2 กุมภาพันธ์ 2557

กระบวนท่าที่ 7 (ตอนที่ 1) - Terrace

กระบวนท่าที่ 7 - Terrace (ขั้นบันได)

การ ทำขั้นบันได (terrace) ทำได้โดยการปรับพื้นที่ลาดชันให้มีลักษณะราบเป็นขั้น เช่นเดียวกับขั้นบันได เพื่อใช้ปลูกพืช เพื่อที่จะลดความลาดชันของพื้นที่ ช่วยลดอัตราการไหลบ่าของน้ำบนผิวดิน ควบคุมการชะล้างพังทลายของดิน  สะดวกในการเพาะปลูก ช่วยให้พืชนำแร่ธาตุที่มีอยู่ในดินไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น  และเป็นการใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า ถึงแม้จะเป็นเชิงเขาก็สามารถปรับพื้นที่ให้มีลักษณะที่จะนำมาใช้ประโยชน์ใน การเกษตรได้

อย่างไรก็ตามการทำ terrace จะต้องใช้ความระมัดระวังสูงเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสูง  หากทำไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดการสไลด์ของดิน  การพังของดินเป็นขั้นๆ แล้วถูกน้ำพัดพาทั้งน้ำและดินลงมาตามทางลาดของเขาจะทำความเสียหายได้มากกว่า การไม่ทำ terrace เลยด้วยซ้ำไป  ดังนั้นก่อนทำ terrace จะต้องสำรวจว่าพื้นที่ของคุณมีหน้าดินที่ลึกพอที่เราจะขุดทำ terrace ได้ และไม่มีองค์ประกอบเป็นดินเหนียวมากจนเกินไป  เนื่องจากดินเหนียวจะทำให้น้ำไหลซึมลงดินได้ยาก  น้ำที่ถูกขังไว้ที่ผิวดินจะเพิ่มแรงกดแรงเฉือนของดินตามขั้นบันได  นอกจากนั้นเมื่อดินเหนียวอุ้มน้ำจะทำหน้าที่เหมือนจารบีตามธรรมชาติ  ทำให้ดินไม่ทนต่อแรงเฉือนสามารถเกิดปัญหาดินสไลด์ได้ง่าย  โดยทั่วไปเทคนิคการทำขั้นบันไดอาจจะแบ่งออกมาได้ 3 แบบย่อยคือ

(1) ขั้นบันไดดินแบบไม่มีกำแพงค้ำยัน

เครดิตภาพจาก thai-farmer.com

(2) ขั้นบันไดแบบมีกำแพงค้ำยันเป็นก้อนหิน

เครดิตภาพจาก permaculturenews.org

(3) ขั้นบันไดแบบกำแพงค้ำยันแบบก่ออิฐ

เครดิตภาพจาก thebrickyard.com

แล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องทำขั้นบันไดแบบไหน?  คำตอบคือความลาดชัน ความสวยงามที่คุณต้องการ และงบประมาณในกระเป๋าสตางค์ของคุน เป็นตัวบ่งชี้ว่าควรจะทำแบบไหน ในพื้นที่ที่มีความลาดชันน้อยกว่า 18 องศา เราสามารถทำขั้นบันไดดินแบบไม่มีกำแพงค้ำยันได้  ส่วนขั้นบันไดแบบที่มีกำแพงค้ำยันเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีความชันมากกว่า (แต่ก็ไม่ควรเกิน 26 องศา พื้นที่ที่ชันกว่านี้ควรจะใช้วิธีปลูกต้นไม้อย่างหนาแน่นเพื่อชะลอน้ำแทน)  โดย terrace แบบนี้ต้องลงทุนลงแรงมากกว่าตอนก่อสร้างแต่ก็มีค่าบำรุงรักษาในระยะยาวน้อย กว่าเนื่องจากมีการพังทลายน้อยกว่า


ในการสร้าง terrace นั้นจะต่างจาก swale ตรงที่  เราจะสร้าง swale จากด้านบนสุดของที่ดิน  แล้วค่อยๆ ไล่ลงมาเนื่องจากเราไม่ต้องการให้ swale รับน้ำมากจนเกินไประหว่างที่การก่อสร้างยังไม่เสร็จ  แต่วิธีการสร้าง terrace เราจะทำจากด้านล่างขึ้นด้านบน  เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการพังทลายของ terrace ที่ถูกขุดดินด้านล่างออก  แต่ถ้าระยะเวลาการก่อสร้างกินเวลานานมาก  เราก็ต้องระวังปัญหา terrace พังในช่วงที่ฝนตกเยอะมากๆ



เช่น เดียวกันกับ swale เราต้องคำนึงถึงกรณีแย่ที่สุดคือมีปริมาณน้ำฝนตกมากกว่าที่เราใช้ในการคำนวน  น้ำฝนจะขังจนล้น terrace เราต้องเตรียมทางน้ำล้นเพื่อป้องกันไม่ให้ terrace พังลงมา  โดยในทางน้ำล้นเราอาจจะต้องเตรียมวางหิน หรือโครงสร้างอื่นที่ช่วยลดการกัดเซาะของน้ำรวมทั้งการปลูกพืชคลุมดิน



ปล. ถ้าจะทำ terrace แบบมีกำแพงค้ำยัน  แนะนำให้ลองดูก่อนว่าจะใช้วัสดุเป็นหินธรรมชาติ หรือใช้อิฐก่อ  แต่จากประสบการณ์ยกหินขนาดใหญ่ที่สวนแล้ว  ผมเองบอกได้ว่าถ้าเป็นผมจะยกหินไปทำ terrace บนที่ชันมากๆ ไม่ไหว  ถึงแม้นว่าจะลองเปลี่ยนเป็นยกอิฐที่น้ำหนักต่อก้อนน้อยกว่า  แต่การยกอิฐจำนวนมากขึ้นเนินก็เป็นงานที่หนักมากที่เดียว  ผมแค่โชคดีที่สวนชันไม่เกิน 18 องศา และมีรถแมคโคมาทำงานในช่วงที่คิดจะทำ  เลยว่าจ้างทำได้ไม่ยากนัก  แต่ถ้าจะใช้รถไถก็คงต้องใช้วิธีทำ terrace แบบไม่มีกำแพงค้ำยัน  ลองดูภาพการทำ terrace แบบไม่มีกำแพงค้ำยันด้วยรถไถ (มี 2 เทคนิค)



ดังนั้นจึงขออวยพรให้เพื่อนๆ ที่มีสวนชันมากกว่า 18 องศาประสบความสำเร็จในการทำ terrace นะครับ

ขออนญาตส่งท้ายด้วยภาพ terrace สวยๆ จากรีสอร์ทแห่งหนึ่งที่เขาใหญ่


และภาพ terrace ปลูกข้าวที่ Banaue ประเทศฟิลิปปินส์


ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น