ความจริงแล้วในโลกมีป่าหลายประเภท แต่ประเทศไทยจะอยู่ในเขต tropical ที่ไม่แห้งแล้งขนาดจะมีทะเลทราย เราจึงมีชนิดของป่าดิบชื้นจนไปถึงป่าทุ่งหญ้าเท่านั้น ประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณรอยต่อระหว่างแนวภูเขาของแผ่นดินใหญ่ทางทิศเหนือกับเกาะต่างๆในมหาสมุทรสองฝั่ง คือมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ได้รับทั้งความหนาวเย็นและความชุ่มชื้นจากลมมรสุม ทำให้พืชพรรณของประเทศไทยมีความ หลากหลาย ประกอบเป็นสังคมพืชที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นชนิดของป่าในประเทศไทย จึงสามารถจำแนกประเภทของป่าตามลักษณะภูมิศาสตร์ต่างๆ อีกดังนี้ :
ป่าดงดิบ (evergreen forest) เป็นสังคมพืชที่ประกอบด้วยพรรณไม้เขียวชอุ่มตลอดปี พบประมาณร้อยละ 30 ของเนื้อที่ป่าในประเทศไทย ป่าดงดิบอาจแยกเป็นกลุ่มย่อยๆคือ
ป่าดิบชื้น (tropical evergreen rain forest) อยู่ในที่ต่ำคือไม่เกิน 100 เมตรจากระดับน้ำทะเล และมีฝนตกมาก พบในภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ป่าประเภทนี้มีซากพืชสะสม อุดมสมบูรณ์ และอุ้มน้ำได้มาก
ป่าดิบแล้ง (dry evergreen forest) พบในบริเวณที่ราบและหุบเขาทั่วไป อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-500 เมตร ฝนตกน้อยกว่าป่าดิบชื้น อาจไม่หนาแน่นเท่าป่าดิบชื้น แต่นับว่าอุดมสมบูรณ์ดี หากถูกทำลาย มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นป่าเบญจพรรณ
ป่าดิบเขา (hill evergreen) เป็นป่าที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป ฝนตกมากใกล้เคียงกับป่าดิบแล้ง หากถูกทำลาย อาจเปลี่ยนเป็นป่าสน หรือป่าหญ้าได้ง่าย
ป่าสน (pine forest) พบสนสองใบและสนสามใบเป็นหลัก ดินเป็นกรดอ่อนๆ พืชชั้นล่างเป็นหญ้า และพืชกินแมลง
ป่าพรุ (peat swamp forest) เป็นป่าที่มีน้ำขังอยู่เสมอ พบมากในภาคใต้ ที่ระดับน้ำทะเล มีฝนตกชุก ดินชั้นล่างเป็นกรด มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก เป็นที่สะสมซากพืชหนาถึง 10 เมตร
ป่าบึงน้ำจืด (fresh-water swamp forest) เป็นป่าที่มีน้ำท่วมขัง พบมากในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้
ป่าชายเลน (mangrove forest) เป็นป่าตามชายฝั่งที่น้ำทะเลท่วมถึง มีพืชพรรณน้อยชนิด
ป่าชายหาด (beach forest) อยู่ตามชายฝั่งทะเล มีพรรณไม้น้อยชนิด อาจจะเป็นดินทราย หรือกรวดหิน แล้วแต่สภาพดินในพื้นที่
ป่าผลัดใบ ( deciduous forest) ประกอบด้วยพืชที่ทิ้งใบในฤดูแล้ง เป็นสังคมป่าส่วนใหญ่ของประเทศไทย คือ มีถึงร้อยละ 70 ของพื้นที่ ป่าผลัดใบแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้ดังนี้
ป่าเบญจพรรณ (mixed deciduous forest) พบทั่วประเทศตามที่ราบและเนินเขา ฝนตกไม่มากนัก มีฤดูแล้งยาวนาน
ป่าเต็ง - รัง (dry deciduous dipterocarp forest) พบทั่วไปเช่นเดียวกับป่าเบญจพรรณ แต่แห้งแล้งกว่าเนื่องจากดินอุ้มน้ำน้อย
ป่าหญ้า ( grassland forest) ในประเทศไทย ป่าหญ้าเกิดภายหลังเมื่อป่าธรรมชาติอื่นๆถูกทำลาย ดินมีสภาพเสื่อมโทรม หญ้าที่พบมีหญ้าคา แฝก อ้อ แขม
ประเภทของป่า | พืชชั้นบน | พืชชั้นล่าง |
ป่าดงดิบ - ป่าดิบชื้น | ยางชนิดต่างๆ ตะเคียน | ปาล์ม หวาย ไผ่ และเถาวัลย์ |
ป่าดงดิบ - ป่าดิบแล้ง | ยางนา พะยอม สัตตบรรณ มะค่า พลอง | ปาล์ม หวาย ขิง ข่า |
ป่าดงดิบ - ป่าดิบเขา | นางพญาเสือโคร่ง สนสามพันปี สนแผง กุหลาบป่า มีไลเคน มอส และตะไคร่น้ำเกาะอยู่ | กูด เฟิร์น และไผ่ |
ป่าสน | สนสองใบและสนสามใบเป็นหลัก นอกนั้นมีพลวง ก่อ เหียง กำยาน ฯลฯ | หญ้า และพืชกินแมลง |
ป่าพรุ | สะเตียว หว้าน้ำ กันเกรา ตังหน | ค้อ สาคู หมากแดง กระจูด เตยต่างๆ |
ป่าบึงน้ำจืด | เสม็ดขาว อาจมีไม้อื่น เช่น สะแก จิก ข่อย กระทุ่มน้ำ | ผักบุ้ง แพงพวย บัว โสน และพืชน้ำอื่นๆ |
ป่าชายเลน | โกงกางใบเล็ก และโกงกางใบใหญ่ แสม ฝาด ลำพู ลำแพน | เหงือกปลาหมอ ปรงทะเล จาก ฯลฯ |
ป่าชายหาด | สนทะเล กระทิง หูกวาง เกด | คนทีสอ ผักบุ้งทะเล หญ้า หรือพืชมีหนามต่างๆ |
ป่าผลัดใบ - ป่าเบญจพรรณ | สัก แดง ประดู่ มะค่าโมง พยุง ชิงชัน พี้จั่น ฯลฯ | ไผ่หลายชนิด |
ป่าผลัดใบ - ป่าเต็งรัง | เต็ง รัง เหียง พลวง กราด มะขามป้อม มะกอก ผักหวาน | หญ้า ไผ่เพ็ก ปรง กระเจียว เปราะ |
ป่าหญ้า | ติ้ว แต้ สีเสียดแก่น | หญ้าคา แฝก อ้อ แขม |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น