29 กันยายน 2557

ต้นสาธร

ต้นสาธร
ต้นสาธร

คนทั่วไปมักจะไม่รู้จักต้นสาธร จึงมักจะถามว่า "สาธร" เป็นชื่อต้นไม้ด้วยหรือ? รู้จักแต่เขตสาทร ถนนสาทร แต่ว่าไม่ใช่เขียน “สาธร” นะ เขียนเป็น “สาทร” มากกว่า ดังนั้นจึงขอนำเสนอประวัติของคำว่า "สาธร" หรือ "สาทร" กันก่อน

สืบเนื่อง คำว่า “สาธร” ซึ่งเป็นชื่อสำนักงานเขตสาธร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ไม่มีประวัติความเป็นมา และไม่มีความหมายคำแปล ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 แต่คลองสาทร กับถนนสาทร มีประวัติความเป็นมาจากบรรดาศักดิ์ขุนนางในสมัยในรัชกาลที่ 5 คือ เมื่อปีพุทธศักราช 2431 มีคหบดีจีนชื่อ เจ๊สัวยม บุตรพระยาพิศลสมบัติบริบูรณ์ (เจ๊สัวยิ้ม) อุทิศที่ดินของตนและทำการขุดคลองขึ้น จากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ไปบรรจบคลองวัดหัวลำโพง นำดินที่ขุดคลองทำถนนทั้ง 2 ฝั่งคลอง คนทั่วไปเรียก “คลองเจ๊สัวยม” เมื่อเจ๊สัวยมได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสาทรราชายุกต์คลองและถนนทั้ง 2 ฝั่ง เรียกว่า “คลองสาทร” และ “ถนนสาทร” ต่อมาเมื่อการเขียนภาษาไทย ได้มีการเขียนผิดเพี้ยนไปเป็น “สาธร” จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเขียนชื่อคลอง และถนนสาทร ผิดไปจากความเป็นมาในอดีต เมื่อจัดตั้งสำนักงานเขตขึ้น ได้นำชื่อถนนสาทรมาใช้เป็นชื่อเขตสาทร โดยใช้ “ธ ธง” จึงทำให้ไม่ถูกต้องด้วย เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า การเขียนชื่อเขตสาธร คลองสาธร และถนนสาธรเหนือ-ใต้ ไม่ถูกต้องตามประวัติความเป็นมาของคลองและถนน ซึ่งหลักฐานคำว่า “สาทร” ใช้ ท ทหาร ทั้งหมด กรุงเทพมหานครจึงได้เสนอ กระทรวงมหาดไทย โดยคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย ของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 2 พิจารณาแล้วเห็นว่า คำว่า “สาธร” ไม่มีความหมาย และคำแปลตามหลักภาษาไทย ส่วน คำว่า “สาทร” มีความหมายและคำแปลว่า “เอื้อเฟื้อ เอาใจใส่” ตามหลักภาษาไทย ในพจนานุกรม และเป็นคำที่มาจากบรรดาศักดิ์ของหลวงสาทรราชายุกต์ (เจ๊สัวยม) ซึ่งตามประวัติอักขรานุกรม ขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 5 จะใช้ ท ทหาร ทั้งหมด เมื่อเขตสาทรจัดตั้งขึ้น และใช้ชื่อคลองสาทร และถนนสาทร เป็นชื่อสำนักงานเขต โดยใช้ “ธ ธง” จึงเป็นการเขียนไม่ตรง กับที่มาชื่อบรรดาศักดิ์ และหลักภาษาไทย กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศ ลงวันที่ 23 เมษายน 2542 เปลี่ยนแปลงชื่อ “เขตสาธร” เป็น “เขตสาทร” ตามหลักฐานดังกล่าว

ดังนั้น ชื่อสำนักงานเขตสาทร ต้องใช้ ท ทหาร และถนนสาทรเหนือ-ใต้ ตลอดจนซอยแยก จากถนนสาทร ต้องเขียนป้ายชื่อ เป็น ท ทหาร ทั้งหมด ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 116 ตอนพิเศษ 35 ง. ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 ตั้งแต่ วันที่ 23 เมษายน 2542 เป็นต้นไป “สาธร” เป็น “สาทร” ที่ถูกต้อง ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ ความเป็นมาแต่อดีต และถูกต้องตามหลักภาษาไทย สรุปมีแต่ ต้นสาธร เท่านั้น ที่เขียนโดยใช้ “ธ ธง”

"สาธร" เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นไม้มงคลของจังหวัดนครราชสีมา ชื่อวิทยาศาสตร์: Millettia leucantha วงศ์: Leguminosa-Papilionoideae เป็นพืชวงศ์ถั่วชนิดหนึ่ง  ชื่ออื่น: ขะเจ๊าะ กะเซาะ ขะแมบ กระเจา ขะเจา เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 18 - 20 เมตร ออกดอกสีขาวแบบช่อกระจายแยกแขนง เดือนมีนาคม - พฤษภาคม ฝักแก่เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม

เนื้อไม้และแก่นของต้นสาธรเมื่อตัดใหม่ๆ สีเทาอมม่วง เมื่อถูกอากาศนานๆ เข้า เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมม่วงถึงน้ำตาลปนสีช็อกโกแลตเข้ม มีริ้วสีอ่อนและแก่กว่าสีพื้นสลับ เสี้ยนค่อนข้างตรง เนื้อละเอียดปานกลาง แข็ง เหนียว หนัก แข็งแรงทนทานดีมาก เลื่อยผ่าไสกบตกแต่งและชักเงาได้ดี จึงนำมาใช้ในการก่อสร้าง ใช้ทำเครื่องเรือน และด้ามเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ เช่น เสาเรือน ขื่อ รอด เพลา เกวียน เครื่องนอน ครก สาก ลูกหีบ ทำส่วนประกอบของกระบะรถยนต์ ทำกระสวยทอผ้า และไม้เท้า

สิ่งที่น่าสนใจคือมีต้นไม้ที่บางครั้งมีชื่อเรียกว่า "สาธร" แต่เป็นคนละต้นกัน นั่นคือต้นสะทอน หรือต้นสะท้อน (บางครั้งคนฟังเสียงแล้วเลยไปสับสนว่าเป็น"สาธร") ชื่อวิทยาศาสตร์ : Millettia utilis ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับต้นสาธคือวงศ์ Leguminosa-Papilionoideae เนื่องจากเป็นญาติกันลักษณะต้นเลยคล้ายกัน เจ้าต้นสะท้อนนี้ชาวจังหวัดเลยนำมาหมัก โดยเริ่มจากการตัดยอดอ่อนของต้นสะทอนช่วงระยะเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ นำใบสะทอนอ่อนมาตำให้ละเอียด จากนั้นนำไปแช่ด้วยนำสะอาดในภาชนะที่มีฝาปิดสนิท 2 คืน จากนั้นคั้นเอาแต่น้ำ และนำน้ำหมักสะทอนที่ได้มาต้มจนแห้ง จะได้น้ำปรุงรสที่เรียกว่า “น้ำผักสะทอน” ใช้ระยะเวลาประมาณ 8 ชั่วโมง รสชาติออกหวานธรรมชาติและเค็มเล็กน้อย ชาวบ้านที่ด่านซ้ายนิยมนำมาใช้ประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน ซึ่งใช้แทนน้ำปลา

ส่วนอีกต้นซึ่งมีลักษณะคล้ายกับต้นสาธรมากคือต้นกระพี้จั่น ชื่อวิทยาศาสตร์ : Millettia brandisiana เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับต้นสาธรมาก (เนื่องจากเป็นญาติกัน) แต่จะมีดอกสีม่วงแทนที่เป็นดอกสีขาวเหมือนต้นสาธร ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมเหมือนกับต้นสาธรครับ

19 กันยายน 2557

ถั่ว...ไม่ใช่ถั่ว


เพื่อนๆ บางท่านที่อ่าน blog เรื่องพืชวงศ์ถั่วใน http://my-experimental-farm.blogspot.com/2014/01/blog-post_30.html มาก่อนอาจจะสังเกตว่ามีชื่อถั่วหลายชนิดที่ท่านรู้จักแต่ไม่ถูกนำมาใส่ในบทความดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากมีพืชหลายชนิดที่ภาษาไทยเรียกว่าอยู่ "กลุ่มถั่ว" แต่ไม่ใช่พืชวงศ์ถั่ว เราจะมาทำความรู้จักกับพืชเหล่านี้กัน

1.ถั่วอัลมอนด์ หรือ ถั่วแอลมอนด์ ชื่อภาษาอังกฤษ : Almond   ชื่อวิทยาศาสตร์ : Prunus dulcis   วงศ์ : Rosaceae หรือวงศ์กุหลาบซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับแอพริค็อท (Apricot)  ต้นสูง 4-10 เมตร
อัลมอนด์

2.ถั่วแมคคาเดเมีย ชื่อภาษาอังกฤษ : Macadamia   ชื่อนี้หมายถึงพืช 4 ชนิด ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ดังนี้ Macadamia integrifolia, Macadamia jansenii, Macadamia ternifolia และ Macadamia tetraphylla   วงศ์ : Protaceae ต้นสูง 2-12 เมตร
แมคคาเดเมีย

3.ถั่วมะม่วงหิมพานต์ ชื่อภาษาอังกฤษ : Cashew Nut   ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anacardium occidentale   วงศ์ : Anacardiaceae  คือวงศ์มะม่วงนั่นเอง  ดังนั้นบางครั้งจึงเรียกว่า "มะม่วงหิมพานต์" เฉยๆ ซึ่งถูกต้องตามชื่อวงศ์แล้ว  ต้นมะม่วงหิมพานต์สูง 4-14 เมตร
มะม่วงหิมพานต์

4.ถั่วพิสทาชิโอ ชื่อภาษาอังกฤษ : Pistachio   ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pistacia vera   วงศ์ : Anacardiaceae หรือวงศ์มะม่วง สูง 2-10 เมตร
พิสทาชิโอ

5.ถั่วบราซิล ชื่อภาษาอังกฤษ : Brazil Nut   ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bertholletia excelsa   วงศ์ : Lecythidaceae หรือวงศ์จิก 
อัลมอนด์
โดยต้นถั่วบราซิลจะเป็นไม้ยืนต้น แต่มักจะมีคนไทยบางท่านไปสับสนกับถั่วปินโต (Pinto Peanut) ซึ่งเป็นพืชวงศ์ถั่ว (แต่ Brazil Nut อยู่วงศ์จิก)  เนื่องจากถั่วปินโตมีถิ่นกำเนิดในประเทศบราซิลเหมือนกัน จนบางครั้งก็มีคนเรียกว่า Brazil Peanut บ้าง เหตุที่เรียกว่า Peanut เนื่องจากลักษณะของถั่วปินโตจะคล้ายกับถั่วลิสง ดังนั้นถ้าจะแปลชื่อภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยให้ถูกต้องควรจะเรียกว่าถั่วลิสงบราซิล แต่มีคนไปตัดคำว่า "ลิสง" ออกกลายเป็น "ถั่วบราซิล" ซึ่งจะทำให้สับสนกับ Brazil Nut ซึ่งเป็นคนละต้นกัน (และไม่ใช่พืชวงศ์ถั่วด้วย) ดังนั้นชื่อเรียกที่ถูกต้องของ Pinto Peanut ภาษาไทยควรจะเรียกว่า "ถั่วปินโต" หรือ "ถั่วลิสงเถา" ครับ

6.ถั่วฮาเซลนัท ชื่อภาษาอังกฤษ : Hazelnut   ชื่อวิทยาศาสตร์ : Corylus sp.   วงศ์ : Betulaceae หรือ วงศ์กำลังเสือโคร่ง
ฮาเซลนัท

ุ7.ถั่วเกาลัด ชื่อภาษาอังกฤษ : Chestnut   ชื่อวิทยาศาสตร์ : Castanea sp.   วงศ์ : Fagaceae หรือ วงศ์ก่อ
เกาลัด

8.ถั่วพีแคน ชื่อภาษาอังกฤษ : Pecan   ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carya illinoensis   วงศ์ : Juglandaceae หรือวงศ์ค่าหด

9.ถั่ววอลนัท ชื่อภาษาอังกฤษ : Walnut   ชื่อวิทยาศาสตร์ : Juglans sp.   วงศ์ : Juglandaceae หรือวงศ์ค่าหด

10.ลูกประ ชื่อภาษาอังกฤษ : Blume seed   ชื่อวิทยาศาสตร์ : Elater iospermum   วงศ์ : Euphorbiaceae


เนื่องจากพืชเหล่านี้ไม่ใช่พืชวงศ์ถั่ว  ดังนั้นจึงไม่มีคุณสมบัติในการตรึงไนโตรเจน

16 กันยายน 2557

ความจริง..เกี่ยวกับภาษี

หลายครั้งที่เราได้ยินคนบ่นว่าเสียภาษีทุกปีไปแล้วรัฐบาลไปเอาไปโกงกินหมด  แต่คนที่บ่นแบบนี้ส่วนใหญ่จะคือมนุษย์เงินเดือน  เรามาดูความจริงกันว่ามนุษย์เงินเดือนจริงๆ แล้วมีเท่าไหร่กัน

ข้อมูลในปี 2555 ประเทศไทยมีประชากร 64 ล้านคน  แต่มีมนุษย์เงินเดือนที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเพียง 9-10 ล้านคน (ปี พ.ศ. 2555 มีคนเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา 9.79 ล้านคน) ซึ่งคือพวกมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย แต่เกษตรกร และอาชีพอิสระหลายอย่าง (เช่น ขายของตามตลาดนัด) ไม่เคยต้องเสียภาษีนี้



ในจำนวน 9-10 ล้านคนนี้มีผู้อยู่ในเกณฑ์ต้องจ่ายเงินภาษีจริงเพียง 3.2 ล้านคนเท่านั้น (เนื่องจากเงินเดือนเกิน 150000 บาทต่อปี) แต่เมื่อหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้ว ทำให้คนส่วนหนึ่งมีรายได้หลังหักค่าลดหย่อนแล้วไม่เกินเกณฑ์จึงไม่ต้องมีภาระเสียภาษี ทำให้เหลือคนเสียภาษีจริงๆ ประมาณ 2 ล้านกว่าคนเท่านั้น ซึ่งทั้ง 9-10 ล้านคนนี้ยังมีภาระต้องเสียเงินประกันสังคม ในขณะที่คนอีก 55 ล้านกว่าคนได้รับการรักษาฟรีจากรัฐ จึงอาจกล่าวได้ว่ามีคนเพียง 2 ล้านกว่าคนเท่านั้นที่จ่ายเงินภาษีเลี้ยงคนทั้งประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกระจายรายได้ ซึ่งความตลกของระบบนี้ก็คือเกษตรกร หรืออาชีพอิสระบางท่านสามารถทำกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเป็นเงินปีละหลายล้านบาทกลับไม่ต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดา นี่เป็นแรงจูงในส่วนหนึ่งที่ทำให้บางท่านลาออกจากงานมาทำอาชีพอิสระ หรือการเกษตร

แต่อย่างไรก็ตามถ้าเราจะมองให้ครบถ้วนเงินภาษีที่เรียกเก็บจากบุคคลธรรมดาคิดเป็นเพียง 11% ของรายได้ของรัฐเท่านั้น (ยังไม่รวมเงินประกันสังคมที่ท่านช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาลของรัฐ) ดังนั้นท่านทั้งหลายที่เสียภาษีจริงมีส่วนโดยตรงในการแบกภาระของประเทศเพียง 11% (ยังไม่รวมภาษีทางอ้อมอื่นๆ) เรามาดูข้อมูลโครงสร้างรายได้ภาครัฐปี 2555 จาก http://dwfoc.mof.go.th กันว่าเงินส่วนที่เหลือมาจากไหน?


ภาษีส่วนใหญ่ที่สุดของประเทศมาจาก "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" 27.9% ซึ่งทุกท่านที่ซื้อของในระบบช่วยๆ กันจ่าย เช่น ถ้าท่านซื้ออาหารจากตลาดนัดก็ไม่ต้องเสียภาษีนีั  แต่ถ้าท่านไปซื้อในร้านสะดวกซื้อ หรือห้างท่านก็ต้องจากภาษีมูลค่าเพิ่มนี้

ลำดับถัดมาคือ "ภาษีเงินได้นิติบุคคล" 22.8% พูดกันง่ายๆ คือธุรกิจที่ท่านซื้อของมาก็ทำกำไรจึงต้องไปจ่ายภาษีนี้  ดังนั้นถ้าท่านไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อท่านจะเจอกับทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคลแฝงอยู่  บางอย่างท่านก็อาจจะเลี่ยงไม่ได้ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ผ่านระบบล้วนมีภาษีทั้ง 2 ตัวอยู่ด้วยทั้งนั้น

ลำดับถัดมาคือภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าฟุ่มเฟือย คือ "ภาษีสรรพสามติ" 16.7%  (เช่น น้ำมัน เครื่องดื่ม เครื่องไฟฟ้า รถยนต์ เป็นต้น) และสินค้านำเข้า "ภาษีศุลกากร" 4.9%  โดยสรุปคือถ้าท่านซื้อของฟุ่มเฟือย เช่น ถ้าท่านซื้อรถยนต์นำเข้า ท่านก็จะเสียทั้งภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามติ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และแฝงด้วยภาษีนิติบุคคล

โดยสรุปประชาชนไทยต่างก็ร่วมกันเสียภาษีทั้งสิ้น  โดยภาษีส่วนใหญ่จะเป็นภาษีทางอ้อม  แต่อาจจะไม่ยุติธรรมบ้างก็ตรงที่มนุษย์เงินเดือนจำนวน 2 ล้านกว่าคน  โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางกลับต้องแบกภาระภาษีสูงกว่าคนที่เหลือ  ในขณะที่คนที่ทำงานนอกระบบที่มีรายได้มากกว่าชนชั้นกลางกลับไม่ต้องร่วมเสียภาษีนี้

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคมมากขึ้น ทางรัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะยกเลิกการผ่อนปรนลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 10% มาเป็น 7% ชั่วคราว ซึ่งถ้ายกเลิกการลดภาษีมูลค่าเพิ่มนี้จะทำให้ได้รายได้จากส่วนนี้เพิ่มขึ้น 43% และจะทำให้สัดส่วนของรายได้ภาครัฐจากภาษีมูลค่าเพิ่มปรับเพิ่มเป็น 35%  และภาษีจากเงินได้บุคคลธรรมดาจะคิดเป็น 9.8% ของรายได้ภาครัฐ  ซึ่งจะทำให้สังคมเสมอภาคมากขึ้น

นอกเหนือจากมาตรยกเลิกการลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม รัฐบาลก็อาจจะมีแนวทางอื่นๆ อีกที่จะเข้ามาช่วยรักษาความสมดุลในการกระจายรายได้จากคนที่มีรายได้มาก ไปยังคนที่มีรายได้น้อย  เช่น ภาษีมรดก, ภาษีที่ดิน, Capital Gain Tax เป็นต้น  แต่ช่องโหว่ที่น่าสนใจคือ เกษตรกรรายได้เยอะมากๆ ไม่ต้องเสียภาษีอะไรมากมาย  เนื่องจากภาครัฐยังคงใช้สมมุติฐานว่าเกษตรกรจะต้องมีรายได้น้อย  ดังนั้นเกษตรที่มีเงินทุนสามารถลงทุนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้เหนือกว่าเกษตรกรรายเล็ก โดยที่ระบบภาษีจะยังไม่สามารถติดตามเก็บภาษีเรื่องนี้ได้ทันอีกเป็นเวลาหลายสิบปีข้างหน้า  เราจึงเริ่มเห็นนายทุนจำนวนมากหันมาทำเกษตรในปัจจุบัน

8 กันยายน 2557

โกฐ...สารพัดชนิด

ต่อจาก blog เรื่อง "โกฐจุฬา" ผมขออนุญาตขยายาความคำว่า "โกฐ" ซึ่งเป็น ชื่อเครื่องยาสมุนไพรจําพวกหนึ่ง ได้จากส่วนต่าง ๆ ของพืช มีหลายชนิด คือ

โกฐทั้ง ๕ ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา มีสรรพคุณแก้ไข้เพื่อเสมหะ หืดไอ แก้โรคปอด โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต

โกฐทั้ง ๗ มี โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้าไปในโกฐทั้ง ๕ มีสรรพคุณ แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคในปอด แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก

โกฐทั้ง ๙ มี โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี เพิ่มเข้าไปในโกฐทั้ง ๗ มีสรรพคุณแก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคปอด แก้โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก บำรุงกระดูก แก้ไข้ในกองธาตุอติสาร แก้ไส้ด้วนไส้ลาม ขับระดูร้าย

โกฐพิเศษอีก ๔ ชนิด คือ โกฐกักกรา โกฐกะกลิ้ง โกฐน้ำเต้า และโกฐจุฬา


หากเรามาดูชื่อวิทยาศาสตร์ของแต่ละโกฐจะพบว่าหมายถึงพืชต่อไปนี้

ชื่อภาษาไทยชื่อวิทยาศาสตร์ชื่อวงศ์ชื่อภาษาอังกฤษ
๑. โกฐหัวบัวLigusticum sinense หรือ
Ligusticum chuanxiong
UmbelliferaeLovage Root
๒. โกฐสอAngelica dahuricaUmbelliferaeDhurian angelica root
๓. โกฐเขมาAtractylodes lanceaCompositaeAtractylodes Rhizome
๔. โกฐเชียงAngelica sinensisUmbelliferaeAngelica root
๕. โกฐจุฬาลัมพาArtemisia annua
Artemisia pallens
Artemisia vulgaris
AsteraceaeSweet Wormwood
Davanam
Mugwort
๖. โกฐกระดูกSaussurea lappaCompositaeCostus
๗. โกฐก้านพร้าวPicrorrhiza kurroaScrophulariaceaePicrorhiza
๘. โกฐพุงปลาTerminalia chebulaCombretaceaeMyrobalan fruit
๙. โกฐชฎามังสีNardostachys grandifloraValerianaceaeSpikenard
๑๐. โกฐกักกราAnacyclus pyrethrumAsteraceaePellitory
๑๑. โกฐกะกลิ้ง หรือแสลงใจStrychnos nux-vomicaStrychnaceaeStrychnine tree
๑๒. โกฐน้ำเต้าRheum palmatumPolygonaceaeRhubarb
๑๓. โกฐจุฬาEupatorium capillifoliumAsteraceaeDog fennel


ตํารายาแผนโบราณ เขียนเป็น โกฎ โกฏ โกฏฐ์ โกด หรือ โกษฐ์ ก็มี

สนใจอ่านรายละเอียดของโกฐจุฬา โกฐจุฬาลัมพา และพืชชนิดอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันได้ที่ http://my-experimental-farm.blogspot.com/2014/03/blog-post_18.html