เนื่องจากกำลังทำการบ้านเพาะต้นกัลปพฤกษ์ และสังเกตุว่าฝักกัลปพฤกษ์คล้ายกับฝักราชพฤกษ์ แต่ไม่เหมือนกัน จึงไปค้นคว้าเพิ่มเพิม พบว่ามีหลายต้นที่มีคำว่า "พฤกษ์" อยู่เป็นพืชตระกูลถั่วทั้งนั้น และมีลักษณะคล้ายๆ กัน จึงถือโอกาสมาแบ่งปันข้อมูลของสาระพัด "พฤกษ์" กันครับ
พฤกษ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Albizia lebbeck ชื่ออังกฤษ : East Indian walnut, frywood, Indian siris, koko) วงศ์ Leguminosae - Mimosoideae สูง 15-25เมตร ดอก สีเขียวอ่อนปนเหลือง ออกดอกเป็นช่อใกล้ปลายยอด ดอกย่อยรวมกันเป็นกระจุกแน่น กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น5แฉก ฝักแบนรูปขอบขนานกว้าง 2 ซม. ยาว 12 ซม.
นิเวศวิทยา : พฤกษ์เป็นต้นไม้โตเร็วและทนทาน เหมาะสำหรับปลูกในที่เสื่อมโทรมและแห้งแล้งสามารถปรับปรุงสภาพดินให้สมบูรณ์ขึ้นได้ เนื่องจากเป็นพวกถั่วซึ่งสามารถจับไนโตรเจนจากอากาศมาเปลี่ยนเป็นปุ๋ยไนเทรตได้ดี ขึ้นได้ดีในพื้นที่เสื่อมโทรม เป็นไม้เบิกนำที่ดี พบขึ้นอยู่ตามป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของไทย
ออกดอก : มีนาคม - เมษายน เป็นฝัก กันยายน - ธันวาคม
ประโยชน์ : ใบอ่อนและยอดอ่อนของพฤกษ์ นำมากินเป็นผักได้ เช่น ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกปลาร้า ฯลฯ โดยนำไปทำให้สุกเสียก่อน เช่น ต้ม, ลวก, ย่าง ฯลฯ นอกจากนี้ยังนำไปปรุงอาหารตำรับอื่นๆได้อีก เช่น แกงส้ม เป็นต้น ยอดพฤกษ์เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และรสชาติดีไม่แพ้ผักพื้นบ้านชนิดอื่นๆ
เนื้อไม้แข็ง ลายไม้สวย ใช้ทำสิ่งปลูกสร้าง เครื่องมือทาง การเกษตร เปลือกให้น้ำฝาดใช้ฟอกหนัง เปลือกมีรสฝาดใช้รักษาแผลในปาก ลำคอ เหงือก เมล็ดรักษาโรคผิวหนัง ใบใช้ดับพิษร้อนทำให้เย็น
ประวัติ : พฤกษ์มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชีย ในอดีตที่คนไทยภาคกลางเรียกพฤกษ์ว่าจามจุรีหรือจามรี น่าจะเป็นเพราะลักษณะดอกเป็นฝอย และมีสีออกเหลืองคล้ายแส้ขนจามรี (จามจุรี) ที่ใช้ในพิธีมงคลนั่นเอง ส่วนที่ได้ชื่อว่าก้ามปู ก็เพราะลักษณะตอนปลายช่อใบคล้ายก้ามปูทะเล จึงเรียกว่า ต้นก้ามปู ต่อมีคนนำต้นราชพฤกษ์มาจากทวีปอเมริกาใต้มาปลูกในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้เอง ชื่อจามจุรี จึงถูกนำไปเรียกใช้เรียกต้นราชพฤกษ์เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะลักษณะดอกที่มีเกสรยาวเป็นฝอย ต่างกันตรงที่สีดอกพฤกษ์มีสีขาวเหลือง แต่ดอกจามจุรี(ใหม่) สีออกชมพูแดง จึงเรียกในสมัยแรกๆ ว่าจามจุรีแดง เพื่อให้เห็นความแตกต่างจากจามจุรีเดิม(พฤกษ์) ซึ่งมี ดอกสีขาวเหลือง ต่อมาเรียกสั้น ลงว่าจามจุรี (เฉยๆ) ไม่มีคำว่า"แดง"ตามหลัง และไม่มีเรียกต้นพฤกษ์ ว่าจามจุรีหรือก้ามปูอีกมาจนถึงปัจจุบัน ในปัจจุบันยังมีบางถิ่นเรียกต้นพฤกษ์ว่า "จามจุรีสีทอง" เพื่อให้แตกต่างกับต้นจามจุรี(แดง) นั่นเอง
ราชพฤกษ์ หรือ คูณ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassis fistula Linn. ชื่ออังกฤษ
Golden Shower Tree, Purging Cassia) วงศ์ Leguminosae - Caesalpinioideae
สูง 12-15 เมตร เวลาออกดอกใบจะร่วง ดอกมีสีเหลือง ฝักยาวกลม ทรงกระบอก
ปลายแหลมสั้น มีสีเขียวเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ ผิวเปลือกแข็งเรียบ
ภายในฝักจะมีชั้นกั้นเป็นช่อง ๆ
นิเวศวิทยา : ราชพฤกษ์เจริญเติบโตได้ดีที่สุดในที่โล่งแจ้ง สามารถปลูกได้ทั้งดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย ดินร่วนเหนียว ทนต่อความแห้งแล้งและดินเค็มได้ดี แต่ไม่ทนในอากาศหนาวจัด ซึ่งอาจติดเชื้อราหรือโรคใบจุดได้
ประวัติ : ราชพฤกษ์มีการกระจายพันธุ์ทั่วไปตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย พบปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป และกระจายห่างๆ ตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง คนไทยในสมัยโบราณเชื่อว่าควรปลูกต้นราชพฤกษ์ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่อยู่อาศัย เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านเรือนมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นทวีคูณ ซึ่งความเป็นจริงคือทิศดังกล่าวจะได้รับแดดจัดตลอดช่วงบ่าย จึงควรปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ลดความร้อนและทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น
คนไทยในสมัยโบราณยังมีความเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นราชพฤกษ์ไว้ประจำบ้านจะช่วยให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี และใบของต้นราชพฤกษ์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะในพิธีทางไสยศาสตร์ให้ใบทำน้ำพุทธมนต์สะเดาะเคราะห์ได้ผลดี ดังนั้นจึงถือว่าต้นราชพฤกษ์เป็นไม้มงคล
กระทั่งในปี พ.ศ.2506 มีการประชุมเพื่อกำหนดสัญลักษณ์ต้นไม้และสัตว์ประจำชาติเป็นครั้งแรก โดยกรมป่าไม้ได้เสนอให้ ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูณ ไม้มงคลที่มีประโยชน์และรู้จักกันอย่างแพร่หลายเป็นต้นไม้ประจำชาติ สำหรับสัตว์ประจำชาติก็คือ ช้างเผือก สัตว์ที่มีคุณค่าเกี่ยวข้องกับประเพณีไทยและประวัติศาสตร์ไทยมายาวนาน การเสนอครั้งนั้นไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ
ปี พ.ศ.2530 มีการส่งเสริมให้ปลูกต้นราชพฤกษ์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ โดยมีการส่งเสริมให้ปลูกต้นราชพฤกษ์ทั่วประเทศจำนวน 99,999 ต้น ทุกวันนี้จึงมีต้นราชพฤกษ์อยู่มากมายทั่วประเทศไทย
ข้อสรุปเรื่องสัญลักษณ์ประจำชาติดูเหมือนจะยังไม่ชัดเจน กระทั่งช่วงปี พ.ศ.2544 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ได้นำเรื่องดังกล่าวกลับมาเสนออีกครั้ง และมีข้อสรุปเสนอให้มีการกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติ 3 สิ่งคือ ดอกไม้ สัตว์และสถาปัตยกรรม และการพิจารณาที่ผ่านมาเสนอให้กำหนดดอกไม้ประจำชาติคือ ดอกราชพฤกษ์ สัตว์ประจำชาติ คือ ช้างไทย และสถาปัตยกรรมประจำชาติคือ ศาลาไทย
เหตุที่เลือก ดอกราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้ประจำชาติเพราะมีความเหมาะสมในหลายๆ ด้าน คือ เป็นดอกไม้จากต้นไม้ที่ถูกเสนอให้เป็นต้นไม้ประจำชาติเมื่อครั้งที่กรมป่าไม้เสนอไว้ เป็นต้นไม้ที่มีอายุยืน ทนทาน ปลูกขึ้นได้ดีทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักแพร่หลาย ราชพฤกษ์เป็นไม้มงคลใช้ประโยชน์ในพิธีสำคัญๆ เช่น ลงหลักเมือง ลงเสาเอก ทำคฑาจอมพลและยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร ในช่วงฤดูร้อนราชพฤกษ์จะออกดอกสะพรั่งทั้งต้น ช่อดอกมีรูปทรงสวยงาม สีเหลืองอร่ามเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ รวมทั้งเป็นสีเดียวกับวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นอกจากนี้ความงามของช่อดอก และความหมายที่ดียังถูกจำลองแบบประดับไว้บนอินทรธนูของข้าราชการพลเรือนอีกด้วย
กัลปพฤกษ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia bakeriana Craib ชื่ออังกฤษ
Wishing Tree , Pink Cassia ) วงศ์ Leguminosae - Caesalpinioideae สูง 5 -
15 เมตร ดอกเริ่มบานสีชมพู เมื่อใกล้โรยเปลี่ยนเป็นสีขาว
ฝักรูปทรงกระบอก ยาว 30 - 50 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 - 2.5 ซม.
ชัยพฤกษ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia javanica L. subsp. reigera ชื่ออังกฤษ
Pink and white shower tree หรือ Javanese Cassia ) วงศ์ Leguminosae -
Caesalpinioideae สูง 5 - 15 เมตร ดอกเริ่มบานสีชมพู
แล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ใกล้โรยดอกสีขาว ฝักกลมเล็กน้อยออกแบน สีดำ ยาว
20 - 60 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 - 1.5 เซนติเมตร
กาฬพฤกษ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia grandis L.f. ชื่ออังกฤษ
Pink Shower , Horse Cassia ) วงศ์ Leguminosae - Caesalpinioideae สูง 10
- 20 เมตร ดอกเริ่มบานสีแดง แล้วเปลี่ยนเป็นชมพูตามลำดับ ฝักรูปทรงกระบอก
กว้างประมาณ 3 - 4 ซม. ยาว 20 - 40 ซม. สีค่อนข้างดำ
ผิวมีรอยแตกและมีสันทั้งสองข้างเมล็ดรูปรี รูปไข่หรือรูปขอบขนาน
สนใจเรื่องพืชที่น่าสับสนแบบนี้อีกติดตามได้ที่ http://my-experimental-farm.blogspot.com/p/plants.html
สนใจเรื่องราวต่างๆ ในสวนขี้คร้านติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น