20 มีนาคม 2557

Black Locust

ในช่วงที่อากาศแห้งแบบนี้เราก็มาสะสมต้นไม้ที่ จะทดลองกันในต้นหน้าฝน ผมเคยทิ้งท้ายไว้ว่าต้นไม้วงศ์ถั่วเป็นพืชที่ผมโปรดปรานมาก  ต้นไม้วงศ์ถั่วอีกต้นที่ชาวเพอร์มาคัลเชอร์มักจะเอ่ยถึง จนทำให้ผมอยากทดลองคือเจ้า Black Locust ชื่อวิทยาศาสตร์ Robinia Pseudoacacia บางครั้งก็ถูกเรียกว่า False Acacia เนื่องจากคนคิดว่ามันเป็นตระกูล "อะเคเซีย" แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่  แต่อย่างไรก็ตามเจ้าต้น Black Locust ก็อยู่ในวงศ์ถั่วเหมือนกับ "อะเคเซีย"  ดังนั้นผมจึงคิดว่าน่าจะเรียกต้น Black Locust ในภาษาไทยว่า "อะเคเซียเทียม"  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม

ความ โดดเด่นของ Black Locust คือโดยปกติในเขตสภาพอากาศแบบ temperate อย่างสหรัฐอเมริกา แคนนาดา และยุโรบ จะไม่ค่อยมีไม้เนื้อแข็งที่ทนทานต่อการผุกร่อน  พวกเขาจึงมักจะต้องอาศัยการนำเข้าไม้เนื้อแข็งจากเขตสภาพอากาศแบบ tropical ไปใช้งาน  แต่การทำแบบนั้นจะส่งเสริมการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศเขตร้อน   แต่พวกเขาพบว่าเจ้าต้น Black Locust มีคุณสมบัติที่ผุกร่อนได้ช้า  ชาวเพอร์มาคัลเชอร์จึงนิยมเอามาใช้งานที่ต้องการความทนทานต่อการผุกร่อนจาก ความชื้น เช่น ทำด้ามอุปกรณ์ต่างๆ  ทำเสารั้ว ทำสะพาน รวมทั้งทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เพื่อทดแทนการนำเข้าไม้จากเขตร้อน

ผมเลยทดลองเพาะเจ้า Black Locust ดู  หน้าตาของต้นกล้าในระยะต้นๆ จะคล้ายๆ พืชวงศ์ถั่ว เช่น ต้นพยุง พอสมควร




เมื่อโตขึ้นจะมีดอกสีขาว (เครดิตภาพจากเวป http://www.missouriplants.com/Whitealt/Robinia_pseudo_acacia_page.html )


ฝักจะคล้ายกับวงศ์ถั่วทั่วๆ ไป (เครดิตภาพที่เหลือจาก http://tcpermaculture.com/site/2013/11/18/permaculture-plants-black-locust )


กิ่งจะมีหนามคล้ายๆ พวกชะอม (วงศ์ถั่วเหมือนกัน)


เมื่อ โตเต็มที่จะสูงประมาณ 12-25 เมตร และมีขนาดลำต้น 30-60 ซม.  ในธรรมชาติจะเติบโตในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝน 1,000 - 1,400 มม./ปี   มีการใช้ประโยชน์ของต้น Black Locust ดังนี้
 - ไม้ฟืน เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว ให้เปลวไฟที่มีความร้อนสูง และเผาไหม้ได้ช้า
 - ไม้ใช้เป็นเสา, ใช้ในการสร้างเรือ, ทำกล่อง, ทำพาแลท เนื่องจากทนน้ำ และผุกร่อนช้า
 - เนื้อไม้แข็งเมื่อเปรียบเทียบกับไม้โอ๊ก จึงถูกนำมาทำเฟอร์นิเจอร์
 - ดอกสามารถนำมาปรุงอาหาร หรือชงชา
 - เป็นต้นไม้ที่ช่วยตรึงไนโตรเจนบำรุงดิน
 - น้ำหวานจากดอกดึงดูดแมลง โดยเฉพาะผึ้ง
 - เป็น Dynamic Accumulator โดยเฉพาะแร่ธาตุไนโตรเจน โปแตสเซยม และแคลเซียม
 - เป็นไม้เบิกนำสำหรับการฟื้นฟูสภาพพื้นที่เสื่อมโทรม
 - เมื่อผ่านช่วงแรกมาได้จะเป็นไม้ทนแล้ง ช่วยให้ร่มเงา
 - เป็นต้นไม้ประเภท Coppice กล่าวคือเมื่อตัดต้นไปแล้วก็จะยังงอกกิ่งมาให้ตัดทำฟืนได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องปลูกใหม่ ดูภาพด้านล่างประกอบ


 - เป็นแหล่งอาศัยของนก และสัตว์ขนาดเล็ก เนื่องจากคุณสมบัติที่มีกิ่งเป็นหนาม ช่วยปกป้องการรุกรานจากสัตว์ขนาดใหญ่
 - ในสามารถตัดเป็นอาหารให้วัว ควาย แพะ กระต่าย และไก่  (เป็นพิษกับม้า)

เนื่อง จากมีประโยชน์หลายอย่างแบบนี้  ต้น Black Locust จึงเป็นอีกหนึ่งในต้นไม้ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนักเพอร์มาคัลเชอร์ในสภาพ ภูมิอากาศแบบ temperate  จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในต้นไม้ในอนาคต  โดยเฉพาะศักยภาพที่จะช่วยลดการตัดไม้เนื้อแข็งในป่าเขตร้อน  ข้อมูลการปลูกในเอเชียมักจะเป็นการปลูกในพื้นที่ทางเหนือเส้นศูนย์สูตร และพื้นที่ระดับสูง เช่น ทางเหนือของอินเดีย เนปาล ทิเบต เป็นต้น   สำหรับในประเทศไทยมีคนำเข้าปลูกเป็นไม้ประดับบ้าง แต่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องต้น Black Locust มากนัก  และยังเป็นที่น่าสงสัยว่าต้น Black Locust จะสามารถอยู่รอดในธรรมชาติในสภาพอากาศแบบ Tropical อย่างประเทศไทยหรือไม่  เนื่องจากแม้นแต่ในทวีปอเมริกาเองเราก็ไม่ค่อยจะพบว่ามีต้น Black Locust ในป่าธรรมชาติในแถบตอนใต้ของรัฐฟลอริดา  หรือทางตอนใต้ของประเทศแม็กซิโก  แต่อีกไม่นานเราคงได้ติดตามผลการทดลองกันว่าจะสามารถอยู่รอดในภาคกลางของ ไทยโดยไม่ต้องดูแลมากได้หรือไม่  ยิ้ม

ส่วน อีกต้นที่คล้ายกันมากคือต้น Honey Locust ชือวิทยาศาสตร์ Gleditsia triacanthos แต่มีบางแหล่งบอกว่าต้น Honey Locust อาจจะไม่มีคุณสมบัติการตรึงไนโตรเจนทั้งๆ ที่เป็นพืชวงศ์ถั่ว  เนื้อไม้จะแกร่งน้อยกว่า Black Locust เล็กน้อย  ใบมีโปรทีนน้อยกว่า Black Locust เล็กน้อย และเมล็ดของ Honey Locust มีความเป็นพิษน้อยกว่า Black Locust เมื่อเปรียบเทียบรวมๆ แล้วเจ้าต้น Black Locust ก็ยังมีคุณสมบัติโดดเด่นกว่า Honey Locust จึงไม่ค่อยแปลกใจที่ชาวเพอร์มาคัลเชอร์จะเลือกปลูกเจ้าต้น Black Locust มากกว่า  แต่...เจ้าต้น Honey Locust เวลาจะผลัดใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองดูสวยงามมากกว่า  ยิ้ม

ภาพต้น Honey Locust จากเวป http://en.wikipedia.org/wiki/Honey_locust


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมใน http://my-experimental-farm.blogspot.com/p/plants.html

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

15 มีนาคม 2557

มะปรางเปรี้ยว - มะปรางหวาน - มะยงชิด - มะยงห่าง

มะยงชิด มะปราง

"มะปราง" ตามข้อมูลจากอากู๋ มะปรางเป็นพืชในวงศ์วงศ์ Anacardiaceae แบ่งตามลักษณะพฤกษศาตร์แบ่งได้ 3 ชนิด

1. Bouae microphylla มะปรางที่มีใบเล็ก มีรสเปรี้ยว มะปรางป่าหรือมะปริงทางภาคใต้ พวกนี้มีรสเปรี้ยวผลเล็กสำหรับทางภาคใต้นั้นมักนำมาบริโถคผลดิบ ใช้ตำน้ำพริก ใส่แกงส้ม หรือเอามาจิ้มกับมันกุ้ง มะปริงมีขึ้นอยู่ทั่วไปทางภาคใต้

2. Bouae macrophylla มะปรางใบใหญ่ ขนาดใบเกือบเท่าใบมะม่วง เป็นพันธุ์ต่างประเทศ มีการปลูกในแถวแหลมมลายู เท่านั้น

3. Bouae burmanica มะปรางที่ปลูกกันโดยทั่วไป เรียกมะปรางบ้านหรือมะปรางสวน

มะปรางที่มักจะพบในบ้านเราน่าจะเป็น Bouae burmanica ซึ่งแบ่งย่อยตามลักษณะของรสชาติได้ 4 ชนิด:
1. มะปรางหวาน เมื่อยังดิบ มีรสมัน ไม่เปรี้ยว เมื่อสุกจะหวาน ผิวสีเหลือง และเหลืองอ่อน รับประทานได้ทั้งเปลือกแต่จะคันคอ
2. มะปรางเปรี้ยว เขาเรียกว่ากาวาง คือเปรี้ยวจนแม้แต่นกกามาจิกแล้วยังต้องรีบวางด้วยความเปรี้ยวครับ
3. มะยงชิด (ความจริงคือมะปรางชนิดหนึ่งแต่แตกต่างกันที่คุณสมบัติของเปลือก)  เมื่อดิบมีรสเปรี้ยว เมื่อสุกผิวเปลือกเป็นสีส้มสด สวยงามมาก สวยกว่ามะปรางทุกชนิด มะยงชิดเมื่อสุก จะมีรสหวานอมเปรี้ยวนิดๆ แต่เมื่อปอกเปลือกออกจะหวานฉ่ำ เพราะความเปรี้ยวอยู่ที่เปลือกของมันครับ
4. มะยงห่าง (ความจริงคือมะปรางชนิดหนึ่งแต่แตกต่างกันที่คุณสมบัติของเปลือก)  จะมีรสเปรี้ยว ไม่ว่าจะปอกเปลือกหรือไม่ก็ตาม

มีผู้รู้แนะนำข้อแตกต่างระหว่างมะปราง และมะยงดังนี้


มะปรางหวานมะยง
สีผลดิบ สีเขียวออกซีดผลใส
สุก สีเหลืองอ่อน
ดิบ สีเขียวจัดกว่ามะปราง
สุก สีเหลืองแกมส้ม
รสชาติดิบ รสมันทานได้
สุก รสหวานสนิท
ดิบ รสเปรี้ยว
สุก รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย (มะยงชิด) เปรี้ยวอมหวาน (มะยงห่าง)
ยางมียางอยู่ในส่วนของผล ซึ่งรบกวนหลอดอาหาร ทำให้ระคายคอไม่มียางอยู่ในส่วนของผล


ภาพมะปรางหวานตอนยังไม่สุกเป็นสีเขียวอ่อน มะยงชิด มะปราง

สนใจเรื่องพืชที่น่าสับสนแบบนี้อีกติดตามได้ที่ http://my-experimental-farm.blogspot.com/p/plants.html

สนใจเรื่องราวต่างๆ ในสวนขี้คร้านติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

12 มีนาคม 2557

คอมเฟรย์ พืชมหัศจรรย์

คอมเฟรย์ ความจริงผมเคยกล่าวถึงคอมเฟรย์ไปแล้วใน "แนะนำ Comfrey" แต่มีเพื่อนสมาชิกท่านหนึ่งย้อนกลับมาถามถึงคอมเฟรย์ทำให้เข้าใจได้ว่าผมให้ ข้อมูลไม่เพียงพอ  วันนี้จึงอยากจะมาแชร์เรื่องคอมเฟรย์ซึ่งเป็นหนึ่งในพืชที่ชาวเพอร์มาคัล เชอร์แนะนำให้ปลูกมากที่สุดให้เพื่อนๆ ฟังในเชิงลึก

สรรพคุณทางการแพทย์
น้อง โอ๋ ktikamporn ก็เคยทักไปแล้วถึงข้อห้ามใช้คอมเฟรย์ในฐานะสมุนไพรในบางประเทศ  แต่ความจริงคือคอมเฟรย์นับเป็นพืชที่มีการโต้แย้งกันมากที่สุดชนิดหนึ่ง  เนื่องจากคอมเฟรย์เป็นพืชที่มีประโยชน์หลายอย่าง และมีการใช้งานคอมเฟรย์เป็นสมุนไพรนี้กันมาอย่างกว้างขวางและยาวนานมากใน ทั้งในทวีปยุโรบ อเมริกา และออสเตรเลีย  ซึ่งในอดีตมีการใช้ทั้งเป็นยาทาภายนอก และบริโภคโดยที่ไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นอันตรายกับสัตว์หรือมนุษย์   แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) Culvenor และคณะได้ทดลองสกัดสารกลุ่ม PAs (Pyrrxolizidine Alkaloids) ออกมาจากใบของต้นคอมเฟรย์ และฉีด (ไม่ได้ผ่านระบบย่อยอาหาร) เข้าไปในหนูทดลอง และรายงานผลความเป็นพิษ  และได้มีผลการทดลองอย่างอื่นตามมาจนมีผลให้มีการจำกัด หรือระงับการใช้งานสมุนไพรที่มีประวัติศาสตร์การใช้งานในมนุษย์อย่างยาวนาน ในบางประเทศ  ในประเด็นดังกล่าวฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้แย้งว่า PAs นั้นจริงๆ แล้วมีหลายชนิด มีทั้งที่มีพิษ และไม่มีพิษ และ หลายชนิดก็ถูกนำมาใช้งานให้เป็นประโยชน์ในมนุษย์อย่างกว้างขวาง เช่น มอร์ฟีน (ใช้บรรเทาอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง) ควินิน (ใช้รักษาโรคมาเลเรีย) และนิโคติน เป็นต้น   โดยปกติในใบคอมเฟรย์จะมี PAs อยู่ประมาณ 0.06% และในรากจะมีประมาณ 0.2-0.4%  จึงกลายเป็นประเด็นโต้แย้งว่ามนุษย์ไม่ควรจะบริโภค PAs เลยหรือไม่  และปริมาณของ PAs ที่เล็กน้อยมากในคอมเฟรย์ควรจะทำให้เราตัดสินใจห้ามการใช้งานคอมเฟรย์อย่าง เด็ดขาดเลยหรือไม่   การพิจารณาเรื่องราวเหล่านี้จึงควรพิจารณาคำถามต่อไปนี้

1. นักวิจัยศึกษาความเป็นพิษในคอมเฟรย์อย่างไรเทียบกับการใช้งานจริง?
ใน ผลการวิจัยครั้งแรกของ Culvenor เป็นการสกัดสารกลุ่ม PAs ออกมาจากคอมเฟรย์และฉีดเข้าไปในหนูทดลองจนกระทั่งมีภาวะตับเป็นพิษ  ซึ่งจะแตกต่างจากการบริโภคที่สารกลุ่ม PAs อาจจะไม่ได้รับการดูดซึมเข้าร่างกายเหมือนกับการฉีดเข้าไปตรงๆ ในกระแสเลือด    แต่หากละประเด็นเรื่องการดูดซึมผ่านระบบย่อยอาหาร และมีการแปลงระดับความเป็นพิษในหนูทดลองมาเป็นในมนุษย์  โดยใช้สมมุติฐานว่าปริมาณ PAs 0.33 มิลลิกรัม ต่อใบของต้นคอมเฟรย์พบว่าหากมนุษย์มีการบริโภคเพียง 1 ใบต่อวันจะไม่ได้รับสารพิษ PA ในระดับที่จะเป็นพิษต่อมนุษย์ได้  ซึ่ง Culvenor เองก็เห็นด้วยว่าการบริโภคในปริมาณน้อยจะไม่เป็นพิษ  ส่วนระดับที่จะทำให้เกิดเป็นพิษแบบเฉียบพลันนั้นมนุษย์จะต้องรับประทานใบ คอมเฟรย์มากถึง 66,300 ใบในคราวเดียว  นับเป็นจำนวนที่เป็นไปไม่ได้แม้นแต่จะแบ่งมารับประทานใน 10 วัน   อย่างไรก็ตาม Culvenor กลับไปสรุปว่ามีคนตายจากการบริโภคคอมเฟรย์ ทั้งๆ ที่คนนั้นอาจจะเสียชีวิตจากปัจจัยอื่น   ส่วนการทำให้เกิดอาการตับเป็นพิษที่เกิดจากรับประทานต่อเนื่องนั้น  คนเราจะต้องรับประทานคอมเฟรย์วันละ 4 กิโลกรัมติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์จึงจะเกิดอาการเป็นพิษดังกล่าวก็ยังเป็นปริมาณที่แตกต่างจากการใช้ งานจริงในวงการสมุนไพร

2. คอมเฟรย์มีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง (carcinogenic) หรือไม่?
ผล งานวิจัยของ Hirono จากการทดลองขนาดเล็กและสรุปว่า PAs ในคอมเฟรย์มีสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ  ไม่เหมาะแก่การบริโภค  ในขณะที่ผลการติดตามสัตว์ที่ถูกเลี้ยงด้วยคอมเฟรย์จากโรงฆ่าสัตว์กลับไม่พบ ความผิดปกติในสัตว์ที่บริโภคคอมเฟรย์เลย  และผลวิจัยทางการแพทย์แทบจะไม่พบคนไข้ที่เป็นมะเร็งในตับจากการบริโภค สารกลุ่ม PAs แต่กลับจะพบในกลุ่มของคนไข้ที่ติดการดื่มแอลกอฮอล์อย่างรุนแรงมากกว่า   ทำให้ยังเป็นข้อกังขาว่าการบริโภคในปริมาณน้อยจะทำเกิดมะเร็งจริงหรือไม่

3.การสรุปว่าสารกลุ่ม PAs เป็นพิษทั้งหมดถูกต้องหรือไม่?
การ ศึกษาของ Garrett ในปี ค.ศ. 1982 พบว่าการให้สัตว์ทดลองบริโภคคอมเฟรย์ในระดับ 5% ของอาหารที่รับประทานไม่พบการเปลี่ยนแปลงของเอ็มไซน์ (แสดงระดับความเป็นพิษเลย)  แต่การบริโภค Oxford Ragwort เพียง 1% ก็เริ่มแสดงอาการเป็นพิษในตับแล้ว  นักวิจัยยังได้เพิ่มสัดส่วนของคอมเฟรย์ไปถึง 20% ก็ยังไม่ได้แสดงความเป็นพิษเท่ากับ Ragwort เพียง 1%   นี่จึงสามารถอธิบายได้ว่าสาร PAs ใน Ragwort มีความเป็นพิษสูงกว่าในคอมเฟรย์มาก  เราจึงไม่เห็นความเป็นพิษในสัตว์ที่บริโภคคอมเฟรย์ และหมายความว่าเราไม่ควรจะสรุปโดยรวมว่าการมีสารกลุ่ม PAs ในพืชจะทำให้เป็นพิษเสมอไป   จะต้องมาดูรายละเอียดว่าเป็นสารตัวไหน

4.ผลงานวิจัยเรื่องความเป็นพิษควรจะถูกตีความเป็นอย่างไร?
หากแปลงปริมาณของสาร PAs จากคอมเฟรย์ที่จะทำให้เกิดความเป็นพิษในหนูมาเป็นในมนุษย์จะมีปริมาณเทียบเท่าดังนี้
- เสียชีวิตทันทีหากรับประทานใบคอมเฟรย์จำนวนมากกว่า 66,300 ใบ (ประมาณ 332 กิโลกรัม)
- ไม่มีผลกระทบหากรับประทานใบคอมเฟรย์จำนวนน้อยกว่า 16,600 ใบ (ประมาณ 83 กิโลกรัม)
- มีผลในการทำลายเซลของตับหากรับประทานใบคอมเฟรย์ต่อเนื่องกันทุกวันอย่างน้อย 3 สัปดาห์ และรับประทานอย่างน้อยวันละ 890 ใบต่อวัน (ประมาณ 4 กิโลกรัมต่อวัน)

ส่วนการเป็นมะเร็งในสัตว์ทดลองที่บริโภคคอมเฟรย์ มากกว่า 33% ของอาหารที่บริโภค  พบว่าเป็นมะเร็งในระยะยาวบางส่วน  เมื่อศึกษานัยสำคัญของผลการทดลองแล้วพบสัตว์บางส่วนเสียชีวิตเนื่องจากอายุ มากก่อนที่จะแสดงอาการเป็นมะเร็ง  ดังนั้นระดับความเป็นพิษที่จะก่อให้เกิดมะเร็งจากคอมเฟรย์จึงน่าจะน้อยมาก

ถึง แม้นว่าผลการทดลองเรื่องความเป็นพิษของคอมเฟรย์จะยังไม่ชัดเจนว่าระดับความ เป็นพิษจะมีนัยสำคัญอย่างที่กังวัลกันหรือไม่  เพื่อความสบายใจองค์กรอาหารและยาในหลายประเทศจึงแนะนำไม่ให้บริโภคคอมเฟรย์ และแนะนำการใช้งานในฐานะสมุนไพรดังนี้ :
- ใช้คอมเฟรย์เป็นยาทาภายนอกอย่างเดียว  ไม่ควรรับประทาน (ทั้งๆ ที่ก็ยังมีคนรับประทานใบคอมเฟรย์อยู่เป็นจำนวนมาก)
- ไม่ควรใช้หากมีแผลเปิด
- ไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันทุกวันเกิน 10 วัน
- ใน 1 ปีไม่ควรใช้คอมเฟรย์เป็นจำนวนวันเกิน 4-6 สัปดาห์

ใน บางประเทศมีความกังวัลใจว่าการใช้เป็นยาทานภายนอกก็อาจจะทำให้มีสาร PAs ซึมเข้าสู่ร่างกาย  แม้นว่าปริมาณที่ซึมจะน้อยมากจนไม่ทำให้เป็นอันตรายใดๆ  แต่ในทางปฏิบัติพวกเขาไม่อาจคาดเดาพฤติกรรมการใช้ยาของผู้บริโภค  เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในบางประเทศก็ประกาศห้ามใช้คอมเฟรย์ในยา ทาภายนอกด้วย

เพื่อนๆ อาจจะสงสัยว่าถ้าหากคอมเฟรย์มีพิษ ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากแล้วทำไมคนยังอยากนำเอาคอมเฟรย์ไปใช้เป็นยาทาภาย นอก  ความจริงก็คือในคอมเฟรย์มีสารที่ช่วยเร่งการสร้างเซลสมานแผล เช่น allantoin, rosmarinic acid และ tannins   นักวิทยาศาสตร์คิดว่าสารสำคัญหลักคือ Allantoin ซึ่งก็พบในนมของแม่ในช่วงให้นมเด็กทารก  เข้าใจว่าเป็นสารที่มีประโยชน์ในการสร้างเซลใหม่ๆ ในทารก  ชื่อวิทยาศาสตร์ของคอมเฟรย์เองก็มาจากภาษากรีก Symphytum ซึ่งแปลว่า "เชื่อม" หรือ "สมาน"  ชื่อเดิมของคอมเฟรย์ในภาษาอังกฤษแปลว่า "เชื่อมกระดูก"

ในอดีตจะใช้คอมเฟรย์มาทุบให้ละเอียดแล้วประคบบริเวณ ที่กระดูกหักอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงต่อวัน เชื่อกันว่าสารในคอมเฟรย์จะซึมเข้าไปและช่วยรักษาอาการกระดูกหักให้หายเร็ว ขึ้น  คุณสมบัติที่ช่วยเชื่อมประสานผิวหนังของคอมเฟรย์จึงถูกนำมาใช้ในการทารอย แผลถลอก  ปัจจุบันมีการนำสารสกัดจากคอมเฟรย์ไปใช้ในด้านการรักษาสิว  ทำให้รอยแผลจากสิวสมานได้เร็วขึ้น  ลดโอกาสการเกิดแผลเป็นจากสิวอักเสบ  และยังถูกนำมาผสมในเครื่องสำอางหลายชนิดเพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้ผู้ใช้ผิว ที่เรียบสวยขึ้น

ประเด็นข้อควรระวังในการใช้คอมเฟรย์คือไม่ควรจะใช้ กับบาดแผลลึก  เนื่องจากสาร Allantoin ในคอมเฟรย์จะทำให้ผิวหนังสมานกันเร็วเกินไปในขณะที่แผลที่อยู่ลึกลงไปอาจจะ ยังติดเชื้อ  ทำให้เกิดเป็นหนองฝังใน  (การแพทย์ในปัจจุบันก็ไม่แนะนำให้ใช้คอมเฟรย์กับแผลเปิดเช่นกัน)  ควรจะใช้กับเฉพาะแผลถลอก  หรือใช้ในช่วงหลังที่แผลเริ่มสมานแล้วเพื่อใช้ลดโอกาสการเกิดแผลเป็นเท่า นั้น

ส่วนการกิน (บริโภค) คอมเฟรย์นั้น ทางการแพทย์ไม่แนะนำให้บริโภค  แต่กลุ่มคนที่บริโภคเชื่อว่าคอมเฟรย์จะช่วยบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ บรรเทาอาการแน่นอก  ความคิดเห็นส่วนตัวผมคิดว่าไม่น่าจะนำมารับประทานเนื่องจากเราสามารถใช้ยา อื่นที่ปลอดภัยกว่าทดแทนคุณสรรพทางยาจากการบริโภคคอมเฟรย์  ส่วนการใช้เป็นยาทาภายนอกนั้นน่าสนใจทีเดียว  โดยเฉพาะสำหรับสาวๆ  ยิ้ม

อาหารสัตว์
นอก เหนือจาก Allatoin แล้วคอมเฟรย์ยังโดดเด่นที่มีปริมาณโปรตีนในใบแห้งมากพอๆ กับที่พบในถั่วเหลือง  แต่หากเปรียบเทียบผลผลิตโปรตีนต่อไร่แล้วคอมเฟรย์จะให้โปรตีนมากกว่าถั่ว เหลืองถึง 20 เท่า  อย่างไรก็ตามคุณสมบัติการเป็นพืชสร้างโปรตีนที่เร็วที่สุดชนิดหนึ่งจึงทำ ให้มนุษย์เลือกใช้คอมเฟรย์มาเป็นอาหารให้สัตว์ เช่น หมู แกะ แพะ เป็ด ไก่ นก ม้า เป็นต้น ส่วนวัวและกระต่ายก็สามารถกินคอมเฟรย์ได้ แต่พวกเขาจะไม่ค่อยชอบรสชาติของคอมเฟรย์เท่าไหร่


อย่างไรก็ตามข้อ ด้อยของคอมเฟรย์เมื่อเทียบกับถั่วเหลือง หรือพืชวงศ์ถั่วอื่นๆ คือเชื่้อไรโซเบียมที่อยู่ในรากถั่วเหลืองสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้  แต่คอมเฟรย์ไม่มีความสัมพันธ์ดังกล่าวกับเชื่อไรโซเบียม  จึงทำให้ต้องการธาตุไนโตรเจนจากปุ๋ยเพื่อใช้ในการสร้างโปรตีน  ทำให้การปลูกเพื่อใช้ในการค้ามีต้นทุนของปุ๋ยเพิ่มเติมขึ้นมาเมื่อเทียบกับ การปลูกถั่ว  เพื่อแก้ไขปัญหานี้ในฟาร์มขนาดเล็กจะปลูกคอมเฟรย์ปนอยู่กับพืชวงศ์ถั่ว  เพื่อลดภาระในการใส่ปุ๋ย  แต่วิธีการนี้ไม่เหมาะกับเกษตรเชิงเดี่ยว

เมื่อ ประกอบกับรสชาติคอมเฟรย์ที่ไม่อร่อยสำหรับสัตว์บางชนิด (เช่น วัว กระต่าย)  ความสงสัยในเรื่องความเป็นพิษต่อสัตว์หากให้ในปริมาณมาก และความยุ่งยากในการเก็บเกี่ยว (ต้องใช้แรงงานคนไม่สามารถใช้เครื่องจักรได้ และไม่สะดวกในการเก็บไว้นานๆ เหมือนเมล็ดถั่วแห้ง)  ทำให้คอมเฟรย์ไม่ได้รับความนิยมในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่  ความนิยมใช้คอมเฟรย์จึงอยู่ในกลุ่มเกษตรรายเล็ก และเกษตรผสมผสานเนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่า  และคอมเฟรย์เป็นพืชยืนต้นที่มีอายุหลายสิบปี  ไม่ค่อยมีศัตรูทางธรรมชาติ  ทนแล้ง ไม่ต้องดูแลมากนัก  ทำให้ไม่ต้องปลูกใหม่ทุกๆ ปีเหมือนพืชวงศ์ถั่ว

มีรายงานถึงผลดีในใช้คอมเฟรย์ในการเลี้ยงสัตว์หลายอย่างดังนี้ (ข้อมูลจาก http://www.coescomfrey.com ) :
- ไก่ที่กินคอมเฟรย์จะให้ผลผลิตไข่มากขึ้น และไข่มีสีเหลืองเข้มมากขึ้น หรือออกไปทางสีส้ม
- แพะ แกะ และวัว (มีบางแหล่งบอกว่าวัวไม่ค่อยชอบกินคอมเฟรย์ ต้องผสมกับอาหารอื่น) ที่กินคอมเฟรย์จะให้ผลผลิตนมมากขึ้น  และกินฟางได้มากขึ้น
- สามารถใช้คอมเฟรย์ผสมในอาหารของหมู และช่วยลดปริมาณอาหารลง 25-35%
- การใช้คอมเฟรย์เลียงไส้เดือนจะช่วยเพิ่มจำนวนประชากรของไส้เดือนได้สูงสุดถึง 4 เท่า

ใน เรื่องจากใช้คอมเฟรย์เลี้ยงสัตว์นั้น ตอนนี้ผมยังไม่ได้เลี้ยง แต่คิดเล่นๆ ว่าถ้าเราปลูกคอมเฟรย์ในบริเวณที่ต่ำกว่าของคอกสัตว์  เวลาสัตว์ถ่ายมูล (ซึ่งมีไนโตรเจนสูง) ออกมาก็จะไหลซึมลงมาในบริเวณที่เราปลูกคอมเฟรย์  แล้วเราก็ตัดคอมเฟรย์กลับไปให้สัตว์กินเป็นครั้งคราวคงจะดีไม่น้อย  คอมเฟรย์จะได้ช่วยทำหน้าที่จับไนโตรเจนที่ไหลซึมลงดินบริเวณคอกกลับมาเป็น อาหารสัตว์ที่มีโปรตีนสูงได้อีก  นับเป็นวงจรชีวิตของธาตุไนโตรเจนที่ดีไม่ใช่น้อย   ความจริงเราก็สามารถทำได้อย่างเดียวกันโดยใช้พืชชนิดอื่น  แต่คอมเฟรย์น่าสนใจกว่าพืชผักชนิดอื่นตรงที่เป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลมาก  และสามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละหลายครั้ง

ปุ๋ย
ประโยชน์ หลักอีกอย่างหนึ่งของคอมเฟรย์คือใช้ในการทำปุ๋ย  คอมเฟรย์มีระบบรากที่ลึกมากจนได้ชื่อว่า "dynamic accumulator" เนื่องจากคอมเฟรย์จะไปหาอาหารจากดินชั้นล่างที่พืชอื่นไม่ค่อยมีรากลงไปลึก ถึง (รากของคอมเฟรย์ลึกได้ถึง 3 เมตร  ใกล้เคียงกับความลึกของรากหญ้าแฝก)  คอมเฟรย์จะนำสารอาหารจากดินชั้นล่างมาสะสมใบและลำต้น  เมื่อเราใช้ต้นคอมเฟรย์มาทำเป็นปุ๋ยก็จะทำให้สารอาหารเหล่านั้นถูกปลดปล่อย ออกมา  จุดเด่นมีคอมเฟรย์คือแร่ธาตุโพแทสเซียมค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับ ปุ๋ยชีวภาพอื่นๆ  ธาตุโพแทสเซียมจำเป็นสำหรับพืชในช่วงการสร้างดอก เมล็ด และผล  ทำให้ในต่างประเทศมีการปลูกคอมเฟรย์ปนอยู่กับต้นผลไม้  ชาวสวนจะคอยตัดคอมเฟรย์ที่โคนต้นสูงจากพื้นดินอย่างน้อย 1-2 นิ้ว  เพื่อให้ใบและลำต้นของคอมเฟรย์ย่อยสลายเป็นปุ๋ยให้กับต้นผลไม้ จำนวนรอบของการตัดต้นคอมเฟรย์ในต่างประเทศจะประมาณ 3-4 ครั้งต่อปีเนื่องจากมีแสงแดดน้อยกว่าในเขตร้อนอย่างประเทศไทย  ผลการทดลองในทวีปอาฟริกาพบว่าสามารถตัดได้บ่อยถึง 10-12 ครั้งต่อปี  แต่ในประเทศไทยยังไม่มีผลการศึกษาของพืชชนิดนี้

จุดเด่นที่สองของ คอมเฟรย์คือมีธาตุไนโตรเจนในสัดส่วนที่สูง (เข้าใจว่าอยู่ในโปรตีนที่มีปริมาณสูง) มีเส้นใย (fiber) น้อย  ทำให้สามารถย่อยสลายได้เร็วมากกว่าพืชทั่วๆ ไป  จึงมีการนำคอมเฟรย์มาใช้เป็น "compost activator" คือเป็นตัวเร่งการย่อยสลายของปุ๋ยหมัก  มีเกษตรกรหลายรายปลูกคอมเฟรย์ไว้ใกล้ๆ บริเวณกองปุ๋ยหมัก  ทุกครั้งที่ทำปุ๋ยหมักก็จะตัดต้นคอมเฟรย์โยนเข้าไปผสมกับวัสดุอื่นๆ ที่ใช้ในการทำปุ๋ยหมัก  ทำให้กลายเป็นปุ๋ยเร็วขึ้น   มีบางคนยังใช้ต้นคอมเฟรย์ทดแทนมูลสัตว์ในสูตรการทำปุ๋ย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่หามูลสัตว์ได้ยาก   ในต่างประเทศยังนำต้นคอมเฟรย์มาใช้ทำปุ๋ยหมักน้ำ (เรียกว่า Comfrey Tea)  ซึ่งได้ผลดีกับพืชผักต่างๆ โดยเฉพาะพวกผักที่เราทานผล เช่น มะเขือเทศ เป็นต้น
คอมเฟรย์

พันธุ์
คอมเฟรย์ทั่วไปจะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Symphytum officinale เป็นพืชในวงศ์ Boraginaceae เช่นเดียวกับหญ้างวงช้าง แต่เนื่องจากคุณสมบัติที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมทำให้ยากต่อการควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ และการกำจัดต้นคอมเฟรย์เมื่อไม่ต้องการ  ในบางพื้นที่จึงถือว่าคอมเฟรย์เป็นวัชพืช และมีความพยายามในการกำจัดคอมเฟรย์ชนิดนี้

ต่อมามนุษย์จึงทำทดลองการผสมคอมเฟรย์ 2 สายพันธุ์คือ  Symphytum officinale (Common Comfrey) และ Symphytum asperum (Rough Comfrey) กลายมาเป็นคอมเฟรย์รัสเซีย (Symphytum × uplandicum) โดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อ Lawrence D Hills ในช่วงปี ค.ศ. 1950s ได้ทำการพัฒนาสายพันธุ์โดยการแบ่งพื้นที่ทดลองออกมาเป็นแปลงหลายแปลงทดลอง ปรากฎว่าใน Bocking 14 ได้เป็นสายพันธุ์ที่ไม่เป็นพืชรุกรานเนื่องจากเมล็ดของคอมเฟรย์ชนิดนี้จะ เป็นหมัน  ไม่สามารถขยายพันธุ์เองโดยเมล็ดได้ ทำให้ต้องขยายพันธุ์ด้วยการแบ่งรากเท่านั้น (คอมเฟรย์รัสเซียต้องใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะโตเต็มที่ และสามารถใช้ในการขยายพันธุ์ได้)   ในปัจจุบันคอมเฟรย์รัสเซียสายพันธุ์ Blocking 14 จึงเป็นที่นิยมในบรรดานักทำสวนมากกว่าคอมเฟรย์สายพันธุ์ดั้งเดิม  แต่ก็จะหาซื้อต้นพันธุ์ได้ยากมากกว่าพอสมควร (เนื่องจากขยายพันธุ์ได้ช้า)

สุด ท้ายแล้วในบรรดาการใช้ประโยชน์ของคอมเฟรย์  การใช้คอมเฟรย์มาทำปุ๋ยในสวนผลไม้เป็นสิ่งที่ผมสนใจมากที่สุด   เรื่องราวของคอมเฟรย์จากความรู้ในต่างประเทศฟังดูน่าสนใจมาก แต่ข้อมูลของคอมเฟรย์ในประเทศไทยมีให้ศึกษาน้อยมาก   ตอนนี้ที่สวนขี้คร้านยังไม่มีต้นคอมเฟรย์ประจำการอยู่  จึงยังไม่สามารถทำการทดลองได้  ในประเทศไทยนั้นมีชาวต่างชาติ และคนไทยที่เคยอยู่ในต่างประเทศนำคอมเฟรย์เข้ามาปลูกไม่กี่รายในวงจำกัดทำ ให้ยากในการหาแหล่งซื้อต้นพันธุ์ในประเทศ  โดยเฉพาะการหาคอมเฟรย์รัสเซียสายพันธุ์ Blocking 14  แต่หวังว่าในไม่ช้าสวนขี้คร้านคงจะมีโอกาสได้ต้อนรับต้นคอมเฟรย์มาเป็น สมาชิกในห้องทดลองแห่งนี้บ้าง  ไม่รู้ว่าจะได้ผลดีเหมือนในต่างประเทศหรือไม่ ยิ้มเท่ห์


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมใน http://my-experimental-farm.blogspot.com/p/plants.html

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

5 มีนาคม 2557

ผักชีล้อม - เฟนเนล - ผักชีฝรั่ง - ยี่หร่า

คำว่า "ผักชีล้อม"  ในประเทศไทยหมายถึงพืช 3 ชนิด คือ (เครดิตภาพทั้งหมดจากอินเทอร์เน็ต)

1. ผักชีล้อม  ชื่อวิทยาศาสตร์ Foeniculum vulgare วงศ์  Apiaceae เช่นเดียวกับผักชีลาว ชื่อภาษาอังกฤษ Fennel (ต้นโกฐจุฬามีชื่อภาษาอังกฤษว่า Dog Fennel) ชื่ออื่น  เทียนแกลบ และผักชีเดือนห้า  ก่อนจะได้ชื่อผักชีล้อม ผักชนิดนี้มีชื่อเรียกกันอย่างสับสนว่า ยี่หร่าบ้าง ผักชีฝรั่งบ้าง  แต่จริงๆ แล้วยี่หร่าจะเป็นอีกต้นหนึ่ง และผักชีฝรั่งก็จะเป็นอีกต้นหนึ่ง ดังนั้น เพื่อความเป็นกลางและเข้าใจตรงกัน กรมวิชาการเกษตรจึงประกาศไว้ในบัญชีแนบท้ายประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องทะเบียนพันธุ์พืชในประเทศไทย กำหนดให้เรียกเครื่องเทศชนิดนี้ว่า ผักชีล้อม (เดิมมีคนเรียกทับศัพท์ว่า "เฟนเนล" เพื่อไม่ให้สับสน) เป็นชื่ออย่างเป็นทางการในภาษาไทย ใบคล้ายขนนก รสชาติหวานหอม มีน้ำมันหอมที่สำคัญ คือ anethole 50-80% ส่วนที่รับประทานได้ มีทั้ง “ผล” หรือที่เราเรียกว่า “เมล็ด” และส่วนของลำต้น และใบ

ผักชีล้อม เฟนเนล ผักชีล้อม เฟนเนล

2. ผักชีล้อม ชื่อวิทยาศาสตร์ Oenanthe stolonifera หรือ Oenanthe javanica วงศ์  Apiaceae เช่นเดียวกับ Fennel ชื่อภาษาอังกฤษ Water dropwort ชื่ออื่นคือ จีอ้อ, ผักอัน และผักอันอ้น พืชล้มลุกโผล่เหนือน้ำหรือทอดเลื้อยตามผิวดิน สูง 10 – 100 ซม. ต้นกลวงผิวภายนอกเป็นร่อง ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก 1 – 3 ชั้น ใบย่อยรูปรีแคบหรือรูปไข่ กว้าง 0.2 – 3.5 ซม. ยาว 0.8 – 6 ซม. โคนใบเบี้ยว ปลายแหลม ขอบใบจักฟันเลื่อย ดอก ขนาดเล็กสีขาวออกเป็นช่อซี่ร่ม ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 5 อัน ผล เดี่ยวแบบ ผลแห้งแก่แล้วแตกเป็นสองส่วน รูปค่อนข้างกลมเป็นสัน ขนาด 2 – 3 ซม. และมีก้านเกสรเพศเมียที่ไม่หลุดร่วง ยาว 1 – 3 มม.
ผักชีล้อม ผักอัน

3. ผักชีล้อม  ชื่อวิทยาศาสตร์ trachyspermum rox-burghianum  หรือ Carum roxburghianum วงศ์ Apiaceae เช่นกัน ชื่อภาษาอังกฤษ wild celery หรือ Radhuni (ตามชื่อในภาษาอินเดีย)  ชื่ออื่น ต้นหอมแย้ ยำแย้ หรือ อีแงะ
ผักชีล้อม ต้นหอมแย้

ส่วน ยี่หร่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum gratissimum วงศ์ Lamiaceae ชื่ออังกฤษ Tree Basil
ยี่หร่า ยี่หร่า

ส่วนผักชีฝรั่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Eryngium foetidum วงศ์ Apiaceae เช่นเดียวกันกับผักชี ชื่ออังกฤษ: culantro หรือ Long Cariander เป็นไม้ล้มลุกเมืองร้อนปีเดียวหรือหลายปี
ผักชีฝรั่ง

สนใจเรื่องพืชที่น่าสับสนแบบนี้อีกติดตามได้ที่ http://my-experimental-farm.blogspot.com/p/plants.html

สนใจเรื่องราวต่างๆ ในสวนขี้คร้านติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

4 มีนาคม 2557

โกฐจุฬา - โกฐจุฬาลัมพา - ผักชีลาว - รากสามสิบ - ผักชีล้อม

เจ้าต้นโกฐจุฬาของ ผมกำลังออกดอกเหมือนที่สวนของอาจารย์ยุทธเมืองสุรินทร์ และอาจารย์ตั้มที่ราชบุรี เนื่องจากอาจารย์ยุทธขู่ว่าจะซวยเลยต้องถ่ายรูปต้นนี้มาให้ดูเป็นหลักฐาน เพื่อล้างอาถรรพ์คำพูดของอาจารย์   ต้นนี้ที่สวนขี้คร้านปลูกโดยไม่รดน้ำ แต่ออกดอกเป็นปีที่ 2 แล้ว แต่เมล็ดจากปีที่แล้วไม่ได้งอกใต้ต้นเลย  สงสัยจะโดนแมลงกินไปหมด ผมเองก็เพิ่งทราบว่าขยายพันธุ์ด้วยการปักชำได้ไม่ยาก  เลยคิดว่าว่างๆ จะลองทำดู
โกฐจุฬา

เจ้า ต้น"โกฐจุฬา" นี้ทำผมหน้าแตกตอนไปทริปไปสวนลุงนิลเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา  เนื่องจากผมเข้าใจผิดว่า "โกฐจุฬา" และ "โกฐจุฬาลัมพา" เหมือนกัน  แต่ลักษณะของต้น "โกฐจุฬาลัมพา" ที่ผมไปเจอและลองกินที่โครงการแก้มลิงหนองใหญ่กลับมีใบอีกลักษณะหนึ่ง  ผมคิดเองว่าสงสัยใบอ่อน และใบแก่จะมีลักษณะไม่เหมือนกัน  แต่ก็เอะใจนิดๆ ว่าน่าจะเป็นพืชคนละชนิดกัน   พออาจารย์ตั้มเอารูปมาถามชื่อเลยได้โอกาสค้นคว้าจนพบว่าตัวเองเข้าใจผิด อย่างแรง  เนื่องจาก "โกฐจุฬา" และ "โกฐจุฬาลัมพา" เป็นพืชคนละวงศ์กันด้วยซ้ำไป   แถมแฟนๆ อาจารย์ตั้มยังมาถามเรื่องต้นรากสามสิบอีก  เลยถือโอกาสรวบรวมข้อมูลลงในกระทู้อาจารย์ตั้ม  และขออนุญาตนำมาลงในกระทู้นี้อีกรอบ  โดยภาพด้านล่างทั้งหมดมาจากอินเทอร์เน็ตหลายๆ แหล่งเนื่องจากที่สวนขี้คร้านมีแค่ต้น "โกฐจุฬา" ชนิดเดียวเท่านั้น  ต้นอื่นๆ ยังไม่มีในครอบครอง  จึงขอยกเครดิตให้เจ้าของภาพที่แชร์รูปบนเน็ทให้ค้นคว้า

เรากำลังจะพูดถึงพืช 9 ชนิด ทั้งที่มีชื่อคล้ายต้น "โกฐจุฬา" และมีลักษณะคล้ายตามรายละเอียดในตารางข้างล่าง


โกฐจุฬา  ชื่อวิทยาศาสตร์ Eupatorium capillifolium วงศ์  Asteraceae ชื่อภาษาอังกฤษ Dog fennel มีลักษณะคล้ายต้นผักชีลาว  ลำต้นมีสีเขียวขนาดเล็ก ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวสดออกเรียงสลับกันคล้ายพู่ ดอกมีขนาดเล็กสีขาวออกเป็นช่อ
โกฐจุฬา โกฐจุฬา

ผักชีลาว  ชื่อวิทยาศาสตร์ Anethum graveolens วงศ์  Apiaceae ชื่อภาษาอังกฤษ Dill มีลำต้นมีสีเขียวเข้มขนาดเล็ก ลักษณะใบเป็นใบประกอบแบบขนนกมีสีเขียวสดออกเรียงสลับกัน (ต้นโกฐจุฬาจะเป็นใบเดี่ยว  ถ้าสังเกตุใกล้ๆ จะเห็นความแตกต่างชัดมาก) ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกมีลักษณะคล้ายกับซี่ร่ม


ผักชีล้อม ชื่อวิทยาศาสตร์ Foeniculum vulgare วงศ์  Apiaceae เช่นเดียวกับผักชีลาว ชื่อภาษาอังกฤษ Fennel (ต้นโกฐจุฬามีชื่อภาษาอังกฤษว่า Dog Fennel) ใบคล้ายขนนก รสชาติหวานหอม มีน้ำมันหอมที่สำคัญ คือ anethole 50-80% ส่วนที่รับประทานได้ มีทั้ง “ผล” หรือที่เราเรียกว่า “เมล็ด” และส่วนของลำต้น และใบ  ดอกมีสีเหลืองลักษณะคล้ายกับดอกของผักชีลาว
ผักชีล้อม ผักชีล้อม

รากสามสิบ หรือ สามร้อยราก สาวร้อยผัว ชื่อวิทยาศาสตร์ Asparagus racemosus วงศ์ Asparagaceae นั้นแต่มีลักษณะใบคล้ายกับโกฐขจุฬา แต่ไม่เหมือนกันดังรูปด้านล่าง และจะเป็นไม้เลื้อย  ที่สำคัญคือตามข้อเถามีหนามแหลม มีเหง้าและรากใต้ดินออกเป็นกระจุกคล้ายกระสวยออกเป็นพวงคล้ายรากกระชาย
รากสามสิบ รากสามสิบ

โกฐจุฬาลัมพา ก็เป็นชื่อที่ใช้เรียกไม้ในสกุล Artemisia วงศ์ Asteraceae มีอยู่สามชนิดตามชื่อวิทยาศาสตร์คือ

Artemisia annua ชื่อภาษาอังกฤษ sweet wormwood, sweet annie, sweet sagewort หรือ annual wormwood  ชื่อภาษาจีน ชิงฮาว, แชเฮา   ต้นนี้น่าจะเป็นต้นที่คุณ jeenpat พูดถึงว่าเอาไว้ทำเครื่องยาสมุนไพร
โกฐจุฬาลัมพา โกฐจุฬาลัมพา

Artemisia pallens ชื่อภาษาอังกฤษ Davanam หรือ Davana
โกฐจุฬาลัมพา

Artemisia vulgaris  ชื่อภาษาอังกฤษ Mugwort ต้นที่ 3 นี้เป็นแบบที่โครงการแก้มลิงหนองใหญ่เขาเอามาให้รับประทานเป็นผักแก้มกับ น้ำพริก  อร่อยดีครับ  ทางใต้ปลูกกันเยอะ ขยายพันธุ์ด้วยการชำกิ่งได้ง่าย  ประกาศ...พี่ๆ เพื่อนๆ ที่แอบปล้นมาจากทริปชุมพรแล้วปักชำรอด  กรุณาบอกพิกัดให้ไปปล้นด้วย
โกฐจุฬาลัมพา โกฐจุฬาลัมพา

อีกตัวที่น่าสนใจไม่น้อยคือ "จิงจูฉ่าย" ชื่อวิทยาศาสตร์ Artemisia lactiflora อยู่ในวงศ์ Asteraceae เช่นกัน ชื่อภาษาอังกฤษ White mugwort บางท่านแปลเป็นภาษาไทยว่าโกฐจุฬาลัมพาขาว
จิงจูฉ่าย จิงจูฉ่าย

สุดท้ายคือโกฐจุฬาลัมพาญี่ปุ่น ชื่อวิทยาศาสตร์  Artemisia Princeceps (โกฐจุฬาลัมพาแบบของญี่ปุ่น เรียกกันว่า Yomogi)
โกฐจุฬาลัมพาญี่ปุ่น

สนใจติดตามชื่อวิทยาศาสตร์ของโกฐชนิดอื่นๆ ได้ที่ http://my-experimental-farm.blogspot.com/2014/09/blog-post.html

สนใจเรื่องพืชที่น่าสับสนแบบนี้อีกติดตามได้ที่ http://my-experimental-farm.blogspot.com/p/plants.html

สนใจเรื่องราวต่างๆ ในสวนขี้คร้านติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

3 มีนาคม 2557

พฤกษ์ - ราชพฤกษ์ - กัลปพฤกษ์ - ชัยพฤกษ์ - กาฬพฤกษ์

เนื่องจากกำลังทำการบ้านเพาะต้นกัลปพฤกษ์ และสังเกตุว่าฝักกัลปพฤกษ์คล้ายกับฝักราชพฤกษ์ แต่ไม่เหมือนกัน  จึงไปค้นคว้าเพิ่มเพิม  พบว่ามีหลายต้นที่มีคำว่า "พฤกษ์" อยู่เป็นพืชตระกูลถั่วทั้งนั้น  และมีลักษณะคล้ายๆ กัน จึงถือโอกาสมาแบ่งปันข้อมูลของสาระพัด "พฤกษ์" กันครับ

พฤกษ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Albizia lebbeck   ชื่ออังกฤษ : East Indian walnut, frywood, Indian siris, koko) วงศ์ Leguminosae - Mimosoideae สูง 15-25เมตร  ดอก สีเขียวอ่อนปนเหลือง ออกดอกเป็นช่อใกล้ปลายยอด ดอกย่อยรวมกันเป็นกระจุกแน่น กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น5แฉก  ฝักแบนรูปขอบขนานกว้าง 2 ซม. ยาว 12 ซม.


นิเวศวิทยา : พฤกษ์เป็นต้นไม้โตเร็วและทนทาน เหมาะสำหรับปลูกในที่เสื่อมโทรมและแห้งแล้งสามารถปรับปรุงสภาพดินให้สมบูรณ์ขึ้นได้ เนื่องจากเป็นพวกถั่วซึ่งสามารถจับไนโตรเจนจากอากาศมาเปลี่ยนเป็นปุ๋ยไนเทรตได้ดี ขึ้นได้ดีในพื้นที่เสื่อมโทรม เป็นไม้เบิกนำที่ดี พบขึ้นอยู่ตามป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของไทย

ออกดอก : มีนาคม - เมษายน เป็นฝัก กันยายน - ธันวาคม

ประโยชน์ : ใบอ่อนและยอดอ่อนของพฤกษ์ นำมากินเป็นผักได้ เช่น ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกปลาร้า ฯลฯ โดยนำไปทำให้สุกเสียก่อน เช่น ต้ม, ลวก, ย่าง ฯลฯ นอกจากนี้ยังนำไปปรุงอาหารตำรับอื่นๆได้อีก เช่น แกงส้ม เป็นต้น ยอดพฤกษ์เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และรสชาติดีไม่แพ้ผักพื้นบ้านชนิดอื่นๆ
เนื้อไม้แข็ง ลายไม้สวย ใช้ทำสิ่งปลูกสร้าง เครื่องมือทาง การเกษตร เปลือกให้น้ำฝาดใช้ฟอกหนัง เปลือกมีรสฝาดใช้รักษาแผลในปาก ลำคอ เหงือก เมล็ดรักษาโรคผิวหนัง ใบใช้ดับพิษร้อนทำให้เย็น

ประวัติ : พฤกษ์มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชีย ในอดีตที่คนไทยภาคกลางเรียกพฤกษ์ว่าจามจุรีหรือจามรี น่าจะเป็นเพราะลักษณะดอกเป็นฝอย และมีสีออกเหลืองคล้ายแส้ขนจามรี (จามจุรี) ที่ใช้ในพิธีมงคลนั่นเอง ส่วนที่ได้ชื่อว่าก้ามปู ก็เพราะลักษณะตอนปลายช่อใบคล้ายก้ามปูทะเล จึงเรียกว่า ต้นก้ามปู ต่อมีคนนำต้นราชพฤกษ์มาจากทวีปอเมริกาใต้มาปลูกในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้เอง ชื่อจามจุรี จึงถูกนำไปเรียกใช้เรียกต้นราชพฤกษ์เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะลักษณะดอกที่มีเกสรยาวเป็นฝอย ต่างกันตรงที่สีดอกพฤกษ์มีสีขาวเหลือง แต่ดอกจามจุรี(ใหม่) สีออกชมพูแดง จึงเรียกในสมัยแรกๆ ว่าจามจุรีแดง เพื่อให้เห็นความแตกต่างจากจามจุรีเดิม(พฤกษ์) ซึ่งมี ดอกสีขาวเหลือง ต่อมาเรียกสั้น ลงว่าจามจุรี (เฉยๆ) ไม่มีคำว่า"แดง"ตามหลัง และไม่มีเรียกต้นพฤกษ์ ว่าจามจุรีหรือก้ามปูอีกมาจนถึงปัจจุบัน  ในปัจจุบันยังมีบางถิ่นเรียกต้นพฤกษ์ว่า "จามจุรีสีทอง" เพื่อให้แตกต่างกับต้นจามจุรี(แดง) นั่นเอง


ราชพฤกษ์ หรือ คูณ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassis fistula Linn. ชื่ออังกฤษ Golden Shower Tree, Purging Cassia) วงศ์ Leguminosae - Caesalpinioideae สูง 12-15 เมตร  เวลาออกดอกใบจะร่วง ดอกมีสีเหลือง  ฝักยาวกลม ทรงกระบอก ปลายแหลมสั้น มีสีเขียวเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ ผิวเปลือกแข็งเรียบ ภายในฝักจะมีชั้นกั้นเป็นช่อง ๆ

นิเวศวิทยา : ราชพฤกษ์เจริญเติบโตได้ดีที่สุดในที่โล่งแจ้ง สามารถปลูกได้ทั้งดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย ดินร่วนเหนียว ทนต่อความแห้งแล้งและดินเค็มได้ดี แต่ไม่ทนในอากาศหนาวจัด ซึ่งอาจติดเชื้อราหรือโรคใบจุดได้

ประวัติ : ราชพฤกษ์มีการกระจายพันธุ์ทั่วไปตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย พบปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป และกระจายห่างๆ ตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง คนไทยในสมัยโบราณเชื่อว่าควรปลูกต้นราชพฤกษ์ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่อยู่อาศัย เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านเรือนมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นทวีคูณ ซึ่งความเป็นจริงคือทิศดังกล่าวจะได้รับแดดจัดตลอดช่วงบ่าย จึงควรปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ลดความร้อนและทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น

คนไทยในสมัยโบราณยังมีความเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นราชพฤกษ์ไว้ประจำบ้านจะช่วยให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี และใบของต้นราชพฤกษ์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะในพิธีทางไสยศาสตร์ให้ใบทำน้ำพุทธมนต์สะเดาะเคราะห์ได้ผลดี ดังนั้นจึงถือว่าต้นราชพฤกษ์เป็นไม้มงคล

กระทั่งในปี พ.ศ.2506 มีการประชุมเพื่อกำหนดสัญลักษณ์ต้นไม้และสัตว์ประจำชาติเป็นครั้งแรก โดยกรมป่าไม้ได้เสนอให้ ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูณ ไม้มงคลที่มีประโยชน์และรู้จักกันอย่างแพร่หลายเป็นต้นไม้ประจำชาติ สำหรับสัตว์ประจำชาติก็คือ ช้างเผือก สัตว์ที่มีคุณค่าเกี่ยวข้องกับประเพณีไทยและประวัติศาสตร์ไทยมายาวนาน การเสนอครั้งนั้นไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ

ปี พ.ศ.2530 มีการส่งเสริมให้ปลูกต้นราชพฤกษ์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ โดยมีการส่งเสริมให้ปลูกต้นราชพฤกษ์ทั่วประเทศจำนวน 99,999 ต้น ทุกวันนี้จึงมีต้นราชพฤกษ์อยู่มากมายทั่วประเทศไทย

ข้อสรุปเรื่องสัญลักษณ์ประจำชาติดูเหมือนจะยังไม่ชัดเจน กระทั่งช่วงปี พ.ศ.2544 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ได้นำเรื่องดังกล่าวกลับมาเสนออีกครั้ง และมีข้อสรุปเสนอให้มีการกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติ 3 สิ่งคือ ดอกไม้ สัตว์และสถาปัตยกรรม และการพิจารณาที่ผ่านมาเสนอให้กำหนดดอกไม้ประจำชาติคือ ดอกราชพฤกษ์ สัตว์ประจำชาติ คือ ช้างไทย และสถาปัตยกรรมประจำชาติคือ ศาลาไทย

เหตุที่เลือก ดอกราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้ประจำชาติเพราะมีความเหมาะสมในหลายๆ ด้าน คือ เป็นดอกไม้จากต้นไม้ที่ถูกเสนอให้เป็นต้นไม้ประจำชาติเมื่อครั้งที่กรมป่าไม้เสนอไว้ เป็นต้นไม้ที่มีอายุยืน ทนทาน ปลูกขึ้นได้ดีทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักแพร่หลาย ราชพฤกษ์เป็นไม้มงคลใช้ประโยชน์ในพิธีสำคัญๆ เช่น ลงหลักเมือง ลงเสาเอก ทำคฑาจอมพลและยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร ในช่วงฤดูร้อนราชพฤกษ์จะออกดอกสะพรั่งทั้งต้น ช่อดอกมีรูปทรงสวยงาม สีเหลืองอร่ามเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ รวมทั้งเป็นสีเดียวกับวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นอกจากนี้ความงามของช่อดอก และความหมายที่ดียังถูกจำลองแบบประดับไว้บนอินทรธนูของข้าราชการพลเรือนอีกด้วย


กัลปพฤกษ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia bakeriana Craib ชื่ออังกฤษ Wishing Tree , Pink Cassia ) วงศ์ Leguminosae - Caesalpinioideae สูง 5 - 15 เมตร  ดอกเริ่มบานสีชมพู เมื่อใกล้โรยเปลี่ยนเป็นสีขาว  ฝักรูปทรงกระบอก ยาว 30 - 50 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 - 2.5 ซม.


ชัยพฤกษ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia javanica L. subsp. reigera ชื่ออังกฤษ Pink and white shower tree หรือ Javanese Cassia ) วงศ์ Leguminosae - Caesalpinioideae สูง 5 - 15 เมตร  ดอกเริ่มบานสีชมพู แล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ใกล้โรยดอกสีขาว ฝักกลมเล็กน้อยออกแบน สีดำ ยาว 20 - 60 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 - 1.5 เซนติเมตร


กาฬพฤกษ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia grandis L.f. ชื่ออังกฤษ Pink Shower , Horse Cassia ) วงศ์ Leguminosae - Caesalpinioideae สูง 10 - 20 เมตร ดอกเริ่มบานสีแดง แล้วเปลี่ยนเป็นชมพูตามลำดับ ฝักรูปทรงกระบอก กว้างประมาณ 3 - 4 ซม. ยาว 20 - 40 ซม. สีค่อนข้างดำ ผิวมีรอยแตกและมีสันทั้งสองข้างเมล็ดรูปรี รูปไข่หรือรูปขอบขนาน


สนใจเรื่องพืชที่น่าสับสนแบบนี้อีกติดตามได้ที่ http://my-experimental-farm.blogspot.com/p/plants.html

สนใจเรื่องราวต่างๆ ในสวนขี้คร้านติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

2 มีนาคม 2557

เสลา - ตะแบก - อินทนิล

ต้นนี้น่าจะเป็นอินทนิลน้ํา  จนบัดนี้ผมก็ยังแยกต้นอินทนิลน้ํา ต้นเสลา และต้นตะแบกตอนยังเป็นต้นเล็กๆ ออกจากกันไม่ได้ซะที  โกรธ
เสลา

อินทนิล

ความจริงทั้ง 3 ต้นเป็นญาติกันในวงศ์ LYTHRACEAE โดยมีชื่อวิทยาศาตร์คล้ายกันมาก 

ชื่อไทยชื่อวิทยาศาสตร์ชื่อภาษาอังกฤษชื่ออื่น
เสลาLagerstroemia loudoniSalao
ตะแบกLagerstroemia floribundaBungorตะแบกนา, ตะแบกไข่
อินทนิลน้ำLagerstroemia speciosaPride of India หรือ Queen's flowerตะแบกดำ, ตะแบกอนเดีย
อินทนิลบกLagerstroemia macrocarpaPride of India หรือ Queen's flowerกากะเลา กาเสลา จ้อล่อ จะล่อ ซีมุง ปะหน่าฮอ

มีคนบอกว่าให้สังเกตุความแตกต่างกันที่ลำต้น เปลือกไม้ ใบอ่อน และดอกตูม ดังภาพด้านล่าง (เครดิตภาพจาก http://www.mornor.com/2009/forum/viewthread.php?tid=9281)  ส่วนตอนนี้ก็ได้แต่รอต้นไม้เหล่านี้เขาโตก่อน  อีก 3-4 ปีค่อยมาสังเกตุอีกที  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
เสลา ตะแบก อินทนิล
เปลือกต้นเสลาจะแตกตามยาวเป็นแถบเล็กๆทั้งต้น
เปลือกต้นตะแบกมักจะหลุดล่อนเป็นแผ่นเล็ก ทำให้ลำต้นดูเรียบแต่มีลักษณะเป็นดวงๆสีขาว คล้ายเปลือกต้นฝรั่ง
เปลือกต้นอินทนิลจะแตกตามยาวคล้ายต้นเสลา แต่จะมีปุ่มๆ ขรุขระตามลำต้น ไม่เป็นระเบียบ และเปลือกจะออกดำๆหน่อย

เสลา ตะแบก อินทนิล
เสลา ตะแบก อินทนิล
ใบต้นเสลามีปลายใบมน สีเขียวอ่อน ใบเป็นขนทั้งหน้าใบหลังใบ ใบไม่มัน
ใบต้นตะแบกมีใบเล็ก ปลายใบแหลม ใบมันคล้ายใบอินทนิล และยอดอ่อนจะสีชมพูแดง
ใบต้นอินทนิลบกมีขนาดใหญ่ สีเขียวแก่ ปลายใบมน ใบแข็ง เป็นมันทั้งหน้าใบและหลังใบ ส่วนใบอินทนิลน้ำจะมีปลายใบแหลม ใบบางกว่าอินทนิลบก

เสลา ตะแบก อินทนิล
ดอกตูม ดอกตูมของตะแบกจะหัวแบนๆ ส่วนอินทนิลจะเป็นทรงโดมยอดขรุขระ เสลาจะเป็นทรงโดมยอดโดมเรียบและมีขนปกคลุม

เสลา ตะแบก อินทนิล
ดอกเสลาช่อดอกห้อยย้อย ดอกดกแน่นเป็นพวง สีอ่อนหวานกว่าตะแบกและอินทนิล
ดอกตะแบกช่อดอกจะตั้งขึ้น มีขนาดเล็ก ขึ้นถี่หนาแน่นกว่าดอกอินทนิล
ดอกอินทนิลช่อดอกจะตั้งขึ้น มีขนาดใหญ่ และยาวกว่าดอกตะแบก ช่อดอกห่าง

เสลา ตะแบก อินทนิล

สนใจเรื่องพืชที่น่าสับสนแบบนี้อีกติดตามได้ที่ http://my-experimental-farm.blogspot.com/p/plants.html

สนใจเรื่องราวต่างๆ ในสวนขี้คร้านติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0