31 ตุลาคม 2556

วิวาทะเรื่องพลังงาน

ท่านมรรนพ:
ทิด..ทิดคิดว่าเมื่อถึงเวลานั้นที่พลังานน้ำมันหมดจริงๆแล้ว หากให้มีการเลือก หนึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์(หรือพลังงานจากแหล่งอื่นๆ)ที่จะมาขับเคลื่อนระบบแทนน้ำมัน หรือสองเลือกที่จะค่อยๆปรับตัวให้เข้ากับสภาพแบบที่ทิดว่าให้ค่อยๆชิน ในสังคมที่คัลเจอร์มันค่อนข้างจะเพอมาแนนซ์แบบนี้ซะแล้ว(ยืมคำของคุณธีระพันธ์มากลับซะหน่อย) ทิดว่าใครจะเลือกอะไรมั่ง?

ไม่แน่น๊ะครับ ตอนนี้แหล่งกำเนิดพลังงานรูปแบบใหม่อาจมีแล้ว แต่ยังไม่คุ้มที่จะลงทุนหรือสังคมยังไม่ยอมรับ เลยยังไม่โชว์ที่พอจะโชว์ให้เห็นได้ตอนนี้ก็บนดาวอังคารครับ ไม่รู้หม้อพลังงานแบบไหน หม้อเล็กๆเห็นจากข่าวว่าจะใช้ไปได้อีกนาน...

ส่วนรูปแบบสังคมแบบเพอร์มาคัลเจอร์แบบที่คุณธีระพันธ์ทดลองอยู่ โดยส่วนตัวผมเห็นว่าก็จะยังพัฒนาควบคู่อยู่ร่วมไปกับสังคมรูปแบบอื่นๆไปต่อครับ....


ท่านเจมส์ :
ท่านมหรรนพครับ ก่อนที่น้ำมันจะหมดไป มนุษย์จะต้องค้นหาพลังงานมาทดแทนอย่างแน่นอนในสภาวะที่ค้นหานั้นก็จะควบคู่ไปกับการวิกฤต อย่างที่คุณธีรพันธ์ได้กล่าวไว้ เหตุเพราะเครื่องจักรครื่องยนต์ที่เรามีนั้นต่างออกแบบมาเพื่อใช้น้ำมันเป็นหลัก การที่จะสับเปลี่ยนไปใช้พลังงานในรูปแบบอื่นๆ คงไม่สามารถทำได้ในระยะอันสั้น หรือมีไม่เพียงพอ ในส่วนของพลังงานไฟฟ้านิวเครียร์นั้น น่าจะเป็นทางเลือกหลังๆ พลังงานสะอาดอื่นๆดูเหมือนจะเป็นทางเลือกก่อน

ข้าพเจ้า :
ช้าก่อนท่านมหรรนพ และท่านเจมส์  ก่อนจะด่วนสรุปเรามาดูสถิติเรื่องพลังงานจากเวป www.nationmaster.com กันก่อนดีกว่า



เรา จะพบว่าในเรื่องการใช้พลังงานต่อคนนั้น  ไทยยังเป็นรองประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย  แต่ก็ใช้พลังงานมากกว่าประเทศอื่นรอบๆประเทศไทยทั้งสิ้น  สิ่งที่น่าตกใจมากกว่านั้นคือการนำเข้าพลังงานสุทธิ  ประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ไทยมีอัตราการนำเข้าพลังงานติดลบ นั่นหมายถึงพวกเขาส่งออกพลังงาน เช่น มาเลเซียส่งออกน้ำมัน เวียดนามและอินโดนีเซียส่งออกถ่านหิน พม่าส่งออกก๊าซธรรมชาติ ลาวส่งออกไฟฟ้า และประเทศไทยก็เป็น 1 ในลูกค้าชั้นดีของเพื่อนบ้านเหล่านี้  เพราะเรานำเข้าพลังงานมากถึง 48.39% ของพลังงานที่เราใช้ในประเทศไทยทั้งหมด

หากมองในเรื่องการนำเข้า พลังงานนั้น เราดูเหมือนจะคล้ายๆ กับประเทศคิวบา ซึ่งก็มีนักมวยเก่งเหมือนประเทศไทย :-D คิวบาก็ไม่มีแหล่งพลังงานในประเทศมากนักดูได้จากแหล่งพลังงานในการผลิตกระแส ไฟฟ้า  คิวบาก็ใช้พลังงานฟอสซิสในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากเกิน 90% เหมือนประเทศไทย  ทำให้เขามีความอ่อนไหวต่อราคาพลังงานของโลก  แต่หลังจากช่วง special period ประเทศคิวบาพยายามลดการใช้พลังงานต่อประชากรเหลือเพียง 62% ของอัตราการใช้พลังงานประชากรในประเทศไทย   ทำให้เขามีผลกระทบจากเรื่องพลังงานน้อยลง

เพื่อนบ้านของเรา (ยกเว้นพม่า และเวียดนาม) ก็มีการใช้พลังงานฟอสซิลในการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่มากว่า 80% แต่....พวกเขามีแหล่งพลังงานในประเทศมากพอที่จะส่งออกด้วยซ้ำไป  แต่..เราต้องนำเข้าพลังงานมาบริโภคในประเทศ

ประเทศที่น่าสนใจมากใน มุมมองของผมคือประเทศบราซิล เนื่องจากมีอัตราการบริโภคพลังงานต่อประชากรใกล้เคียงประเทศไทย  แต่มีอัตราการนำเข้าพลังงานน้อยกว่าเราครึ่งหนึ่ง  พลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบราซิลผลิตจากพลังงานน้ำ  และมีการใช้พลังงานฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ  แต่บราซิลก็ยังต้องนำเข้าพลังงานน้ำมัน  ชาวบราซิลตระหนักดีถึงความเสี่ยงของประเทศเขาจึงใช้ข้อได้เปรียบเรื่อง ปริมาณน้ำฝนมาใช้ในการผลิตพืชเพื่อนำมาใช้ผลิตพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบของ แก๊สโซฮอล์  พร้อมทั้งบังคับให้รถยนต์ค่ายใหญ่ๆ ผลิตรถยนต์ที่ต้องสามารถใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของแก๊สโซฮอล์สูงกว่าในประเทศ ไทยเป็นอย่างมาก

เพื่อนๆ อาจจะคิดว่าเราก็ copy แบบบราซิลสิ  ไม่เห็นจะยาก  แต่อย่าลืมว่ามีตัวอย่างเรื่องการผลิตแก๊สโซฮอล์ในทวีปอเมริกามาแล้ว  เนื่องจากคนในทวีปอเมริกาทานอาหารที่ทำมาจากข้าวโพดเป็นหลัก  เมื่อรัฐบาลสหรัฐอเมริการรณรงค์ให้มีการผลิตแก๊สโซฮอล์จากข้าวโพด  ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนข้าวโพด  ราคาอาหารส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  เนื่องจากข้าวโพดได้ถูกใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารจำนวนมาก รวมทั้งถูกใช้เป็นอาหารสัตว์ด้วย  การหันมาปลูกข้าวโพดจำนวนมากก็จะทำให้เหลือน้ำชลประทาน และพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารน้อยลง  ดังนั้นหากเราจะทำตามบราซิลให้เพียงพอที่จะใช้แทนน้ำมันโดยไม่ระมัดระวัง  เราจะเจอข้อจำกัดเรื่องปริมาณน้ำเพื่อการเกษตร และพื้นที่เพาะปลูกที่จะไปแย่งชิงกับพืชอาหาร  อาจจะทำให้พืชอาหารแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว  นอกจากนั้นเราจะเจอปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เพราะรถยนต์ในประเทศไทยไม่สามารถจะใช้พลังงานแก๊สโซฮอล์ได้มากเหมือนรถยนต์ ในบราซิลที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ

เอ...งั้นเราก็มาปลูกปาล์มน้ำมัน เอามาทำไบโอดีเซลแทนสิ  บางท่านอาจจะคิดเช่นนั้น  ท่านคงทราบกันดีว่าพืชตระกูลปาล์มต้องการน้ำมาก (จึงปลูกได้ดีทางภาคใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ดังนั้นเราก็จะเจอปัญหาเรื่องน้ำชลประทาน และพื้นที่เพาะปลูกเช่นกัน  นอกจากนั้นน้ำมันปาล์มยังเป็นน้ำมันปรุงอาหาร  ถ้าเราเอามาทำไบโอดีเซลในจำนวนมากก็จะทำให้ราคาน้ำมันพืชแพงมากขึ้น ราคาอาหารสำเร็จก็จะแพงตาม  นอกจากนั้นรถยนต์ส่วนตัวส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่เครื่องยนต์ดีเซล  ถ้ารัฐบาลจะส่งเสริมให้ทุกคนใช้รถยนต์ดีเซลกันหมดตอนนี้ก็จะไปแย่งกันใช้ น้ำมันดีเซลซึ่งเป็นพลังงานหลักในภาคการขนส่ง  หากเกิดการขาดแคลนน้ำมันดีเซลก็จะกระทบกับภาคขนส่ง มีผลต่อราคาอาหารที่คนในเมืองต้องพึ่งพิงจากขนส่งมาจากต่างจังหวัด

สรุปแล้วการแก้ไขปัญหามันไม่ง่าย  จะทำอะไรก็ดูเหมือนจะกระทบกับราคาอาหาร  เราจะต้องวางแผนและเริ่มลงมือทำตั้งแต่เมื่อวานนี้   โกรธ โกรธ โกรธ เพราะจะต้องใช้เวลามากในการเตรียมตัว และในการปรับตัว  สุดท้ายเราก็จะสามารถปรับตัวได้  แต่เมื่อดูสถิติแล้ว  เราคงจะลำบากในการปรับตัวมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านของเรา เพราะประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันมากกว่าประเทศเพื่อน บ้านของเรา  เมื่อเกิดวิกฤตน้ำมัน เราก็จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า  และผมเห็นด้วยกับพี่เจมส์ที่ว่ายังมีทางอื่นในการแก้ไขปัญหาก่อนที่เราจะ ต้องหันไปใช้นิวเคียร์  แต่ภาครัฐจะต้องนำประชาชนไปในทิศทางที่ถูกต้อง  เราต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องพลังงาน  ประชาชนชาวไทยจะหวังเพียงแต่จะหาแหล่งพลังงานทดแทนใหม่ๆ อย่างเดียวคงไม่ได้  วันนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะหันมาพิจารณาการลดการใช้พลังงานในประเทศ ไทย  หรือ..เราจะรอให้วิกฤตเกิดขึ้นแล้วค่อยหันมาหาทางแก้ไขปัญหากัน

ปล. พี่ชุติพนต์อาจจะบอกว่าเพื่อนๆ อย่าเพิ่งรีบหาทางแก้ไขเลย  พี่ชุติพนต์อยากจะเห็นวิถีชีวิตเก่าๆ กลับคืนมาในเร็ววัน (ล้อเล่นนะครับ)  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น