29 กันยายน 2557
ต้นสาธร
คนทั่วไปมักจะไม่รู้จักต้นสาธร จึงมักจะถามว่า "สาธร" เป็นชื่อต้นไม้ด้วยหรือ? รู้จักแต่เขตสาทร ถนนสาทร แต่ว่าไม่ใช่เขียน “สาธร” นะ เขียนเป็น “สาทร” มากกว่า ดังนั้นจึงขอนำเสนอประวัติของคำว่า "สาธร" หรือ "สาทร" กันก่อน
สืบเนื่อง คำว่า “สาธร” ซึ่งเป็นชื่อสำนักงานเขตสาธร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ไม่มีประวัติความเป็นมา และไม่มีความหมายคำแปล ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 แต่คลองสาทร กับถนนสาทร มีประวัติความเป็นมาจากบรรดาศักดิ์ขุนนางในสมัยในรัชกาลที่ 5 คือ เมื่อปีพุทธศักราช 2431 มีคหบดีจีนชื่อ เจ๊สัวยม บุตรพระยาพิศลสมบัติบริบูรณ์ (เจ๊สัวยิ้ม) อุทิศที่ดินของตนและทำการขุดคลองขึ้น จากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ไปบรรจบคลองวัดหัวลำโพง นำดินที่ขุดคลองทำถนนทั้ง 2 ฝั่งคลอง คนทั่วไปเรียก “คลองเจ๊สัวยม” เมื่อเจ๊สัวยมได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสาทรราชายุกต์คลองและถนนทั้ง 2 ฝั่ง เรียกว่า “คลองสาทร” และ “ถนนสาทร” ต่อมาเมื่อการเขียนภาษาไทย ได้มีการเขียนผิดเพี้ยนไปเป็น “สาธร” จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเขียนชื่อคลอง และถนนสาทร ผิดไปจากความเป็นมาในอดีต เมื่อจัดตั้งสำนักงานเขตขึ้น ได้นำชื่อถนนสาทรมาใช้เป็นชื่อเขตสาทร โดยใช้ “ธ ธง” จึงทำให้ไม่ถูกต้องด้วย เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า การเขียนชื่อเขตสาธร คลองสาธร และถนนสาธรเหนือ-ใต้ ไม่ถูกต้องตามประวัติความเป็นมาของคลองและถนน ซึ่งหลักฐานคำว่า “สาทร” ใช้ ท ทหาร ทั้งหมด กรุงเทพมหานครจึงได้เสนอ กระทรวงมหาดไทย โดยคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย ของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 2 พิจารณาแล้วเห็นว่า คำว่า “สาธร” ไม่มีความหมาย และคำแปลตามหลักภาษาไทย ส่วน คำว่า “สาทร” มีความหมายและคำแปลว่า “เอื้อเฟื้อ เอาใจใส่” ตามหลักภาษาไทย ในพจนานุกรม และเป็นคำที่มาจากบรรดาศักดิ์ของหลวงสาทรราชายุกต์ (เจ๊สัวยม) ซึ่งตามประวัติอักขรานุกรม ขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 5 จะใช้ ท ทหาร ทั้งหมด เมื่อเขตสาทรจัดตั้งขึ้น และใช้ชื่อคลองสาทร และถนนสาทร เป็นชื่อสำนักงานเขต โดยใช้ “ธ ธง” จึงเป็นการเขียนไม่ตรง กับที่มาชื่อบรรดาศักดิ์ และหลักภาษาไทย กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศ ลงวันที่ 23 เมษายน 2542 เปลี่ยนแปลงชื่อ “เขตสาธร” เป็น “เขตสาทร” ตามหลักฐานดังกล่าว
ดังนั้น ชื่อสำนักงานเขตสาทร ต้องใช้ ท ทหาร และถนนสาทรเหนือ-ใต้ ตลอดจนซอยแยก จากถนนสาทร ต้องเขียนป้ายชื่อ เป็น ท ทหาร ทั้งหมด ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 116 ตอนพิเศษ 35 ง. ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 ตั้งแต่ วันที่ 23 เมษายน 2542 เป็นต้นไป “สาธร” เป็น “สาทร” ที่ถูกต้อง ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ ความเป็นมาแต่อดีต และถูกต้องตามหลักภาษาไทย สรุปมีแต่ ต้นสาธร เท่านั้น ที่เขียนโดยใช้ “ธ ธง”
"สาธร" เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นไม้มงคลของจังหวัดนครราชสีมา ชื่อวิทยาศาสตร์: Millettia leucantha วงศ์: Leguminosa-Papilionoideae เป็นพืชวงศ์ถั่วชนิดหนึ่ง ชื่ออื่น: ขะเจ๊าะ กะเซาะ ขะแมบ กระเจา ขะเจา เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 18 - 20 เมตร ออกดอกสีขาวแบบช่อกระจายแยกแขนง เดือนมีนาคม - พฤษภาคม ฝักแก่เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม
เนื้อไม้และแก่นของต้นสาธรเมื่อตัดใหม่ๆ สีเทาอมม่วง เมื่อถูกอากาศนานๆ เข้า เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมม่วงถึงน้ำตาลปนสีช็อกโกแลตเข้ม มีริ้วสีอ่อนและแก่กว่าสีพื้นสลับ เสี้ยนค่อนข้างตรง เนื้อละเอียดปานกลาง แข็ง เหนียว หนัก แข็งแรงทนทานดีมาก เลื่อยผ่าไสกบตกแต่งและชักเงาได้ดี จึงนำมาใช้ในการก่อสร้าง ใช้ทำเครื่องเรือน และด้ามเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ เช่น เสาเรือน ขื่อ รอด เพลา เกวียน เครื่องนอน ครก สาก ลูกหีบ ทำส่วนประกอบของกระบะรถยนต์ ทำกระสวยทอผ้า และไม้เท้า
สิ่งที่น่าสนใจคือมีต้นไม้ที่บางครั้งมีชื่อเรียกว่า "สาธร" แต่เป็นคนละต้นกัน นั่นคือต้นสะทอน หรือต้นสะท้อน (บางครั้งคนฟังเสียงแล้วเลยไปสับสนว่าเป็น"สาธร") ชื่อวิทยาศาสตร์ : Millettia utilis ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับต้นสาธคือวงศ์ Leguminosa-Papilionoideae เนื่องจากเป็นญาติกันลักษณะต้นเลยคล้ายกัน เจ้าต้นสะท้อนนี้ชาวจังหวัดเลยนำมาหมัก โดยเริ่มจากการตัดยอดอ่อนของต้นสะทอนช่วงระยะเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ นำใบสะทอนอ่อนมาตำให้ละเอียด จากนั้นนำไปแช่ด้วยนำสะอาดในภาชนะที่มีฝาปิดสนิท 2 คืน จากนั้นคั้นเอาแต่น้ำ และนำน้ำหมักสะทอนที่ได้มาต้มจนแห้ง จะได้น้ำปรุงรสที่เรียกว่า “น้ำผักสะทอน” ใช้ระยะเวลาประมาณ 8 ชั่วโมง รสชาติออกหวานธรรมชาติและเค็มเล็กน้อย ชาวบ้านที่ด่านซ้ายนิยมนำมาใช้ประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน ซึ่งใช้แทนน้ำปลา
ส่วนอีกต้นซึ่งมีลักษณะคล้ายกับต้นสาธรมากคือต้นกระพี้จั่น ชื่อวิทยาศาสตร์ : Millettia brandisiana เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับต้นสาธรมาก (เนื่องจากเป็นญาติกัน) แต่จะมีดอกสีม่วงแทนที่เป็นดอกสีขาวเหมือนต้นสาธร ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมเหมือนกับต้นสาธรครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น