2 มกราคม 2557

กระบวนท่าที่ 5 (ตอนที่ 1) - ร่องเบี่ยงน้ำ (Diversion Swale)

ตาม ที่ได้กล่าวถึงเบื้องหลังของการเอาน้ำเข้า swale นั้นผมได้พยายามดักน้ำจากจุดอื่นๆ มาลงในร่องของ swale โดยร่องเบี่ยงน้ำจะเป็นเทคนิคหนึ่งที่ผมใช้ในการดักน้ำที่ไหลบนถนน  หลักการลดแรงกัดเซาะของน้ำง่ายๆ คือต้องให้น้ำไหลโดยใช้เส้นทางที่ไกลที่สุด ไหลช้าที่สุด และเป็นสายน้ำเล็กที่สุด



ร่อง เบี่ยงน้ำ (Diversion Swale) คือทางระบายน้ำที่จะช่วงนำน้ำให้ไหลช้าๆ ผ่านพื้นที่ต่างในที่ดิน และในขณะเดียวกันก็จะยอมให้นำบางส่วนซึมลงในดินคล้ายๆ กับ swale  วิธีการสร้างร่องเบี่ยงน้ำก็จะคล้ายๆ กับการสร้าง swale คือมีการขุดร่องและเอาดินมาทำเป็นเนินในด้านที่ต่ำกว่า  สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ swale จะถูกขุดตามแนวระดับเพราะเราไม่ต้องการให้น้ำไหล  แต่ในร่องเบี่ยงน้ำเราจะขุดร่องเฉียงๆ กับแนวระดับเล็กน้อยเพื่อให้น้ำสามารถไหลจากด้านที่สูงกว่าไปยังด้านที่ต่ำ กว่าของร่อง

ในการวัดแนวที่จะขุดร่องเบี่ยงน้ำเราจึงสามารถใช้ เครื่องมือวัดแบบที่กล่าวถึงในการขุด swale ถ้าคุณใช้สายยางก็จะเริ่มจากการวัดให้ได้แนวระดับ
การวัดแนวระดับสำหรับทำร่องเบี่ยงน้ำ 1

แต่ แทนที่เราจะปักไม้ตำแหน่งที่จุดที่ได้แนวระดับพอดี  เราจะเลือกปักไม้หลักในตำแหน่งที่ต่ำลงไปเล็กน้อย เช่น เราอาจจะปักไม้หลักที่ระดับต่ำลงไป 1 นิ้วต่อทุกๆ ความยาวร่อง 25 ฟุต
การวัดแนวระดับสำหรับทำร่องเบี่ยงน้ำ 2

โดย หลักการแล้วถ้าน้ำไหลในร่องที่มีความชันน้อยกว่า 1:100 น้ำที่ไหลจะมีการกัดเซาะน้อยมาก  ในตัวอย่างข้างบนผมลดระดับ 1นิ้ว ต่อระยะ 25 ฟุต = 25 x 12 = 300 นิ้ว  หรือคือความลาดชัน 1:300 ซึ่งยิ่งชันน้อยกว่า 1:100 เข้าไปอีก  ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องเทซิเมนต์ในร่องเพื่อป้องกันการกัดเซาะของน้ำ

เรา จะใช้ร่องเบี่ยงน้ำในกรณี ตัวอย่างเช่น การขุดร่องเบี่ยงน้ำที่ไหลอยู่ด้านข้างของถนนให้ไหลลงร่องแบบง่ายๆ เป็นรูปเนินโค้ง  ผมทำร่องแบบนี้เป็นระยะๆ ตลอดแนวถนนที่ลาดจากสูงลงต่ำเพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลอยู่ในร่องข้างถนน (โดยการเบี่ยงน้ำไปลงร่อง swale เป็นระยะๆ) เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำ Run off รวมตัวกันเป็นสายน้ำที่ใหญ่ขึ้นมีพลังในการกัดเซาะมากขึ้น


การ ดักน้ำจากด้านข้างของถนนแบบซับซ้อน  ในรูปน้ำจะไหลมาตามร่องโดยมีเนินดินกั้นควบคุมไม่ให้น้ำไหลตรงๆ ลงไปสู่ด้านที่ต่ำกว่า  น้ำจะไหลในร่องแบบช้าๆ เพราะ slope จะไม่ชันมาก  เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลในร่องมากเกินไปก็ควรจะต้องมีทางให้น้ำไหลออกไปจาก ร่อง  ในรูปจะมีการใช้หินลดแรงน้ำก่อนจะไหลลงในท่อมุดใต้เนินดินข้ามไปยังฝั่งที่ ต่ำกว่า  ซึ่งจะมีเนินหิน (media luna) กั้นตามแนวระดับเพื่อชะลอน้ำให้ซึมลงดิน พร้อมทั้งกระจายน้ำออกไปหลายทิศทางเพื่อลดแรงกัดเซาะของน้ำ (ถ้าน้ำรวมตัวกันเป็นสายน้ำจะมีแรงกัดเซาะมาก  ถ้าเรากระจายน้ำให้กลายเป็นสายน้ำเล็กๆ จะช่วยลดแรงกัดเซาะได้)


การ ดักน้ำโดยขุดร่องเบี่ยงน้ำขวางทางน้ำไหล เพื่อเบี่ยงน้ำไปลงโครงสร้างดักน้ำ เช่น sunken basin, swale หรือสระน้ำ (แต่การทำแบบนี้บนถนนทำให้ไม่สะดวกสำหรับรถที่จะแล่นผ่าน หรือการเข็นรถเข็นข้ามร่องเหล่านี้  ผมจึงจำกัดการขุดร่องเบี่ยงน้ำขวางถนนสำหรับบริเวณทางคนเดินเท่านั้น)


นอก จากนั้นถ้าเราทำ sunken basin  เราอาจจะทำร่องเบี่ยงน้ำเพื่อนำน้ำที่ล้นจาก sunken basin แห่งหนึ่งไปยังอีก basin หนึ่งที่อยู่ต่ำกว่า  ทำให้ร่องเบี่ยงทำหน้าที่เชื่อมโครงสร้างดักน้ำหลายๆ แห่งเข้าด้วยกัน  ทำให้น้ำที่ล้นจากโครงสร้างหนึ่งไหลไปยังอีกโครงสร้างหนึ่ง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับน้ำในเวลาที่พายุฝนพัดเข้ามาในพื้นที่


ใน ร่องเบี่ยงน้ำเราอาจจะปล่อยหญ้าขึ้นปกคลุมเพื่อลดการกัดเซาะของน้ำ  บางครั้งจึงถูกเรียกว่า bio-swale, grass swale, vegetated swale แปลว่าร่องที่ถูกปกคลุมไปด้วยพืช หรือหญ้า


โดย สรุปร่องเบี่ยงน้ำเป็นโครงสร้างที่เสริมการทำงานของโครงสร้างอื่น ทำหน้าที่ในการชะลอน้ำให้ไหลอย่างช้าๆ น้ำบางส่วนจะซึมลงดินในร่อง ส่วนที่เกินจะถูกพาไปยังโครงสร้างดักน้ำ น้ำที่ล้นจากโครงสร้างดักน้ำก็ควรจะมีร่องเบี่ยงน้ำนำน้ำไปยังโครงสร้างถัด ไปเป็นซีรี่ย์ไปเรื่อย  โดยความลาดชันที่น้อยจะทำให้มีตะกอนถูกพัดพาไปด้วยน้อยกว่าร่องระบายน้ำปกติ ที่ชันกว่า  วัตถุประสงค์เพื่อให้ฝนที่ตก หรือน้ำที่ไหลเข้าในที่ดินของเราใช้เวลานานที่สุดในการไหลก่อนจะออกไปจาก ที่ดินของเรา  โดยในระหว่างทางน้ำจะถูกดักด้วยโครงสร้างดักน้ำต่างๆ เพื่อจะเพื่อปริมาณน้ำที่ซึมลงในดิน  ด้วยความหวังว่าจะเหลือน้ำไหลออกไปจากที่ดินของเราน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็น ไปได้


ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น