31 ตุลาคม 2556

Peak Oil (ตอนที่ 3) - ตามรอยเส้นทางการใช้น้ำมัน

หากเรามาติดตามดูว่าน้ำมันถูกนำไปใช้อย่างไร  เราจะเห็นว่าพลังงานเหล่านี้ถูกใช้ไปในภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง ภาคการเกษตร และภาคครัวเรือน  เมื่อเราพิจารณาดูการใช้พลังงานน้ำมันในภาคครัวเรือนให้ใกล้ชิดอีกนิดนึง  เราจะเห็นว่าการใช้พลังงานในภาคครัวเรือนมีมากกว่าที่เราคิดเนื่องจากมีการใช้พลังงานน้ำมันแอบแฝงอยู่หลายส่วนไม่ใช่เฉพาะน้ำมันที่เราใช้กับรถยนต์  ในงานวิจัยของสหรัฐแบ่งหมวดการใช้พลังงานออกเป็น 3 ส่วน มีอัตราการใช้พลังงานต่อคนต่อปีดังนี้ (สัดส่วนการใช้น้ำมันต่อคนของอเมริกายังสูงกว่าประเทศไทย)
อัตราการใช้น้ำมันต่อคน
1. การใช้พลังงานกับตัวบ้าน 7 บาเรล (835 ลิตร) ต่อคนต่อปี เช่น ไฟฟ้า พลังงานที่ใช้ในระบบผลิตและลำเลียงน้ำประปา ระบบปั๊มน้ำ ระบบทำความร้อน/ความเย็น ค่าน้ำมันตัดหญ้า เป็นต้น
2. การใช้พลังงานกับรถยนต์ 9 บาเรล (1073 ลิตร) ต่อคนต่อปี เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเครื่อง พลังงานที่ใช้ในการผลิตอะหลั่ย และวัสดุสิ้นเปลืองเกี่ยวกับรถอื่นๆ  รวมถึงพลังงานที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะก็รวมนำมาเฉลี่ยด้วย (สำหรับคนที่ใช้ระบบสาธารณะ)
3. การใช้พลังงานเกี่ยวกับอาหาร 10 บาเรล (1192 ลิตร) ต่อคนต่อปี !!! นับเป็นสัดส่วนที่สูงมากที่สุด  สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ทำงานวิจัย แต่เมื่อศึกษาในเชิงลึกพบว่ามีการใช้น้ำมันในทุกขั้นตอน


3.1 พลังงานในการผลิตอาหาร 
มีการศึกษาถึงปริมาณพลังงานที่ใช้ในขั้นตอนผลิตพืชอาหารโดยมีการวัดปริมาณพลังงานน้ำมันที่ใช้ในการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นพลังงานที่ใช้ในเครื่องจักร เครื่องตัดหญ้า ระบบให้น้ำ ระบบชลประทาน พลังงานที่ใช้ในการผลิตปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช ยาฆ่าแมลง ถุงเพาะ พลาสติกคลุม ดิน ฯลฯ เปรียบเทียบกับพลังงานในอาหารที่ผลิต  เรียกว่า Energy Efficiency = Food Energy / Energy Input มีค่าตามภูมิภาคต่างๆ ดังนี้
ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน
สังเกตว่าค่า Energy Efficiency จะสูงในประเทศกำลังพัฒนา เพราะไม่มีโอกาสเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรเท่าประเทศที่เจริญแล้ว  เมื่อเราดูค่าเฉลี่ยของโลกที่ 3.77 เท่า (หมายถึง 27% ของพลังงานอาหารที่เราผลิตเกิดจากการใช้พลังงานน้ำมัน) ในทวีปอเมริกาจะแย่กว่านั้นคือ 2.37 เท่า  (หมายถึง 42% ของพลังงานอาหารที่เราผลิตเกิดจากการใช้พลังงานน้ำมัน) ==> เรากำลังกินน้ำมัน !!!

แม้นจะไม่มีตัวเลขสถิติของประเทศคิวบาโดยตรงมาเปรียบเทียบ  เราก็สามารถดูได้จากตัวเลขอื่นๆ ในช่วงก่อนเกิด special period ตามแผนภาพข้างล่าง ไม่ว่าจะเป็นปริมาณพื้นที่ที่มีระบบชลประทาน (แน่นอนว่าจะใช้พลังงานในการชลประทาน) ปริมาณเครื่องจักรที่ใช้ และปริมาณสารเคมีที่ใช้  ตัวเลขต่างๆ ของคิวบามากกว่าประเทศอื่นๆ ในละตินอเมริกา  หรือสหรัฐอเมริกา  สื่อให้เห็นว่าคิวบามีการใช้พลังงานในภาคการผลิตไม่ยิ่งหย่อนกว่าในสหรัฐอเมริกา
อัตราการใช้พลังงานเดิมของคิวบา
ผมไม่มีตัวเลขพลังงานในการผลิตเนื้อสัตว์ แต่ทุกท่านคงเข้าใจได้ว่าจะต้องมากยิ่งขึ้นไปอีก  เพราะสัตว์ก็จะต้องกินพืช หรือเนื้อสัตว์ด้วยกัน  และเรายังต้องใช้พลังงาานเข้าไปขบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเก็บเกี่ยวพืชมาให้สัตว์กิน การแปรรูปอาหารสัตว์ การขนย้ายสัตว์ ฯลฯ


3.2 พลังงานในการแปรรูปสินค้า 
ก่อนจะมาถึงมือผู้บริโภค  เรายังต้องใส่พลังงานเข้าไปในการแปรรูป  ไม่ว่าจะเป็นการบรรจุหีบห่อต่างๆ (ทุกท่านคงรู้อยู่แล้วว่าพลาสติกผลิตจากน้ำมัน) รวมถึงพลังงานที่ใช้ขบวนการถนอมอาหาร เช่น การแช่แข็ง, UHT, Pasteurization ล้วนแต่ใช้พลังงาน

3.3 พลังงานในระบบกระจายสินค้า
พลังงานยังหมดไปกับการขนส่ง และกระจายสินค้าเนื่องจากแหล่งผลิตอาหารไปยังผู้บริโภค  ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของน้ำมันเชื้อเพลิงในการขนส่ง  ค่าพลังงานในการทำความเย็นเพื่อรักษาอาหาร  ซ้ำร้ายจะมีอาหารส่วนหนึ่งเน่าเสีย หรือหมดอายุก่อนจะถึงมือผู้บริโภค  โดยงานวิจัยในอเมริกาพบว่ามีอาหารที่เน่าเสียในขบวนการกระจายสินค้าสูงถึง 14-18%  เสมือนหนึ่งกับการขนอาหารจากนอกเมืองเข้าไปทิ้งในเมืองเกือบ 1 ใน 5 ของปริมาณที่ขน  ชั่งเป็นการใช้พลังงานที่ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย

หมายเหตุ ที่บ้านผมบางทีก็ซื้ออาหารจากนอกบ้านมาเก็บในตู้เย็นจนเสีย เพราะเก็บไว้จนลืมกัน  หมดพลังงานไปกับการทำความเย็นให้กับอาหารพวกนี้ไปเฉยๆ  ยิ่งคิดยิ่งรู้สึกผิด นิสัยขี้ลืมนี้ก็ยังแก้ไม่หาย โกรธ โกรธ โกรธ

เมื่อดูค่าพลังงานที่ใช้ในขบวนการต่างๆ รวมกันแล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่มีปริมาณน้ำมันถูกใช้ในหมวดอาหารสูงยิ่งกว่าพลังงานน้ำมันที่ถูกใช้ในรถยนต์ซะอีก ==> เรากำลังกินน้ำมัน !!!  (ตัวเลขเหล่านี้เป็นของทางสหรัฐอเมริกา  หวังว่าถ้ามีการสำรวจในประเทศไทยในอนาคตแล้ว ตัวเลขของเราจะดีกว่านี้)

เนื่องจากการใช้ชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันมีการพึ่งพาพลังงานน้ำมันในอาหารเป็นสัดส่วนที่สูง  จึงไม่น่าประหลาดใจที่ว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำมันจะส่งผลกระทบกับปัญหาอาหารขาดแคลนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  นับเป็นความท้าทายของคิวบาในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ก่อนจะส่งผลกระทบกับชีวิตและสุขภาพของประชาชนในประเทศ  ในตอนต่อไปเราจะติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างมากที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตรของคิวบาในช่วง special period

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0 

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณครับ ผมเพิ่งมาอ่านเจอ ได้ความรู้ดีมากเลย

    ตอบลบ