30 มิถุนายน 2557

มะเดื่อไทย - มะเดื่อฝรั่ง

มะเดื่อ (ภาษาอังกฤษ Fig) เป็นชื่อไม้ต้นหลายชนิดในสกุล Ficus วงศ์ Moraceae (ไทร) มะเดื่อเป็นต้นไม้ที่แทรกอยู่ในตำนาน ความเชื่อ คติธรรมและการใช้ประโยชน์ในทุกศาสนา ในพุทธศาสนา กล่าวไว้ในพระไตรปีฎกว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 26 จะตรัสรู้ใต้ควงไม้มะเดื่อ ในศาสนาอิสลาม กล่าวว่า มะเดื่อและมะกอกเป็นอาหารที่สมบูรณ์แบบสำหรับมนุษย์ ที่อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการต่างๆ สูง ในศาสนาฮินดู เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ในคริสต์ศาสนายังปรากฏเรื่องราวของมะเดื่อ ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าสร้างโลกและความละอายของอีฟและอดัม ที่แอบขโมยผลไม้กิน ซึ่งก็คือมะเดื่อ บ้างก็ว่าเป็นผลแอปเปิล และอาดัมใช้ใบมะเดื่อปิดบังความอาย มะเดื่อยังเป็นต้นไม้ที่อารยะชนตั้งแต่ยุคโบราณให้ความเคารพบูชา ถือเป็นต้นไม้มงคลมาจวบจนถึงปัจจุบัน

มะเดื่อทั่วโลกมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งอาจมีมากถึงกว่า 600 สายพันธุ์ เป็นพืชในวงศ์เดียวกับ ต้นโพธิ์ ต้นไทร หรือหม่อน คือวงศ์ MORACEAE ในประเทศไทยมะเดื่อที่รู้จักกันแพร่หลายคือ มะเดื่อปล้องและมะเดื่ออุทุมพร โดยเฉพาะมะเดื่ออุทุมพร หรือเรียกว่ามะเดื่อชุมพรอาจจะคุ้นมากกว่า เพราะรากของมะเดื่อนี้เป็นหนึ่งในตัวยาของตำรับยาห้าราก หรือยาเบญจโลกวิเชียร ยาแก้ไข้สำคัญของไทย เป็นตำรับยาที่ได้รับการบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และมะเดื่อนี้ยังเป็นไม้ประจำจังหวัดชุมพรด้วย

แต่จริงๆ แล้วมีมะเดื่อที่พบในประเทศไทยหลายชนิด ได้แก่

  • มะเดื่ออุทุมพร หรือ มะเดื่อชุมพร (ภาษาอังกฤษ Cluster Fig) ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus racemosa
  • มะเดื่อปล้อง (ภาษาอังกฤษ Hairy Fig) ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus hispida
  • มะเดื่อกวาง หรือ ลิ้นกระบือ (ภาษาอังกฤษ Calloused Fig) ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus callosa
  • มะเดื่อดิน (ภาษาอังกฤษ Weeping Fig) ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus chartacea
  • มะเดื่อฝรั่ง (ภาษาอังกฤษ Common fig หรือ Fig) ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus carica
  • มะเดื่อฉิ่ง หรือ ฉิ่ง (ภาษาอังกฤษ Laurel Fig) ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus botryocarpa
  • มะเดื่อเถา หรือ ตีนตุ๊กแก (ภาษาอังกฤษ Creeping Fig หรือ Climbing Fig) ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus pumila
  • มะเดื่อหอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus hirta
  • มะเดื่อน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus ischnopoda
สาเหตุที่คนไทยไม่นิยมบริโภคมะเดื่อ อาจด้วยมะเดื่อนั้นเป็นพันธุ์ไม้ในพุทธประวัติ ไม่กล้ากิน จึงไม่ปรากฏการนำมาใช้ประโยชน์ด้านอาหาร และส่วนมากจะเน้นไปทางการใช้ทำยา ซึ่งไม่แตกต่างจากมะขามป้อมเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่เป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อีกประการคือผลมะเดื่อเป็นแหล่งรวมแมลงวี่จำนวนมาก เพราะในระหว่างที่มะเดื่อผลิดอกบาน แมลงหวี่จะบินเข้ามาตอมและอาศัยเป็นที่ฟักไข่ พร้อมกันนั้นก็ทำให้เกสรดอกเกิดการผสมพันธุ์กันขึ้น จนมะเดื่อกลายเป็นลูก พอเราเอามากินก็เจอกับแมลงวี่เต็มไปหมด หรือแถวต้นมะเดื่อมีแมลงวี่บินว่อนยิ่งผลสุกหล่นเต็มใต้ต้นส่งกลิ่นหึ่ง แมลงหวี่ก็ตอมหึ่งๆ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ไม่มีใครชอบปลูกและกินมะเดื่อก็เป็นได้ มันจึงกลายเป็นอาหารอันโอชะของนกแทน

สำหรับมะเดื่อในประเทศไทยนั้นจะมีขนาดลูกเล็ก ไม่ใคร่พบว่ามีการนำมาบริโภคอย่างแพร่หลาย หรือไม่เป็นที่รู้จักเลยก็ว่าได้ อาจเป็นเพราะเป็นที่รู้จักน้อยมากเมื่อเทียบกับไม้ต้นชนิดอื่นๆ และยังไม่นิยมปลูกทั่วไปหรือปลูกตามบ้านเรือน ส่วนมากมักพบตามป่า ชาวบ้านมักเด็ดลูกมะเดื่ออ่อนมาเป็นผักเคียงกับน้ำพริก บ้างก็กินสด บ้างก็ต้มให้สุกแล้วแต่ความชอบ

มะเดื่อฝรั่งจะมีขนาดลูกใหญ่กว่ามะเดื่อไทย รสหวาน อุดมด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ทั้งวิตามิน เกลือแร่ แคลเซี่ยม ไฟเบอร์ ช่วยสร้างสมดุลของกรดในร่างกาย ช่วยชะลอความชรา เป็นต้น มะเดื่อฝรั่งจึงได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในสิบผลไม้เพื่อสุขภาพที่ดีที่สุดในโลก ชาวตะวันตกนิยมนำมารับประทานในโอกาสที่แสดงถึงความยินดี การเฉลิมฉลอง ในประเทศไทยมีการทดลองและปลูกมะเดื่อฝรั่งมานานร่วม 30 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมและรู้จักนัก เพิ่งจะเริ่มนิยมปลูกกันในปัจจุบัน

ความจริงแล้วพืชวงศ์ไทร (Moraceae) มีสมาชิกทั่วโลกประมาณ 800 ชนิด การกระจายพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่ในเขตร้อน ในไทยมีประมาณ 115 ชนิด ซึ่งชื่อเรียกในภาษาไทยอาจจะมีคำว่า "เดื่อ" อยู่หรือไม่ได้ก็ได้ (แต่ชื่อวิทยาศาสตร์จะขึ้นด้วยคำว่า Ficus )  ในสกุลมะเดื่อยังแบ่งเป็น 6 สกุลย่อย  ได้แก่

  • สกุลย่อย Ficus ในไทยมีประมาณ 20 ชนิด เช่น ไทรใบขน Ficus fulva, มะนอดน้ำ Ficus hirta, เดื่อน้ำ Ficus ischnopoda, มะเดื่อไทย Ficus thailandica, มะเดื่อฝรั่ง Ficus carica, มะเดื่อญี่ปุ่น Ficus erecta, มะเดื่อหอม Ficus hirta เป็นต้น

    สกุลย่อย Ficus ส่วนใหญ่ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น มักออกเป็นคู่ตามซอกใบหรือตามกิ่งที่ใบหลุดร่วง ใบประดับที่โคน 3 ใบ ดอกเพศผู้อยู่ใกล้ช่องเปิดหรือกระจายทั่วไป กลีบรวม 3-5 กลีบ แยกกัน เกสรเพศผู้ 1-4 อัน ดอกเพศเมียแบบก้านเกสรเพศเมียยาวไม่เท่ากัน ยอดเกสรเพศเมียแตกแขนงหรือเรียบ
  • สกุลย่อย Pharmacosycea ในไทยมี 5 ชนิด เช่น มะเดื่อกวาง Ficus callosa เป็นต้น

    สกุลย่อย Pharmacosycea ดอกแยกเพศร่วมต้น แผ่นใบมีซิสโทลิททั้งสองด้านหรือเฉพาะด้านล่าง figs ออกเป็นคู่ เดี่ยว หรือเป็นกระจุก ส่วนมากออกตามซอกใบ มีก้านผลหรือก้านผลเทียม ใบประดับที่โคนส่วนมากมี 3 ใบ ช่องเปิดมี 3-5 ใบ กลีบรวม 2-6 กลีบ เกสรเพศผู้ 1-3 อัน มีที่เป็นหมัน ยอดเกสรเพศเมียส่วนมากมี 2 อัน
  • สกุลย่อย Sycidium ในไทยมี 15 ชนิด เช่น ไทรหิน Ficus anastomosans, มะนอดน้ำ Ficus heterophylla, มะเดื่อหิน Ficus montana เป็นต้น

    สกุลย่อย Sycidium ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น มีซิสโทลิทบนแผ่นใบทั้งสองด้านหรือเฉพาะด้านล่าง figs มีปุ่มหรือจุดโปร่งแสง ออกเดี่ยวๆ หรือเป็นคู่ ตามซอกใบ กิ่ง หรือลำต้น ใบประดับที่ก้าน 1-3 ใบ ส่วนมากมีใบประดับด้านข้าง ช่องเปิดขนาดเล็กหรือมีใบประดับที่ปลายชี้ขึ้น ดอกเพศผู้อยู่ใกล้ช่องเปิด มี 1 หรือหลายดอกในแต่ละแถว กลีบรวม 3-6 กลีบ เกสรเพศผู้มักมี 1 อัน มีดอกเพศผู้ที่เป็นหมัน ดอกเพศเมีย กลีบรวม 3-6 กลีบ แยกกัน
  • สกุลย่อย Sycomorus ในไทยมี 16 ชนิด เช่น เดื่อหว้า Ficus auriculata, โพะ Ficus obpyramidata, มะเดื่ออุทุมพร Ficus racemosa, มะเดื่อปล้อง Ficus hispida, จิ้งเขา Ficus schwarzii, เดื่อปล้องหิน Ficus semicordata, ฉิ่ง Ficus botryocarpa เป็นต้น

    สกุลย่อย Sycomorus ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้นหรือแยกเพศร่วมต้น มักมีต่อมไขตามข้อกิ่ง figs เกลี้ยง มีปุ่มหรือเป็นสัน ออกเป็นคู่หรือออกเดี่ยวๆ ตามซอกใบ ตามกิ่ง หรือเป็นช่อตามลำต้นหรือไหล ใบประดับ 3-7 ใบ ส่วนมากมีใบประดับด้านข้าง ใบประดับที่ช่องเปิดมีมากกว่า 3 ใบ ดอกเพศผู้เรียงอยู่ใกล้ช่องเปิด มี 1 หรือหลายแถว ส่วนมากมีใบประดับย่อย 2 ใบ วงกลีบรวม 2-3 กลีบ เกสรเพศผู้ส่วนมากมี 2 อัน ดอกเพศเมียวงกลีบรวม 3-6 กลีบ เชื่อมติดกัน แยกกัน หรือลดรูป ยอดเกสรเพศเมีย 1 อัน
  • สกุลย่อย Synoecia ในไทยมี 14 ชนิด เช่น ตีนตุ๊กแก Ficus pumila, เดื่อเถาใบใหญ่ Ficus punctata เป็นต้น

    สกุลย่อย Synoecia เป็นไม้เถา มีรากเกาะ สั้นๆ ตามข้อ ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ใบที่โคนรูปร่างและขนาดต่างจากใบที่ออกตามเถาที่มี figs ติดอยู่ ปลายใบคล้ายรูหยาดน้ำ (hydathode-like) figs ออกตามกิ่ง ลำต้น หรือตามไหลที่โคนต้น ออกเป็นคู่ เดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก ใบประดับที่โคน 3 ใบ ส่วนมากไม่มีใบประดับด้านข้าง ช่องเปิดขนาดเล็ก บุ๋มเล็กน้อย อาจมีขนแข็งที่ด้านในช่องเปิด เกสรเพศผู้ 1-2 อัน กลีบรวม 0-7 กลีบ สีแดงเข้ม รังไข่ส่วนมากมีก้าน มีดอกที่ไม่มีเพศในช่อดอกเพศเมีย
  • สกุลย่อย Urostigma ในไทยมีประมาณ 45 ชนิด เช่น ไฮ Ficus annulata, นิโครธ Ficus benghalensis, กร่าง Ficus altissima, ไทรย้อยใบแหลม Ficus benjamin, ไทรย้อย Ficus microcarpa, ลุงขน Ficus drupacea, เฮือด Ficus lacor, ไฮหิน Ficus orthoneura, โพศรีมหาโพ Ficus religiosa, โพขี้นก Ficus rumphii เป็นต้น

    สกุลย่อย Urostigma ส่วนใหญ่เป็นแบบกึ่งอิงอาศัย มีรากอากาศ ไม่มีรากตามข้อ ดอกแยกเพศร่วมต้น แผ่นใบด้านล่างมีต่อมไขที่โคนเส้นกลางใบ 1 ต่อม figs เกลี้ยง ออกเป็นคู่หรือออกเดี่ยวๆ ตามซอกใบหรือตามกิ่ง พบน้อยออกตามลำต้น ใบประดับที่โคน 2-3 ใบ ไม่มีใบประดับด้านข้าง ช่องเปิดมีใบประดับ 2-5 ใบ ปิดด้านบน ดอกเพศผู้เรียงกระจัดกระจายระหว่างดอกเพศเมีย หรืออยู่ใกล้ช่องเปิด กลีบรวม 3-5 กลีบ เกสรเพศผู้ 1 อัน ยอดเกสรเพศเมียส่วนมากมี 1 อัน


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมใน http://my-experimental-farm.blogspot.com/p/plants.html

1 ความคิดเห็น:

  1. Blackjack online | casinos | JamBase
    Blackjack online 태백 출장마사지 is a fun and exciting 밀양 출장마사지 way to play casino games 사천 출장샵 for 양주 출장안마 real money. Play the exciting casino game you love right now! JamBase 통영 출장샵 Casino Review.

    ตอบลบ