สาธารณรัฐคิวบา ประกอบด้วยเกาะคิวบา
(เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะแอนทิลลิสใหญ่) เกาะคูเบนตุด และเกาะเล็ก ๆ
ใกล้เคียง ตั้งอยู่ในภูมิภาคแคริบเบียนเหนือ
คิวบาตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสหรัฐอเมริกาภาคตะวันออก และหมู่เกาะบาฮามาส
ทางทิศตะวันตกของประเทศเฮติ ทางทิศตะวันออกของเม็กซิโก
และทางทิศเหนือของหมู่เกาะเคย์แมนและเกาะจาเมกา มีประชากรประมาณ 11 ล้านคน
ชาวสเปนเดินทางมาถึงเกาะคิวบาครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2035 แต่ไม่ได้สนใจเกาะนี้มากนักในระยะแรกเพราะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติและมีชาวอินเดียนอยู่น้อย จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติในเฮติเมื่อปี พ.ศ. 2333 คิวบาจึงกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมน้ำตาลของสเปนแทนที่เฮติ เมื่อพ.ศ. 2438 มีการเรียกร้องเอกราชจากสเปนของคิวบาได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
หลังจากได้รับเอกราช คิวบาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาอย่างมาก ทั้งนี้เพราะสหรัฐมีผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำตาลของคิวบา อิทธิพลของสหรัฐสิ้นสุดลงเมื่อฟีเดล กัสโตร เข้ายึดอำนาจจากประธานาธิบดีฟุลเคนซีโอ บาติสตา และบริหารประเทศด้วยระบอบสังคมนิยมเมื่อ พ.ศ. 2502 และหันไปสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตและจีนแทน
จนกลายเป็นเพียงประเทศเดียวในบริเวณภูมิภาคนี้ที่ยังคงมีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์อยู่
แม้นจะถูกปิดกั้นทางการค้าจากสหรัฐแต่คิวบาก็อาศัยความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตเป็นหลัก ต่อมาเกิดการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ.2534 คิวบาจึงเดือดร้อนอย่างหนักเนื่องจากก่อนหน้านี้ถูกสหรัฐปิดกั้นทางการค้า แต่คิวบาอาศัยซื้อน้ำมันจากสหภาพโซเวียตช่วยรรเทาปัญหา เมื่อไม่มีสหภาพโซเวียตคอยปกป้องทางสหรัฐก็เพิ่มมาตรการปิดกั้นทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้นกับคิวบา เช่น ห้ามไม่ให้เรือที่เคยเทียบท่าที่คิวบาเข้าสหรัฐเป็นเวลานานถึง 6 เดือน ทำให้ไม่มีเรือเอกชนต้องการเดินทางไปยังคิวบา แต่รัฐบาลของฟีเดล กัสโตร ก็ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับสหรัฐ ทำให้เกิดสภาพยากลำบากอย่างหนักในประเทศยาวนานไม่น้อยกว่า 5 ปี
(ในภาษาอังกฤษเรียกช่วงเวลานี้ว่า special period )
ปริมาณอาหารที่เคยนำเข้าจากต่างประเทศลดลง 80% ประชาชนมีอาหารแจกจ่ายจากรัฐเหลือเพียง 20% ของปริมาณอาหารที่คนควรจะบริโภคต่อวัน การปิดกั้นเรือขนส่งของสหรัฐทำให้แม้นแต่โครงการช่วยเหลืออาหารจาก UN ไม่สามารถส่งอาหารเข้าไปช่วยประชาชนที่อดอยากของคิวบาได้ ช่วงเวลาดังกล่าวน้ำหนักของชาวคิวบาลดลงไปเฉลี่ยคนละ 10 กิโลกรัม ประชาชนต้องดิ้นรนหาทางหาอาหารเพิ่มเติมเองเพื่อเอาชีวิตรอด
ปริมาณน้ำมันที่เคยมีการนำเข้าปีละ 14-15 ล้านบาเรล ลดลงอย่างรวดเร็วเหลือเพียง 4 ล้านบาเรลต่อปี ปริมาณน้ำมันมีไม่เพียงพอที่จะจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ทั้งวัน ไม่มีพลังงานพอที่จะปั๊มน้ำขึ้นอาคารสูง รถยนต์ส่วนตัวไม่มีน้ำมันเพียงพอที่จะแล่น รถประจำทางมีไม่พอ คนต้องรอรถประจำทางประมาณ 3-4 ชั่วโมงเพื่อไปทำงาน และอีก 3-4
ชั่วโมงเพื่อเดินทางกลับ
มีการดัดแปลงรถบรรทุกสินค้ามาเป็นรถโดยสารประจำทางที่เรียกว่าอูฐ (เพราะเป็นรถมี 2 โหนกเหมือนอูฐ)
จักรยานจำนวน 1.2 ล้านคันถูกนำเข้ามาจากจีน และผลิตเพิ่มในประเทศอีก 5 แสนคัน
รถม้า/ล่อ เริ่มถูกนำกลับมาใช้งาน
เพื่อใช้บรรเทาปัญหาการเดินทางไปทำงาน โรงงาน/บริษัทจำนวนมากต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีพลังงาน เหลือเพียงงานรับจ้างทั่วไปที่มีค่าตอบแทนต่ำ มูลค่างานลดลงอย่างมหาศาล ชาวคิวบาได้รับค่าจ้างเหลือเพียงประมาณ 2 ดอลล่าร์ (ประมาณ 60-70 บาท) ต่อเดือน ทำให้พวกเขาไม่มีเงินพอที่จะไปซื้อของนำเข้าจากต่างประเทศได้เลย
เครื่องจักรในการเกษตรแทบทั้งหมดไม่สามารถใช้งานได้เพราะไม่มีน้ำมัน ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง วัคซีนรักษาโรคในสัตว์ ไม่มีให้ใช้งาน ในช่วงแรกเกษตรกรคิดว่าช่วงเวลาแบบนี้จะยาวนานเพียงไม่กี่เดือน แต่ special period ยาวนานติดต่อกันหลายปี เกษตรกรต้องเปลี่ยนวิถีในการทำเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์อย่างสิ้นเชิง
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น