2 พฤศจิกายน 2556

ทำโดยไม่กระทำ ตอนที่ 1

"เป็นกระท่อมฟางไม่ร้างไม่ไร้ผู้คน
ห่างไกลชุมชน สับสนแย่งชิง
หลังคาหญ้าแฝกแตกฝอย หิ่งห้อยอ้อยอิ่ง
ใบไม้ไหวติง คนนั่งผิงไฟ

ที่แนวไพรช่างเงียบสงบ
ฤดูกาลผ่านมารับใช้
หน้าฝนขุดหาหน่อไม้
หน้าหนาวติดเตาคั่วชา

เสียงไก่ป่าขัน ตะวันโผล่พ้นภูผา
แหวกกอข้าวกล้า ถั่วงางอกแซม
ไม่ไถไม่พรวน ไม่วางยาฆ่าแมลง
คน,พืช,มดแมลง ร่วมมือทำนา

รอฝนโปรย ฟ้าโรยร่วมแรง
ผลผลิตงดงามก็ตามมา
ทำนาโดยไม่ต้องทำนา
เก็บเวลาไว้คุยกับตะวัน

หลายปีผ่านหัวใจหลงผิด
ชีวิตพอเพียงกับสิ่งเหล่านั้น
บ้านฟางหลังน้อยนี่คือรางวัล
หนังสือกองนั้นเพิ่มภูมิปัญญา

"ลุงฟาง" สร้างโลกนี้ด้วยฟางข้าว
สายตาทอดยาวด้วยความเมตตา
ดำเนินชีวิตตามหลักธรรมะ
ค้นหาตัวตนบนความสันโดษ"

ยิ่งได้ยินบทเพลง "ลุงฟาง" ของคาราบาว ในชุด 15 ปี หากหัวใจยังรักควาย ที่ผู้แต่งเพลงได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของปู่ฟู ยิ่งทำให้ผมหวนคิดถึงการทำเกษตรโดยไม่กระทำ เราจะได้ทำการเกษตรแบบใช้พลังงานฟอสซิลน้อยไปด้วย

ความจริงก็อยากทำเกษตรกรรมโดยไม่กระทำ 100% แม้นว่าจะแหกกฎของปู่ฟูไปบ้างเรื่องการแทรกแซงธรรมชาติด้วยการกำจัดปลวก   แต่พอเอาเข้าจริง...ใจก็ยังอยากควบคุมธรรมชาติบ้างอยู่ดี  ยังไม่ค่อยวางใจว่าเราจะปล่อยมันเป็นไปตามธรรมชาติเฉยๆ เลยหรอ?

ไปอ่านเจอเรื่องการทำปุ๋ยหมักน้ำ  ยิ่งอ่านยิ่งทำให้หลงคิดไปว่าจุลินทรีย์นี่ล่ะจะช่วยแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้  มันจะช่วยเร่งการกลับเข้าสู่สมดุลของธรรมชาติโดยจะช่วยเรื่องการควบคุมโรค และแมลง ช่วยการเร่งการย่อยสลายสารอินทรีย์ให้เป็นปุ๋ย และช่วยทำให้การรักษาความชื้นในธรรมชาติ  โอ...แม่เจ้า...จุลินทรีย์ดูชั่งเป็นยารักษาสารพัดโรคเชียว  ไม่ลงมือทำไม่ได้แล้ว

ว่าแล้วเราก็ต้องรีบลงมือทำเลยลองทำแบบขั้น อนุบาลก่อนด้วยการใช้เชื้อ พด. เป็นตัวเร่ง  ไปขอ พด. สูตรต่างๆ จากสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดมาทดลอง 2 ส่วน ส่วนแรกขยายจำนวนหัวเชื้อเพื่อที่จะได้ไม่ต้องลางานไปขอหัวเชื้อบ่อยๆ  โดยใช้สูตรของกรมพัฒนาที่ดิน
"นำสาร เร่งจุลินทรีย์ 1 ซอง ละลายในน้ำ 5 ลิตร ผสมกากน้ำตาล 2 ลิตร ในถังพลาสติก ผสมให้เข้ากันแล้วปิดฝา หมักทิ้งไว้ 7 วัน เชื้อจะเจริญเติบโตเต็มที่ จากนั้นนำเชื้อที่ผสมได้ผสมกับรำหยาบ 5 กิโลกรัม รำละเอียด 1 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้ชุ่มสม่ำเสมอ จากนั้นนำไปผึ่งในที่ร่ม ให้แห้ง จะได้เชื้อจุลินทรีย์ เพิ่มขึ้นเป็น 5-6 กิโลกรัม แล้วเก็บไว้ในถุงพลาสติกสำหรับเป็นหัวเชื้อในการผลิตสารชีวภาพต่อไป" ที่ เห็นในกะละมังคือผลของการผสมกับรำหยาบ 5 กิโล  ผึ่งมาแล้ว 1 สัปดาห์  วันนี้มาตักใส่ถุงพลาสติกเก็บไว้ใช้  ส่วนขวดน้ำอัดลมเอามาเป็นที่ตวง  เวลาตักจะได้กะให้ปริมาณแต่ละถุงใกล้เคียงกัน


ส่วน ที่สองก็เอามาทำน้ำหมักโดยทดลองทำ 3 สูตร พด.2 ใช้ทำปุ๋ยอินทรีย์น้ำ พด.6 ใช้ทำน้ำหมักสำหรับบำบัดน้ำเสีย กำจัดกลิ่น และพด.7 ใช้ทำน้ำหมักสมุนไพรกำจัดแมลง  วัตถุดิบก็หาเอาในสวนไม่ว่าจะเป็นหยวกกล้วย ต้นสาบเสือ ใบสะเดา ต้นบอระเพ็ด มะละกอ ชมพู่ มะกรูด มะนาว ฯลฯ  แบ่งใช้วัตถุดิบไปตามสูตรของแต่ละ พด. (เพื่อนๆ คงหาอ่านตามอินเทอร์เน็ตได้)  แต่เนื่องจากยังไม่มีที่พักในสวนก็เลยฝากถังหมักไว้ใต้ต้นมะม่วงไปก่อน  ไม่อยากให้โดนแดดตรงๆ



หมัก เสร็จก็รอ...กลับมากวนถังหมักใต้ต้นมะม่วงสัปดาห์ละครั้ง ไม่กี่สัปดาห์ก็ใช้ได้  พอได้ที่ก็เอามารดตามต้นไม้ในสวนให้ทั่ว  แล้วก็รอ.. รอ..รอ..ไม่ต้องรดน้ำต้นไม้ใดๆ ทั้งสิ้น  เราจะมารอดูธรรมชาติทำงานตามสไตล์สวนขี้คร้าน....และประหยัดพลังงานด้วย เพราะไม่ต้องสูบน้ำมารดต้นไม้


ภายหลังจากได้พ่นน้ำหมักชีวภาพให้ทั่วสวน ด้วยความหวังที่ว่าจุลินทรีย์จะช่วยให้ธรรมชาติจะกลับเข้าสู่สมดุล  ย่อยสลายสารอินทรีย์  รักษาความชื้น  และดูแลสวนได้เองโดยที่มนุษย์ไม่ต้องแทรกแซงมากนัก ผมจึงทำการทดลองหักดิบครั้งใหญ่ในสวนที่เคยได้รับการดูแลจากเจ้าของสวนเดิม ด้วยการ...ไม่รดน้ำต้นไม้เลย  ผลลัพธ์ที่ได้เมื่อหน้าแล้งจริงๆ มาเยือนคือ


กล้วย ที่ถือว่าเป็นไม้พี่เลี้ยงก็ดูเหมือนจะเอาตัวเองไม่รอด ท่าทางไม้พี่เลี้ยงอย่างกล้วยจะเสียชื่อก็คราวนี้ เหล่าวัชพืชก็แห้งตายไม่เป็นท่า


ต้นกล้วยหลายๆ ต้นคอหักไม่เป็นท่า


กล้วยหวีเล็ก และสุกทั้งๆ ที่ยังไม่โตพอ


แนวไม้ที่เคยรกชัฏเดินลุยเข้าไปแทบไม่ได้กลับโปร่ง โล่ง และเต็มไปด้วยใบไม้แห้ง


ต้น มะพร้าวใบแห้งและค่อยๆ ร่วง ทิวเขาที่เคยเป็นสีเขียวขจีในหน้าฝนกลับเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลเกือบทั้งลูก  ต้นมะนาวแป้นในสวนที่เจ้าของเดิมปลูกไว้เกือบ 200 ต้นค่อยๆ แห้ง และยืนต้นตายทีละต้น


ต้นไม้ใหญ่อีกหลายๆ ต้นสลัดใบทิ้งหมด  โดยมิรู้เลยว่าจะกลับมาฟื้นคืนชีพในหน้าฝนได้หรือไม่  ทำให้บรรยากาศยามค่ำคืนวังเวงมาก

ยาม ค่ำคืนเห็นแนวไฟป่า (bush fire) ค่อยๆ ลามไปทั้งภูเขา  เหมือนมีคนขึ้นไปติดหลอดไฟสีเหลืองเป็นแนวยาวไปทั้งภูเขา (ดูคล้ายไฟประดับภูเขาทอง วัดสระเกศในกรุงเทพฯ )  ชั่งเป็นภาพที่ทั้งดูงดงาม และน่ากลัวในเวลาเดียวกัน (ถ่ายรูปมาแต่ดูไม่ค่อยเห็นเพราะว่ามืดมาก)  ทั้งๆ ที่มีการใช้งบประมาณของกรมป่าไม้ว่าจ้างชาวบ้านขึ้นไปช่วยดับไฟบนภูเขา  แต่เหตุการณ์ไฟป่าขยายวงออกไปกว้างกว่ากำลังของมนุษย์จะควบคุมมันอยู่  ไฟป่าจึงเผาไหม้ต่อเนื่องอยู่หลายสัปดาห์ (เพิ่งมารู้จากชาวบ้านว่าไฟก็ไหม้แบบนี้เกือบทุกปี)

ไฟป่าที่เจอค่อน ข้างจะแตกต่างจาก  ไฟป่าที่เคยเจอ  เนื่องจากเป็น bush fire จะเป็นลักษณะไหม้หญ้า/วัชพืชที่เหี่ยวแห้งตามพื้น และค่อยๆ ลามเป็นวงแหวนแห่งไฟไปทั้งภูเขา  ปรากฎให้เห็นเด่นชัดในยามค่ำคืน  แม้นจะทำให้เกิดควันพอสมควร แต่เปลวเพลิงก็ไม่ได้รุนแรงจนทำให้ต้นไม้ใหญ่ยืนต้นตายไปซะทีเดียว  เมื่อได้รับน้ำฝนในอีกหลายเดือนถัดมาป่าบนภูเขาก็กลับมาเขียวขจีอีกครั้ง

ผล ของการทำแบบไม่ทำได้เปิดเผยธรรมชาติที่แท้จริงของผืนดินแห่งนี้ว่าเป็นเคย เป็นป่าดิบแล้ง ของดินแดนที่เรียกว่าแก่งกระจาน (คุณ Magnum (rew) ได้ชี้แจงในกระทู้น้องตั้มแล้วว่าป่า 59% ของแก่งกระจานเป็นป่าดิบแล้ง) การเผชิญหน้ากับธรรมชาติที่แห้งแล้ง และรายล้อมด้วยภัยจากไฟป่าของผืนดินแห่งนี้สร้างความหนักใจให้กับเจ้าของสวน ขี้คร้านมิน้อย  มันจะเป็นไปได้หรือการทำสวนแบบไม่ต้องรดน้ำ 

ฤ เราคงต้องใช้พลังงานมหาศาลในการต่อสู้กับธรรมชาติท่ามกลางป่าดิบแล้งแห่งนี้ เหมือนเจ้าของสวนข้างๆ ที่ต้องขึ้นมาสูบน้ำจากแหล่งน้ำไกลออกไปร่วม 100 เมตรทุกๆ 2 วันเพื่อเลี้ยงชีวิตต้นชมพู่ในสวนของเขา  และต้องใช้แรงสูบมหาศาลโดยเครื่องยนต์เบนซินขนาดใหญ่ของรถยนต์มาปั่นสูบ (ต้องใช้แรงสูบเยอะ  เขาบอกว่าปั๊มไฟฟ้าเอาไม่อยู่) ต้องเสียค่าน้ำมันเดือนละเกือบหมื่นบาท

ฤ เราจะต้องใช้ชีวิตทั้งชีวิตในการรดน้ำต้นไม้ในสวนแห่งนี้เพียงเพื่อจะหล่อ เลี้ยงชีวิตของไม้ผลเหล่านี้  ดูท่าความหวังในการทำการเกษตรแบบที่ใช้พลังงานน้อย หรือการทำสวนแบบสบายๆ สไตล์ขี้คร้านคงเป็นไปได้ยาก  ผมเริ่มสงสัยว่าผมทำอะไรผิดพลาดไปหรือ? 


ปล. เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่าด่วนตัดสินใจซื้อที่ดินเพราะเห็นความชุ่มชื้นในหน้าฝน  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม 


เมื่อศึกษาให้ละเอียดมากขึ้น  ค้นพบเรื่องที่น่าสนใจมาก ตอนแรกที่มาซื้อที่ดินที่จังหวัดเพชรบุรี ก็ไม่เคยคิดว่าจะมีปัญหาเรื่องแล้ง  พอเจอปัญหาที่สวนก็เลยกลับมาค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องปริมาณน้ำฝนต่อปี จำนวนวันที่ฝนตกต่อปี และจำนวนเดือนที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า 20 มิลลิเมตร โดยข้อมูลเป็นค่าเฉลี่ยจากการเก็บข้อมูลย้อนหลัง 30 ปี มีประเด็นน่าสนใจดังนี้
  • จ.เพชรบุรีเป็นจังหวัดที่มีปริมาณน้ำฝนต่อปีน้อยที่สุด จำนวนวันที่ฝนตกน้อยที่สุด และจำนวนเดือนที่ฝนตกน้อยกว่า 20 มม. มากที่สุดในภาคใต้  สรุปกันง่ายๆ แห้งแล้งที่สุดในภาคใต้ โกรธ โกรธ โกรธ
  • จ.เพชรบุรีแห้งแล้งมากที่สุดในบรรดาจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล
  • จ.เพชรบุรีแห้งแล้งกว่า จ.ราชบุรี และ จ.กาญจนบุรีที่อยู่ในแนวภูเขาฝั่งตะวันตกของประเทศเหมือนกัน
  • จ.เพชรบุรีแห้งแล้งกว่า กรุงเทพฯ  แถมกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่ฝนตกมากที่สุดในภาคกลาง !!!



โอ...พระเจ้า  ผมเลือกซื้อที่ดินได้ถูกจังหวัดจริงๆ  อย่างนี้สิจะเป็นจังหวัดที่เราจะอาบแดดได้อย่างสบายๆ ถึง 261 วันต่อปีโดยที่ไม่ต้องห่วงเรื่องฝนตก ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม  เสียดายแค่...ไม่ได้ครองแชมป์จังหวัดที่แล้งที่สุดในประเทศไทย  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม (มีคนแนะนำให้ปลูกยางพาราเหมือนเจ้าของที่ดินแถวๆ นี้กำลังนิยม  ด้วยเหตุที่มีวันที่ฝนไม่ตกเยอะ และเป็นที่ดอน น่าจะเหมาะสมกับธุรกิจการกรีดยาง  แต่ผมยังไม่อยากทำสวนยาง ร้องไห้ ร้องไห้ )

เมื่อศึกษารายละเอียดพบว่าน้ำฝนมีการกระจายตัวตกระหว่างปีดังนี้


ความจริงในช่วงเดือนตุลาคมก็มีฝนตกมิใช่น้อย  ด้วยเหตุอันใดจึงได้แห้งแล้งเช่นนี้หนอ...ผมเริ่มสงสัยว่าเราจะเอาน้ำในช่วงเดือนกันยายน และตุลาคม มาใช้ในช่วงเดือนธันวาคม - เดือนเมษายนให้เพียงพอได้อย่างไร?

ปู่ฟูกูโอกะสอนให้เฝ้าสังเกตธรรมชาติ และปรับตัวให้เข้ากับวิถีของธรรมชาติ  ในแนวคิดของปู่ฟูเริ่มจากการคิดว่าเราจะไม่ทำขั้นตอนนี้ได้มั๊ย  จะไม่ทำขั้นตอนนั้นได้มั๊ย  และค่อยๆ ลดทอนการแทรกแซงธรรมชาติ  ปล่อยให้ธรรมชาติเข้ามาจัดการเอง  แม้นว่าจะเห็นด้วยและเคารพปู่ฟูแต่ดูเหมือนว่าข้างในจิตใจของผมยังคงละวางไม่ได้  เพราะถ้าปล่อยไปสภาพในสวนคงไม่ต่างกับสภาพแห้งแล้งบนภูเขาธรรมชาติที่รายรอบ นี่หาใช่สิ่งที่ผมปารถนาเลย  ท่าทางมนุษย์เราได้เข้าไปรุกรานธรรมชาติแถบนี้เกินกว่าจะเยียวยาได้ในเร็ววัน

ถ้าผมเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทั้งภูเขาให้เป็นสีเขียวทั้งปีไม่ได้ในวันนี้  มีอะไรที่ผมจะทดลองทำเพื่อนำพาความชุ่มชื้นกลับสู่ผืนดินแห่งนี้ได้บ้าง  นี่อาจจะหมายถึงเวลาในการออกเดินทางหาศาสตร์แขนงใหม่เพิ่มเติม


ท่ามกลางข่าวร้ายยังมีข่าวดีอยู่บ้าง...


มะม่วงที่ไม่เคยรดน้ำ  ยังออกผลให้ได้กินหลายต้น  แม้นผลจะไม่โต  แต่ผลสุกหวานมากๆ  ส่วนมะม่วงฟ้าลั่นตกพื้นกลับไม่แตกเหมือนต้นที่ได้รับน้ำเต็มที่  เป็นครั้งแรกที่ได้กินมะม่วงฟ้าลั่นสุกรสชาติดีมากแบบที่ไม่มีขายที่ตลาด


กล้วยในบางโซนของสวนก็ยังเติบโตได้ดีท่ามกลางความแห้งแล้ง  แต่ทุกสัปดาห์ก็จะมีของติดท้ายรถกลับไปทานที่บ้านเสมอ มากบ้างน้อยบ้างตามความกรุณาของธรรมชาติ (ไม่รดน้ำ ไม่พรวนดิน ไม่ใส่ปุ๋ย ตัดหญ้าเฉพาะเวลาเดินเข้าไปเก็บเกี่ยว จะเรื่องมากไปทำไม)

ถ้าจะสรุปผลการทดลองจะมีดังนี้

  • วัชพืชที่อยู่กลางแจ้ง แห้งตายเป็นส่วนใหญ่
  • ต้นมะนาวแป้นตายเป็นส่วนใหญ่ หมดไปประมาณ 100 กว่าต้น  ต้นที่ยังรอดอยู่ต้องคอยดูต่อไป
  • ต้นมะกรูดดูโทรมไปบ้างแต่ไม่ตาย ให้ผลผลิตบ้าง แต่ไม่เยอะ
  • ต้นมะพร้าวส่วนใหญ่รอด ยืนต้นตาย 1 ต้น  คิดว่าเป็นเพราะด้วงมะพร้าวมากกว่าความแห้งแล้ง
  • ต้นมะไฟ ต้นมะปราง และต้นฝรั่งยืนต้นตาย
  • ต้นมะตูมให้ผลผลิต และทิ้งใบหมดเกลี้ยง  แต่ก็กลับมาผลิใบในหน้าฝน
  • ต้นกล้วยแห้งคอหักไปบ้าง ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ แต่ไม่มีกอไหนตาย
  • ต้นมะม่วงให้ผลเป็นบางต้น  แต่ยังเขียวขจีอยู่ดีทุกต้น
  • ต้นสะเดา ไผ่ และต้นขี้เหล็กไม่สะทกสะท้านกับความแล้ง
  • ต้นชมพู่อยู่รอดได้ แต่ให้ผลเล็กมาก และร่วงเยอะ  ไม่ได้กิน
  • ต้นมะละกอให้ผลบ้าง บางต้นแห้งตายบ้าง
  • พืชหัว เช่น มันเลือดนก มันมือเสือ และบุก ใบจะค่อยๆ เหี่ยวไป  และผลิใบออกมาใหม่เมื่อถึงฤดูฝน
  • ขิง ข่า กระชาย กระทือ ขมิ้น ใบจะค่อยๆ เหี่ยวไป  และงอกใหม่เมื่อถึงฤดูฝน
  • ต้นพริกและผักสวนครัวหลายชนิดตายหมด และไม่ฟื้นกลับมา
  • ต้นไม้ที่ทดลองปลูกใหม่ เช่น ทุเรียน มะกอกฝรั่ง กาแฟ โกโก้ ฟักข้าว ผักเหรียง และผักกูด ตายทั้ง 100%
โดยรวมๆ แล้วยังมีพืชที่รอดจากหน้าแล้งได้  บางชนิดรอดเฉพาะในบางพื้นที่ในสวน  ดูเหมือนว่าทั้งชนิดของพรรณไม้ ทำเลที่ปลูก และวิธีการปลูกจะมีผลต่อความอยู่รอดของต้นไม้  แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร?  เราจะต้องออกแบบพรรณไม้และสถานที่ปลูกอย่างไร?  เราจะปรับพื้นที่ที่ไม่ค่อยเหมาะสมกับพืชมาเป็นทำเลที่เหมาะได้อย่างไร?  ดูเหมือนคำถามจะผุดขึ้นมาเรื่อยๆ โดยยังไม่มีความตอบ...

ติตตาม "ทำโดยไม่กระทำ ตอนที่ 2" ใน http://my-experimental-farm.blogspot.com/2014/04/2.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น