French Drain หากแปลตรงๆ จะเรียกว่า
ท่อระบายน้ำแบบฝรั่งเศส ทำให้ผมอยากรู้ว่ามันฝรั่งเศสตรงไหน
จึงติดตามเรื่องราวเบื้องหลังคำจึงพบว่า
เทคนิคการก่อสร้างทางระบายน้ำแบบนี้ถูกพูดถึงจนเป็นที่นิยมในหนังสือชื่อ
"Farm Driange" ในปี 1859 โดย Henry Flag French นักกฎหมายชาว Concord รัฐ
Massachusetts ประเทศสหรัฐอเมริกา จากประสบการณ์ที่เคยเป็นชาวนามาก่อน
ซึ่งในหนังสือของเขาพูดถึงเทคนิคการระบายน้ำในที่ดินที่มีปัญหาระดับน้ำใต้
ดินสูงเกินไป ดังนั้น French Drain น่าจะเพี้ยนมาจาก French's own drain
ซึ่งแปลว่าท่อระบายน้ำแบบของ Mr. French หรือ ท่อระบายน้ำแบบของตระกูล
French
หากจะอธิบายว่า French Drain คืออะไร ผมคงบอกว่ามันคล้ายๆ
กับ Diversion Swale ที่พูดถึงก่อนหน้านี้ แต่ถ้าเป็น Diversion Swale
เราก็จะเห็นร่อง และเนินดิน ทำให้ไม่สะดวกในการเดินผ่าน ในยุคแรกๆ ของ
French Drain
แก้ไขปัญหานี้ด้วยการใส่หินก้อนใหญ่ลงไปในร่องเพื่อให้น้ำไหลในร่องผ่านช่อง
ว่างระหว่างหินก้อนใหญ่
ทำให้เราสามารถปรับระดับหินให้เสมอกับระดับดินเดิมได้
ทำให้ภูมิทัศน์ดูสวยงาม (เพราะไม่เห็นร่อง)
และสะดวกในการเดินผ่านทางระบายน้ำนี้
แต่
ทางระบายน้ำแบบนี้มีปัญหาว่าน้ำไหลผ่านหินได้ช้ากว่า Diversion Swale
มากจึงมีการพัฒนาให้มีร่องมากขึ้นโดยในท่อระบายน้ำต้นฉบับของ (Henry Flag)
French จะใช้กระเบื้องมุมหลังคาวางซ้อนๆ กัน
โดยมีร่องใหน้ำไหลระหว่างกระเบื้องได้มากกว่าหิน
ต่อมามีการปรับปรุงมาใช้ท่อเจาะรูแทน
ซึ่ง
ท่อดังกล่าวอาจจะใช้ท่อ PVC เจาะรู โดยให้รูที่เจาะอยู่ทางด้านล่าง
(ดูในรูป) ซึ่งการทำแบบนี้ต้องเสียเวลาเจาะรู
และต้องใช้ข้อต่อเวลาต้องหักโค้ง ในต่างประเทศจึงมีท่อแบบที่งอได้ (คล้ายๆ
ท่อน้ำทิ้งจากอ่างล้างจาน หรือจากเครื่องซักผ้า) แข็งแรงมากพอที่จะโดนหิน
หรือน้ำหนักทับโดยไม่บุบจนเสียรูป และเจาะรูมาให้เลยจากโรงงาน
ทำให้ทำงานได้เร็ว การใช้ท่อแบบนี้ทำให้วางแนวท่อโค้งงอตามรูปทรงต่างๆ
ได้ง่าย แต่ยังไม่เจอร้านที่มีท่อแบบนี้ขายใน กทม. นะครับ
ที่
สวนขี้คร้านจึงใช้ท่อ PVC แบบธรรมดาเจาะรูไปก่อน
ที่พิเศษเพิ่มขึ้นมาคือก่อนจะเอาหินลงไปใส่ในร่อง
ผมให้คนงานเอาผ้าพลาสติกรองที่ก้นของร่องก่อน จากนั้นจึงใส่หิน วางท่อ
PVC และใส่หินทับจนเสมอกับแนวถนนเดิม
ถ้า
จะถามว่าแล้วผมนำเอากระบวนท่า French Drain มาใช้ทำอะไรในสวนขี้คร้าน
ถ้าสังเกตุจะเห็นว่าที่ดินของสวนขี้คร้านเป็นแนวยาวในทิศเหนือใต้
โดยมีถนนสาธารณะผ่านด้านทิศเหนือของที่ดิน
ทำให้เราไม่มีทางเลี่ยงมากนักที่ต้องทำถนนในแนวเหนือใต้เช่นกัน
เมื่อฝนตกถนนที่ไม่มีพืชปกคลุมจึงทำหน้าที่เป็นทางระบายน้ำดีๆ นี้เอง
น้ำที่ไหลซึมบนถนนทำให้ถนนลื่นเป็นขี้เลน วันไหนที่ฝนตกหนักมากๆ
ผมจะเอารถเข้าออกจากสวนได้ลำบากมาก
เนื่องจากมีโอกาสที่ล้อรถจะติดหล่มขี้เลนเหล่านี้
ดังนั้นผมจึง
สร้าง French Drain 4 ตำแหน่ง (แนวสีแดงในรูปด้านล่าง)
ขวางถนนโดยให้ร่องด้านล่างเอียงเล็กน้อยเพื่อให้น้ำไหลไปลงใน swale
และสระน้ำที่อยู่ที่ระดับต่ำกว่า French Drain จึงทำหน้าที่ 3
อย่างในสวนขี้คร้านคือ (1) เป็นร่องเบี่ยงน้ำให้ลง swale
และสระน้ำเล็กด้านบน (2)
ลดปริมาณน้ำที่จะซึมลงดินบนถนนด้วยการเบี่ยงน้ำไปยังระดับที่ต่ำกว่า
ทำให้ดินไม่แฉะจนเกิดหล่ม ทำให้รถยนต์เข้าออกจากบ้านพักได้ (3)
ลดการรวมตัวของน้ำที่จะกัดเซาะหน้าดินที่เปลือยเปล่าบนถนนดิน
ทำให้ชะลอการพังของถนน
ผลลัพธ์
ภายหลังจากที่ทำ French Drain ที่สวนขี้คร้านดีมาก
เห็นได้ชัดจากปริมาณน้ำในร่อง swale ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
และเมื่อผมออกไปสำรวจตอนฝนกำลังตกก็เห็นได้ชัดว่าน้ำที่กัดเซาะบนถนนลดลง
รถยนต์เข้าออกไปสะดวกขึ้น เป็นการลงทุนที่แพงนิดหน่อยเป็นค่าแรงเหมา
4,000 บาท + ค่าหินก้อนใหญ่ 2 คันรถ (เอามาเทถนนด้วย ทำ French Drain ด้วย)
+ ท่อ PVC ฟรี (ใช้เศษท่อส่งน้ำของเก่าที่รื้อออกมาตอนซ่อมท่อน้ำแตก) +
ผ้าพลาสติกฟรี (ใช้เศษที่เหลือจากการปูรองพื้นก่อนเทปูนพื้นบ้านทับ
เพื่อลดความชื้นจากดินที่ทำให้บ้านร้อน ถ้าลืมลองกลับไปอ่าน บทที่ 5
สร้างบ้านสร้างเมือง) แต่ผมคิดว่าคุ้มมาก
โดยสรุปเพื่อให้จำง่าย
French Drain ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวกับประเทศฝรั่งเศส..ก็เหมือนกับ
Diversion Swale ที่ทำหน้าที่เบี่ยงน้ำ แต่ปริมาณน้ำจะไหลได้ไม่ดีเท่า
Diversion Swale แต่ก็ดูสวยงามกว่าเนื่องจากเรียบเสมอกับพื้นดินเดิม
และคนสามารถเดินบนร่องได้เหมือนไม่มีร่องเบี่ยงน้ำอยู่
ปล.
ผมเคยสงสัยว่าทำไมเขาไม่เอาด้านที่เจาะรูของท่อขึ้นด้านบนน้ำจะได้ไหลลงมา
จากด้านบนลงในท่อได้สะดวก
ผู้รู้บอกว่าการทำแบบนั้นจะทำให้เศษดินเข้าไปในท่อได้ง่าย
ท่อจะอุดตันทำให้น้ำไหลไม่สะดวก
การที่เอารูไว้ด้านล่างน้ำจะไหลผ่านด้านบน ด้านข้างของท่อไปด้านล่างของท่อ
จากนั้นค่อยๆ เอ่อขึ้นมาจากด้านล่างเข้ามาในท่อ
ตะกอนส่วนหนึ่งจะตกไปทางด้านล่างทำให้ตะกอนไหลเข้ามาสะสมในท่อน้อยกว่า
ผมนำเอา French Drain
มาใช้ในสวนขี้คร้านเพื่อระบายน้ำออกจากถนนเข้าโครงสร้างดักน้ำ ทั้งที่เป็น
swale และสระ เพื่อให้น้ำซึมเข้าไปในดินจากโครงสร้างดักน้ำ แทนที่ทำ
French Drain ขวางถนนเหมือนที่ผมทำ คุณอาจจะทำเป็นร่องระบายนำข้างๆ
ถนนก็สามารถใช้ในการเบี่ยงน้ำได้เช่นกัน (ดูรูปด้านล่าง)
ทั้งนี้ขึ้นกับแนวระดับของถนน
แต่
จริงๆ แล้วเราก็สามารถใช้ French Drain
เป็นโครงสร้างที่ช่วยให้น้ำซึมลงในดินได้เช่นกัน
โดยแทนที่เราจะให้น้ำซึมเข้าไปในหินแล้วเอ่อเข้ามาในท่อ
(เพื่อให้ไหลเร็วกว่าไหลผ่านหิน)
เราอาจจะไม่ใส่ผ้าพลาสติกแบบที่ผมทำแต่ปล่อยให้น้ำที่ไหลลง French Drain
ส่วนหนึ่งซึมลงดินข้างๆ French Drain ไปเลย ตัวอย่างเช่น
เราอาจจะให้น้ำที่ไหลจากหลังคาผ่านลานซิเมนต์ไปลง French Drain
เพื่อไหลไปลง sunken basin ที่เราปลูกต้นไม้ไว้ ในระหว่างที่น้ำไหลใน
French Drain ก็จะมีน้ำบางส่วนซึมเข้าไปในดินรอบๆ French Drain
ทำให้เราสามารถปลูกต้นไม้ตามแนวของ French Drain ได้
หรือเราอาจจะทำกลับกันคือเอาน้ำใส่ในท่อ ให้น้ำไหลออกจากท่อเข้าไปในหินของ French Drain ก่อนจะค่อยๆ ซึมลงดิน
ถ้า
ยังจำทฤษฎีเรื่องน้ำที่ซึมใกล้ๆ
บ้านจะทำให้โครงสร้างบ้านลดความแข็งแรงลงไป
เราจะต้องให้น้ำฝนตกห่างจากคานพื้นของบ้านออกไปอย่างน้อย 3 เมตรได้
ในรูปด้านบนมีลานซิเมนต์เป็นตัวส่งน้ำออกไปไกลจากบ้านแล้วจึงไม่ต้องกังวัล
มากไม่ต้องมีรางน้ำฝนก็ได้ แต่ถ้าเราไม่มีลานซิเมนต์ก็ควรจะทำรางน้ำฝน
อาจจะเก็บน้ำในถังเก็บน้ำก่อน
น้ำที่ล้นจากถังก็ควรต่อท่อส่งน้ำให้ไกลออกมาจากตัวบ้านอย่างน้อย 3 เมตร
ถ้าเราปล่อยน้ำออกจากท่อบนพื้นดินเลยก็ควรจะมีอะไรป้องกันการกัดเซาะของน้ำ
ที่ปลายท่อ เช่น กองหิน เพื่อกระจายน้ำลดแรงกัดเซาะ
อีกทางเลือกหนึ่งคือใช้ French Drain
โดยวางท่อในแนวที่ลาดให้น้ำไหลจากด้านในบ้านไกลออกมา
ในช่วงแรกที่ใกล้บ้านเราจะไม่เจาะรู และเริ่มเจาะรูที่ระยะอย่างน้อย 3
เมตร รอบๆ บริเวณที่เจาะรู เราก็ขุดร่องใส่หินเหมือน French Drain ทั่วไป
น้ำในท่อก็จะไหลผ่านรูที่เจาะเข้ามายังหิน และค่อยๆ ซึมลงดินรอบๆ French
Drain ไปช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลออกไปยังปลายท่อ
ที่ปลายท่อก็ควรจะมีโครงสร้างดักน้ำอื่นๆ
เสริมไว้เพื่่อรองรับน้ำส่วนเกิน
นอกเหนือจากน้ำฝนเราอาจจะประยุกต์ใช้เป็นการนำน้ำทิ้งจากการอาบน้ำ /
ซักล้าง (Grey water) มาผ่าน French Drain เพื่อเป็นการให้น้ำกับพืชโดยใช้
Grey Water โดยไม่ต้องมีน้ำนองพื้นก็ได้ (น้ำจะซึมลงดินที่ใต้ดิน
เราจึงไม่เห็นน้ำไหลไปตามพื้นดิน และลดการสูญเสียจากการระเหย)
อีกหนึ่งประโยชน์ของ French Drain
คือเป็นการเร่งให้น้ำซึมลงใต้ดิน คล้ายๆ เทคนิค vertical mulch
ที่เราพูดถึงไปก่อนหน้านี้ ต่างกันคือเราจะเน้นใส่วัสดุพรุน
หรือหินมากกว่าจะเป็นสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ โดยเราอาจจะทำร่องเป็นแถวๆ
แบบนี้
หรือจะเอาหินใส่ถุงผ้าแล้วฝังเป็นเหมือนแท่งในแนวดิ่งแบบนี้ก็ได้
โดย
ปกติถ้าเราใช้เครื่องจักรที่มีน้ำหนักมากไถพรวนที่ระดับความลึกไม่มากเป็น
เวลานาน เช่น การทำไร่อ้อย การทำไร่มัน
ทำให้เกิดชั้นดินดานจากการบดอัดที่ระดับความลึกประมาณ 40-50 เซนติเมตร
หรือบางครั้งชั้นดินดานก็เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ
เมื่อฝนตกน้ำไหลซึมจะละลายอนุภาคของดินและแร่ธาตุให้พัดพาลงไปกับน้ำ
ไปเคลือบเม็ดดิน และอุดช่องว่างของดิน ทำให้เกิดชั้นดินดานโดยธรรมชาติ
ชั้นดินดานเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการไหลซึมของน้ำในแนวดิ่ง
รากของพืชจะเจาะผ่านชั้นดินดานได้ยาก ในฤดูฝนเมื่อมีฝนตกลงมา
น้ำจะซึมลงไปในดินชั้นล่างไม่ได้
เนื่องจากมีดินดานมากั้นไม่ให้น้ำไหลซึมลงไปเก็บกักในชั้นดินล่างได้
ขณะเดียวกันในหน้าแล้งดินดานจะกั้นมิให้ความชื้นที่อยู่ข้างล่างขึ้นมาถึง
รากพืช ทำให้พืชขาดน้ำและตายได้
แนวคิดของการทำ French Drain
ช่วยต้นไม้ของเราคือการเจาะช่องที่ทะลุชั้นดินดานลงไป
แล้วเอาหินใส่เพื่อชะลอการอุดตันของช่องโดยอนุภาคของดิน
ทำให้น้ำไหลซึมลงไปใต้ดินดานได้มากขึ้นฤดูฝน
และเป็นช่องให้ความชื้นใต้ดินดานผ่านขึ้นมาเลี้ยงรากพืชในฤดูแล้ง
นอกจากนั้นยังช่วยให้อากาศเข้าไปถึงรากพืชที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินได้มากขึ้น
ทำให้รากพืชแข็งแรง สามารถเจาะชั้นดินลงไปได้ดีขึ้น
ส่วนจะทำแบบไหนก็ขึ้นกับกำลัง และความจำเป็นตามสภาพของดินในพื้นที่
ปล.
หากต้องทำในปริมาณมากๆ ควรจะใช้การไถระเบิดดิน (ripper)
จะลงทุนต่อพื้นที่น้อยกว่า
แต่ถ้าเป็นการแก้ไขปัญหาดินอัดแน่นของต้นไม้ที่โตแล้ว การทำ Vertical
Mulch หรือ French Drain
ก็จะเหมาะสมกว่าเนื่องจากเราจะใช้เครื่องจักรกลหนักอย่างรถไถไม่ได้
ส่วน
การปลูกหญ้าแฝกรอบต้นไม้เพื่อให้ช่วยเจาะชั้นดินดานก็ใช้หลักการเดียวกันกับ
Vertical Mulch/French Drain
เพียงแต่จะใช้เวลานานกว่าวิธีทางกลกว่าจะเห็นผล
แต่ก็ประหยัดแรงงานในการขุดดินเนื่องจากเราจะใช้รากของแฝกช่วยเจาะดินแทน
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น