เหมือนที่ Bill Mollison ผู้บัญญัติคำว่าเพอร์มาคัลเชอร์เคยกล่าวไว้ว่า "Though the problems of the world are increasingly complex, the solutions remain embarrassingly simple." วิธีการแก้ไขปัญหาชาวคิวบาตามสัญชาตญาณการเอาตัวรอดกลับเป็นเรื่องที่ดูเหมือนง่าย เรามาดูวิธีการแก้ไขปัญหาในหลายๆ ด้าน
1. แปลงผักคนเมือง (Urban Garden)
เนื่องจากอาหารที่จัดสรรจากรัฐลดลงเหลือเพียง 20% ของปริมาณอาหารที่คนปกติควรจะได้รับ ผู้คนในสังคมเมืองเริ่มปรับตัวเพื่อหลีกหนีให้พ้นจากการอดตาย พวกเขากลับไปหาพื้นดินที่รกร้างว่างเปล่าในเมือง บางที่ก็เป็นที่ทิ้งขยะ พวกเขาเริ่มทำความสะอาดพื้นที่และลงมือปลูกพืชกันเองในรูปแบบของแปลงผักชุมชน หลายๆ คนไม่เคยมีประสบการณ์ทำเกษตรมาก่อนในชีวิต พวกเขาเริ่มลงมือทำอย่างลองผิดลองถูก ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง หวังเพียงจะได้มีอาหารยังชีพบ้าง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 มีอาสาสมัครนักเพอร์มาคัลเชอร์จากออสเตรเลียเดินทางมาต่อยอดการแก้ไขปัญหาด้วยการถ่ายทอดเทคนิคต่างๆ ในการทำการเกษตรในแปลงผักคนเมืองของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น การดักเก็บน้ำฝนเพื่อเอามาใช้งานในการเกษตร การใช้ประโยชน์จากน้ำทิ้งในครัวเรือน การลดการชะล้างหน้าดินจากน้ำฝน การทำปุ๋ยหมัก การเลี้ยงไส้เดือน การดูแลเรื่องศัตรูพืช และการทำการเกษตรอินทรีย์
นักเพอร์มาคัลเชอร์เหล่านี้ยังสอนเทคนิคใหม่ๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการเพาะปลูกในเมือง โดยการนำพื้นที่ที่ไม่มีสัมผัสดินมาใช้งาน เช่น การปลูกผักในภาชนะ, การปลูกผักบนดาดฟ้า, การทำแปลงผักแบบ wicking bed บนพื้นซิเมนต์ เป็นต้น นอกจากนั้นมีการเปิดอบรมหลักสูตร train the trainer เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ที่จะถ่ายทอดเทคนิคเหล่านี้ออกไปทั่วประเทศคิวบา
ชาวคิวบาที่ร่วมในการทำแปลงผักคนเมืองพวกเขาเริ่มจากนำผลผลิตมาบริโภค ส่วนที่เกินบริโภคก็จะแบ่งปันอาหารให้คนชรา หญิงมีครรภ์ และเด็กๆ แปลงผักกลายเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนความรู้กัน ถ้าพวกเขาช่วยตอบคำถามไม่ได้ก็จะแนะนำให้ว่าควรจะไปคุยกับใคร ผลิตผลส่วนเกินจากการแจกก็จะมีการแลกเปลี่ยนกัน ทำให้ค่อยๆ เกิดตลาดในชุมชนจากการแลกเปลี่ยนอาหาร และแลกเปลี่ยนความรู้ จนกระทั่งพัฒนามาเป็นการซื้อขาย โมเดลแบบนี้เริ่มขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ทำให้มีตลาดชุมชนเล็กจำนวนมากถูกจัดตั้งขึ้นมา โมเดลแบบนี้ช่วยแก้ไขปัญหาได้หลายๆ อย่างได้แก่
- ผักที่ปลูกเป็นเกษตรอินทรีย์ ไม่ได้ใช้สารเคมีที่ต้องใช้พลังงานน้ำมันในการผลิตเหมือนระบบการเกษตรเพื่อการค้าแบบเดิมๆ
- แปลงผักเป็นแปลงขนาดเล็ก และมีพืชหลากหลาย จึงลดปัญหาเรื่องแมลง ทำให้ไม่ต้องสูญเสียพลังงานในการกำจัดศัตรูพืช
- การ ขาย/แลกเปลี่ยนกันเองในชมชุมในรัศมีไม่เกิน 5-10 กิโลเมตร ทำให้ไม่ต้องเสียเงินในการเดินทาง ผู้ซื้อผู้ขายสามารถเดิน หรือใช้จักรยานเดินทางมายังตลาดได้
- เนื่องจากไม่ต้องขนส่งไกล จึงไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มาก
- เนื่องจากไม่ต้องขนส่งไกล ทำให้พืชผักมีความสด และมีคุณค่าอาหารสูง ลดปัญหาเรื่องขาดสารอาหาร
- การ ผลิตโดยคนในชุมชนเพื่อคนในชุมชน ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นที่ต้องการชุมชน ทำให้ไม่ผลิตพืชพักที่ตลาดๆ ไม่ต้องการ ทำให้มีอาหารที่เหลือเกินจนถูกทิ้งให้เน่าเปื่อย ( waste ) น้อยลง เป็นการประหยัดพลังงานเช่นกัน
การเริ่มต้นทำแปลงผักคนเมืองดูเหมือนจะแก้ไขปัญหาได้หลายอย่างโดยไม่ต้องใช้พลังงานมากเหมือนวิธีการเดิมๆ แต่ก็ไม่อาจรองรับปัญหาทั้งหมดในชุมชนเนื่องจากมีประชากรอยู่ในสังคมเมืองหนาแน่นจนทำให้พื้นที่เพาะปลูกในเมืองอย่างเดียวไม่เพียงพอกับการบริโภคของทุกคนในชุมชนเมือง
2.การทำการเกษตรอย่างยั่งยืน
ก่อนที่จะเกิดวิกฤตนี้คิวบาถูกครอบงำโดยต่างชาติผู้ซึ่งแสวงหาผลประโยชน์จากการผลิตน้ำตาลของคิวบา ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าอย่างกว้างขวางเพื่อเปลี่ยนมาเป็นไร่อ้อย มีการใช้สารเคมีอย่างมากจนทำลายดินไปเกือบหมด ภายหลังจากที่เริ่มเกิด special period รัฐบาลคิวบาจึงส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างกว้างขวาง แต่การฟื้นตัวของธรรมชาติไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน ขบวนการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในดินเพื่อให้สามารถทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มรูปใช้เวลา 3-5 ปี แต่ก็เป็นวิถีที่ยั่งยืนกว่าการทำการเกษตรแบบเดิมที่ใช้เครื่องจักร และสารเคมีจำนวนมาก
เกษตรกรเริ่มกลับไปใช้แรงงานคน และสัตว์ในการเกษตรเหมือนยุคสมัยเดิม เพื่อทดแทนเครื่องจักรกลการเกษตร ก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคเกษตรอย่างมาก อาชีพเกษตรกลายเป็นอาชีพที่ร่ำรวยที่สุด เพราะไม่ต้องเสียเงินไปหาซื้ออาหาร สามารถปลูกในสิ่งที่กิน/กินในสิ่งที่ปลูก และยังสามารถขายส่วนที่เหลือกินให้กับคนในเมืองได้อีกด้วย
3. การจัดสรรที่ดิน
เมื่อเริ่มนโยบายการทำการเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ รัฐบาลคิวบาพบว่าไม่สามารถใช้เทคนิคการบริหารงานแปลงเพาะปลูกเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่กับวิถีของเกษตรอินทรีย์แบบที่ไม่ใช้เครื่องจักรได้ เนื่องจากการทำการเกษตรในรูปแบบที่ไม่มีน้ำมันให้ใช้จะพึ่งแรงงานคนมาก ทำให้ไม่สามารถทำเป็นแปลงขนาดใหญ่มาก รัฐบาลคิวบาตัดสินใจแบ่งพื้นที่การเกษตรของรัฐมากกว่า 40% มาจัดสรรให้เกษตรกรทำการเกษตรอินทรีย์แปลงขนาดเล็ก โดยไม่เรียกเก็บค่าเช่าภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องลงมือเพาะปลูกพืชอาหารแบบ เกษตรอินทรีย์ด้วยตนเอง (ไม่ใช่เอาไปปล่อยเช่าต่อ) ถ้าไม่ดำเนินการจะยึดที่ดินคืนเพื่อมอบให้เกษตรกรรายอื่นเข้ามาดำเนินการ และมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าเมื่อมีความจำเป็นรัฐจะสามารถยึดที่ดินคืนเพื่อมาทำประโยชน์อื่นในอนาคต
เกษตรกรหลายรายตัดสินใจออกจากการเป็นลูกจ้างทำงานเกษตรของรัฐ ออกมาทำการเกษตรด้วยตนเองในฟาร์มขนาดเล็กที่เกิดขึ้นมาจำนวนมากรอบๆ เขตเมือง รวมทั้งมีคนที่เคยอาศัยอยู่ในชุมชนเมืองหลายครอบครัวแสดงความสนใจ และยินดีย้ายออกจากเมืองมาอาศัยในชนบทเพื่อทำการเกษตร
การจัดสรรพื้นที่แบบนี้ช่วยแก้ไขปัญหาหลายๆ อย่าง เช่น
- ทำให้รัฐแบกรับภาระในการจ้างงานน้อยลง (ลูกจ้างต้องออกไปทำมาหากินเอง รัฐไม่ต้องเลี้ยง)
- มีคนยินดีย้ายออกจากเขตเมืองทำให้ประชากรในเมืองมีความหนาแน่นนอนลง (อย่าลืมว่าแปลงผักคนเมืองมีพื้นที่ไม่เพียงพอจะตอบสนองการบริโภคของคนในเมือง) รัฐก็สามารถจัดสรรอาหารให้กับคนในเมืองได้มากขึ้น (ปริมาณอาหารประมาณเดิมแต่เหลือคนน้อยลง คนพวกที่รับจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตรต้องไปหากินเอาเอง รัฐไม่ต้องดูแล)
- เริ่มมีเอกชนเข้ามาดำเนินการเพาะปลูก และจำหน่ายสินค้าเกษตรในราคาย่อมเยา (เพราะไม่มีต้นทุนเรื่องที่ดิน) เป็นทางเลือกให้กับชุมชนเมืองในการหาซื้ออาหารเพิ่มเติมจากที่รัฐจัดสรรให้ (รัฐจัดสรรอาหารให้ไม่เพียงพอ)
- มีคนมาช่วยรัฐปรับสภาพดิน ฟื้นฟูระบบธรรมชาติอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนของรัฐ
- รัฐมี option ที่จะยึดคืนหากไม่ทำตามนโยบายของรัฐ เป็นการควบคุมการใช้งานที่ดินไม่ให้ผิดวัตถุประสงค์
4. การศึกษาและสุขภาพ
เมื่อเกิดเหตุ special period ปัญหาความไม่เพียงพอของระบบขนส่งสาธารณะทำให้ลดประสิทธิภาพในการทำงานของประเทศเป็นอย่างมาก แม้นจะมีการนำเข้าจักรยานจำนวนมากจากจีน แต่...ถ้าคุณเคยปั่นจักรยานแม่บ้านซึ่งไม่มีเครื่องทุ่นแรงอย่างระบบเกียร์เป็นระยะทางไกลกว่า 20 กิโลเมตร (ปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง) คนรู้ว่ามันจะทรมานก้นมาก ยิ่งถ้าต้องปั่นไปกลับ (40 กิโลเมตร) ทุกวันคุณจะยิ่งเข้าใจว่ามันทรมานมากสำหรับคนทั่วไปที่คุ้นเคยกับการนั่งรถ
เพื่อเป็นการลดจำนวนคนที่ต้องเข้าไปใช้บริการรถสาธารณะ จึงมีความจำเป็นจะต้องกระจายระบบศึกษา และสาธารณสุขพื้นฐานออกไปยังชุมชนต่างๆ ในอุดมคติแล้วระยะเดินทางไม่เกิน 10 กิโลเมตรจะอยู่ในวิสัยที่ผู้คนสามารถจะใช้จักรยานเดินทางได้โดยไม่ลำบากมากนัก รัฐบาลคิวบาจึงส่งทีมแพทย์และพยาบาลที่มีอยู่จำนวนมากออกไปทำงานอยู่ในชุมชน แทนที่จะอยู่ที่โรงพยาบาล เข้าไปให้การรักษาพื้นฐาน ให้คำแนะนำเรื่องอาหาร (ทำงานร่วมกับเกษตรกร และแปลงผักชุมชนด้วย) และสมุนไพร เน้นหนักที่การป้องกัน มากกว่าจะไปรักษาเมื่อเจ็บป่วยมาก นโยบายแบบนี้ทำให้คิวบาเป็นประเทศที่มีสัดส่วนของประชากรเป็นนักวิทยาศาสตร์ และบุคคลากรทางด้านการแพทย์สูงที่สุดในทวีปอเมริกา (คิวบามีแพทย์ประมาณ 5.7 คนต่อประชากร 1000 คน ประเทศไทยมีแพทย์ 0.37 คนต่อประชากร 1000 คน )
กอปรกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปเนื่องจากรัฐย้ายสถานที่ที่ประชาชนต้องไปติดต่อบ่อยๆ เข้ามาใกล้มากขึ้น คนจึงหันไปใช้จักรยาน และเดินเท้ามากขึ้น (ช่วยลดปริมาณคนใช้รถสาธารณะไปในตัว) ทำให้อัตราการเป็นโรคหลายอย่างลดลง (เช่น อัตราคนเป็นโรคเบาหวานลดลงมากว่า 50% เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงด้านอาหารการกินที่กินผักมากขึ้น และต้องออกกำลังด้วยการเดินเท้า/การปั่นจักรยานมากขึ้นในชีวิตประจำวัน) ประชาชนคิวบามีสุขภาพดีพอๆ กับประชาชนในสหรัฐอเมริกาทั้งๆ ที่มีการบริโภคน้ำมันน้อยกว่าสหรัฐอเมริกาอย่างมาก (หมายเหตุ ตัวเลขอัตราการบริโภคน้ำมันต่อประชากรนี้จะรวมถึงน้ำมันที่ถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่งในประเทศด้วย)
(ข้อมูลปี 2003 ของปริมาณพลังงานที่ใช้ต่อประชากรต่อปีในหน่วย kWh/person/year ของคิวบา 1,245 สหรัฐ 10,381 ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 1,872 เย้ๆๆๆ เราก็ไม่เลวร้ายมากนัก ....ก่อนที่จะมีการซื้อรถเพิ่มอีก 500,000 คันในปี 2555 )
ในระยะต่อมาเมื่อประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น คิวบาจึงส่งออกบุคคลากรทางการแพทย์ออกไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแลกกับการนำเข้าสินค้าอื่นๆ
รัฐบาลคิวบายังให้ความสำคัญในด้านการศึกษาโดยให้งบประมาณมาถึง 20% ของงบรัฐบาลเป็นงบการศึกษา ในขณะที่อังกฤษให้งบ 11% และสหรัฐอเมริกาให้งบ 14% ในช่วง special period รัฐบาลคิวบาเพิ่มจำนวนสถานศึกษาใกล้บ้านของประชาชนมากขึ้น จำนวนมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นจาก 3 เป็น 50 แห่ง (คิวบามีประชากรเพียงแค่ 11 ล้านคน) ทำให้นักเรียนนักศึกษาไม่ต้องเดินทางไกลจากบ้าน เพื่อให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และแน่นอนว่าการทำการเกษตรอินทรีย์ก็ถูกบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน
ความจริงแล้วยังมีอีกหลายมาตรการที่ประเทศคิวบานำมาใช้งานเพื่อรับมือกับวิกฤตพลังงาน และการปิดกั้นทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา แต่คิดว่าทุกคนคงเข้าประเด็นพอสังเขปแล้วว่า ก่อน special period ชาวคิวบาคุ้นชินกับสิ่งอำนวยความสะดวก และเครื่องทุ่นแรงต่างๆ โดยไม่ได้ตระหนักว่าหลายสิ่งในชีวิตประจำวันในเมืองต่างเกี่ยวพันกับการใช้พลังงานอย่างซับซ้อน กลไกของเศรษฐกิจที่ตีมูลค่าของสิ่งต่างๆ บิดเบือนการตัดสินใจให้ทำลายธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อแสวงหาผลตอบแทนในรูปตัวเงิน การสนใจมูลค่ามากกว่าคุณค่าทำให้หลงระเริงอยู่ได้เพราะมีน้ำมันเป็นตัวสร้างภาพมายาว่าทุกสิ่งกำลังไปได้ดี หลงไปกับพลังงานหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า หรือน้ำประปา ที่ส่งตรงมาถึงบ้านให้ใช้กันจนแทบไม่รู้สึกว่ามันมีอยู่ (คล้ายๆ กับอากาศที่เราจะรู้สึกว่ามันมีอยู่เมื่อไม่มีอากาศจะหายใจ) วันหนึ่งที่การเข้าถึงพลังงานน้ำมันทำได้ยาก ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างไม่น่าเชื่อ บทเรียนเหล่านี้สอนว่าก่อนที่เราจะไปไทอย่างแท้จริงได้ เราต้องเป็นไททางพลังงานให้ได้ก่อน เรื่องที่น่าสนใจคือสุดท้าย special period ในคิวบาก็ค่อยๆ มีสถานะการณ์ดีขึ้นในช่วงหลังของทศวรรษ 1990 แต่ชาวคิวบาเหมือนจะได้รับ Wake up call จากเหตุการณ์นี้ และก็ไม่ได้หวนกลับไปใช้ชีวิตที่ยึดติดกับพลังงานฟอสซิลอย่างหนักเหมือนเดิม
บทเรียนจากชาวคิวบาทำให้ต้องกลับมาทบทวนวิถีการใช้ชีวิตของตนเองว่าวันนี้พวกเราพร้อมแล้วหรือยังเมื่อ Peak Oil มาถึงจริงๆ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า? ทำให้มีคำถามผุดขึ้นมาในหัวอีกหลายๆ ประเด็นวิถีชีวิตที่เรากำลังทำอยู่ อยากให้ลองคิดหาทางหนีทีไล่เมื่อเหตุการณ์นั้นมาถึง
- การหาซื้อบ้านใหญ่โตเมื่ออายุน้อยๆ เพราะกะว่าจะซื้อบ้านครั้งเดียวในชีวิต สุดท้ายได้บ้านชายเมืองต้องขับรถวันละหลายสิบกิโลเมตร
- การพักอยู่ในที่คอนโดชั้นสูงๆ ชนิดที่เรียกว่าถ้าไฟดับก็ไม่อยากคิดเรื่องเดินลงจากตึกเลย
- การพึ่งพิงอาหารที่ขนส่งจากจังหวัดที่ห่างไกลของชุมชนเมือง
- การผลิตแปลงขนาดใหญ่ที่วันนี้ยังทำอยู่ได้เพราะอาศัยเครื่องจักร และพลังงาน
- การผลิต และขนส่งไปขายในจังหวัดที่ห่างไกล
- การทำการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อแลกเงิน (และส่งของไปขายไกลๆ) แล้วเอาเงินมาหาซื้ออาหารที่ขนส่งมาจากที่อื่น
- การพึ่งพิงสารเคมีที่ต้องนำเข้า หรือผลิตโดยโรงงานต่างถิ่น
- การปล่อยน้ำฝนที่ตกลงมาไหลลงท่อระบายน้ำ แล้วใช้น้ำประปามารดน้ำสนามหญ้าแทน
- การทำการเกษตรที่พึ่งพิงการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศที่ห่างไกล
- และ...กิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่ใช้พลังงาน
ผมไม่ได้มีเจตนาจะสร้างความตื่นตระหนก เราอาจจะๆ ไม่ได้เผชิญปัญหาในทันทีทันใดที่ oil peak มาถึง ตัวอย่างเช่นใน สหรัฐอเมริกานั้น peak oil เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1970 ความสามารถในการผลิตน้ำมันของสหรัฐเกิดขึ้นจริง แต่ก็ถูกชดเชยด้วยการนำเข้าจากต่างประเทศ วิกฤตจริงๆ กลับมาเกิดในช่วงปี ค.ศ. 1973 และ 1976 เนื่องจากปัญหาการนำเข้าจากตะวันออกกลาง ต่อมามีการค้นพบแหล่งน้ำมันที่อะลาสกาทำให้วิกฤตน้ำมันของสหรัฐเบาบาง ทำให้สหรัฐเรียนรู้ว่าประเทศของเขาเปราะบางแค่ไหนต่อการเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตามไทยไม่ได้อยู่ในสถานะเดียวกันกับสหรัฐ และช่วงเวลาที่เรากำลังจะเผชิญจะเป็น peak oil ของโลก ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ในช่วงเวลานั้นนานาประเทศที่มีน้ำมันอาจจะหยุดส่งออกน้ำมันเพื่อเก็บไว้เพื่อความอยู่รอดของคนในชาติตนเอง จึงเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากว่าวิกฤตจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
ขอย้ำว่าผมไม่ได้มีเจตนาจะสร้างความตื่นตระหนก ผมไม่ได้มีเจตนาให้ท่านเลิกทำสิ่งที่ท่านทำอยู่ เพียงต้องการนำเสมออีกหนึ่งมุมในการทำการเกษตรซึ่งแตกต่างจากแนวคิดเรื่องผลตอบแทนต่อไร่สูงสุด และแนวคิดเรื่องผลตอบแทนในรูปตัวเงินสูงสุด สักวันหนึ่งบางท่านจะเข้าใจว่าเงินเป็นเพียงมายา ในธรรมชาติไม่มีแนวคิดเรื่องเงิน คนมีเงิน 10 บาท และมีเงิน 10 ล้านก็ต่างเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่แตกต่างกัน ต่างก็อยู่ในกรอบของธรรมชาติ... ที่ดินราคาไร่ละสิบล้าน และที่ดินราคาไร่ละไม่กี่หมื่นบาทใช้ปลูกพืชได้ไม่แตกต่างกัน... เงินไม่มีความหมายในโลกของธรรมชาติ ทำอย่างไรเราจึงจะหาที่ยืนเล็กๆ ในโลกของธรรมชาติ มีอาหารพอประทังชีวิตโดยไม่ไปเบียดเบียนระบบนิเวศที่สมดุลมากจนเกินไป ทำอย่างไรเราจึงจะได้ผลผลิตพอประทังชีวิตโดยใช้พลังงานฟอสซิลต่ำสุด ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถทำงานร่วมกับธรรมชาติ แทนที่จะพยายามเอาชนะธรรมชาติ ติดตามการเดินทางหาคำตอบ และการลงมือทดลองในสวนขี้คร้านตอนต่อไป
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น