ปกติผมรู้จักมะไฟ และที่สวนขี้คร้านก็มีต้นมะไฟอยู่แล้ว 2-3 ต้น แต่เมื่อวานนี้ไปร้านต้นไม้แถวบ้านแพ้ว แล้วคนขายแนะนำให้ลองเอาต้นละไมไปปลูก ผมก็บ้าจี้ซื้อไปปลูกทั้งๆ ที่ไม่เคยรับประทานมาก่อน เมื่อกลับถึงบ้านเล่าให้คุณแม่ฟังจึงเพิ่งรู้ว่าคุณแม่เคยรับประทาน ว่าแล้วจึงต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าต้นละไมเป็นอย่างไร
ผลไม้คล้ายมะไฟ
ละไม ชื่อภาษาอังกฤษ Rambai ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea motleyana วงศ์ Phyllanthaceae บางครั้งก็ถูกเรียกว่ามะไฟฝรั่ง เป็นผลไม้พื้นเมืองทางภาคใต้ สูงประมาณ 9-12 เมตร ใบขนาดใหญ่ แต่ละต้นจะให้ดอกเพียงเพศเดียว ถ้าจะปลูกให้่ได้ผลจะต้องมีทั้งต้นดอกตัวผู้่และตัวเมียในบริเวณเดียวกัน ผลออกเป็นพวงยาว ออกผลประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี ห้อยย้อยตามลำต้น ลักษณะคล้ายผลมะไฟ ผลอ่อนสีเขียว แก่แล้วเป็นสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน ภายในผลแบ่งเป็นกลีบๆ มี 3-5 กลีบ เนื้อสีขาว รสอมเปรี้ยวอมหวาน รับประทานเป็นผลไม้สด ใส่ในแกงต่างๆ
วิธีสังเกตุว่าเป็นละไม หรือมะไฟ ให้ดูที่ขั้วผลถ้ากลีบเลี้ยงครอบจะเป็นละไม (ดูภาพด้านบนขวา) มีขนาดผลใหญ่กว่า และมีรสชาติหวานกว่ามะไฟ
พันธุ์ไม้ในวงศ์ Phyllanthaceae นี้มี 300 สกุล 5,000 ชนิด กระจายพันธุ์ในประเทศไทยประมาณ 80 สกุล 400 ชนิด พบไม้ต้นในป่าพรุ 6 สกุล 10 ชนิด
ส่วนพันธุ์ไม้ในสกุลมะไฟ (Baccaurea) ซึ่งเป็น 1 ใน 80 สกุลในวงศ์ Phyllanthaceae ที่พบในประเทศไทย มีพบพืชสกุลมะไฟในประเทศประมาณ 80 ชนิด โดยพบในป่าพรุ 3 ชนิด ซึ่งนอกเหนือจาก "ละไม" แล้วก็ยังมีที่เราพอรู้จักทั่วไปได้แก่ (บางชนิดเป็นผลไม้ป่าอาจจะไม่มีชื่อไทยอย่างเป็นทางการ)
มะไฟ ชื่อภาษาอังกฤษ Burmese grape ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea ramiflora วงศ์ Phyllanthaceae เช่นเดียวกับละไม เป็นพืชพื้นเมืองของอินโดนีเซีย ต่อมาจึงแพร่หลายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูงประมาณ 10-20 เมตร ใบเดี่ยว รูปไข่ ดอกเป็นช่อสีชมพูอ่อนหรืออมเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียส่วนมากอยู่ต่างต้นกัน ส่วนน้อยที่อยู่บนต้นเดียวกันแต่ก็จะอยู่กันคนละกิ่ง ผลออกเป็นช่อ ผลอ่อนมีขนคล้ายกำมะหยี่ พอแก่ผิวเกลี้ยง เปลือกสีเหลือง สีชมพู สีแดง(เช่น พันธุ์มะไฟแดง) และสีม่วง เนื้อสีขาวขุ่น(เช่น พันธุ์เหรียญทอง) หรือขาวใสอมชมพู(เช่น พันธุ์ไข่เด่า) แล้วแต่พันธุ์ เมล็ดแบนสีน้ำตาล
มะไฟกา ชื่อภาษาอังกฤษ Wild Rambai หรือ Setambun Merah ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea parviflora วงศ์ Phyllanthaceae เปลือกต้นสีน้ำตาล ใบเดี่ยว ออกรวมเป็นกลุ่ม ข้อต่อระหว่างโคนใบกับก้านใบบวมพอง ดอกออกที่ลำต้นและปลายกิ่งเป็นช่อ ดอกแยกเพศแยกต้น ดอกตัวผู้มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ มีขนสีขาวปกคลุม ดอกตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่า ผลกลม เปลือกหุ้มเหนียวและหนา แก่แล้วผลเป็นสีแดงแกมม่วง เนื้อหุ้มเมล็ดสีเหลืองอ่อน รสเปรี้ยว เมล็ดกลมแบน
ในประเทศไทยบางครั้งก็เรียกมะไฟ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea ramiflora) ที่มีเปลือกด้านนอกสีแดง (คือรูปมะไฟแดงด้านบน) ว่า"มะไฟกา" เช่นกัน ดังนั้นคำว่า"มะไฟกา" ในภาษาไทยจึงหมายถึงพืชอย่างน้อย 2 ชนิด
จำปูลิ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea minor วงศ์ Phyllanthaceae คล้ายๆกับ “มะไฟ” ลักษณะของก้านช่อ และการจัดเรียงตัวของผลเล็กๆ ในช่อ หากแต่มะไฟ มีลูกโตกว่า เปลือกหนากว่า ผลสีเหลืองอมส้ม ผลค่อนข้างกลมมีขนาดเล็กกว่ามะไฟ
มะไฟลิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea polyneura วงศ์ Phyllanthaceae มีลักษณะคล้ายกับจำปูลิ่ง แต่เปลือกของผลไม่เหมือนกัน
ละไมป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea bracteata วงศ์ Phyllanthaceae
ละไมลิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea javanica วงศ์ Phyllanthaceae
กะดองดอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea reticulata วงศ์ Phyllanthaceae
ลังแข หรือ ลำแข ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea macrophylla วงศ์ Phyllanthaceae เปลือกหนาลูกคล้าย ๆ กระท้อน แต่ข้างในจะเหมือนมะไฟ มีรสชาดคล้ายๆ มะไฟหวาน
Rambai tikus ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea odoratissima วงศ์ Phyllanthaceae พบในฟิลิปปินส์และบรูไน ลักษณะของต้นและใบดูคล้ายกับมะไฟกามาก(Baccaurea parviflora) แต่เนื้อของผลข้างในจะเป็นสีฟ้า
Tampoi Belimbing ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea angulata วงศ์ Phyllanthaceae พบในอินโดนีเซีย
ส้มไฟดิน หรือ Airy Shaw ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea ptychopyxis วงศ์ Phyllanthaceae พบที่จังหวัดภูเก็ต
Menteng ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea racemosa วงศ์ Phyllanthaceae พบที่อินโดนีเซีย
สนใจเรื่องพืชที่น่าสับสนแบบนี้อีกติดตามได้ที่
http://my-experimental-farm.blogspot.com/p/plants.html
สนใจเรื่องราวต่างๆ ในสวนขี้คร้านติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0
ขอบคุณครับ ผมนึกว่ามีแค่แฝด2 มะไฟ กับละไม กลายเป็นครอบครัวใหญ่ซะนั่น
ตอบลบ