5 ธันวาคม 2556

กระบวนท่าที่ 2 (ตอนที่ 2) - Vertical Mulch

ส่วนการทดลอง Vertical Mulch แบบของสวนขี้คร้าน ก็หาเริ่มจากหาอุปกรณ์ได้แก่ ขวดน้ำดื่มใช้แล้ว (ใช้แทนท่อ PVC ขนาด 2")  ปากกาคอแร้งสำหรับเจาะรูขวด วัสดุพรุน และปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอก  สำหรับวัสดุพรุนท่านอาจจะใช้หินก้อนเล็ก เพอร์ไลท์ เวอร์มิคูไลท์ หรือ เม็ดดินเผาก็ได้  ผมเลือกใช้ BioActn แบบที่พี่ Pong2510 ใช้ด้วยเหตุผลว่า ต่อปริมาตรเท่ากันแล้ว BioActn จะมีรูพรุนมาก จึงอุ้มน้ำได้เยอะ รูพรุนพวกนี้จะเป็นแหล่งอาศัยของจุลินทรีย์ต่างๆ ที่ติดมากับปุ๋ยหมักด้วย  แต่ BioActn ดูเหมือนจะมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหิน



จากนั้นก็เจาะรูขวด และเอาวัสดุผสมใส่ สลับกับ ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอกแห้ง  งานพวกนี้สามารถทำล่วงหน้าก่อนจะมาสวนได้ จะได้ไม่เสียเวลา



หนู ทดลองต้นแรกในการปลูกตอนหมดหน้าฝนแบบนี้คือ ไผ่เหลือง จากสวนพี่ดาบนริทร์นั่นเอง  รากค่อนข้างเยอะจริงๆ ท่าทางน่าจะรอด  ฝังขวด vertical mulch เอาไว้ห่างออกไปประมาณ 20-30 ซม. เพื่อล่อให้รากงอกออกมาหาน้ำ  ถ้าวางใกล้ไป รากจะไม่เดินไกล  จากนั้นก็ฝังกลบให้เหลือแต่ฝาขวดน้ำที่อยู่เหนือดิน  จากนั้นก็จะรดน้ำทุกๆ 2-4 สัปดาห์ (ตามความขี้คร้าน) ตลอดหน้าแล้ง  โดยจะรดน้ำลงในขวด และไม่รดที่โคนต้นไม้เลย  จะได้ใช้น้ำน้อยๆ (ขนน้ำได้ไม่เยอะ เพราะว่าต้องขนน้ำเดินเท้าเข้าไปในบริเวณที่ปลูก ผสมกับความขี้เกียจขนหลายๆ รอบ ฮ่าๆๆ)



ทำ เสร็จก็กลัวจะใช้ผลการทดลองไม่ได้  เพระว่าต้นกล้าไผ่จากสวนพี่ดาบรินทร์อาจจะแข็งแรงเกินไป  ก็เลยไปขุดดินฝัง Vertical Mulch ที่ต้นไม้ชนิดอื่นที่เคยตายเกลี้ยงเมื่อปีที่แล้ว ได้แก่ ต้นทุเรียน มังคุด และลองกอง  โดยเฉพาะทุเรียนที่ความจริงเขาแนะนำให้ปลูกที่มีฝนตกมากกว่า 2,000 มิลลิเมตร ต่อปี  แต่ที่เพชรบุรีปีนี้น่าจะมีฝนถึงสิ้นปีอย่างมากไม่เกิน 1,100 มิลลิเมตร  จึงถือว่าทุเรียนเป็นไม้ผลปราบเซียนสำหรับสวนขี้คร้านเหมือนกัน  สุดท้ายอยากจะจับฉลากเสี่ยงทายว่าต้นไหนจะรดน้ำ 2 สัปดาห์ครั้ง ต้นไหนจะรดน้ำ 1 เดือนครั้ง  ส่วนผลการทดลองว่าต้นไหนจะรอด หรือจะตายเหมือนปีที่แล้ว ก็คงต้องอดใจรอผลไปถึงประมาณเดือนเมษายนปีหน้านะครับ 

สรุปแล้ว เทคนิคในกลุ่มของ Vertical Mulch เป็นเทคนิคที่ดีสำหรับดูแลต้นไม้แต่ละต้น  และด้วยประสิทธิภาพการใช้น้ำที่สูงจึงได้ผลดีมากในสภาพที่แห้งแล้งมากอย่าง ในทะเลทราย  อย่างไรก็ตาม vertical mulch เป็นวิธีทีใช้ต้นทุนทั้งเรื่องวัสดุอุปกรณ์ และแรงงานค่อนข้างสูง  แถมยังมีภาระในการให้น้ำอยู่ดี  ส่วนตัวผลจึงคิดว่าน่าจะเหมาะสำหรับกรณีที่มีน้ำน้อยสุดๆ แบบในทะเลทราย หรือสำหรับการดูแลต้นไม้ที่มีราคาสูง หรือต้นไม้หายาก  เพื่อให้มั่นใจว่าจะรอดผ่านหน้าแล้งไปได้จริงๆ   แต่ถ้าจะปลูกต้นไม้จำนวนมาก ครอบคลุมบริเวณกว้าง เทคนิคนี้อาจจะลงทุนมากเกินไปครับ

ปล. มาถึงจุดนี้เพื่อนบางท่านอาจจะจินตนาการไปถึงต้นทุนการใช้เจลโพลิเมอร์ช่วย ทำให้ดินชื้น เทียบกับ vertical mulch ผมยังไม่เคยซื้อโพลิเมอร์มาใช้งาน  แต่เท่าที่ดูราคาจากเวปแล้วคิดว่า โพลิเมอร์จะถูกกว่า  แต่อายุการใช้งาน และหลักการทำงานจะแตกต่างกัน  โพลิเมอร์จะมีหลายราคา  มีอายุการใช้งานประมาณ 2-3 ปีตามชนิดของโพลีเมอร์ (ซึ่งก็น่าจะนานพอให้ต้นไม้ตั้งตัวได้)  ส่วนโพลิเมอร์ฝังไว้ในดิน และเน้นเรื่องการเพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำที่ไหลผ่านลงไปในดิน  แต่ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาดินบริเวณผิวอัดแน่น   ส่วน Vertical Mulch จะอายุการใช้งานนานกว่า  ทำให้ดินโปร่งขึ้น เป็นช่องทางให้น้ำฝนที่ตกลงมาซึมลงไปในดินได้เร็วกว่า/มากกว่าปกติ (ลด Run off) ทำให้มีน้ำมาเก็บในดินมากขึ้นกว่าการใช้โพลิเมอร์อย่างเดียว  นอกจากนั้นช่องของ Vertical Mulch ยังเป็นช่องให้อากาศลงมาในดินมากขึ้น  ทำให้รากของต้นไม้หายใจได้ดีขึ้น  และมีโอกาศเป็นต้นเหตุของปัญหารากเน่าน้อยกว่าการใช้โพลิเมอร์ สรุปคือทั้งสองแบบไม่เหมือนกันซะทีเดียว


ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น