18 ธันวาคม 2556

วัชพืชไม่ใช่วัชพืช

Don't fight the weeds, grow the weeds!

เพื่อนอยากจะงงๆ กับประโยคที่ว่า "วัชพืชไม่ใช่วัชพืช" ก่อนอื่นเรามาดูนิยามคำว่า "วัชพืช" (ภาษาอังกฤษ weed) นั้นพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถานได้นิยามว่า "พรรณไม้ที่ขึ้นได้เอง และเจริญเติบโตแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วในพื้นที่ที่ไม่ต้องการ หรือในพื้นที่เพาะปลูก ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือพืชที่ปลูก เช่น หญ้าคาในไร่อ้อย กกในนาข้าว ไมยราบยักษ์ ผักตบชวาในแหล่งน้ำ"

สังเกตจะเห็นว่าคำว่า "วัชพืช" เกิดจากมองธรรมชาติแบบแยกส่วนของมนุษย์  เราอยากจะมีแต่เฉพาะพืชที่เราต้องการ สิ่งที่เราต้องการเราจะเรียกพวกเขาว่า "วัชพืช" ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ สมุนไพร พืชผัก หรือเห็ดรา โดยที่ไม่ได้สนใจถึงบทบาทในระบบนิเวศน์ของพวกเขา  ปู่ฟูสังเกตว่า "วัชพืช" มีบทบาทสำคัญในการสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดิน และการสร้างสมดุลของระบบนิเวศน์  การไถกลบ "วัชพืช" ไม่เพียงแต่ไม่ช่วยในการจำกัด "วัชพืช" ยังเป็นการสร้างโอกาสให้เมล็ดของ "วัชพืช" ได้สัมผัสดิน จะพร้อมจะเจริญเติบโตต่อไป  ปู่ฟูสังเกตว่าเมื่อเขาหยุดการไถพรวน "วัชพืช" ก็จะลดน้อยลงไปเอง  ปู่ฟูจึงสอนเทคนิคการควบคุม (ไม่ใช่การกำจัด) วัชพืชด้วยการคลุมดินบ้าง ด้วยการปล่อยให้น้ำเข้าท่วมบ้าง

ส่วนปู่บิลเรียก "วัชพืช" ว่า "ทรัพยกรที่ยังไม่ถูกใช้" (unused resources)  ปู่บิลสอนอีกว่า "วัชพืช" เป็น "ดัชนีชี้วัดของดิน" (soil indicator) เนื่องจากธรรมชาติส่ง "วัชพืช" เพื่อซ่อมแซมดินที่ถูกทำลาย และปรับสมดุลของธรรมชาติ ดังนั้นการปรากฎตัวของ "วัชพืช" เป็นวิถีของธรรมชาติในการเตือนเราว่าดินกำลังมีปัญหา เช่น


  • วัชพืชหลายชนิดจะหน้าที่ปกป้องหน้าดินจาการกัดเซาะของฝน ลม และแสงแดด เมื่อมีการกัดเซาะรุนแรงเราก็จะเริ่มพบวัชพืชที่มีรากที่แข็งแรงมากขึ้น
  • วัชพืชที่ปกป้องหน้าดินยังมีความสามารถในการดูดแร่ธาตุต่างกัน เช่น วัชพืชบางชนิดจะสามารถขึ้นได้ดีในดินที่มีฟอสเฟตต่ำมาก โดยตัวมันเองจะทำหน้าที่ดึงฟอสเฟตจากดินชั้นล่างขึ้นมา เมื่อวัชพืชเหล่านี้ตายลงไป ซากของวัชพืชก็จะทำให้ฟอสเฟตมาอยู่ที่หน้าดินสำหรับพืชที่ไม่สามารถเติบโตได้ในดินที่ฟอสเฟตต่ำ  มีตัวอย่างแบบนี้มากมายไม่ว่าจะเป็นการปลูกวัชพืชที่ตรึงธาตุสังกะสีในดินได้ดีสลับกลับการปลูกข้าวโพดเพื่อลดปัญหาการขาดสังกะสี หรือการปลูก comfrey ใต้ต้นผลไม้เพื่อช่วยดึงธาตุโปเตสเซียมจากดินชั้นล่างให้กับผลไม้
  • วัชพืชยังช่วยเพิ่มจำนวนสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ และขับไล่แมลงศัตรูบางชนิด
  • วัชพืชบางชนิดยังช่วยเปิดทางในดินที่แข็งมากๆ ทำให้การระบายน้ำของดินดี จนกระทั่งพืชที่มีรากแข็งแรงน้อยกว่าสามารถเติบโตได้
  • วัชพืชยังถูกใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงปริมาณน้ำใต้ดิน  และปริมาณธาตุอาหารบางอย่าง เช่น ทองแดง สังกะสี
โดยสรุปเมื่อดินมีปัญหาก็จะมีวัชพืชบางอย่างที่สามารถเติบโตได้ดีในสภาพที่มีปัญหานั้นๆ จนกลายเป็นพืชหลักในพื้นที่  เมื่อดินเริ่มเข้าสู่สภาพสมดุลก็จะมีพืชหลากหลายมากขึ้น และวัชพืชหลักก็จะค่อยๆ ลดน้อยลงไปเอง หากเราเฝ้าสังเกตวัชพืชในพื้นที่ เราจะรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงไปของดิน

ในตัวอย่างของสวนขี้คร้าน ในปีแรกๆ วัชพืชหลักจะเป็นหญ้าเจ้าชู้ หญ้าดอกขาว กระถิน และวัชพืชทนแล้งอีกหลายชนิด  ภายหลังจากที่ขุด swale แล้วชนิดของวัชพืชก็เริ่มเปลี่ยนไป มีวัชพืชที่ชอบน้ำ เช่น โสนขน โสนคางคง หญ้าแขม หญ้าขจรจบ หมามุ่ย เพิ่มมากขึ้น จากการสังเกตจะเห็นว่าปัญหาหน้าดินถูกกัดเซาะมาอย่างต่อเนื่องทำให้ดินมี ความสมบูรณ์ต่ำ ธรรมชาติพยายามจะเพิ่มความสมบูรณ์ของดินด้วยวัชพืชวงศ์ถั่วทนแล้ง เช่น กระถิน และถั่วลาย  แต่เดิมโสนจะแทบไม่เจอ และเถาหมามุ่ยจะแห้งตายไปก่อนจะได้ออกฝักที่สมบูรณ์  ต่อมาเมื่อมีน้ำเพิ่มขึ้นจากการขุด swale วัชพืชวงศ์ถั่วที่โตเร็วอย่างโสนจึงงอกงามอย่างมาก (โตเร็วกว่ากระถินเยอะ แต่ไม่ทนแล้ง) และในเวลาเดียวกันวัชพืชเลื้อยอย่างหมามุ่ยก็งอกงามอย่างมาก (โตเร็วกว่าถั่วลายแต่ทนแล้งน้อยกว่า)  ส่วนกระถินยังงอกงามเหมือนเดิม

การอยู่ร่วมกันของวัชพืชสูงเร็ว (เช่น กระถิน โสนคางคง โสนขน ครอบจักรวาล) และวัชพืชเลื้อยทำให้ผลของวัชพืชเลื้อยก็จะไม่โดนพื้นทำให้ไม่ค่อยเป็นเชื้อรา และวัชพืชทรงสูงก็ได้วัชพืชเลื้อยช่วยรักษาความชื้น วัชพืชทั้ง 2 ชนิดงอกงามร่วมกันได้ดีกว่าการเติบโตแยกกัน  ทำให้เกิดมวลของวัชพืชคลุมดินมากกว่าปกติ

ธรรมชาติกำลังบอกผมว่าน้ำใต้ดินอุดมสมบูรณ์มากกว่าเดิม ดินต้องการวัสดุลุมดินจำนวนมาก และในช่วงนี้ดินต้องการพืชวงศ์ถั่วเพื่อเสริมความสมบูรณ์ในดิน  ท่าทาง swale กำลังทำงานได้ดีแล้ว แต่ผมยังด้อยเรื่องการสร้างสารอินทรีย์ให้กับดิน พืชคลุมดินเป็นยุทธศาสตร์ระยะสั้นในการสร้างอินทรีย์วัตถุ

แต่บางครั้งเราก็ต้องตัดวัชพืชบ้าง  ในการตัดวัชพืชแทนที่เราจะตัดวัชพืชด้วยเครื่องตัดหญ้าให้ละเอียดแล้วนำไปคลุมดิน  วัชพืชที่ถูกตัดละเอียดจะถูกย่อยสลายได้เร็วกว่าวัชพืชที่ถูกตัดเป็นชิ้นใหญ่ๆ ทำให้คลุมดินได้ไม่นาน ในขบวนการย่อยสลายจุลินทรีย์จะดึงไนโตรเจนไปใช้ทำให้ความพยายามที่จะสร้างไนโตรเจนให้กับดินด้อยลงไป  และการย่อยสลายที่เร็วจะทำให้วัชพืชได้รับแสงแดดเร็วจึงมีประสิทธิภาพในการคลุมดินเพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืชได้น้อย  ถ้าเราปล่อยให้วัชพืชขึ้นจนหนาทึบแล้วตัดแล้วเศษวัชพืชคลุมดินเป็นชิ้นยาวๆ หนาๆ จะย่อยสลายช้า และคุมวัชพืชได้ดีกว่า (เหมือนที่อาจารย์ตั้มตัดหญ้าเอาเฮชิ้นยาวๆ มาคลุมดิน)  และแล้ววัชพืชก็จะกลายเป็นทรัพยากรในการควบคุมวัชพืช และสร้างดินให้กับเรา

ตัดวัชพืชแทนการใช้ยาฆ่าหญ้าแบบนี้คือเราจะไม่ได้เน้นการกำจัดพวกมันให้ตาย (พร้อมๆ กับการตายของสิ่งมีชีวิตอีกหลายอย่าง) และยังเป็นการเร่งการสร้างมวลของัชพืช  วัชพืชที่ถูกตัดบางส่วนที่อ่อนแอก็จะถูกควบคุมอยู่ใต้กองวัชพืช ส่วนที่ยังแข็งแรงก็จะเร่งสร้างต้น และใบแทรกกองเศษวัชพืชที่เราคุมดินไว้ขึ้นมาทดแทน  ทำให้เราสามารถตัดพวกมันได้ปีละหลายรอบ  เทคนิคนี้จะเร่งการสร้างมวลได้มากกว่าการไม่ตัดเลย เป็นการเร่งขบวนการสร้างดินเร็วการปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างโดยที่ไม่ทำอะไรเลย เทคนิคเหล่านี้ผมเรียกเองว่า "
การต้ดวัชพืชเหมือนการไม่ตัดวัชพืช"

แทนที่เราจะมาพยายามตัดวัชพืช เรามาช่วยธรรมชาติด้วยการปลูกพืชที่ทำหน้าที่คล้ายๆ กันแต่เราสามารถใช้ประโยชน์ได้ ให้มากขึ้นเพื่อแข่งขัน และทดแทนพืชที่เราไม่ต้องการ  รวมทั้งการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ก็จะช่วยลดปริมาณแสงที่จะส่งมาถึงวัชพืช  ใบไม้ที่ร่วงก็จะมาทับถมวัชพืชต้นเล็กๆ ไม่ให้งอกได้ง่ายๆ เทคนิคนี้เหล่านี้ผมเรียกเองว่า "
การไม่ต้ดวัชพืชเหมือนการตัดวัชพืช"


ใต้ต้นไม้ที่งอกงามเต็มที่แล้ว  แสงจะบดบังทำให้ไม่ค่อยมีวัชพืชไปเองตามธรรมชาติ  และเราอาจจะต้องเสริมด้วยการหาพืชคลุมดินทนร่มเข้าไปปลูกเพื่อป้องกันวัชพืชที่ทนร่มจะเข้ามารุกล้ำพื้นที่ใต้ต้นไม้

ดังนั้นถ้าผมไม่ชอบวัชพืชวงศ์ถั่วที่ธรรมชาติมอบให้มาช่วยผมทำงาน  แทนที่ผมจะคอยตามตัดวัชพืชเหล่านี้  ผมจะต้องหาพืชอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงเข้ามาทดแทน เช่น ถ้าผมไม่ชอบหมามุ่ยผมอาจจะต้องใช้ถั่วครก หรือถั่วปีมาเลื้อยแทนหมามุ่ย ถ้าผมไม่ชอบต้นกระทิน โสนคางคงและโสนขน ผมอาจต้องหาโสนดอกใหญ่ หรือถั่วมะแฮะมาปลูกแทนเพื่อจะเป็นค้างให้วัชพืชเลื้อย  ผมจะต้องปลูกปอเทืองมากกว่าเดิมเพื่อเร่งการตรึงไนโตรเจน


ถั่วปีที่เลื้อยไปบนยอดหญ้าช่วยควบคุมการเติบโตของหญ้าได้ดี และสามารถสู้กับหมามุ่ยในบริเวณเดียวกันได้อย่างสูสี ผมเลยช่วยถั่วปีนิดหน่อยด้วยการคอยเอาเคียวเกี่ยวเถาหมามุ่ยให้อ่อนแอกว่า  ปีหน้าผมจะอดทนคันเอาถั่วปีไปปลูกเพิ่มในกลางดงหมามุ่ย  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม

ถ้าผมไม่ชอบหญ้าที่ธรรมชาติประทานมาคลุมดินผมจะต้องปลูกหญ้าชนิดอื่นที่ทนกว่า เช่น หญ้าแฝก ตะไคร้ หรือหาพืชชนิดอื่นๆ ที่เจริญเติบโตได้ดีในช่วงที่หญ้าอ่อนแอในหน้าแล้ง อาจจะเป็นต้นไม้โตเร็วทนแล้ง อย่างขี้เหล็ก หรือกระถินเทพา เป็นต้น

ผมอาจจะตีความสารที่ธรรมชาติกำลังจะสื่อให้ผมฟังไม่ออก หรืออาจจะกำลังตีความสารของธรรมชาติผิดก็ได้  วิธีพิสูจน์ที่ดีที่สุดคือการทดลองปฏิบัติ ในช่วงหน้าแล้งที่ว่างเว้นจากงานปลูกต้นไม้นี้คือช่วงเวลาที่ดีในการแสวงหา และสะสมพันธุ์พืชที่จะมาทดลองในช่วงต้นฝนปีหน้า


ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น