20 มีนาคม 2557

Black Locust

ในช่วงที่อากาศแห้งแบบนี้เราก็มาสะสมต้นไม้ที่ จะทดลองกันในต้นหน้าฝน ผมเคยทิ้งท้ายไว้ว่าต้นไม้วงศ์ถั่วเป็นพืชที่ผมโปรดปรานมาก  ต้นไม้วงศ์ถั่วอีกต้นที่ชาวเพอร์มาคัลเชอร์มักจะเอ่ยถึง จนทำให้ผมอยากทดลองคือเจ้า Black Locust ชื่อวิทยาศาสตร์ Robinia Pseudoacacia บางครั้งก็ถูกเรียกว่า False Acacia เนื่องจากคนคิดว่ามันเป็นตระกูล "อะเคเซีย" แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่  แต่อย่างไรก็ตามเจ้าต้น Black Locust ก็อยู่ในวงศ์ถั่วเหมือนกับ "อะเคเซีย"  ดังนั้นผมจึงคิดว่าน่าจะเรียกต้น Black Locust ในภาษาไทยว่า "อะเคเซียเทียม"  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม

ความ โดดเด่นของ Black Locust คือโดยปกติในเขตสภาพอากาศแบบ temperate อย่างสหรัฐอเมริกา แคนนาดา และยุโรบ จะไม่ค่อยมีไม้เนื้อแข็งที่ทนทานต่อการผุกร่อน  พวกเขาจึงมักจะต้องอาศัยการนำเข้าไม้เนื้อแข็งจากเขตสภาพอากาศแบบ tropical ไปใช้งาน  แต่การทำแบบนั้นจะส่งเสริมการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศเขตร้อน   แต่พวกเขาพบว่าเจ้าต้น Black Locust มีคุณสมบัติที่ผุกร่อนได้ช้า  ชาวเพอร์มาคัลเชอร์จึงนิยมเอามาใช้งานที่ต้องการความทนทานต่อการผุกร่อนจาก ความชื้น เช่น ทำด้ามอุปกรณ์ต่างๆ  ทำเสารั้ว ทำสะพาน รวมทั้งทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เพื่อทดแทนการนำเข้าไม้จากเขตร้อน

ผมเลยทดลองเพาะเจ้า Black Locust ดู  หน้าตาของต้นกล้าในระยะต้นๆ จะคล้ายๆ พืชวงศ์ถั่ว เช่น ต้นพยุง พอสมควร




เมื่อโตขึ้นจะมีดอกสีขาว (เครดิตภาพจากเวป http://www.missouriplants.com/Whitealt/Robinia_pseudo_acacia_page.html )


ฝักจะคล้ายกับวงศ์ถั่วทั่วๆ ไป (เครดิตภาพที่เหลือจาก http://tcpermaculture.com/site/2013/11/18/permaculture-plants-black-locust )


กิ่งจะมีหนามคล้ายๆ พวกชะอม (วงศ์ถั่วเหมือนกัน)


เมื่อ โตเต็มที่จะสูงประมาณ 12-25 เมตร และมีขนาดลำต้น 30-60 ซม.  ในธรรมชาติจะเติบโตในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝน 1,000 - 1,400 มม./ปี   มีการใช้ประโยชน์ของต้น Black Locust ดังนี้
 - ไม้ฟืน เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว ให้เปลวไฟที่มีความร้อนสูง และเผาไหม้ได้ช้า
 - ไม้ใช้เป็นเสา, ใช้ในการสร้างเรือ, ทำกล่อง, ทำพาแลท เนื่องจากทนน้ำ และผุกร่อนช้า
 - เนื้อไม้แข็งเมื่อเปรียบเทียบกับไม้โอ๊ก จึงถูกนำมาทำเฟอร์นิเจอร์
 - ดอกสามารถนำมาปรุงอาหาร หรือชงชา
 - เป็นต้นไม้ที่ช่วยตรึงไนโตรเจนบำรุงดิน
 - น้ำหวานจากดอกดึงดูดแมลง โดยเฉพาะผึ้ง
 - เป็น Dynamic Accumulator โดยเฉพาะแร่ธาตุไนโตรเจน โปแตสเซยม และแคลเซียม
 - เป็นไม้เบิกนำสำหรับการฟื้นฟูสภาพพื้นที่เสื่อมโทรม
 - เมื่อผ่านช่วงแรกมาได้จะเป็นไม้ทนแล้ง ช่วยให้ร่มเงา
 - เป็นต้นไม้ประเภท Coppice กล่าวคือเมื่อตัดต้นไปแล้วก็จะยังงอกกิ่งมาให้ตัดทำฟืนได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องปลูกใหม่ ดูภาพด้านล่างประกอบ


 - เป็นแหล่งอาศัยของนก และสัตว์ขนาดเล็ก เนื่องจากคุณสมบัติที่มีกิ่งเป็นหนาม ช่วยปกป้องการรุกรานจากสัตว์ขนาดใหญ่
 - ในสามารถตัดเป็นอาหารให้วัว ควาย แพะ กระต่าย และไก่  (เป็นพิษกับม้า)

เนื่อง จากมีประโยชน์หลายอย่างแบบนี้  ต้น Black Locust จึงเป็นอีกหนึ่งในต้นไม้ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนักเพอร์มาคัลเชอร์ในสภาพ ภูมิอากาศแบบ temperate  จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในต้นไม้ในอนาคต  โดยเฉพาะศักยภาพที่จะช่วยลดการตัดไม้เนื้อแข็งในป่าเขตร้อน  ข้อมูลการปลูกในเอเชียมักจะเป็นการปลูกในพื้นที่ทางเหนือเส้นศูนย์สูตร และพื้นที่ระดับสูง เช่น ทางเหนือของอินเดีย เนปาล ทิเบต เป็นต้น   สำหรับในประเทศไทยมีคนำเข้าปลูกเป็นไม้ประดับบ้าง แต่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องต้น Black Locust มากนัก  และยังเป็นที่น่าสงสัยว่าต้น Black Locust จะสามารถอยู่รอดในธรรมชาติในสภาพอากาศแบบ Tropical อย่างประเทศไทยหรือไม่  เนื่องจากแม้นแต่ในทวีปอเมริกาเองเราก็ไม่ค่อยจะพบว่ามีต้น Black Locust ในป่าธรรมชาติในแถบตอนใต้ของรัฐฟลอริดา  หรือทางตอนใต้ของประเทศแม็กซิโก  แต่อีกไม่นานเราคงได้ติดตามผลการทดลองกันว่าจะสามารถอยู่รอดในภาคกลางของ ไทยโดยไม่ต้องดูแลมากได้หรือไม่  ยิ้ม

ส่วน อีกต้นที่คล้ายกันมากคือต้น Honey Locust ชือวิทยาศาสตร์ Gleditsia triacanthos แต่มีบางแหล่งบอกว่าต้น Honey Locust อาจจะไม่มีคุณสมบัติการตรึงไนโตรเจนทั้งๆ ที่เป็นพืชวงศ์ถั่ว  เนื้อไม้จะแกร่งน้อยกว่า Black Locust เล็กน้อย  ใบมีโปรทีนน้อยกว่า Black Locust เล็กน้อย และเมล็ดของ Honey Locust มีความเป็นพิษน้อยกว่า Black Locust เมื่อเปรียบเทียบรวมๆ แล้วเจ้าต้น Black Locust ก็ยังมีคุณสมบัติโดดเด่นกว่า Honey Locust จึงไม่ค่อยแปลกใจที่ชาวเพอร์มาคัลเชอร์จะเลือกปลูกเจ้าต้น Black Locust มากกว่า  แต่...เจ้าต้น Honey Locust เวลาจะผลัดใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองดูสวยงามมากกว่า  ยิ้ม

ภาพต้น Honey Locust จากเวป http://en.wikipedia.org/wiki/Honey_locust


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมใน http://my-experimental-farm.blogspot.com/p/plants.html

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น