31 ธันวาคม 2556

กระบวนท่าที่ 4 (ตอนที่ 4) - ปลูกพืชบน Swale

เราลองมาดูว่าควรจะปลูกพืชอะไรในส่วนไหนของ swale ผมอยากจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ บนเนินดิน ในร่อง และดินบริเวณก่อนถึงร่อง (พืชหลายอย่างที่แนะนำจะเป็นช่วงที่ระบบเข้าสู่สมดุลแล้ว  ในช่วงแรกๆ พืชที่ต้องการน้ำมากอาจจะมีน้ำไม่พอ)



ดิน บริเวณก่อนถึงร่อง จะมีโอกาสโดนน้ำเยอะบ้างในกรณีที่น้ำเต็มร่อง  อาจจะเป็นพื้นที่ชื้น แต่ไม่ใช่บริเวณน้ำขัง  พืชที่แนะนำควรจะเป็นพืชที่ชอบชื้นไม่ชอบแฉะ ได้แก่ ผักกูด ผักขลู่ ผักคราด หน่อไม้ฝรั่ง สาระเหน่ ขิง เป็นต้น

ในร่อง เป็นบริเวณที่อาจจะถูกน้ำขังได้หลายวัน  แต่บางช่วงก็จะมีน้ำแห้ง  พืชที่แนะนำให้ปลูกควรจะชอบน้ำ และทนน้ำท่วมขังระยะสั้นๆ ได้ เช่น เผือก ข้าว ผักบุ้ง อ้อดิบ ว่านน้ำ ไอริส แห้ว ผักกูดน้ำ เป็นต้น

บนเนิน ดิน เราต้องการป้องกันน้ำฝนกัดเซาะเนินดิน  พืชที่ปลูกควรจะเป็นพืชที่คลุมหน้าดิน มีรากช่วยยึดเกาะดินไว้  อาจจะเป็นพืชที่มี่รากลึกได้บ้าง เช่น มัน กล้วย ถั่ว ผักชีลาว สาคูจีน ใบบัวบก เตยหอม เพกา ตะไคร้ หญ้าแฝก หญ้างวงช้าง

ดินถัดจากเนินดิน ควรจะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีรากลึก เช่น ไม้ผลต่างๆ

ทั้ง หมดนั้นเป็นทฤษฎี ภาพแรกๆ ที่เพื่อนๆ เห็นตอนขุด swale ใหม่ๆ ดินที่ตักขึ้นมายังมีความชื้นอยู่บ้างเลยมีสีเข้ม  เมื่อได้อาบแสงแดดสักหน่อยก็โชว์สภาพที่แท้จริงของดินที่สวนแห่งนี้ซึ่ง ประกอบไปด้วยหินจำนวนมาก  นับเป็นข้อดีว่าดินเหล่านี้ยังมีแหล่งต้นกำเนิดเยอะ  น่าจะมีแร่ธาตุพื้นฐานเยอะอยู่ในรูปของหินที่ยังไม่ได้ย่อยสลาย  แต่ข้อเสียคือเยอะเกินไปจนขาดแคลนอินทรีย์วัตถุ  ส่วนดินเดิมแถวๆ บริเวณที่ขุด swale จะแข็งมากๆ ต้องใช้ชะแลง และอีเตอร์ในการขุดเท่านั้น

ผม พยายามปลูกพืชตามทฤษฎีเนื่องจากเป็นเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมซึ่งน่าจะเป็นหน้าฝนแล้ว  และทดสอบทฤษฎีด้วยการพึ่งน้ำฝนเพียงอย่างเดียว  อีกอย่างท่อเมนก็โดนรถบรรทุก/รถขุดทับแตกหลายจุดตอนพวกเขาเข้ามาปรับพื้นที่ ทำให้ต้องขุดซ่อมเดินท่อใหม่เป็นระยะทางยาวประมาณ 270 เมตร  หาคนงานมาทำให้ไม่ได้นานหลายเดือน ทำให้ใช้งานปั๊มน้ำไม่ได้ (น้ำที่ใช้ในบ้าน ผมยังต้องขนมาเองจากกรุงเทพฯ) แท้งค์น้ำยังรั่วซ่อมไม่เสร็จทำให้ไม่มีน้ำสักหยด เลยยิ่งเป็นไฟท์บังคับให้ต้องเชื่อใจในทฤษฎีของ swale  พืชที่ทดลองปลูกโดยไม่รดน้ำเลยก็ตายเยอะ ที่รอดชีวิตมาได้ก็มีเพียงบางชนิดบางต้น

หญ้าแฝกปลูกที่อื่นๆ ตายยกแถว  ดินแห้งแตกเป็นทาง


หญ้าแฝกที่ปลูกที่ swale มีรอดบ้างเป็นบางต้น แต่ไม่งาม


มันต่อเผือกปลูกด้วยหัว รอดมาได้สักประมาณ 50-60%




ปอเทืองงอกบางส่วนประมาณ 50% น่าจะเสร็จมด กระรอก และแมลงไปเยอะ แต่ที่รอดมาได้ก็งอกงามพอเป็นกำลังใจ


ถั่วครก ถั่วปี รอดแล้งมาได้ประมาณ 60-70%




ต้นกล้วยงอกมาท้าทายแสงแดด


ต้นไม้หลายต้นที่ปลูก แห้งเหี่ยว เหลือเพียงไม้ค้ำยัน  ไม่น่าเชื่อว่านี่คือต้นฤดูฝนของเพชรบุรี


เมื่อ เห็นสภาพแบบนี้ในช่วงแรกๆ ผมเริ่มถอดใจกับ swale ที่ขุดมาใหม่ๆ  และเริ่มหมดกำลังใจมากขึ้นเมื่อเห็นต้นไม้ที่ปลูกค่อยๆ ทยอยตาย  การป้องกันความชื้นด้วยการคลุมฟาง และเล่มเกมต่อถั่วดูเหมือนจะไม่สามารถทานแสงแดดอันร้อนแรงของเมืองเพชรบุรี ได้  เพื่อนบ้านที่ขึ้นมาปั๊มน้ำรดต้นไม้ที่สวนของเขาทุกๆ 2 วันเริ่มมาแซวว่าผมกำลังทำอะไรอยู่ ผมเองก็เริ่มสงสัยว่าคงจะต้องกลับไปติดสปริงเกอร์เหมือนที่เจ้าของเดิมทำไว้ แน่ๆ

ปล. ข้อสังเกตุคือปอเทืองที่ตรงขอบ ตรงมุมจะงอกได้มากกว่าปอเทืองที่โรยไว้ตรงกลางเนิน โดยที่ผมหาคำอธิบายไม่ได้  แต่ปู่บิลเคยสอนไว้เรื่อง "ทฤษฎีขอบ" โดยไม่ได้อธิบายเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ  บอกเพียงว่าตรงขอบรอยต่อต่างๆ จะมีสิ่งชีวิตเจริญงอกงามได้ดีกว่าตรงอื่นเสมอ เช่น ขอบรอยต่อระหว่างหินกับดิน ขอบชายป่า ขอบสระน้ำ  ปลูกบิลจึงบอกว่าในการออกแบบให้เลือก pattern ที่จะสร้างขอบได้เยอะๆ จะได้สร้างความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ได้มากกว่า pattern ที่มีขอบน้อย  ผมเองก็ยังไม่เข้าใจทฤษฎีนี้ซึ่งดูเหมือนจะนำไปประยุกต์ใช้งานได้ แต่อธิบายเหตุผลไม่ได้


ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

30 ธันวาคม 2556

กระบวนท่าที่ 4 (ตอนที่ 3) - ขุด Swale ด้วยแรงงานคน

ก่อนจะไปดูเรื่องอื่น ขอขยายความที่ตอบน้อง siripan1112 ไปเรื่องการขุด swale โดยใช้คนขุดบ้างเป็นแบบ Cascading Swale คือมี swale เรียงต่อกันหลายๆ ชั้นจากสูงลงต่ำ  เนื่องจากเป็น swale ขนาดเล็กจึงอาจจะต้องมีระยะห่างระหว่าง swale ถี่หน่อย



เริ่ม ต้นจากขุดร่องตามแนวระดับโดยใช้แรงงานคน ร่อง swale กว้างอย่างน้อย 50-150 เซนติเมตร และมีความลึกประมาณ 30-50 เซนติเมตรให้เอาดินที่ขุดมากองเป็นคันดินทางด้านที่ต่ำกว่าด้านเดียว  เพื่อให้คนดินทำหน้าที่กั้นน้ำ โดยเราสามารถปลูกพืช (เช่น หญ้าแฝก) บนคันดินนี้ในภายหลังเพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงของคันดิน  ข้อสำคัญคือด้านล่างของร่องจะต้องได้ระดับเดียวกัน  มิฉะนั้นจะกลายเป็น "ร่องระบายน้ำ" ไม่ใช่ swale และอย่าอัดดินในร่องจนแน่นแข็ง หรือลงไปเหยียบในร่อง เพราะเราต้องการให้น้ำซึม ไม่ใช่น้ำขัง ซึ่งแตกต่างกับการขุดสระ หรือขุดร่องระบายน้ำ


เพื่อ รักษาระดับความลึกของร่อง และให้ร่องมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำลงใต้ดิน  เราจะใส่วัสดุอินทรีย์ที่อุ้มน้ำและย่อยสลายช้า เช่น ใบไม้แห้ง, กิ่งไม้, ขี้เลื่อย  ลงไปในร่องให้เต็ม  ถ้าเราไม่ใส่วัสดุพวกนี้เข้าไปน้ำฝนจะพัดเอาดินจากด้านบนมาลงร่อง  ทำให้ร่องตื้นเร็วกว่า


ตอน ผมขุด swale ใหญ่ผมไม่ได้ใส่ไม้ลงไปเพราะ swale ของผมใหญ่มาก  ใช้เวลานานกว่าดินจะไหลมาในร่องจนเต็ม อีกอย่างผมหาไม้มาใส่ swale ขนาดใหญ่ได้ไม่พอ

เพื่อช่วยรักษาความชื้นมากไปอีก  ถ้ามีฟางก็เอาฟางมาคลุมสักหน่อย เป็นอันเสร็จขั้นตอนการขุด swale ด้วยแรงงานคน

ในช่วงที่ฝนตกเยอะแบบนี้ผมเลยถือโอกาสทดลองขุด swale เองโดยใช้จอบ  ผลทดสอบถือว่าใช้ได้  ดักน้ำไว้ได้อย่างที่คิด  ตอนขุดผมไม่ได้ถึงกับวัดระดับ  ใช้วิธีกะมั่วๆ ด้วยสายตาว่าน่าเนินดินจะได้ระดับ  พอทดสอบกันจริงๆ ก็ใกล้เคียงพอสมควร  อาจจะต้องปรับแต่งบ้างในบางจุด  น้ำในร่อง swale ที่เห็นเต็มแบบนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 วันก็จะซึมลงดินหมด


เพื่อ ให้แน่ใจว่าร่องนี้จะไม่อุดตันกลางเป็นคูที่เก็บน้ำได้  บนเนิน swale จึงต้องปลูกพืชที่มีรากลึก  จะได้คอยชอนไชให้ดินโปร่งให้น้ำซึมลงดินได้ดิน  ผมเลือกปลูกพืชวงศ์ถั่วทั้งหมดประกอบด้วยต้นขนาดกลางเป็นมะค่าโมง (สูงเกิน 15 เมตร)  ไม้พุ่ม (สูงไม่เกิน 3 เมตร) เป็นถั่วมะแฮะ และพืชคลุมดินเป็นถั่วฮามาต้า และถั่วท่าพระสไตโล   ปลูกไว้ 1 สัปดาห์ก็เริ่มโชว์สัญญาาณชีพที่ดีกันแล้ว


ตอนไปทดสอบเรื่องน้ำบนเนิน swale น้ำคงลงไปในรูในดินจนไส้เดือนต้องหนีน้ำขึ้นมาบนเนิน  ขอโทษด้วยนะจ๊ะน้องไส้เดือน




ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

28 ธันวาคม 2556

กระบวนท่าที่ 4 (ตอนที่ 2) - การคำนวนขนาดของ Swale

พอหอมปาก หอมคอเรื่องวิธีการสร้าง swale  ผมไม่อยากจะให้เข้าไปผิดกันไปว่าจะต้องใช้รถขุดในสร้าง swale เสมอ  swale เองมีหลายขนาด  ถ้าไม่ใช่งานใหญ่เราขุดเองจะดีกว่า ส่วนการคำนวนขนาดให้อดใจไปอ่านด้านล่าง  ต้องคำนวนกันนิดหน่อย ต้องขออภัยเพื่อนๆ ที่ไม่ชอบตัวเลข   ก่อนอื่นเรามาดูกันว่า swale ทำงานอย่างไร

คำว่า swale ที่ใช้ในกลุ่มเพอร์มาคัลเชอร์เป็นลักษณะพิเศษ ที่น่าจะเรียกว่า "Water-harvesting Permaculture Swale (ร่องดักน้ำแบบเพอร์มาคัลเชอร์) " มากกว่า  เพราะว่ายังมี swale อีกหลายแบบ ซึ่งการก่อสร้าง Permaculture Swale แบบนี้ในประเทศอินเดียจะเรียกว่า CCT ย่อมาจาก Continuous Countour Trench (ร่องต่อเนื่องที่สร้างบนเส้นระดับ)  แต่ไม่ว่าเรียกชื่อว่าอะไรหลักการทำงานก็จะเหมือนกัน  ผมของเรียกตามที่กลุ่มเพอร์มาคัลเชอร์เรียกย่อๆ ว่า swale แล้วกันนะครับ

ใน มุมมองของเพอร์มาคัลเชอร์ swale เป็นองค์ประกอบชั่วคราวที่จะช่วยในดักเก็บน้ำเอาไว้ในที่ดินเพื่อนำมาใช้ งาน  swale จะเหมาะสมสำหรับที่ดินที่มีความลาดชันเล็กน้อย ความชันไม่ควรเกิน 18 องศา  (ถ้าเป็นที่ราบเรียบแบบที่นาควรจะใช้เทคนิคอื่นมากกว่า)  โดยน้ำ Run off ที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำจะถูกดักไว้ด้วย swale  น้ำในช่วงแรกจะถูกเก็บไว้ในร่องของ swale  ถ้ามีปริมาณน้ำเยอะมาก ระดับน้ำก็จะค่อยๆ สูงขึ่นมา  จนกระทั่งสูงกว่าระดับร่องก็จะถูกเนินดินด้านที่ต่ำกว่ากั้นน้ำไว้  เราต้องระมัดระวังว่าจะต้องสร้างทางน้ำล้น (spill way) ที่มีระดับน้ำต่ำกว่ายอดเนินอย่างน้อย 15 - 30 ซม. และความหนาของเนินควรจะยาวอย่างน้อย 4 เท่าของความสูงของเนิน (ดูรูประยะความหนาด้านล่าง)  เช่น เนินดินของผมสูงประมาณ 25-30 ซม.  ความหนาของเนินดินผมควรจะอย่างน้อย 1-1.2 เมตร  แต่ผมสร้างไว้หนา 2 เมตรเพื่อความมั่นใจว่าเนินดินที่อยู่ด้านที่ต่ำกว่าจะไม่ถูกน้ำเซาะจนพัง


ถ้า เราไม่มีทางน้ำล้น  แล้วฝนตกหนักกว่าที่เราออกแบบไว้  น้ำจะล้นข้ามคันดิน  น้ำที่ไหลผ่านตรงผิวของคันดินจะค่อยๆ พัดพาดินออกไปทีละน้อยก่อน  เมื่อน้ำไหลเป็นทางมากขึ้นก็จะเซาะคันดินเป็นร่องใหญ่มากขึ้นสร้างความเสีย หายให้กับคันดินได้มาก

การสร้างทางน้ำล้นสามารถทำด้านทั้งทำทางน้ำ ล้นด้านหน้า หรือทำทางน้ำล้นด้านข้าง  แต่ถ้าเป็นไปได้ควรเอาก้อนหินมาวางเรียงเพื่อลดการกัดเซาะของน้ำที่ล้นเหนือ ระดับน้ำล้น (ถ้าเราออกแบบขนาด และระยะห่างระหว่าง swale ดีๆ น้ำจะไม่เคยล้น swale เลย)



ทางน้ำล้นด้านข้าง


ทางน้ำล้นด้านหน้า

เนื่อง จากในการสร้าง swale เราจะเน้นให้น้ำซึมลงดิน  การดักน้ำที่เป็น Run off มาเก็บไว้ใน swale ทำให้เราไม่เสียน้ำออกไปนอกพื้นที่  น้ำในร่องก็จะค่อยๆ ซึมลงดินไป หากยังจำเรื่อง Deep Pipe Irrigation ในกระบวนท่าที่ 2 ได้  Swale ก็ทำคล้ายๆ Deep Pipe ขนาดใหญ่ น้ำที่เดิมจะเป็นน้ำ Run off จะถูกดักไว้ แล้วมาซึมเข้าดินชั้นล่างจากด้านข้างในร่องของ swale แทนที่จะไหลไปบนผิวดิน แล้วซึมจากด้านบนลงล่าง  ด้วยวิธีการแแบบนี่เราก็จะเสียน้ำไปกับการระเหยน้อยกว่า

ที่สวนขี้ คร้านผมขุด swale 8 ร่อง  ถ้าเติมน้ำเต็ม swale ได้จะใช้เวลา 3-5 วันในการซึมลงดินไปทั้งหมด หากคิดกันง่ายๆ ผลของการทำ swale ของผมก็ทำให้ฝนที่ตก 1 วัน แต่มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นไม้ไปนาน 3-5 วันเลยทีเดียว  น้ำที่ว่านี้ถ้าผมไม่ดักไว้มันก็จะไหลลงไปด้านล่าง หรือออกนอกที่ดินของผมไป  แต่การที่ผมดักไว้ใน swale ทำให้ดินในที่ดินของผมได้น้ำมากขึ้นจากปริมาณฝนที่ตกเท่าเดิม

(จาก 8 ร่องที่ขุดผมทำแล้วมีห่วยอยู่ 1 swale ที่มีขี้เลนเยอะไป  ทำให้น้ำใน swale ร่องนี้ยังไม่เคยแห้งสนิทมา 3 เดือนแล้ว  ตอนเดือนธันวาคมนี้น้ำกำลังลดลงไปเหลือประมาณ 20 ซม. คาดว่าน่าจะแห้งสนิทได้ในเดือนมกราคม  คงจะต้องมาซ่อมกันอีกที) 





น้ำ ที่ซึมลงใต้ดินส่วนหนึ่งจะถูกเก็บไว้ใต้เนินดินคล้ายๆ กับเป็นเลนส์ของน้ำ  เป็นเหตุให้พืชที่ปลูกใกล้ๆ เหนือดินจะงามเป็นพิเศษ เพราะได้น้ำเยอะกว่าปกติ  น้ำที่เหลือจะค่อยๆ ไหลลงไปที่ต่ำกว่าด้วยความเร็วที่ช้ากว่าการไหลบนผิวดินมาก กว่าน้ำจะออกไปจากที่ดินของผมจะใช้เวลาหลายสัปดาห์ หลายเดือน ถึงหลายปีเลยทีเดียว (ยิ่งน้ำซึมลงไปลึกยิ่งใช้เวลาในการไหลนาน)

ตอน ผมขุด swale วันแรกก็มีเพื่อนบ้านถามว่าจะขุดร่องเลี้ยงปลาหรอ  ฮ่าๆๆๆ  ความจริงแล้วตรงกันข้ามกันคือ swale ที่ดีไม่ควรจะเก็บน้ำไว้เหนือดินได้นาน swale ที่เก็บน้ำได้กลับจะกลายเป็น swale ที่ต้องซ่อมบำรุงเพื่อให้น้ำสามารถซึมลงใต้ดินได้ดีขึ้น  การซ่อมบำรุง swale ทำได้ด้วยการตักขี้เลนที่ก้นร่องขึ้นมา หรือขยายขนาด swale ให้ใหญ่ขึ้น

สาเหตุที่บอกว่าก่อนหน้านี้ว่า swale เป็นองค์ประกอบชั่วคราวก็ เพราะน้ำ Run off จะค่อยๆ พัดพาดิน และเศษต่างๆ มาทับถมใน swale ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดการอุดตัน  น้ำไม่ค่อยซึมลงดิน  ถ้าขาดการซ่อมบำรุง และมีการสะสมมากหน่อยตะกอนก็จะถมจนกระทั่งร่องของ swale กลับมาเป็นดินทั้งหมดอีกครั้ง



อายุ ของ swale ขึ้นกับหลายปัจจัย  เช่น ความชัน ชนิดของดิน ขนาดของ swale ปริมาณน้ำฝน และพืชที่ปลูก เป็นต้น  แต่ก็มีการพบ swale ที่สร้างโดยมนุษย์มีอายุมากกว่า 200 ปี และก็ยังสามารถทำหน้าที่ของมันได้ดีอยู่


ความจุของ swale
ใน การออกแบบ swale เราจะต้องรู้ขนาดความจุของ swale ถ้าเรามองด้านข้างของ Swale จะเป็นเหมือนรูปด้านล่าง  ในการคำนวนความจุของ swale เราจะต้องรู้ความลึก ความยาว และความกว้างของ swale



- ความลึก คือระยะในแนวดิ่งจากก้นของร่อง จนกระทั่งถึงระน้ำล้นออกจาก swale
- ความกว้าง คือระยะในแนวนอนที่ระดับน้ำล้น
- ความยาว คือระยะทางของ swale ที่เราขุดไปตามแนวเส้นระดับ

เพื่อความง่ายในการคำนวนเราจะประมาณการว่ารูปรอยตัดของ swale จะคล้ายกับรูปสามเหลี่ยมซึ่งมีสูตรคำนวนพื้นที่หน้าตัด


พื้นที่ =  1/2  x  ความกว้าง  x  ความลึก
ความจุของ swale = 1/2  x  ความกว้าง  x  ความลึก  x  ความยาว

ตัวอย่าง เช่น ขนาดของ swale ของผมจะมีความ กว้างประมาณ 1.5 เมตร ความลึก 1 เมตร ความยาว 50 เมตร ถ้าน้ำไม่ซึมลงดินเลย swale ของผมจะจุน้ำได้ประมาณ

ความจุ = 1/2 x 1.5 x 1 x 50  = 37.5 ลูกบาศก์เมตร หรือ 37,500 ลิตร

ถ้า ยังนึกภาพไม่ออกโอ่งซิเมนต์ (โอ่งแดง) ที่ชาวบ้านเอาไว้เก็บน้ำฝนขนาดใหญ่สุดจะมีความจุ 2,000 ลิตร  swale 1 ร่องของผมจะจุน้ำได้เทียบเท่ากับโอ่งแดงประมาณ 18.75 ลูก  ผมขุด swale ขนาดประมาณนี้ 8 ร่องก็จะจุน้ำได้เทียบเท่ากับโอ่งแดง 150 ลูก


ระยะห่างระหว่าง swale

เพื่อ ที่จะคำนวนระยะห่างระหว่าง swale เราจะต้องรู้ปริมาณน้ำฝนที่ตกในช่วงเวลาที่ฝนตกหนัก และรู้ค่าสัมประสิทธิ์ Run off  ถ้าย้อนกลับไปอ่านตอนที่ 6.1 เรื่องวงจรของน้ำ  เราเรียนศัพท์คำว่า impervious surface ซึ่งหมายถึงพื้นผิวที่น้ำไม่สามารถจะซึมผ่านลงไปได้  ยิ่งพื้นผิวมีความสามารถกั้นน้ำไม่ให้ซึมผ่านได้มากเท่าไหร่ปริมาณน้ำ Run off ก็มากเท่านั้น  ค่าสัมประสิทธิ์ Run off ก็จะมากตาม  ตัวอย่างเช่น ค่าสัมประสิทธิ์ Run off 0.85 หมายความว่า 85% ของปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่นั้นจะกลายเป็นน้ำ Run off ไหลไปตามพื้นผิว อีก 15% จากสามารถซึมลงข้างล่างได้  แต่ในความเป็นจริงน้ำจะซึมผ่านวัสดุตอนที่มันแห้งได้มากกว่าวัสดุที่เปียก  หมายความว่าในพื้นที่เดียวกัน ถ้าฝนตกน้อยก็จะมีค่าสัมประสิทธิ์ Run off น้อย ถ้าฝนตกหนักก็จะมีค่าสัมประสิทธิ์ Run off สูงตามไปด้วย  ค่าสัมประสิทธิ์ Run off จึงมักจะเป็นช่วงขึ้นอยู่กับปริมาณฝน  ตัวอย่างค่าสัมประสิทธิ์ Run off มีค่าดังนี้

- หลังคา : 085 - 0.95
- ทะเลทราย : 0.30 - 0.50
- ดินเปลือย : 0.35 - 0.55
- พื้นสนามหญ้า : 0.10 - 0.25

เวลา เรียนวิศวะ  เขาสอนให้ออกแบบไว้สำหรับสถานะการณ์ที่เลวร้ายที่สุด  เราจะพยายามออกแบบ swale ให้สามารถเก็บน้ำฝนในช่วงเวลาที่ฝนตกหนักที่สุด  สำหรับค่าสัมประสิทธิ์ Run off นั้นผมกะจะปลูกพืชคลุมดินทั้งหมดจึงสามารถใช้ค่าสูงสุด 0.25 แต่เผื่อเหนียวก็จะใช้ค่า 0.35 เท่ากับค่าขั้นต่ำของดินเปลือย

ถ้า กลับไปดูหน้าที่ 6 จะพบว่าเดือนที่ฝนตกมากที่สุดในเพชรบุรีจะมีปริมาณน้ำฝน 263.8 มิลลิเมตร โดยมีจำนวนวันฝนตก 17 วัน  หรือเฉลี่ยวันละ 15.5 มม.  ผมก็เลยกะว่าวันที่ฝนตกหนักที่สุดที่เพชรบุรีจะมีฝนตกประมาณ 5 เท่าของค่าเฉลี่ยคือ 77.5 มม. ต่อวัน  (หมายเหตุ ถ้าฝนตกเกิน 80 มม. ต่อวันที่ กทม. จะท่วมทั้งจังหวัด เนื่องจากระบบระบายน้ำของ กทม. รับได้ที่ค่าสูงสุด 80 มม. )  ถ้าปัดเศษขึ้นก็จะเป็น 80 มม. เท่ากับค่าของ กทม.

ปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นระหว่าง swale = ปริมาณน้ำฝน x ระยะห่างระหว่าง swale x ความยาวของ swale

ปริมาณน้ำ Run off = ค่าสัมประสิทธิ์ Run off x ปริมาณน้ำฝน x ระยะห่างระหว่าง swale x ความยาวของ swale

ปริมาณความจุของ swale = 1/2  x  ความกว้าง  x  ความลึก  x  ความยาวของ swale

ดังนั้นระยะห่างระหว่าง swale สูงสุดเพื่อที่จะรองรับปริมาณน้ำฝน Run off ตอนพายุเข้า


ระยะห่างระหว่าง swale สูงสุด = 1/2  x  ความกว้าง  x  ความลึก / ปริมาณน้ำฝน / ค่าสัมประสิทธิ์ Run off

จาก ตัวอย่างข้อมูลของ swale ของสวนขี้คร้าน  ระยะห่างระหว่าง swale = 1/2 x 1.5 x 1 / (80/1000) / 0.35 = 26.8 เมตร  ผมจึงเลือกขุด swale ด้วยระยะห่าง 10 - 20 เมตร

ในกรณีที่เราเลือกขุด swale ขนาดเล็กลง ก็จะต้องมีระยะห่างระหว่าง swale น้อยลงด้วย  ในตัวอย่างการคำนวนของผมนั้น ผมเผื่อค่าเลวร้ายที่สุดหลายอย่าง เช่น
- ปกติน้ำในร่องของ swale จะมีการซึมลงในดินด้วย  แต่ในการคำนวนเราสมมุติว่าน้ำไม่ได้ซึมลงดินเลย
- ผมเผื่อปริมาณน้ำฝนสูงสุดถึง 5 เท่าที่ 80 มม. ต่อวัน  ทั้งๆ ที่ปี 2555 มีวันที่ฝนตกมากที่สุดยังไม่ถึง 30 มม. เลย
- ผมเลือกใช้ระยะห่างระหว่าง swale น้อยกว่าค่าสูงสุดที่คำนวนได้
- ที่สวนขี้คร้านผมทิ้งให้วัชพืช และต้นไม้คลุมเต็มพื้นที่น่าจะใช้ค่าสัมประสิทธิ์ Run off 0.25 แต่ผมเลือกใช้ค่าสัมประสิทธิ์ Run off ของดินเปลือย

ถ้าเพื่อนๆ จะไม่เผื่อเยอะขนาดผมก็จะสามารถใช้ระยะห่างระหว่าง swale 20 เมตรโดยใช้ขนาด swale ที่เล็กกว่าของผม  ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าระยะห่างประมาณ 10-15 เมตร จะปลูกต้นไม้ได้ประมาณ 2-3 แถวในระหว่าง swale น่าจะดีกว่าการทิ้งระยะห่างระหว่าง swale ให้มากเกินไป  (ถ้าเป็นระยะ 15 เมตร อ.ตั้ม กับ ทิดโส คงบอกว่าปลูกต้นไม้ได้ประมาณ 10-15 แถว ฮ่าๆๆๆ)

ข้อควรระวัง หาก เพื่อนๆ ยังจำคำถามของคุณ Nine เรื่องดินเค็มได้  หนึ่งในสาเหตุของปัญหาดินเค็มเกิดจากระดับน้ำใต้ดิน (ของน้ำที่เค็ม) ที่สูงเกินไป  เมื่อน้ำที่ผิวดินแห้งไป  น้ำเค็มที่อยู่ในดินจะถูกแรง Capillary ยกให้น้ำเค็มสูงขึ้นมาที่ผิวดิน  เมื่อน้ำระเหยไปก็จะกลายเป็นคราบเกลือที่ผิวดิน  swale จะไปเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน ดังนั้นถ้าเราสร้าง swale ในพื้นที่ดินเค็มจะต้องระมัดระวังเลือกขุด swale ที่ตื้น และมีระยะห่างระหว่าง swale น้อยจะดีกว่า เพราะหลีกเลี่ยงการไปละลายเกลือในชั้นใต้ดิน และทำให้เกิดการแพร่ระบาดของดินเค็ม  พร้อมทั้งใช้ mulch ห่มดินเพื่อรักษาความชื้น ลดการใช้น้ำเค็มมาใช้รดต้นไม้ และปลูกพืชทนเค็มเพื่อช่วยดูดซับเกลือออกจากดิน  การทดลองทำแบบนี้พื้นที่ดินเค็มจัดใน Dead Sea Valley ประเทศจอร์เดน ได้ผลดีมาก ดินบริเวณ swale มีความเค็มลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับก่อนเริ่มโครงการ

27 ธันวาคม 2556

กระบวนท่าที่ 4 (ตอนที่ 1) - Swale

ในกระบวนท่านี้จะใช้กับพื้นที่มีความลาดชันแต่ ไม่ควรเกิน 18 องศา (ถ้าลืมคำนิยาม กลับไปอ่าน Rep ก่อนหน้านี้)    ก่อนอื่นต้องขออภัยที่ใช้ศัพท์เป็นภาษาอังกฤษตามปู่บิลเนื่องจากยังหาคำแปล ที่ตรงกับภาษาไทยที่ถูกใจไม่ได้  คำภาษาไทยที่น่าจะใกล้เคียงมากที่สุดคือคำว่า "ร่องชะลอน้ำ" แต่ก็ยังไม่ค่อยสื่อความหมายมากนัก  ความจริงแล้วคำว่า swale โดยทั่วๆ ไปจะมีความหมายว่า "ร่อง" แต่ในบริบทของเพอร์มาคัลเชอร์จะมีลักษณะของร่องเฉพาะ  เจ้า swale นี่เองเป็นองค์ประกอบหลักในการดูแลเรื่องน้ำในสวนขี้คร้านที่กำลังทดลองในปี พ.ศ. 2555-6  เพื่อให้ง่ายในการอธิบายนิยามของ swale  ผมขอเริ่มเข้าเรื่องด้วยการแสดงวิธีที่ผมใช้ในการสร้าง swale

1. การสำรวจแนวที่จะสร้าง swale
ใน การขุด swale จะเริ่มจากการวางแผนก่อน  ในกรณีนี้ผมกำลังจะทดลอง swale ในพื้นที่ประมาณ 40% ของสวน  จึงต้อง้เริ่มด้วยการค้นหาตำแหน่งที่จะขุด  โดยผมจะต้องหาแนวเส้นที่มีระดับความสูงเท่ากัน  ถ้าเรามีอุปกรณ์ไฮเทคราคาแพงอย่างเครื่องวัดแนวระดับด้วยเลเซอร์ หรือกล้องสำรวจราคาหลักหมื่นก็จะสามารถนำมาใช้งานได้  แต่...เพื่อความพอเพียง  เรามาใช้เทคนิคบ้านๆ ในการหาแนวระดับคือ

1.1 การใช้ A-Frame Level
เทคนิค นี้สามารถทำงานคนเดียวได้  โดยเทคนิคนี้จะใช้ไม้ 3 ชิ้นมาประกอบกันเป็นเฟรมรูปตัวอักษร A ตามรูปข้างล่าง  จากนั้นเราก็หาวัตถุที่มีน้ำหนักมาผูกเชือกห้อยมาจากด้านบนของเฟรมเพื่อทำ หน้าที่เป็นลูกดิ่ง 
วัดแนวระดับด้วยลูกดิ่ง 1

เรา จะทำเครื่องหมายตำแแหน่งที่ลูกดิ่งควรจะอยู่ถ้าขาทั้ง 2 ข้างของเฟรมอยู่ที่ระดับเดียวกันโดยการไปทดลองตั้งเฟรมในพื้นที่เรียบแล้วทำ เครื่องหมายของตำแหน่งเชือก  หลังจากนั้นก็จะสลับตำแหน่งของขาเฟรม แล้วทำเครื่องหมายอีกครั้ง  ถ้าพื้นเรียบจริงๆ ตำแหน่งของเชือกในทั้งสองครั้งจะเป็นตำแหน่งเดียวกันเลย  ถ้าพื้นไม่ได้ระดับตำแหน่งของการวัดทั้ง 2 ครั้งจะห่างกันเล็กน้อย  ตำแหน่งแนวดิ่งจริงๆ ก็จะอยู่ประมาณกึ่งกลางของการวัดทั้ง 2 ครั้ง
วัดแนวระดับด้วยลูกดิ่ง 2

ใน การหาแนวระดับจะใช้วิธีหมุนเฟรมไปจนหาตำแหน่งกระทั่งเจอตำแหน่งที่เชือกหยุด ในตำแหน่งที่วัดไว้ตอนแรกซึ่งจะเป็นตำแหน่งที่ขาทั้งสองข้างอยู่ที่ระดับ เดียวกัน  เราจะปักหมุดตำแหน่งไว้แล้วขยับเฟรมหาตำแหน่งที่ที่ขาทั้งสองข้างอยู่ระดับ เดียวกัน

วัดแนวระดับด้วยลูกดิ่ง 3

1.2 การใช้ท่อใสใส่น้ำวัดระดับ
วิธี นี้ให้เอาน้ำมาใส่สายยางแบบใสและไล่ฟองอากาศที่อยู่ท่อให้หมด  หาไม้ 2 อันมาผูกปลายสายยางทั้งสองข้าง เอาไม้ทั้งสองอันมากวางชิดกัน  ระดับน้ำในท่อจะเท่ากัน และทำตำแหน่งระดับน้ำไว้
วัดแนวระดับด้วยระดับน้ำ 1

ต่อ มาถ้าระดับของไม้อยู่สูงต่ำต่างกัน  ระดับน้ำในท่อก็จะปรับระดับให้เท่ากันอีก  ทำให้ในด้านที่สูงจะมีระดับน้ำต่ำกว่าที่ทำเครื่องหมายไว้ตอนแรก  ส่วนด้านที่ต่ำกว่าจะมีระดับน้ำสูงกว่าที่ทำเครื่องหมายไว้ตอนแรก
วัดแนวระดับด้วยระดับน้ำ 2

ใน การใช้งานหาแนวระดับด้วยวิธีนี้จะต้องใช้ 2 คนอยู่คนละด้านของปลายสายยาง  คนแรกจะยืนอยู่กับที่  คนที่สองจะต้องเดินหาตำแหน่งที่คิดว่ามีระดับเท่ากัน  และต้องค่อยๆ ขยับหาตำแหน่งที่จะทำให้ระดับน้ำในสายยางทั้งสองข้างอยู่ที่ตำแหน่งตอนวาง ไม้ชิดกัน  เมื่อได้ตำแหน่งแล้วก็ปักหมุดทำเครื่องหมายไว้ และขยับออกไปหาตำแหน่งถัดไปเรื่อยๆ จนสุดสายยาง  เมื่อสุดสายยางแล้วคนแรกก็ต้องขยับมาอยู่ที่ตำแหน่งล่าสุดที่ปักหมุดไว้ และทำซ้ำไปเรื่อย
วัดแนวระดับด้วยระดับน้ำ 3

ผม เลือกใช้วิธีวัดระดับน้ำ เนื่องจากวิธีนี้ทำงานได้เร็วกว่า ยืดหยุ่นในการหาตำแหน่งมากกว่า แต่จะต้องมีคนช่วยดูระดับน้ำอีกคน (ใช้ 2 คนนั่นเอง)  ไม้รวกที่ใช้ผมก็ไม่ได้ถึงกับทำ scale อะไรมากมาย  แค่เอาปากกาเมจิกแบบ permanent มาร์คตำแหน่งไว้นิดหน่อย

เส้นแนวระดับ

คน ที่ชอบการควบคุมว่าเวลาจะขุดร่องก็ขอให้เป็นเส้นตรง หรือเป็นแนวตามที่ต้องการจะรำคาญกับวิธีนี้มากเนื่องจาก เราจะไม่ใช่คนควบคุม  ธรรมชาติจะค่อยๆ เปิดเผยเส้นทางขุดที่เป็นแนวระดับในที่ดินให้กับเราเอง  เมื่อเราทำไปสักพักอาจจะพบว่าแนวขุดจะต้องขุดโดนต้นไม้  สำหรับผมเอง ไม่อยากขุดต้นไม้ก็เลยจะใช้วิธีขยับแนวขุดหลบต้นไม้  การขยับแนวแต่ละครั้งหมายความว่าจะต้องวัดแนวระดับกันใหม่หมด  โกรธ โกรธ โกรธ

ปล1. เวลาอ่านระดับน้ำกรุณาตั้งไม้ให้อยู่ในแนวดิ่งจริงๆ  ไม่งั้นจะเพี้ยน
ปล2. เวลาจะยกระดับของปลายท่อให้สูง หรือต่ำมากเกินไป ต้องบอกให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบก่อนจะได้เอานิ้วอุดปลายสายยางไว้  เพื่อกันไม่ให้น้ำไหลออกมาจากสายยาง


2.ขุดร่อง

หลัง จากทราบแนวระดับแล้วก็จะเริ่มลงมือขุด  เครื่องมือที่ใช้จะขึ้นกับขนาดของ swale ความลาดชัน ลักษณะโครงสร้างดิน ทรัพยากรที่คุณมีในพื้นที่ และความสามารถในการเคลื่อนย้านเครื่องจักร  เดี๋ยวผมจะกลับมาขยายความเรื่องการคำนวนขนาดของ swale อีกครั้งนึง

ใน ขั้นตอนนี้ผมเลือกใช้รถขุด (Backhoe) เนื่องจากมีคนจ้างรถขุดมาทำงานใกล้ๆ อยู่แล้วทำให้ผมไม่ต้องเสียค่าจ้างเคลื่อนรถขุด  และดินในสวนผมจะมีหินเป็นองค์ประกอบมาก  หินบางก้อนหนักมากจนต้องใช้ผู้ใหญ่ถึง 3 คนจึงจะสามารถยกขึ้น  การขุดด้วยแรงงานคนในพื้นที่แบบนี้จึงยุ่งยาก  ต้องจ่ายค่าแรงมากเกินไป  แต่ผมก็ต้องแลกด้วยการยอมเคียร์พื้นที่ในส่วนนี้ด้วยรถไถก่อนเพื่อให้ เครื่องจักรเข้าทำงานได้สะดวก

หมายเหตุ ความจริงอีกกว่า 60% ที่เหลือมีต้นไม้ติดสวนอยู่จำนวนพอสมควร  ทำให้ผมไม่อยากเอารถขุดเข้าไปทำงาน  ในส่วนที่เหลือผมจึงจะใช้เทคนิคอื่นที่ค่อยๆ ทำได้  ซึ่งจะเป็นโครงการปีหน้า  ไว้จะมาแชร์ให้ฟังอีกครั้ง

เมื่อผมเลือก ใช้รถขุดแล้ว  ขนาดของ swale ของผมก็เลยไปขึ้นอยู่กับขนาดของบุ้งกี๋ (Bucket) ความจริงผมต้องการร่องเล็กกว่านี้ แต่เพื่อให้รถขุดทำงานง่าย  ผมจึงเลือกให้เขาขุดขนาดประมาณกว้าง 1 บุ้งกี๋ลึก 1 บุ้งกี๋ ซึ่งออกมาจะเป็นขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร

ผมให้ รถขุดขับตามไม้ที่ปักไว้เป็นสัญญาณของแนวระดับ  ตักเอาดินในร่องไปวางเป็นเนินดินในด้านที่ต่ำกว่า  และช่วยเกลี่ยให้ดินเรียบนิดหน่อย  เพื่อให้ง่ายในการปลูกพืชในภายหลัง
แนวระดับ

อาศัยความชำนาญของคนขับ  แนวระดับจะโค้งอย่างไร ก็ดูเหมือนไม่มีปัญหากับคนขับรถขุดเลย


หรือจะโค้งแบบนี้  ความงดงามของธรรมชาติกำลังเปิดเผยตัวตนออกมาเป็นดั่งลายเส้นของจิตรกรบนผืนแผ่นดิน
แนวเส้นระดับ
 

3. ปลูกพืช

ในระหว่างการขุด swale ควรจะออกแบบไว้ตั้งแต่ตอนแรกว่าจะปลูกอะไร และให้เพื่อนในทีมช่วยดินตามรถขุด ปลูกพืชคุมดิน และต้นไม้ ไปเลย  เดี๋ยวเราค่อยกลับมาคุยเรื่องพืชที่เลือก



เรื่อง นี้เป็นที่ผมทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง  เนื่องจากตอนเริ่มทดลองขุด swale ก็ไม่ได้คิดว่ามันจะได้ผลอะไร กะอีแค่ร่องดินธรรมดา  อีกอย่างพอเห็นสภาพดินที่ขุดที่มีอินทรีย์วัตถุน้อยมาก หน้าดินตื้น แถมมีหินเยอะอีกต่างหาก  ในใจยังคิดเลยว่าขนาดหญ้ามันยังไม่ค่อยจะขึ้น แล้วจะรีบปลูกต้นไปทำไม  เดี๋ยวก็ตาย  เสียแรงเปล่า (จิตใจฝ่ายขีคร้านเข้าครอบงำ)


ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

20 ธันวาคม 2556

การวัดความลาดชัน

กระบวนท่าที่ 1 - Sunken Basin เหมาะสำหรับพี้นที่ที่ไม่ค่อยมีความลาดชัน ส่วนกระบวนท่าที่ 2 - Deep Watering เป็นการให้น้ำเฉพาะจุด ส่วนกระบวนที่ 3 - ห่มดิน ก็เป็นเทคนิคเสริมที่นำไปใช้ร่วมกับเทคนิคอื่นๆ ได้  ในกระบวนท่าถัดไปเราจะพูดถึงการบริหารจัดการที่น้ำในที่ดินที่มีความลาดชัน  จึงใคร่ขอนิยามหน่วยวัดความลาดชันกันสักหน่อย

ในการวัดระดับความชัน นั้นจะมีหน่วยวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ และองศา  ในการวัดแบบเปอร์เซ็นต์นั้นจะเป็นการเอาระยะทางในแนวดิ่งหารด้วยระยะทางใน แนวนอน แล้วคูณด้วย 100   ส่วนการวัดแบบองศานั้นจะต้องเอาหามุมเงย โดยใช้สูตรคณิตศาสตร์ arctan ของ ระยะทางในแนวดิ่งหารด้วยระยะทางในแนวนอน  ตามที่แสดงตัวอย่างการคำนวนในภาพด้านล่าง



การวัดความลาดชัน

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0 

18 ธันวาคม 2556

วัชพืชไม่ใช่วัชพืช

Don't fight the weeds, grow the weeds!

เพื่อนอยากจะงงๆ กับประโยคที่ว่า "วัชพืชไม่ใช่วัชพืช" ก่อนอื่นเรามาดูนิยามคำว่า "วัชพืช" (ภาษาอังกฤษ weed) นั้นพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถานได้นิยามว่า "พรรณไม้ที่ขึ้นได้เอง และเจริญเติบโตแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วในพื้นที่ที่ไม่ต้องการ หรือในพื้นที่เพาะปลูก ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือพืชที่ปลูก เช่น หญ้าคาในไร่อ้อย กกในนาข้าว ไมยราบยักษ์ ผักตบชวาในแหล่งน้ำ"

สังเกตจะเห็นว่าคำว่า "วัชพืช" เกิดจากมองธรรมชาติแบบแยกส่วนของมนุษย์  เราอยากจะมีแต่เฉพาะพืชที่เราต้องการ สิ่งที่เราต้องการเราจะเรียกพวกเขาว่า "วัชพืช" ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ สมุนไพร พืชผัก หรือเห็ดรา โดยที่ไม่ได้สนใจถึงบทบาทในระบบนิเวศน์ของพวกเขา  ปู่ฟูสังเกตว่า "วัชพืช" มีบทบาทสำคัญในการสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดิน และการสร้างสมดุลของระบบนิเวศน์  การไถกลบ "วัชพืช" ไม่เพียงแต่ไม่ช่วยในการจำกัด "วัชพืช" ยังเป็นการสร้างโอกาสให้เมล็ดของ "วัชพืช" ได้สัมผัสดิน จะพร้อมจะเจริญเติบโตต่อไป  ปู่ฟูสังเกตว่าเมื่อเขาหยุดการไถพรวน "วัชพืช" ก็จะลดน้อยลงไปเอง  ปู่ฟูจึงสอนเทคนิคการควบคุม (ไม่ใช่การกำจัด) วัชพืชด้วยการคลุมดินบ้าง ด้วยการปล่อยให้น้ำเข้าท่วมบ้าง

ส่วนปู่บิลเรียก "วัชพืช" ว่า "ทรัพยกรที่ยังไม่ถูกใช้" (unused resources)  ปู่บิลสอนอีกว่า "วัชพืช" เป็น "ดัชนีชี้วัดของดิน" (soil indicator) เนื่องจากธรรมชาติส่ง "วัชพืช" เพื่อซ่อมแซมดินที่ถูกทำลาย และปรับสมดุลของธรรมชาติ ดังนั้นการปรากฎตัวของ "วัชพืช" เป็นวิถีของธรรมชาติในการเตือนเราว่าดินกำลังมีปัญหา เช่น


  • วัชพืชหลายชนิดจะหน้าที่ปกป้องหน้าดินจาการกัดเซาะของฝน ลม และแสงแดด เมื่อมีการกัดเซาะรุนแรงเราก็จะเริ่มพบวัชพืชที่มีรากที่แข็งแรงมากขึ้น
  • วัชพืชที่ปกป้องหน้าดินยังมีความสามารถในการดูดแร่ธาตุต่างกัน เช่น วัชพืชบางชนิดจะสามารถขึ้นได้ดีในดินที่มีฟอสเฟตต่ำมาก โดยตัวมันเองจะทำหน้าที่ดึงฟอสเฟตจากดินชั้นล่างขึ้นมา เมื่อวัชพืชเหล่านี้ตายลงไป ซากของวัชพืชก็จะทำให้ฟอสเฟตมาอยู่ที่หน้าดินสำหรับพืชที่ไม่สามารถเติบโตได้ในดินที่ฟอสเฟตต่ำ  มีตัวอย่างแบบนี้มากมายไม่ว่าจะเป็นการปลูกวัชพืชที่ตรึงธาตุสังกะสีในดินได้ดีสลับกลับการปลูกข้าวโพดเพื่อลดปัญหาการขาดสังกะสี หรือการปลูก comfrey ใต้ต้นผลไม้เพื่อช่วยดึงธาตุโปเตสเซียมจากดินชั้นล่างให้กับผลไม้
  • วัชพืชยังช่วยเพิ่มจำนวนสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ และขับไล่แมลงศัตรูบางชนิด
  • วัชพืชบางชนิดยังช่วยเปิดทางในดินที่แข็งมากๆ ทำให้การระบายน้ำของดินดี จนกระทั่งพืชที่มีรากแข็งแรงน้อยกว่าสามารถเติบโตได้
  • วัชพืชยังถูกใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงปริมาณน้ำใต้ดิน  และปริมาณธาตุอาหารบางอย่าง เช่น ทองแดง สังกะสี
โดยสรุปเมื่อดินมีปัญหาก็จะมีวัชพืชบางอย่างที่สามารถเติบโตได้ดีในสภาพที่มีปัญหานั้นๆ จนกลายเป็นพืชหลักในพื้นที่  เมื่อดินเริ่มเข้าสู่สภาพสมดุลก็จะมีพืชหลากหลายมากขึ้น และวัชพืชหลักก็จะค่อยๆ ลดน้อยลงไปเอง หากเราเฝ้าสังเกตวัชพืชในพื้นที่ เราจะรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงไปของดิน

ในตัวอย่างของสวนขี้คร้าน ในปีแรกๆ วัชพืชหลักจะเป็นหญ้าเจ้าชู้ หญ้าดอกขาว กระถิน และวัชพืชทนแล้งอีกหลายชนิด  ภายหลังจากที่ขุด swale แล้วชนิดของวัชพืชก็เริ่มเปลี่ยนไป มีวัชพืชที่ชอบน้ำ เช่น โสนขน โสนคางคง หญ้าแขม หญ้าขจรจบ หมามุ่ย เพิ่มมากขึ้น จากการสังเกตจะเห็นว่าปัญหาหน้าดินถูกกัดเซาะมาอย่างต่อเนื่องทำให้ดินมี ความสมบูรณ์ต่ำ ธรรมชาติพยายามจะเพิ่มความสมบูรณ์ของดินด้วยวัชพืชวงศ์ถั่วทนแล้ง เช่น กระถิน และถั่วลาย  แต่เดิมโสนจะแทบไม่เจอ และเถาหมามุ่ยจะแห้งตายไปก่อนจะได้ออกฝักที่สมบูรณ์  ต่อมาเมื่อมีน้ำเพิ่มขึ้นจากการขุด swale วัชพืชวงศ์ถั่วที่โตเร็วอย่างโสนจึงงอกงามอย่างมาก (โตเร็วกว่ากระถินเยอะ แต่ไม่ทนแล้ง) และในเวลาเดียวกันวัชพืชเลื้อยอย่างหมามุ่ยก็งอกงามอย่างมาก (โตเร็วกว่าถั่วลายแต่ทนแล้งน้อยกว่า)  ส่วนกระถินยังงอกงามเหมือนเดิม

การอยู่ร่วมกันของวัชพืชสูงเร็ว (เช่น กระถิน โสนคางคง โสนขน ครอบจักรวาล) และวัชพืชเลื้อยทำให้ผลของวัชพืชเลื้อยก็จะไม่โดนพื้นทำให้ไม่ค่อยเป็นเชื้อรา และวัชพืชทรงสูงก็ได้วัชพืชเลื้อยช่วยรักษาความชื้น วัชพืชทั้ง 2 ชนิดงอกงามร่วมกันได้ดีกว่าการเติบโตแยกกัน  ทำให้เกิดมวลของวัชพืชคลุมดินมากกว่าปกติ

ธรรมชาติกำลังบอกผมว่าน้ำใต้ดินอุดมสมบูรณ์มากกว่าเดิม ดินต้องการวัสดุลุมดินจำนวนมาก และในช่วงนี้ดินต้องการพืชวงศ์ถั่วเพื่อเสริมความสมบูรณ์ในดิน  ท่าทาง swale กำลังทำงานได้ดีแล้ว แต่ผมยังด้อยเรื่องการสร้างสารอินทรีย์ให้กับดิน พืชคลุมดินเป็นยุทธศาสตร์ระยะสั้นในการสร้างอินทรีย์วัตถุ

แต่บางครั้งเราก็ต้องตัดวัชพืชบ้าง  ในการตัดวัชพืชแทนที่เราจะตัดวัชพืชด้วยเครื่องตัดหญ้าให้ละเอียดแล้วนำไปคลุมดิน  วัชพืชที่ถูกตัดละเอียดจะถูกย่อยสลายได้เร็วกว่าวัชพืชที่ถูกตัดเป็นชิ้นใหญ่ๆ ทำให้คลุมดินได้ไม่นาน ในขบวนการย่อยสลายจุลินทรีย์จะดึงไนโตรเจนไปใช้ทำให้ความพยายามที่จะสร้างไนโตรเจนให้กับดินด้อยลงไป  และการย่อยสลายที่เร็วจะทำให้วัชพืชได้รับแสงแดดเร็วจึงมีประสิทธิภาพในการคลุมดินเพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืชได้น้อย  ถ้าเราปล่อยให้วัชพืชขึ้นจนหนาทึบแล้วตัดแล้วเศษวัชพืชคลุมดินเป็นชิ้นยาวๆ หนาๆ จะย่อยสลายช้า และคุมวัชพืชได้ดีกว่า (เหมือนที่อาจารย์ตั้มตัดหญ้าเอาเฮชิ้นยาวๆ มาคลุมดิน)  และแล้ววัชพืชก็จะกลายเป็นทรัพยากรในการควบคุมวัชพืช และสร้างดินให้กับเรา

ตัดวัชพืชแทนการใช้ยาฆ่าหญ้าแบบนี้คือเราจะไม่ได้เน้นการกำจัดพวกมันให้ตาย (พร้อมๆ กับการตายของสิ่งมีชีวิตอีกหลายอย่าง) และยังเป็นการเร่งการสร้างมวลของัชพืช  วัชพืชที่ถูกตัดบางส่วนที่อ่อนแอก็จะถูกควบคุมอยู่ใต้กองวัชพืช ส่วนที่ยังแข็งแรงก็จะเร่งสร้างต้น และใบแทรกกองเศษวัชพืชที่เราคุมดินไว้ขึ้นมาทดแทน  ทำให้เราสามารถตัดพวกมันได้ปีละหลายรอบ  เทคนิคนี้จะเร่งการสร้างมวลได้มากกว่าการไม่ตัดเลย เป็นการเร่งขบวนการสร้างดินเร็วการปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างโดยที่ไม่ทำอะไรเลย เทคนิคเหล่านี้ผมเรียกเองว่า "
การต้ดวัชพืชเหมือนการไม่ตัดวัชพืช"

แทนที่เราจะมาพยายามตัดวัชพืช เรามาช่วยธรรมชาติด้วยการปลูกพืชที่ทำหน้าที่คล้ายๆ กันแต่เราสามารถใช้ประโยชน์ได้ ให้มากขึ้นเพื่อแข่งขัน และทดแทนพืชที่เราไม่ต้องการ  รวมทั้งการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ก็จะช่วยลดปริมาณแสงที่จะส่งมาถึงวัชพืช  ใบไม้ที่ร่วงก็จะมาทับถมวัชพืชต้นเล็กๆ ไม่ให้งอกได้ง่ายๆ เทคนิคนี้เหล่านี้ผมเรียกเองว่า "
การไม่ต้ดวัชพืชเหมือนการตัดวัชพืช"


ใต้ต้นไม้ที่งอกงามเต็มที่แล้ว  แสงจะบดบังทำให้ไม่ค่อยมีวัชพืชไปเองตามธรรมชาติ  และเราอาจจะต้องเสริมด้วยการหาพืชคลุมดินทนร่มเข้าไปปลูกเพื่อป้องกันวัชพืชที่ทนร่มจะเข้ามารุกล้ำพื้นที่ใต้ต้นไม้

ดังนั้นถ้าผมไม่ชอบวัชพืชวงศ์ถั่วที่ธรรมชาติมอบให้มาช่วยผมทำงาน  แทนที่ผมจะคอยตามตัดวัชพืชเหล่านี้  ผมจะต้องหาพืชอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงเข้ามาทดแทน เช่น ถ้าผมไม่ชอบหมามุ่ยผมอาจจะต้องใช้ถั่วครก หรือถั่วปีมาเลื้อยแทนหมามุ่ย ถ้าผมไม่ชอบต้นกระทิน โสนคางคงและโสนขน ผมอาจต้องหาโสนดอกใหญ่ หรือถั่วมะแฮะมาปลูกแทนเพื่อจะเป็นค้างให้วัชพืชเลื้อย  ผมจะต้องปลูกปอเทืองมากกว่าเดิมเพื่อเร่งการตรึงไนโตรเจน


ถั่วปีที่เลื้อยไปบนยอดหญ้าช่วยควบคุมการเติบโตของหญ้าได้ดี และสามารถสู้กับหมามุ่ยในบริเวณเดียวกันได้อย่างสูสี ผมเลยช่วยถั่วปีนิดหน่อยด้วยการคอยเอาเคียวเกี่ยวเถาหมามุ่ยให้อ่อนแอกว่า  ปีหน้าผมจะอดทนคันเอาถั่วปีไปปลูกเพิ่มในกลางดงหมามุ่ย  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม

ถ้าผมไม่ชอบหญ้าที่ธรรมชาติประทานมาคลุมดินผมจะต้องปลูกหญ้าชนิดอื่นที่ทนกว่า เช่น หญ้าแฝก ตะไคร้ หรือหาพืชชนิดอื่นๆ ที่เจริญเติบโตได้ดีในช่วงที่หญ้าอ่อนแอในหน้าแล้ง อาจจะเป็นต้นไม้โตเร็วทนแล้ง อย่างขี้เหล็ก หรือกระถินเทพา เป็นต้น

ผมอาจจะตีความสารที่ธรรมชาติกำลังจะสื่อให้ผมฟังไม่ออก หรืออาจจะกำลังตีความสารของธรรมชาติผิดก็ได้  วิธีพิสูจน์ที่ดีที่สุดคือการทดลองปฏิบัติ ในช่วงหน้าแล้งที่ว่างเว้นจากงานปลูกต้นไม้นี้คือช่วงเวลาที่ดีในการแสวงหา และสะสมพันธุ์พืชที่จะมาทดลองในช่วงต้นฝนปีหน้า


ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

17 ธันวาคม 2556

กระบวนท่าที่ 3 (ตอนที่ 2) - Living Mulch (พืชคลุมดิน)

การห่มดินแบบใช้วัสดุคลุมดินมีชีวิต (Living Mulch) ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งในการรักษาความชื้นให้กับดิน บางครั้งเราก็เรียกว่าพืชคลุมดินนั่นเอง

การใช้พืชคลุมดินยังเป็นข้อถกเถียงกันพอสมควรว่าจะช่วยรักษาความชื้นได้จริงหรือไม่โดยแบ่งออกมาเป็น 2 แนวคิด

  • แนว คิดแรกเชื่อว่าความชื้นในดินมีจำนวนจำกัด  การลดความหนาแน่นของพืชจะช่วยเพิ่มโอกาสการอยู่รอดของพืชที่เราปลูก การที่มีพืชคลุมดินจะทำให้มีการดูดน้ำไปใช้จนระเหยผ่านขบวนการสังเคราะห์แสง และการคายน้ำของพืช  ทำให้มีการใช้น้ำในดินมากกว่าการไม่ปลูกพืชคลุมดิน (แต่ยังมีวัสดุคลุมดินอื่น)  ในแนวคิดแบบนี้จึงจะแนะนำให้ตัดพืชคลุมดินตั้งแต่ต้นฤดูหนาว และทิ้งไว้ในพื้นที่เพื่อใช้เป็นวัสดุคลุมดิน
  • แนว คิดที่สองเชื่อว่าถ้าเราปลูกพืชคลุมดินไว้ จะช่วยลดอุณหภูมิที่ผิวดินได้มากกว่าการใช้วัสดุคลุมดินเนื่องจากการคายน้ำ ของพืช และจะช่วยจับความชื้นในดินมาเป็นน้ำค้างได้มากกว่าการที่ไม่ได้ปลูกพืชคลุม ดิน  ในแนวคิดแบบนี้จึงจะทิ้งพืชคลุมดินไว้ตลอดหน้าแล้ง

อย่าง ไรก็ตามประเด็นที่ถกเถียงกันจะมีผลแค่ว่าเราควรจะตัดพืชคลุมดินตอนช่วงหน้า แล้ง หรือปล่อยมันทิ้งไว้โดยไม่ต้องตัด  แต่ถ้าเราหันไปมองข้อดีอื่นๆ ของพืชคลุมดินเทียบกับการใช้วัสดุคลุมดิน  ก็จะเห็นประโยชน์ของพืชคลุมดินเพิ่มเติมจากวัสดุคลุมดินดังนี้ :
  • เนื่อง จากเราสามารถปลูกพืชคลุมดิน และตัดให้กลายเป็นวัสดุคลุมดินในพื้นที่ได้  จึงช่วยลดภาระเรื่องการขนย้าย  โดยเราอาจจะต้องขนย้ายเพียงเมล็ดพันธุ์เข้ามาใช้ในการปลูก  แต่ไม่ต้องขนย้ายทั้งต้นของพืชคลุมดิน
  • พืช คลุมดินไม่ได้อยู่แค่เพียงที่ผิวดิน  ยังมีรากช่วยชอนไชเข้าไปในดิน เมื่อเราตัดพืชคลุมดินรากเหล่านี้ก็จะเน่าเปื่อยทำให้เกิดโพรงในดิน  ทำให้ดินโปร่งมากขึ้นกว่าการใช้วัสดุคลุมดินเพียงอย่างเดียว
  • พืชคลุมดินวงศ์ถั่วยังช่วยในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ เป็นการเพิ่มแร่ธาตุให้มากกว่าวัสดุคลุมดิน
  • พืช คลุมดินหลายชนิดสามารถอยู่ข้ามปี จึงสามารถผลิตชีวมวลที่จะกลายเป็นวัสดคลุมดินอย่างต่อเนื่อง  ช่วยลดภาระในการจัดหาวัสดุคลุมดินมาทดแทนของเดิมที่ย่อยสลายไป
  • พืช คลุมดินหลายชนิดจะออกดอกตลอดทั้งปี ช่วยล่อแมลงให้เข้ามาในพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น  โดยสถิติแมลงว่าใหญ่จะมีแมลงดีมากกว่าแมลงศัตรูพืช  การเพิ่มความสามารถในการล่อแมลงจึงจะช่วยเพิ่มแมลงที่จะเข้ามาจำกัดปริมาณ แมลงศัตรูพืช
  • ในช่วงที่มีความ ชื้นเพียงพอ (ไม่ใช่หน้าแล้ง) พืชคลุมดินจะช่วยเพิ่มกลไลในการตรึงไอน้ำจากอากาศในรูปของน้ำค้าง  ทำให้ดินได้รับน้ำมากกว่าน้ำฝนเพียงอย่างเดียว
  • พืชคลุมดินหลายชนิดสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ หรืออาหาร/ยาของมนุษย์ได้

ที่สวนขี้คร้านมีการทดลองพืชคลุมดินหลากหลายชนิด ทั้งที่ตั้งใจปลูก และขึ้นเอง เช่น
มันต่อเผือก
มันต่อเผือก
มันต่อเผือก

ปอเทือง
ปอเทือง
ปอเทือง

ถั่วปินโต ถั่วลิสงเถา
ถั่วปินโต (ถั่วลิสงเถา)

ถั่วปี
ถั่วปี
ถั่วผี
ถั่วผี


ถั่วอีโต้
ถั่วอีโต้

ถั่วลาย
ถั่วลาย

โสนขน
โสนขน

โสนคางคง
โสนคางคง


ตำลึง และสาบเสือ

ผักปราบ
ผักปราบ

หญ้าเกล็ดหอย
หญ้าเกล็ดหอย

ผกากรอง
ผกากรอง



ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0