27 ธันวาคม 2556

กระบวนท่าที่ 4 (ตอนที่ 1) - Swale

ในกระบวนท่านี้จะใช้กับพื้นที่มีความลาดชันแต่ ไม่ควรเกิน 18 องศา (ถ้าลืมคำนิยาม กลับไปอ่าน Rep ก่อนหน้านี้)    ก่อนอื่นต้องขออภัยที่ใช้ศัพท์เป็นภาษาอังกฤษตามปู่บิลเนื่องจากยังหาคำแปล ที่ตรงกับภาษาไทยที่ถูกใจไม่ได้  คำภาษาไทยที่น่าจะใกล้เคียงมากที่สุดคือคำว่า "ร่องชะลอน้ำ" แต่ก็ยังไม่ค่อยสื่อความหมายมากนัก  ความจริงแล้วคำว่า swale โดยทั่วๆ ไปจะมีความหมายว่า "ร่อง" แต่ในบริบทของเพอร์มาคัลเชอร์จะมีลักษณะของร่องเฉพาะ  เจ้า swale นี่เองเป็นองค์ประกอบหลักในการดูแลเรื่องน้ำในสวนขี้คร้านที่กำลังทดลองในปี พ.ศ. 2555-6  เพื่อให้ง่ายในการอธิบายนิยามของ swale  ผมขอเริ่มเข้าเรื่องด้วยการแสดงวิธีที่ผมใช้ในการสร้าง swale

1. การสำรวจแนวที่จะสร้าง swale
ใน การขุด swale จะเริ่มจากการวางแผนก่อน  ในกรณีนี้ผมกำลังจะทดลอง swale ในพื้นที่ประมาณ 40% ของสวน  จึงต้อง้เริ่มด้วยการค้นหาตำแหน่งที่จะขุด  โดยผมจะต้องหาแนวเส้นที่มีระดับความสูงเท่ากัน  ถ้าเรามีอุปกรณ์ไฮเทคราคาแพงอย่างเครื่องวัดแนวระดับด้วยเลเซอร์ หรือกล้องสำรวจราคาหลักหมื่นก็จะสามารถนำมาใช้งานได้  แต่...เพื่อความพอเพียง  เรามาใช้เทคนิคบ้านๆ ในการหาแนวระดับคือ

1.1 การใช้ A-Frame Level
เทคนิค นี้สามารถทำงานคนเดียวได้  โดยเทคนิคนี้จะใช้ไม้ 3 ชิ้นมาประกอบกันเป็นเฟรมรูปตัวอักษร A ตามรูปข้างล่าง  จากนั้นเราก็หาวัตถุที่มีน้ำหนักมาผูกเชือกห้อยมาจากด้านบนของเฟรมเพื่อทำ หน้าที่เป็นลูกดิ่ง 
วัดแนวระดับด้วยลูกดิ่ง 1

เรา จะทำเครื่องหมายตำแแหน่งที่ลูกดิ่งควรจะอยู่ถ้าขาทั้ง 2 ข้างของเฟรมอยู่ที่ระดับเดียวกันโดยการไปทดลองตั้งเฟรมในพื้นที่เรียบแล้วทำ เครื่องหมายของตำแหน่งเชือก  หลังจากนั้นก็จะสลับตำแหน่งของขาเฟรม แล้วทำเครื่องหมายอีกครั้ง  ถ้าพื้นเรียบจริงๆ ตำแหน่งของเชือกในทั้งสองครั้งจะเป็นตำแหน่งเดียวกันเลย  ถ้าพื้นไม่ได้ระดับตำแหน่งของการวัดทั้ง 2 ครั้งจะห่างกันเล็กน้อย  ตำแหน่งแนวดิ่งจริงๆ ก็จะอยู่ประมาณกึ่งกลางของการวัดทั้ง 2 ครั้ง
วัดแนวระดับด้วยลูกดิ่ง 2

ใน การหาแนวระดับจะใช้วิธีหมุนเฟรมไปจนหาตำแหน่งกระทั่งเจอตำแหน่งที่เชือกหยุด ในตำแหน่งที่วัดไว้ตอนแรกซึ่งจะเป็นตำแหน่งที่ขาทั้งสองข้างอยู่ที่ระดับ เดียวกัน  เราจะปักหมุดตำแหน่งไว้แล้วขยับเฟรมหาตำแหน่งที่ที่ขาทั้งสองข้างอยู่ระดับ เดียวกัน

วัดแนวระดับด้วยลูกดิ่ง 3

1.2 การใช้ท่อใสใส่น้ำวัดระดับ
วิธี นี้ให้เอาน้ำมาใส่สายยางแบบใสและไล่ฟองอากาศที่อยู่ท่อให้หมด  หาไม้ 2 อันมาผูกปลายสายยางทั้งสองข้าง เอาไม้ทั้งสองอันมากวางชิดกัน  ระดับน้ำในท่อจะเท่ากัน และทำตำแหน่งระดับน้ำไว้
วัดแนวระดับด้วยระดับน้ำ 1

ต่อ มาถ้าระดับของไม้อยู่สูงต่ำต่างกัน  ระดับน้ำในท่อก็จะปรับระดับให้เท่ากันอีก  ทำให้ในด้านที่สูงจะมีระดับน้ำต่ำกว่าที่ทำเครื่องหมายไว้ตอนแรก  ส่วนด้านที่ต่ำกว่าจะมีระดับน้ำสูงกว่าที่ทำเครื่องหมายไว้ตอนแรก
วัดแนวระดับด้วยระดับน้ำ 2

ใน การใช้งานหาแนวระดับด้วยวิธีนี้จะต้องใช้ 2 คนอยู่คนละด้านของปลายสายยาง  คนแรกจะยืนอยู่กับที่  คนที่สองจะต้องเดินหาตำแหน่งที่คิดว่ามีระดับเท่ากัน  และต้องค่อยๆ ขยับหาตำแหน่งที่จะทำให้ระดับน้ำในสายยางทั้งสองข้างอยู่ที่ตำแหน่งตอนวาง ไม้ชิดกัน  เมื่อได้ตำแหน่งแล้วก็ปักหมุดทำเครื่องหมายไว้ และขยับออกไปหาตำแหน่งถัดไปเรื่อยๆ จนสุดสายยาง  เมื่อสุดสายยางแล้วคนแรกก็ต้องขยับมาอยู่ที่ตำแหน่งล่าสุดที่ปักหมุดไว้ และทำซ้ำไปเรื่อย
วัดแนวระดับด้วยระดับน้ำ 3

ผม เลือกใช้วิธีวัดระดับน้ำ เนื่องจากวิธีนี้ทำงานได้เร็วกว่า ยืดหยุ่นในการหาตำแหน่งมากกว่า แต่จะต้องมีคนช่วยดูระดับน้ำอีกคน (ใช้ 2 คนนั่นเอง)  ไม้รวกที่ใช้ผมก็ไม่ได้ถึงกับทำ scale อะไรมากมาย  แค่เอาปากกาเมจิกแบบ permanent มาร์คตำแหน่งไว้นิดหน่อย

เส้นแนวระดับ

คน ที่ชอบการควบคุมว่าเวลาจะขุดร่องก็ขอให้เป็นเส้นตรง หรือเป็นแนวตามที่ต้องการจะรำคาญกับวิธีนี้มากเนื่องจาก เราจะไม่ใช่คนควบคุม  ธรรมชาติจะค่อยๆ เปิดเผยเส้นทางขุดที่เป็นแนวระดับในที่ดินให้กับเราเอง  เมื่อเราทำไปสักพักอาจจะพบว่าแนวขุดจะต้องขุดโดนต้นไม้  สำหรับผมเอง ไม่อยากขุดต้นไม้ก็เลยจะใช้วิธีขยับแนวขุดหลบต้นไม้  การขยับแนวแต่ละครั้งหมายความว่าจะต้องวัดแนวระดับกันใหม่หมด  โกรธ โกรธ โกรธ

ปล1. เวลาอ่านระดับน้ำกรุณาตั้งไม้ให้อยู่ในแนวดิ่งจริงๆ  ไม่งั้นจะเพี้ยน
ปล2. เวลาจะยกระดับของปลายท่อให้สูง หรือต่ำมากเกินไป ต้องบอกให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบก่อนจะได้เอานิ้วอุดปลายสายยางไว้  เพื่อกันไม่ให้น้ำไหลออกมาจากสายยาง


2.ขุดร่อง

หลัง จากทราบแนวระดับแล้วก็จะเริ่มลงมือขุด  เครื่องมือที่ใช้จะขึ้นกับขนาดของ swale ความลาดชัน ลักษณะโครงสร้างดิน ทรัพยากรที่คุณมีในพื้นที่ และความสามารถในการเคลื่อนย้านเครื่องจักร  เดี๋ยวผมจะกลับมาขยายความเรื่องการคำนวนขนาดของ swale อีกครั้งนึง

ใน ขั้นตอนนี้ผมเลือกใช้รถขุด (Backhoe) เนื่องจากมีคนจ้างรถขุดมาทำงานใกล้ๆ อยู่แล้วทำให้ผมไม่ต้องเสียค่าจ้างเคลื่อนรถขุด  และดินในสวนผมจะมีหินเป็นองค์ประกอบมาก  หินบางก้อนหนักมากจนต้องใช้ผู้ใหญ่ถึง 3 คนจึงจะสามารถยกขึ้น  การขุดด้วยแรงงานคนในพื้นที่แบบนี้จึงยุ่งยาก  ต้องจ่ายค่าแรงมากเกินไป  แต่ผมก็ต้องแลกด้วยการยอมเคียร์พื้นที่ในส่วนนี้ด้วยรถไถก่อนเพื่อให้ เครื่องจักรเข้าทำงานได้สะดวก

หมายเหตุ ความจริงอีกกว่า 60% ที่เหลือมีต้นไม้ติดสวนอยู่จำนวนพอสมควร  ทำให้ผมไม่อยากเอารถขุดเข้าไปทำงาน  ในส่วนที่เหลือผมจึงจะใช้เทคนิคอื่นที่ค่อยๆ ทำได้  ซึ่งจะเป็นโครงการปีหน้า  ไว้จะมาแชร์ให้ฟังอีกครั้ง

เมื่อผมเลือก ใช้รถขุดแล้ว  ขนาดของ swale ของผมก็เลยไปขึ้นอยู่กับขนาดของบุ้งกี๋ (Bucket) ความจริงผมต้องการร่องเล็กกว่านี้ แต่เพื่อให้รถขุดทำงานง่าย  ผมจึงเลือกให้เขาขุดขนาดประมาณกว้าง 1 บุ้งกี๋ลึก 1 บุ้งกี๋ ซึ่งออกมาจะเป็นขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร

ผมให้ รถขุดขับตามไม้ที่ปักไว้เป็นสัญญาณของแนวระดับ  ตักเอาดินในร่องไปวางเป็นเนินดินในด้านที่ต่ำกว่า  และช่วยเกลี่ยให้ดินเรียบนิดหน่อย  เพื่อให้ง่ายในการปลูกพืชในภายหลัง
แนวระดับ

อาศัยความชำนาญของคนขับ  แนวระดับจะโค้งอย่างไร ก็ดูเหมือนไม่มีปัญหากับคนขับรถขุดเลย


หรือจะโค้งแบบนี้  ความงดงามของธรรมชาติกำลังเปิดเผยตัวตนออกมาเป็นดั่งลายเส้นของจิตรกรบนผืนแผ่นดิน
แนวเส้นระดับ
 

3. ปลูกพืช

ในระหว่างการขุด swale ควรจะออกแบบไว้ตั้งแต่ตอนแรกว่าจะปลูกอะไร และให้เพื่อนในทีมช่วยดินตามรถขุด ปลูกพืชคุมดิน และต้นไม้ ไปเลย  เดี๋ยวเราค่อยกลับมาคุยเรื่องพืชที่เลือก



เรื่อง นี้เป็นที่ผมทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง  เนื่องจากตอนเริ่มทดลองขุด swale ก็ไม่ได้คิดว่ามันจะได้ผลอะไร กะอีแค่ร่องดินธรรมดา  อีกอย่างพอเห็นสภาพดินที่ขุดที่มีอินทรีย์วัตถุน้อยมาก หน้าดินตื้น แถมมีหินเยอะอีกต่างหาก  ในใจยังคิดเลยว่าขนาดหญ้ามันยังไม่ค่อยจะขึ้น แล้วจะรีบปลูกต้นไปทำไม  เดี๋ยวก็ตาย  เสียแรงเปล่า (จิตใจฝ่ายขีคร้านเข้าครอบงำ)


ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น