebankstore.com/dl/sread/017.pdf
http://www.bkw.ac.th/onet/2555/_book_/ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว.pdf

2. วิถีสู่ธรรมชาติเล่ม 1
http://www.neutron.rmutphysics.com/news/index.php?option=com_content&task=view&id=355

3. วิถีสู่ธรรมชาติเล่ม 2
http://www.neutron.rmutphysics.com/news/index.php?option=com_content&task=view&id=356

4. วิถีสู่ธรรมชาติเล่ม 3
http://www.neutron.rmutphysics.com/news/index.php?option=com_content&task=view&id=357