9 เมษายน 2557
ทำโดยไม่กระทำ ตอนที่ 2
การทำงานที่สวนขี้คร้านในช่วงที่ผ่านมาทำให้เข้าใจปรัชญาของปู่ฟูกูโอกะมากขึ้น ความยากของการนำสิ่งที่ปู่ฟูเขียนในหนังสือมาปฏิบัติ คือ มันเป็นปรัชญา ไม่ใช่วิธีการ ไม่มีคำตอบที่ตายตัวที่ใช้ได้กับทุกสภาพภูมิอากาศ ทุกพื้นที่ ที่จะบอกเราง่ายๆ ว่าต้องทำอะไร และไม่ต้องทำอะไร แต่เป็นเพียงกรอบความคิดให้เรารู้จักสังเกตุและเรียนรู้จากธรรมชาติในพื้นที่ของเรา พยายามทำงานร่วมกับธรรมชาติในพื้นที่ของเรา คำตอบในเชิงปฏิบัติจึงอาจจะออกมาหลากหลายขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่ และความชาญฉลาดในการทำงานร่วมกับธรรมชาติของปัจเจกบุคคลนั้นๆ ซึ่งสุดท้ายแล้ววิธีการในสภาพแวดล้อมคล้ายๆ กันจะออกมาคล้ายๆ กัน แม้นว่าแต่ละท่านจะไม่ได้ลอกเลียนแบบแนวทางของอีกท่านนึงเลย
ประเด็น หนึ่งที่ผมเข้าใจผิดมาก่อนคือสไตล์การทำเกษตรแบบของปู่ฟูที่ภาษาอังกฤษเรียก ว่า "Do-Nothing Farming" ชวนให้ผมเข้าใจว่ามันคือ "Don't do anything farming" ซึ่งจะคล้ายๆ กับแนวคิดเรื่องทฤษฎีการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ตามหลักการฟื้นฟูสภาพป่าด้วยวัฏธรรมชาติ (Natural Reforestation) ซึ่งผมได้ไปเห็นการทดลองที่โครงการห้วยทรายในพระราชดำริมา พื้นที่ที่ทดลองปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ กำลังกลายเป็นป่าจริงๆ (แต่ไม่ใช่เป็นพื้นที่เกษตร) ซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้ตามธรรมชาติ ซึ่งหลายๆ อย่างอาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์ใช้สอยของมนุษย์สูงสุด และขบวนการก็ใช้เวลานานกว่าการที่มนุษย์เข้าไปช่วยธรรมชาติในการฟื้นฟูสภาพป่า นอกจากนั้นยังมีหลักฐานปรากฎอีกมากมายว่าหลายพื้นที่ที่ถูกปล่อยทิ้งไว้แทนที่จะกลายเป็นป่ากลับเริ่มเสื่อมโทรมหนักขึ้นไปอีก และค่อยๆ กลายเป็นพื้นที่ทะเลทรายตามธรรมชาติในที่สุด ดังนั้นการไม่ทำอะไรเลยไม่ได้รับประกันว่าพื้นที่จะฟื้นฟูตัวเองกลับกลายเป็นป่าตามธรรมชาติได้เสมอไป
ด้วยความตั้งใจที่จะสังเกตุธรรมชาติในพื้นที่ ที่แท้จริงโดยไม่มีการแทรกแซงของมนุษย์ ผมตั้งใจปล่อยสวนทิ้งไว้โดยไม่ทำอะไรเลยนอกจากสังเกตุ ต้นมะนาวแป้นเกือบ 200 ต้นตายไปเกือบทั้งหมด ในการทดลองนี้ผมค้นพบว่าต้นไม้ต้นไหนจะอยู่รอดได้โดยอาศัยเพียงน้ำฝนตามฤดูกาลเท่านั้น ผมค้นพบว่าต้นผลไม้ส่วนใหญ่ที่เราปลูกใหม่ไปแล้วปล่อยให้เทวดาดูแลตายเป็นส่วนใหญ่ สภาพธรรมชาติเสื่อมโทรมและแห้งแล้งขนาดที่ต้นไม้ป่าที่ปลูกใหม่ก็ตายเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการไม่ทำอะไรเลยคงไม่ใช่คำตอบ
ด้วยบทเรียนราคาแพงผมพบว่าวลี "Do-Nothing Farming" ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้หมายความว่าไม่ทำอะไรเลย เพียงแต่เป็นปรัชญาว่าจะพยายามลดการใช้แรงงานของมนุษย์และเครื่องจักร พยายามให้ธรรมชาติทำงานให้ได้มากที่สุดที่จะเป็นไปในการระบบนิเวศน์ที่มี ความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นวลีที่ว่า "Do nothing" จึงไม่ได้หมายความไม่ทำอะไรเลย (Don't do anything) แต่หมายถึงว่าการทำ (Do) โดยไม่กระทำ (Nothing) มากกว่า ช่างเป็นการเล่นคำในภาษาอังกฤษที่ต้องตีความจริงๆ เลย
ในปีที่ 2 ผมจึงเริ่มจากการทดลองปลูกไม้ผลแบบที่เกษตรกรทั่วไปทำ เพียงแต่ผมเริ่มมองแบบปู่ฟูสอน กล่าวคือ ตั้งคำถามว่า "อะไรไม่ต้องทำก็ได้บ้าง?" เช่น ขุดหลุมไม่ใหญ่ได้มั๊ย? ไม่ใส่ปุ๋ยเลยได้มั๊ย? เวลาปลูกไม่รดน้ำให้ต้นกล้าเลยได้มั๊ย? ไม่ตัดหญ้าเลยได้มั๊ย? ไม่ต้องปักหลักพยุงต้นไม้เลยได้มั๊ย? เป็นต้น จากนั้นผมก็ทดลองปลูกแบบละเว้นขั้นตอนในแต่ละแบบ ทดลองปลูกในช่วงเวลาที่เขาไม่แนะนำให้ปลูก (เช่น ปลูกในหน้าแล้งแล้วไม่รดน้ำให้เลย) ทดลองปลูกโดยใช้กระสุนดินจะได้ๆ ไม่ต้องขุดดิน ทดลองปลูกต้นไม้ด้วยเมล็ดโดยไม่เพาะต้นกล้าก่อน (เอาเมล็ดฝังดินไปเลย) ตอนนี้ยังไม่รู้ผลว่าจะเป็นอย่างไรบ้างทั้งหมด แต่ก็สนุกดีกับการทดลอง แต่ที่แน่ๆ เราไม่ต้องทำทุกอย่างตามที่กระแสเขาทำกันก็มีโอกาสที่ต้นไม้จะรอด และแข็งแรงดี ผมจึงเริ่มเข้าใจคำว่า "การกระทำโดยไม่กระทำ" (Do-Nothing) ทีละเล็กละน้อย
ต่อมาผมเรียนรู้คำว่า ปรัชญาเต๋าคำว่า "หวู เว่ย" ทำให้เข้าใจแนวคิดของปู่ฟูมากยิ่งขึ้น "หวู เว่ย" หาใช่สิ่งเดียวกับการไม่มีอะไรเลย และไม่ใช่ต้นแบบที่สมบูรณ์ของการอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไร ตรงกันข้ามมันเป็นเจตคติที่มีประโยชน์เป็นพิเศษ เนื่องจากมันทำให้การกระทำทั้งมวลเป็นไปได้และบังเกิดผล "หวู เว่ย" คือการเข้าใจกฎธรรมชาติที่ลึกซึ้ง การดำเนินตามกฎธรรมชาตินั้นทำให้ได้รับพลังที่แท้จริง และทำให้การกระทำทั้งมวลเกิดสัมฤทธิผล ดังบทกลอนเต๋าที่ว่า
"ศึกษาหาความรู้ ทุกวันมีแต่เพิ่มพูน
แสวงหาเต๋า ทุกวันมีแต่ลดน้อยลง
น้อยลงเรื่อยๆ จนเหมือนไม่ทำอะไร
ด้วยการทำที่เหมือนไม่กระทำนี้
ทำให้ไม่มีสิ่งใดที่ไม่ถูกกระทำ
ผู้ที่จะเป็นหลักในโลกนี้ได้
ต้องเป็นผู้ที่ทำโดยไม่กระทำ
คือปล่อยให้สิ่งต่างๆ เลื่อนไหล
โดยที่ไม่ต้องเข้าไปบงการ"
ในการอ่านหนังสือของปู่ฟูหลายครั้งจึงต้องทีความคำให้ถูกต้อง ทำให้บางครั้งผมไม่แน่ใจว่าผู้แปลหนังสือของปู่ฟูเข้าใจถูกหรือไม่ จึงต้องอ่านหนังสือในเวอร์ชันภาษาอังกฤษประกอบ และเสียดายว่าตัวเองไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นจึงไม่สามารถอ่านหนังสือในภาษาดั้งเดิมที่ปู่ฟูแต่งไว้ได้ แต่การเทียบเคียงทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษก็ทำให้เกิดมุมมองเพิ่มเติมเนื่องจากคำพูดของปู่ฟูนั้นบางครั้งก็ลึกซึ่งจนต้องตีความอีกรอบ เช่น ประโยคที่ปู่ฟูกล่าวว่า
"To build a fortress is wrong from the start. Even though he gives the excuse that it is for the city's defense, the castle is the outcome of the ruling lord's personality, and exerts a coercive force on the surrounding area. Saying he is afraid of attack and that fortification is for the town's protection, the bully stocks up weapons and puts the key in the door."
ประโยคเหล่านี้อาจจะฟังดูเหมือนเรื่องการเมือง แต่จริงๆ แล้วปู่ฟูกำลังพูดถึงกรอบความคิดของเกษตรกรที่หวาดกลัวแมลงเหมือนกับจิตใจของทรราชที่กระหายสงคราม จึงพยายามหาทางป้องกันไม่ให้แมลงเข้ามาได้ สะสมอาวุธ ทำลายล้างแมลงผู้บุกรุก และทุกอย่างที่เข้าใกล้ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ปู่ฟูสังเกตุเห็นว่าแมลงในธรรมชาติที่สมดุลจะมีแมลงที่ดีมากกว่าแมลงที่ไม่ดี การทำลายล้างทุกอย่างหมายความว่าเราต้องไปทำหน้าที่ที่แมลงที่ดีนั้นช่วยเราทำงาน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่นั้นหากเราไม่ได้สร้างป้อมปราการมาตั้งแต่ตอนแรก ดังนั้นในกรณีการกระทำจึงเหมือนการไม่กระทำ (ยิ่งพยายามกำจัดแมลงก็ต้องพยายามกำจัดแมลงมากขึ้น) และการไม่กระทำจึงเหมือนการกระทำ (การไม่กำจัดแมลงจะทำให้มีแมลงอื่นที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติเข้ามาช่วยเราจำกัดจำนวนแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมเอง)
ด้วยเหตุนี้จึงมีคนสรุปคำสอนของปู่ฟูว่าเราจะต้อง ".. work with, rather than against nature." หมายถึงเราควรมีมุมมองที่จะทำงานร่วมกับธรรมชาติมากกว่าที่จะเอาชนะธรรมชาติ ปู่ฟูจึงเน้นย้ำในหนังสือครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเราจะต้องเคารพธรรมชาติอย่างแท้จริง มีเรื่องราวมากมายที่ธรรมชาติทำงานได้อย่างน่าพิศวงจนแม้นแต่นักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่สามารถอธิบายหลักการทำงานได้ แต่ธรรมชาติก็พิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่าสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์
โดยสรุปวิธีการหลายอย่างที่ปู่ฟูทำแล้วประสบความสำเร็จในสภาพอากาศแบบ temperate อย่างประเทศญี่ปุ่น อาจจะไม่สามารถคัดลอกมาใช้งานได้ตรงๆ ในสภาพอากาศแบบ tropical อย่างประเทศไทย แต่ผมเชื่อว่าปรัชญาของปู่ฟูนั้นสามารถนำมาใช้ได้ในทุกสภาพอากาศ ดังปรากฎให้เห็นในหลายๆประเทศที่หลากหลายสภาพอากาศทั่วโลก (เช่น ในอินเดีย กรีซ อเมริกา สเปน อังกฤษ อาฟริกา เป็นต้น) เรื่องราวของการเดินตามปู่ฟูในเส้นทางสายเกษตรธรรมชาติจึงมิใช่การคัดลอกวิธีการหรือรูปแบบภายนอก แต่เป็นการทำความเข้าใจแนวคิด มุมมอง ปรัชญา และนำมาประยุกต์ใช้ในสภาพแวดล้อมของแต่ละคน ขอให้เพื่อนร่วมทางประสบความสำเร็จในการประยุกต์แนวคิดของปู่ฟูมาใช้งานจริง โชคดีครับ
ย้อนกลับไปอ่าน "ทำโดยไม่กระทำ ตอนที่ 1" ได้ที่ http://my-experimental-farm.blogspot.com/2013/11/blog-post_2.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ขอบคุณค่ะที่ทำให้เข้าใจมากขึ้น Do-Nothing ... : )
ตอบลบ