3 พฤษภาคม 2557

อโศกอินเดีย - โสกน้ำ - โสกเขา - โสกวัด - โสกใหญ่ - โสกเหลือง - โสกระย้า - โสกพวง - โสกสะปัน

ต้นอโศก

อโศกอินเดีย ชื่อภาษาอังกฤษ False Ashoka ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyalthia longifolia เป็นไม้ยืนต้นสูง ในวงศ์ Annonaceae มีลักษณะเป็นไม้ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มเป็นรูปปิรามิดแคบ ๆ สูงเต็มที่ได้ถึง 25 เมตร กิ่งโน้มลู่ลงทั้งต้น ทำให้แลดูต้นสูงชลูดมาก เปลือกต้นเกลี้ยงสีเทาเข้ม หรือเทาปนน้ำตาล ใบเดี่ยวรูปใบหอกแคบ ๆ ปลายแหลมยาว 15 - 20 เซนติเมตร สีเขียวเป็นมันเงางาม ขอบใบเป็นคลื่น

ออกดอกในระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายน จะออกดอกสีเขียวอ่อนเป็นกระจุกตามข้างๆ กิ่ง แต่ละดอกเป็นรูปดาว 6 แฉก กลีบดอกเป็นคลื่นน้อย ๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 - 2 เซนติเมตร ดอกบานอยู่นาน 3 สัปดาห์

ผลรูปไข่ ยาว 2 เซนติเมตร เมื่อสุกมีสีดำ เป็นไม้ต้นทรงสูงชะลูด สามารถสูงได้เกินกว่า 30 ฟุต เป็นแท่งกลมปลายแหลม ทรงพุ่มแผ่นทึบ ใบรูปหอก แนว ยาวสีเขียวเข้ม ขอบใบเป็นคลื่น ดอกออกเป็นช่อสีเขียวอ่อน รูปดาว 6 แฉก ดอกมีกลิ่นอ่อน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับและเป็นร่มเงา มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินเดียและศรีลังกา

เหตุผลที่ภาษาอังกฤษเรียกต้นนี้ว่า False Ashoka หรือ "อโศกเทียม" เนื่องจากต้น Ashoka ที่แท้จริงไม่ได้อยู่ในวงศ์ Annonaceae แต่กลับอยู่ในวงศ์ถั่ว เวลาภาษาอังกฤษเรียกว่า Ashoka Tree ปกติจะหมายถึงต้นชื่อวิทยาศาสตร์ Saraca asoca หรือ Saraca indica

เข้าใจว่าต้นอโศกที่แท้จริง (ชื่อวิทยาศาสตร์ Saraca indica) เดิมก็ถูกเรียกว่าต้นอโศกตามชื่อในภาษาอินเดีย เมื่อนำมาเมืองไทย คนไทยเรียกสั้นลงเป็นโศก ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปเป็นตรงข้ามคือ จากไม่มีโศก (อโศก) เป็นโศกเศร้า เช่นเดียวกับต้นอรัก (ไม่รัก) เมื่อมาถึงไทยกลายเป็นต้นรักนั่นเอง ต่อมาคำว่า"โศก"ก็ถูกสะกดเพื้ยนกลายเป็น "โสก" (น่าจะเป็นเพราะไม่ต้องการให้ไปดูเหมือนกับคำว่าโศกเศร้า) ในปัจจุบันต้น Saraca indica มักจะเรียกว่า "โสกน้ำ"

ซึ่งในการแปลพุทธประวัติบางครั้งมีความสับสนในการแปลชื่อต้นไม้ในภาษาโบราณ ในตอนที่พระพุทธเจ้าประสูตินั้นในบางครั้งก็จะมีคนแปลว่าพระมารดาประทับยืนชูพระหัตถ์ขึ้นเหนี่ยวกิ่ง Ashoka Tree (ต้นโสกน้ำ) และขณะนั้นเองก็รู้สึกประชวรพระครรภ์ และได้ประสูติพระสิทธัตถะกุมาร บางท่านก็แปลว่าเป็นกิ่งของต้น Sal (ต้นสาละอินเดีย) ในปัจจุบันนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จะมีความคิดเห็นว่าเป้นต้น Sal (ต้นสาละอินเดีย) กันมากกว่า

นอกเหนือจากต้น "โสกน้ำ" แล้วในประเทศไทยยังพบพืชตระกูลอโศกแท้อีกหลายชนิดในวงศ์ Leguminosae-Caesalpinioideae ได้แก่

  • โสกน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Saraca indica หรือ Saraca asoca ชื่อภาษาอังกฤษ Ashoka Tree
  • โสกเขา ชื่อวิทยาศาสตร์ Saraca triandra
  • โสกวัด ชื่อวิทยาศาสตร์ Saraca bijuga
  • โสกใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Saraca declinata
  • โสกเหลือง หรือศรียะลา ชื่อวิทยาศาสตร์ Saraca thaipingensis ชื่อภาษาอังกฤษ Yellow Saraca
  • โสกระย้า หรือโสกฝรั่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Amherstia nobilis ชื่อภาษาอังกฤษ Pride of Burma
  • โสกพวง ชื่อวิทยาศาสตร์ Brownea ariza ชื่อภาษาอังกฤษ Mountain Rose
  • โสกสะปัน ชื่อวิยาศาสตร์ Brownea grandiceps ชื่อภาษาอังกฤษ Rose of Venezuela
  • โสกดาวกระจาย ชื่อวิยาศาสตร์ Brownea macrophylla ชื่อภาษาอังกฤษ Panama Flame Tree
ซึ่งต้นโสกระย้าเองนั้นมีชื่อภาษาฮินดูว่า Simsapa ซึ่งในตำนานใบไม้ของต้น Simsapa ได้ถูกใช้ในการแสดงธรรมโดยพระพุทธเจ้า แต่ต้น Simsapa ในภาษาฮินดูอาจจะหมายถึงต้นที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia sissoo หรือต้นประดู่แขกในภาษาไทยได้เช่นกัน (อ่านรายละเอียดใน http://my-experimental-farm.blogspot.com/2014/03/blog-post_3111.html )   แต่ตามหลักฐานในปัจจุบันเรามักจะพบต้นโสกระย้าตามวัดในประเทศพม่า และประเทศศรีลังกา แต่กลับไม่ค่อยพบในประเทศอินเดีย  นักประวัติศาสตร์โดยทั่วไปจึงเชื่อว่าน่าจะหมายถึงต้นประดู่แขกมากกว่า   แต่ด้วยความสับสนบางประการบางท่านจึงเข้าใจผิดว่าต้นประดู่แขก เป็นต้นประดู่ลาย (ชื่อวิทยาศาสตร์ Dalbergia errans) ทั้งๆ ที่เป็นคนละต้นกัน   บางท่านถึงกลับบอกผิดว่าต้นประดู่ลายเป็นต้นไม้ในพระพุทธประวัติด้วยซ้ำไป

สนใจเรื่องพืชที่น่าสับสนแบบนี้อีกติดตามได้ที่ http://my-experimental-farm.blogspot.com/p/plants.html

สนใจเรื่องราวต่างๆ ในสวนขี้คร้านติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น