25 พฤษภาคม 2557

ต้นชายา

ต้นชายา

เจ้าต้นในภาพได้รับกิ่งพันธุ์มาจากพี่ทิดโสซึ่งสามารถผ่านฤดูแล้งที่สวนฯ มาโดยไม่ได้รดน้ำเลยทั้งๆ ที่ปลูกอยู่กลางแจ้ง เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ถึงความทนความแล้งของต้นที่มีชื่อว่า ต้น"ชายา" ซึ่งไม่ได้แปลว่ามเหสี เนื่องจากเป็นการเรียกทับศัพท์ชื่อภาษาอังกฤษของต้นชายาที่ว่า Chaya หรือ Tree Spinach ( ผักโขมต้น)  ชื่อวิทยาศาสตร์ Cnidoscolus aconitifolius วงศ์ Euphorbiaceae เชื่อกันว่าต้นชายามีแหล่งกำเนิดที่แหลม Yucatán ในประเทศเม๊กซิโก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวพบต้นชายาหลากหลายสายพันธุ์มากที่สุด และยังเป็นศูนย์การของอารายธรรมของชาวมายาแห่งหนึ่ง

ชาวมายาใช้ต้นชายาในการทำอาหารมานานก่อนที่ชาวสเปนเข้าไปยึดครองดินแดนของพวกเขา ต่อเมื่อชาวตะวันตกจึงนำเอาต้นชายาไปทวีปต่างๆ แต่เนื่องจากต้นชายาไม่ค่อยจะออกดอก หรือเป็นเมล็ด โดยทั่วไปทำการขยายพันธุ์ทำโดยใช้การปักชำกิ่ง ทำให้การพกพาไปกับเรือเพื่อพาไปยังดินแดนใหม่ไม่สะดวกเหมือนพืชชนิดอื่นที่เอาไปแต่เมล็ดก็เพียงพอ (ไม่ต้องรดน้ำ หรือดูแลมากตอนอยู่ในเรือ) นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ต้นชายาไม่ค่อยจะแพร่หลายจนเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในแถบอาเซียน เท่าที่อ่านดูเหมือนว่าชายาจะถูกนำเข้ามาครั้งแรกที่ฟิลิปปินส์ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมมากนักเนื่องจากชาวบ้านคิดว่าเป็นต้นมันสำปะหลัง จากนั้นคงจะเข้าในประเทศไทยทางเวียดนาม และกัมพูชา (น่าจะคล้ายๆ กับเส้นทางการนำเอามันแกวเข้ามาในประเทศไทย) ต้นที่ผมมีในครอบครองก็ดูเหมือนว่าจะมาจากกัมพูชา ความจริงแล้วต้นชายามีหลายพันธุ์แต่เนื่องจากความรู้เรื่องพืชชนิดนี้ในไทยมีน้อยมาก ทำให้ไม่ทราบว่าต้นที่ผมมีอยู่เป็นพันธุ์ไหน

ชายาเป็นไม้พุ่มสูงได้ถึง 6 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นได้ถึง 6 นิ้ว แต่ส่วนใหญ่จะตัดแต่งต้นให้สูงประมาณ 2 เมตรเพื่อให้ง่ายในการเก็บเกี่ยวใบ โดยเมื่อกิ่งของต้นชายาโดนตัดจะมียางสีขาวไหลออกมา ต้นชายาสามารถเติบโตได้ดีในดิบทุกประเภทชอบความชื้น แต่ก็ทนความแล้งได้ในระดับหนึ่ง (ที่สวนขี้คร้านก็ปลูกโดยไม่มีการรดน้ำเลย)

ใบชายาสามารถเติบโตกลับขึ้นมาใหม่หลังจากที่ถูกตัดไปแล้วได้อย่างรวดเร็ว ใบเป็นแหล่งที่ดีของโปรตีน, วิตามิน, แคลเซียมและเหล็กและยังเป็นแหล่งอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ใบชายาจึงถูกใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเม็กซิกัน และอาหารอเมริกากลางหลายชนิด ใบชายาเองไม่ค่อยจะมีรสชาติมากนัก แต่จะดูดซับกลิ่นและรสชาติของเครื่องปรุงอื่นที่เราใช้ผสมในการทำอาหาร

ในใบชายาจะมีสาร hydrocyanic ที่เป็นพิษ การปรุงให้สุกก่อนที่จะกินจะช่วยสลายสาร hydrocyanic ให้ส่วนที่เป็นพิษกลายเป็นไอทำให้สามารถรับประทานใบที่ผ่านความร้อนแล้วได้อย่างปลอดภัย การรับประทานใบชายาดิบในปริมาณน้อยๆ พิษอาจจะยังไม่แสดงอาการ แต่สาร hydrocyanic สามารถสะสมในร่างกายมนุษย์ได้ (เหมือนกับโลหะหนักอย่างตะกั่ว) หากมีการรับประทานดิบๆ ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานอาจจะทำให้พิษแสดงอาการในภายหลัง แต่ถ้าเราทำให้สุกก่อนแล้วนำมารับประทานเหมือนที่ชาวมายันทำมาเป็นพันๆ ปีก็น่าจะปลอดภัย ลองอ่านข้อมูลเพิ่มเติมใน http://www.rilab.org/pdfs/Ross-Ibarra_Molina-Cruz-2002.pdf

ต้นชายาจะเป็นญาติกับต้นมันสำปะหลัง (Cassava) ชื่อวิทยาศาสตร์ Manihot esculenta วงศ์ Euphorbiaceae ซึ่งใบของมันสำปะหลังก็เป็นพิษเหมือนกับต้นชายา แต่จะมีปริมาณพิษที่มากกว่า นอกจากนั้นในหัวของมันสำปะหลังก็มีพิษของไซยาไนด์เช่นกัน ในการนำหัวมันสำปะหลังมาบริโภคจึงจำเป็นต้องทำให้สุกด้วยความร้อนก่อน ผมจึงเอาภาพของใบต้นมันสำปะหลังที่สวนฯ มาให้ดูเปรียบเทียบกับใบต้นชายาด้านบน เพื่อนๆ จะสังเกตุว่าจริงๆ แล้วลักษณะใบแตกต่างกันชัดเจน แต่ถ้าดูเร็วๆ เราอาจจะไม่ทันสังเกตว่าเป็นคนละต้นกัน

มันสำปะหลัง

คุณสมบัติที่ทำให้การบริโภคใบชายา น่าสนใจกว่าการบริโภคใบมันสำปะหลัง คือ คุณสมบัติทางยา ซึ่งมนุษย์มายาใช้เป็นยารักษา พิษสุราเรื้อรัง โรคนอนไม่หลับ โรคเกาต์ พิษจากแมลงป่อง บำรุงสมอง และสายตา นักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เองก็ทำการทดลองในสัตว์เพื่อยืนยันคุณสมบัติดังกล่าว เช่น การรักษาตับอักเสบ http://alcalc.oxfordjournals.org/content/46/4/451.full หรือ http://alcoholreports.blogspot.com/2011/05/cnidoscolus-aconitifolius-leaf-extract.html และยังมีบางคนเชื่อว่าการบริโภคใบชายาจะช่วยรักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ เป็นต้น ด้วยคุณสมบัติที่ไม่เหม็นเขียวมากนักทำให้บางกลุ่มนำมากินสด หรือคั้นน้ำคลอโรฟิล ซึ่งจะกินง่ายกว่าผักชนิดอื่นที่เหม็นเขียว แต่ก็ยังคงกังวัลเรื่องความเป็นพิษในใบชายาสด อย่างไรก็ตามในอเมริกากลางก็มีชาวบ้านเอามาใบชายามาทุบให้ละเอียด และกินสด ซึ่งยังไม่มีผลของพิษทางร่างกายที่ปรากฎเด่นชัดในกลุ่มชาวบ้านดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานว่าการทุบใบชายาทำให้สาร hydrocyanic สัมผัสอาหารอาจจะเพียงพอที่จะทำให้ไซยาไนด์กลายเป็นไอ แต่ก็ยังไม่มีผลสรุปอย่างเป็นทางการว่าจะช่วยลดพิษของสาร hydrocyanic ได้จริงหรือไม่ ดังนั้นจึงขอให้หลีกเลี่ยงการรับประทานใบสดจะดีกว่าครับ

สุดท้ายอยากจะพูดถึงผักโขมธรรมดาที่เป็นพืชล้มลุก ชื่อวิทยาศาสตร์ Amaranthus lividus วงศ์ Amaranthaceae ซึ่งเป็นคนละวงศ์กับต้นชายา หรือ ผักโขมต้น และยังมีผักโขมในวงศ์ Amaranthaceae อีกหลายชนิดที่พบในประเทศไทย จึงขอรวมรายชื่อไว้ดังนี้

  • ผักโขมฝรั่ง/ปวยเล้ง (ชื่อภาษาอังกฤษ: Spinach) ชื่อวิทยาศาสตร์ Spinacia oleracea
  • ผักโขม (ชื่อภาษาอังกฤษ: Amaranth) ชื่อวิทยาศาสตร์ Amaranthus lividus
  • ผักโขมสวน/ผักโขมสี (ชื่อภาษาอังกฤษ: Red amaranth, Joseph' s coat ) ชื่อวิทยาศาสตร์ Amaranthus tricolor
  • ผักโขมหัด (ชื่อภาษาอังกฤษ: Slender amaranth ) ชื่อวิทยาศาสตร์ Amaranthus viridis
  • ผักโขมหนาม (ชื่อภาษาอังกฤษ: Spiny amaranth, Spiny pigweed ) ชื่อวิทยาศาสตร์ Amaranthus spinosus
  • ผักโขมจีน (ชื่อภาษาอังกฤษ: Chinese Spinach ) ชื่อวิทยาศาสตร์ Amaranthus dubius


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมใน http://my-experimental-farm.blogspot.com/p/plants.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น