5 พฤศจิกายน 2556

วิวาทะ ปู่บิล vs. ปู่ฟู

ฟูกูโอกะ และบิล มอร์ริสัน
ตอนปู่ฟู อายุ 25 ปี ในขณะที่เขานอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาล  ปู่ฟูรู้สึกเหมือนบรรลุธรรม มีความซาบซึ้งในธรรมชาติว่ามันสมบูรณ์แบบอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องเข้าไปปรุง แต่งแทรกแซงธรรมชาติมากนัก  ในการตอบคำถามที่ว่า "มนุษย์จะอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้อย่างไร?"  ปู่ฟูมองว่าวิธีการเชิงวิทยาศาตร์ที่เรามองธรรมชาติแบบแยกส่วน  พยายามจะเข้าใจธรรมชาติโดยใช้สติปัญญาของเรา และพยายามจะควบคุมธรรมชาตินั้น จะทำให้เราเข้าทางออกของปัญหาได้ช้าเกินไป  มันจะไม่ทันการณ์กับการทำลายล้างระบบนิเวศน์โดยการ "ปฏิวัติเขียว"  ธรรมชาตินั้นมีความเชื่อมโยง สลับซับซ้อน และสมบูรณ์แบบกว่าที่เราจะเข้าใจด้วยวิถีเชิงวิทยาศาสตร์แบบเดิมๆ ได้  เขาจึงเลือกที่จะ "ไม่กระทำ"  ในช่วงต้นเขาทดลองไม่กระทำ  ไม่ตัดแต่งกิ่งส้ม  ก็ประสบความล้มเหลวต้นส้มเสียหายไปเป็นจำนวนมาก (ฟังดูคล้ายกับสวนเราเลย  ยิ้ม ยิ้ม ยิ้ม )

บท เรียนนี้ทำให้เขาเรียนรู้ว่า  "ในการทำเกษตรกรรมธรรมชาติเราจะต้องเข้าใจว่าธรรมชาติที่ไม่ได้ถูกปรุงแต่ง หรือดัดแปลงคืออะไร  ผู้คนมักจะเข้าใจธรรมชาติผิดไปด้วยการดูสิ่งที่เลียนแบบธรรมชาติที่มนุษย์ สร้างขึ้น  เราไม่สามารถเป็นเกษรกรธรรมชาติได้โดยการละทิ้งธรรมชาติภายหลังจากที่มัน ถูกดัดแปลงไปแล้ว แต่เราจะต้องค่อยๆ คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ และตัดสินใจว่าจะปลูกมันเมื่อไร ที่ไหน และอย่างไร  ทั้งนี้การปลูกเหล่านี้จะต้องทำหลังจากที่สำรวจธรรมชาติ และเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงในพื้นแผ่นดินของเราก่อน"

เอ...ฟัง ดูเข้าท่า  เราก็ปล่อยสวนมันเป็นไปตามธรรมชาติ  เพื่อเรียนรู้ธรรมชาติแบบที่ปู่ฟูบอก  ตอนนี้เริ่มรู้ขึ้นมานิดๆ แล้ว  ว่าพืชชนิดไหนจะอยู่รอด  พืชชนิดไหนจะต้องปลูกแถวไหนถึงจะรอด  แล้วงัยต่อ?....

เทคนิคของปู่ฟูฟังดูดี แต่ผมมีเวลาอยู่สวนน้อย (ไม่ได้อยู่ทุกวันแบบปู่ฟู) แถมปู่ฟูยังใช้เวลาตั้งเกือบ 30-40 ปีในการค่อยๆ เรียนรู้ธรรมชาติภายในไร่ของตนเอง  นอกจากนั้นปู่ฟูยังบอกอีกว่าธรรมชาติในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน copy กันบ่ได้  ต้องเอาแต่หลักการไป ที่เหลือไปหัดสังเกตุ และเรียนรู้จากธรรมชาติของแต่ละพื้นเอง  เอ..เรามันพวกอายุเหลือน้อย แถมมีเวลาทำสวนน้อยอีกท่าทางจะต้องมองหาวิธีลัดก่อนดีกว่า มาฟังปู่บิลบ้างดีกว่า

ปู่บิลมีประสบการณ์ที่แตกต่างจากปู่ฟู  เขาไม่เคยจบการศึกษาทางจุลชีววิทยาสาขาโรคพืชวิทยาเหมือนปู่ฟู  เพราะเขาออกมาทำงานตั้งแต่อายุ 15 ประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย  โดยเฉพาะการทำงานศึกษา ทดลองเกี่ยวกับระบบนิเวศน์  และการฟื้นฟูป่า  ทำให้เขาเล็งเห็นความสำคัญของการออกแบบ  และมีความเชื่อว่าการออกแบบสภาพแวดล้อมและองค์ประกอบที่ดีจะทำให้ธรรมชาติ ทำงานได้เต็มที่และรวดเร็วกว่าการรอให้ธรรมชาติกลับเข้าสู่สมดุลด้วยตนเอง  แตกต่างจากปู่ฟูที่เน้นการเพาะปลูกข้าว ปู่บิลเน้นการทำงานกับต้นไม้ที่ทานได้  สุขภาพ ภูมิทัศน์ของที่ดิน การเงิน และสังคม เพื่อที่สร้างองค์ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามาพลักดันการฟื้นฟู ธรรมชาติโดยยึดธรรมนูญ 3 อย่างคือ

รักษ์โลก  - การที่ระบบของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในโลกจะมีชีวิต และสืบพันธุ์ต่อไปได้จะต้องยึดธรรมนูญข้อนี้เป็นอันดับแรก เพราะว่าถ้าไม่มีโลกที่อุดมสมบูรณ์มนุษย์ก็ไม่สามารถอยู่อย่างมีความสุขได้  การรักษ์โลกหมายรวมถึงการดูแลดินให้มีชีวิต ป่าและลำน้ำเป็นเสมือนปอดและเส้นเลือดของโลก มันช่วยให้โลกมีชีวิตและเป็แหล่งอาศัยของพืชและสัตว์หลากหลายชนิดทั้งๆ ที่เราอาจจะไม่ได้เห็นว่ามันมีประโยชน์กับความต้องการของเราก็ตาม

รักษ์มนุษย์ - รักษ์มนุษย์เริ่มต้นจากตัวเราแล้วค่อยๆ ขยายไปยังครอบครัว เพื่อนบ้าน ชุมชมท้องถิ่น และชุมชนที่อยู่ไกลออกไป  ความท้าทายคือการค่อยๆ เติบโตกลุ่มโดยพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยไม่ผลิต หรือบริโภคทรัพยากรมากเกินไป  การทำงานร่วมกันจะได้ภูมิปัญญา และผลลัพธ์ที่ดีกว่าการทำงานโดยลำพัง

แบ่งปันส่วนเกิน - เมื่อเราได้ผลผลิตมากเกินกว่าที่เราจะบริโภคแล้วก็ควรจะแบ่งปันส่วนเกินให้ บุคคลอื่น หรือสัตว์อื่น หลายครั้งที่การบริโภคที่เพิ่มขึ้นของมนุษย์หมายถึงการสูญพันธุ์ของพืช / สัตว์ชนิดต่างๆ บางครั้งเราต้องคิดตัดสินใจอย่างหนักว่าจุดไหนเป็นความพอเพียงของเรา

ปู่ฟูเน้นการเฝ้าสังเกตุธรรมชาติ พยายามหาหนทางที่จะทำงานร่วมกับธรรมชาติในพื้นที่โดยการค่อยๆ ลดการกระทำของมนุษย์  ปู่ฟูทดลองด้วยวิธีการหว่านแห เช่น การโรยเมล็ดพืชไปทุกๆ ที่ในหลายๆ ช่วงเวลาเพื่อจะค้นหาว่ามันจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมอย่างไร

ส่วน ปู่บิลกลับอาศัยประสบการณ์ในการเฝ้าสังเกตุธรรมชาติที่หลากหลายในสมัยที่เป้ นนักวิจัยในโครงการฟื้นฟูป่า และศึกษาระบบนิเวศน์  ปู่บิลรวบรวมประสบการณ์ออกมาเป็นรูปแบบ (pattern) ที่ทำงานได้ดีในสภาพแวดล้อม และภูมิอากาศที่แตกต่างกัน  จากนั้นใช้องค์ความรู้เหล่านี้ในการถ่ายทอดการออกแบบระบบ และปรับภูมิทัศน์ของที่ดินเพื่อสร้างรูปแบบที่เอื้อให้ธรรมชาติทำงานได้ดี

ทั้ง 2 แนวคิดมุ่งเน้นที่เป้าหมายเดียวกันคือการทำงานร่วมกับธรรมชาติ  แต่ปู่ฟูมีความละเอียดอ่อนและมุ่งเน้นที่ "การไม่กระทำ"  ส่วนปู่บิลเน้นที่การออกแบบจะ "ลงมือกระทำ" เพื่อวางองค์ประกอบต่างๆ ในจุดและเวลาที่เหมาะสม เพื่อเสริมการทำงานของธรรมชาติ  ทั้ง 2 แนวทางมุ้งเน้นที่ความหลากหลาย และการลด "การกระทำ" ของมนุษย์ในระยะยาว  (ปู่ฟูจะให้เริ่มลดการไม่กระทำทันทีแต่ค่อยเป็นค่อยไป  ส่วนปู่บิลจะเน้นให้กระทำที่มากหน่อยในช่วงต้นที่มีการออกแบบระบบ สร้างระบบ และปรับภูมิทัศน์ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกระทำ/บำรุงรักษามากนักในระยะยาว)

ด้วย แนวคิดแบบนี้ของปู่บิล ในช่วงต้นเขาบัญญัติคำว่า Permaculture มาจากคำว่า Permanent + Agriculture หมายถึงการทำการเกษตรแบบยั่งยืนร่วมกับธรรมชาติ   ต่อมาแนวคิดของเขาขยายออกไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่น การออกแบบสถาปัตยกรรม การจัดตั้งองค์กรทางการเงิน การจัดตั้งองค์ที่พลักดันการเคลื่อนไหวเพอร์มาคัลเชอร์ เป็นต้น  ต่อมาจึงได้มีคนขยายคำนิยามของเพอร์มาคัลเชอร์ ว่าน่าจะมาจากคำว่า Permanent + Culture (วัฒนธรรมยั่งยืน) มากกว่า  โดยไม่จำเป็นต้องผูกติดกับการทำการเกษตรยั่งยืนแต่เพียงอย่างเดียว  คนในเมืองที่ไม่มีที่ดินเพาะปลูกมากนักก็สามารถประยุกต์ใช้แนวคิดของเพอร์มา คัลเชอร์ในการดำเนินชีวิตได้

การเคลื่อนไหวหลักของเพอร์มาคัลเชอร์ มุ่งเน้นที่จะช่วยเหลือใหัคนสามารถพึ่งพาตนเองในธรรมชาติได้โดยอาศัยการออก แบบ และพัฒนาระบบที่ให้ผลผลิตอย่างยั่งยืน โดยหลักการออกแบบจะอยู่บนหลักธรรมนูญ 3 ข้อที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้บนหลักการพื้นฐาน 12 ข้อคือ


1. การเฝ้าสังเกตุและทำงานกับธรรมชาติ : การให้เวลากับการเฝ้าสังเกตุธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมจะทำให้เราออกแบบระบบได้เหมาะสมกับสถานะการณ์เฉพาะในสวนของเรา
2. การดักเก็บ และสะสมทรัพยากร : การพัฒนาระบบที่จะดักเก็บทรัพยากรในช่วงที่มีมากที่สุด และนำมาใช้ในช่วงเวลาที่ขาดแคลน
3. ได้รับผลผลิตจากระบบ : ต้องออกแบบระบบให้ได้ผลผลิตที่มนุษย์ต้องการด้วย
4. กำกับดูแล และแก้ไขด้วยตัวเอง : เพื่อระบบสามารถทำงานได้ในระยะยาว จะต้องหมั่นสำรวจความผิดปกติ และแก้ไขระบบ
5. ใช้และให้คุณค่ากับทรัพยากรหมุนเวียนและบริการ : การใช้ทรัพยการที่หมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดจะช่วยปรับพฤติกรรมการบริโภค และลดการพึ่งพิงทรัยากรที่ใช้แล้วหมดไป
6. ลดการสร้างของเสีย : โดยการให้คุณค่ากับทุกทรัพยกรที่มี เราจะค้นพบว่าของเสียจากระบบหนึ่งอาจจะเป็นประโยชน์กับอีกระบบหนึ่ง  เมื่อบริหารการใช้งานของเสียดีๆ ก็จะไม่มีของเสีย
7. ออกแบบจากรูปแบบก่อนจะลงรายละเอียด : เมื่อเราย้อนกลับมาดูภาพใหญ่เราจะสังเกตุเห็นรูปแบบในธรรมชาติ และสังคม  รูปแบบเหล่านี้สามารถใช้งานเป็นแกนหลักในการออกแบบของเราก่อนที่จะใส่ราย ละเอียดต่างๆ ลงไป
8. การทำงานร่วมกันมากกว่าการทำงานแยกกัน : โดยการออกแบบองค์ประกอบต่างๆ ที่เหมาะสมจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบ และทำให้องค์ประกอบทำงานเกื้อหนุนกัน
9. การแก้ปัญหาขนาดเล็ก และช้าๆ : ระบบขนาดเล็ก และช้าจะสามารถบำรุงรักษาได้ง่ายกว่าระบบขนาดใหญ่ๆ เป็นการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น และสร้างผลผลิตที่ยั่งยืนกว่า
10. ให้คุณค่า และรู้จักใช้งานความหลากหลาย : ความหลากหลายจะช่วยลดความเสี่ยงจากภัยคุกคาม และใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนกัน
11. ให้คุณค่า และรู้จักใช้งานขอบ : รอยเชื่อมต่อขององค์ประกอบต่างๆ เป็นบริเวณที่สิ่งที่น่าสนใจต่างๆ มักจะเกิดขึ้น  ซึ่งสื่งที่เกิดขึ้นมักจะเป็นองค์ประกอบที่มีคุณค่า ความหลากหลาย และมีประสิทธิผลมากที่สุดในระบบ
12. ใช้งาน และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ : เราสามารถที่จะสร้างผลกระทบในเชิงบวกจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฝ้าสังเกตุธรรมชาติอย่างรอบคอบ และเข้าไปช่วยส่งเสริมการทำงานของธรรมชาติในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ด้วย หลักการข้างต้น ผมพยายามออกแบบระบบต่างๆ ในสวนแบบงูๆ ปลาๆ โดยอาศัยการศึกษาเทคนิคย่อยๆ ในหนังสือคู่มือนักออกแบบที่ปู่บิลได้เขียนไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ในบทต่อไปมาฟังประสบการณ์ในการเอาเพอร์มาคัลเชอร์มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ และก่อสร้างขนำ แบบงูๆ ปลาๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น