ถั่ว ในภาพชื่อ "ถั่วหรั่ง" เป็นถั่วที่ผมได้ยินจากคุณแม่ว่าท่านเคยทานตอนยังเด็กๆ และไม่เคยเห็นมีขายในตลาดมานานมากกว่า 40 ปีแล้ว ส่วนผมไม่ต้องพูดถึง ไม่เคยเห็น ไม่เคยกินถั่วชนิดนี้มาก่อนในชีวิต นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นถั่วชนิดนี้ และหวังว่าจะสามารถขยายพันธุ์ให้คุณแม่ได้รับประทานอีกครั้งในรอบกว่า 40 ปี เรามาทำความรู้จักถั่วหรั่งกันสักนิด
ถั่วหรั่ง (Bambarra Groundnut) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Voandzeia subterranea หรือ Vigna subterranea เป็นพืชตระกูลถั่วล้มลุก มีระบบรากแก้ว ประกอบด้วยลำต้น 2 ชนิด คือ แบบตั้งตรง และเลื้อยขนานไปกับพื้นดิน บนข้อของลำต้นเลื้อยเป็นที่เกิดของใบ รากวิสามัญ รวมทั้งดอกและฝักถั่วหรั่ง ใบเป็นใบประกอบ ดอกถั่วหรั่งเกิดตามมุมโคนก้านใบ สีเหลือง ฝักและเมล็ดเกิดบริเวณที่เคยเป็นที่อยู่ของดอก มีรูปร่างกลมรีเล็กน้อย เปลือกผลชั้นนอกเชื่อมติดกับชั้นกลาง ส่วนเปลือกชั้นในแยกออกต่างหาก เมล็ดภายในมีหลายสี ขึ้นอยู่กับพันธุ์ เช่น ครีม น้ำตาล แดง ม่วง ดำ หรือ แดงลาย ขนาดเมล็ด 1.0 x 0.8 ซม. ความหนาและเหนียวของเปลือกหุ้มเมล็ด (seed coat) ขึ้นอยู่กับพันธุ์เช่นกัน
คุณแม่ผมเรียกถั่วหรั่งว่าถั่ว ผรั่ง ซึ่งมีความหมายเหมือนกันคือ "ถั่วฝรั่ง" หรือถั่วของชาวต่างชาติ (โดยเฉพาะชาวตะวันตก) แต่ถ้าสืบประวัติกันจริงๆ แล้วจะพบว่าถั่วชนิดนี้มีต้นกำเนิดในอาฟริกาตะวันตก สันนิษฐานว่านำเข้ามาครั้งแรกในอินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย โดยชาวตะวันตก ถั่วชนิดนี้จึงเป็นที่รู้จักกันเฉพาะในภาคใต้ สนใจรายละเอียดดูได้ใน VDO
นอกจากความเป็นถั่วในตำนานที่คุณแม่ เล่าให้ฟังแล้ว ถั่วหรั่งยังมีคุณสมบัติทนแล้ง และทนอุณหภูมิสูง เนื่องจากเป็นถั่วที่มีต้นกำเนิดมาจากทวีปอาฟริกา สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีฝนตกตั้งแต่ 300 มม. ต่อปี แต่ปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วง 700 - 1,400 มม. ต่อปี แต่ไม่ควรเกิน 3,000 มม.ต่อปี จ.เพชรบุรี มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในช่วง 900 - 1,100 มม.ต่อปี จึงน่าจะเหมาะสมกับการปลูกถั่วหรั่ง เนื่องจากถั่วหรั่งมีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนจึงสามารถปลูกได้ในสภาพดินเลว โดยเฉพาะพื้นที่ดินทรายที่เพาะปลูกพืชชนิดอื่นไม่ค่อยได้แล้ว ด้วยคุณสมบัติเด่นๆ เหล่านี้ ถั่วหรั่งจึงนับว่าเป็นหนูทดลองชั้นยอดของผมในปีนี้
http://www.underutilized-species.org/documents/Publications/bambara_groundnut_paper.pdf
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น