12 มีนาคม 2557

คอมเฟรย์ พืชมหัศจรรย์

คอมเฟรย์ ความจริงผมเคยกล่าวถึงคอมเฟรย์ไปแล้วใน "แนะนำ Comfrey" แต่มีเพื่อนสมาชิกท่านหนึ่งย้อนกลับมาถามถึงคอมเฟรย์ทำให้เข้าใจได้ว่าผมให้ ข้อมูลไม่เพียงพอ  วันนี้จึงอยากจะมาแชร์เรื่องคอมเฟรย์ซึ่งเป็นหนึ่งในพืชที่ชาวเพอร์มาคัล เชอร์แนะนำให้ปลูกมากที่สุดให้เพื่อนๆ ฟังในเชิงลึก

สรรพคุณทางการแพทย์
น้อง โอ๋ ktikamporn ก็เคยทักไปแล้วถึงข้อห้ามใช้คอมเฟรย์ในฐานะสมุนไพรในบางประเทศ  แต่ความจริงคือคอมเฟรย์นับเป็นพืชที่มีการโต้แย้งกันมากที่สุดชนิดหนึ่ง  เนื่องจากคอมเฟรย์เป็นพืชที่มีประโยชน์หลายอย่าง และมีการใช้งานคอมเฟรย์เป็นสมุนไพรนี้กันมาอย่างกว้างขวางและยาวนานมากใน ทั้งในทวีปยุโรบ อเมริกา และออสเตรเลีย  ซึ่งในอดีตมีการใช้ทั้งเป็นยาทาภายนอก และบริโภคโดยที่ไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นอันตรายกับสัตว์หรือมนุษย์   แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) Culvenor และคณะได้ทดลองสกัดสารกลุ่ม PAs (Pyrrxolizidine Alkaloids) ออกมาจากใบของต้นคอมเฟรย์ และฉีด (ไม่ได้ผ่านระบบย่อยอาหาร) เข้าไปในหนูทดลอง และรายงานผลความเป็นพิษ  และได้มีผลการทดลองอย่างอื่นตามมาจนมีผลให้มีการจำกัด หรือระงับการใช้งานสมุนไพรที่มีประวัติศาสตร์การใช้งานในมนุษย์อย่างยาวนาน ในบางประเทศ  ในประเด็นดังกล่าวฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้แย้งว่า PAs นั้นจริงๆ แล้วมีหลายชนิด มีทั้งที่มีพิษ และไม่มีพิษ และ หลายชนิดก็ถูกนำมาใช้งานให้เป็นประโยชน์ในมนุษย์อย่างกว้างขวาง เช่น มอร์ฟีน (ใช้บรรเทาอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง) ควินิน (ใช้รักษาโรคมาเลเรีย) และนิโคติน เป็นต้น   โดยปกติในใบคอมเฟรย์จะมี PAs อยู่ประมาณ 0.06% และในรากจะมีประมาณ 0.2-0.4%  จึงกลายเป็นประเด็นโต้แย้งว่ามนุษย์ไม่ควรจะบริโภค PAs เลยหรือไม่  และปริมาณของ PAs ที่เล็กน้อยมากในคอมเฟรย์ควรจะทำให้เราตัดสินใจห้ามการใช้งานคอมเฟรย์อย่าง เด็ดขาดเลยหรือไม่   การพิจารณาเรื่องราวเหล่านี้จึงควรพิจารณาคำถามต่อไปนี้

1. นักวิจัยศึกษาความเป็นพิษในคอมเฟรย์อย่างไรเทียบกับการใช้งานจริง?
ใน ผลการวิจัยครั้งแรกของ Culvenor เป็นการสกัดสารกลุ่ม PAs ออกมาจากคอมเฟรย์และฉีดเข้าไปในหนูทดลองจนกระทั่งมีภาวะตับเป็นพิษ  ซึ่งจะแตกต่างจากการบริโภคที่สารกลุ่ม PAs อาจจะไม่ได้รับการดูดซึมเข้าร่างกายเหมือนกับการฉีดเข้าไปตรงๆ ในกระแสเลือด    แต่หากละประเด็นเรื่องการดูดซึมผ่านระบบย่อยอาหาร และมีการแปลงระดับความเป็นพิษในหนูทดลองมาเป็นในมนุษย์  โดยใช้สมมุติฐานว่าปริมาณ PAs 0.33 มิลลิกรัม ต่อใบของต้นคอมเฟรย์พบว่าหากมนุษย์มีการบริโภคเพียง 1 ใบต่อวันจะไม่ได้รับสารพิษ PA ในระดับที่จะเป็นพิษต่อมนุษย์ได้  ซึ่ง Culvenor เองก็เห็นด้วยว่าการบริโภคในปริมาณน้อยจะไม่เป็นพิษ  ส่วนระดับที่จะทำให้เกิดเป็นพิษแบบเฉียบพลันนั้นมนุษย์จะต้องรับประทานใบ คอมเฟรย์มากถึง 66,300 ใบในคราวเดียว  นับเป็นจำนวนที่เป็นไปไม่ได้แม้นแต่จะแบ่งมารับประทานใน 10 วัน   อย่างไรก็ตาม Culvenor กลับไปสรุปว่ามีคนตายจากการบริโภคคอมเฟรย์ ทั้งๆ ที่คนนั้นอาจจะเสียชีวิตจากปัจจัยอื่น   ส่วนการทำให้เกิดอาการตับเป็นพิษที่เกิดจากรับประทานต่อเนื่องนั้น  คนเราจะต้องรับประทานคอมเฟรย์วันละ 4 กิโลกรัมติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์จึงจะเกิดอาการเป็นพิษดังกล่าวก็ยังเป็นปริมาณที่แตกต่างจากการใช้ งานจริงในวงการสมุนไพร

2. คอมเฟรย์มีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง (carcinogenic) หรือไม่?
ผล งานวิจัยของ Hirono จากการทดลองขนาดเล็กและสรุปว่า PAs ในคอมเฟรย์มีสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ  ไม่เหมาะแก่การบริโภค  ในขณะที่ผลการติดตามสัตว์ที่ถูกเลี้ยงด้วยคอมเฟรย์จากโรงฆ่าสัตว์กลับไม่พบ ความผิดปกติในสัตว์ที่บริโภคคอมเฟรย์เลย  และผลวิจัยทางการแพทย์แทบจะไม่พบคนไข้ที่เป็นมะเร็งในตับจากการบริโภค สารกลุ่ม PAs แต่กลับจะพบในกลุ่มของคนไข้ที่ติดการดื่มแอลกอฮอล์อย่างรุนแรงมากกว่า   ทำให้ยังเป็นข้อกังขาว่าการบริโภคในปริมาณน้อยจะทำเกิดมะเร็งจริงหรือไม่

3.การสรุปว่าสารกลุ่ม PAs เป็นพิษทั้งหมดถูกต้องหรือไม่?
การ ศึกษาของ Garrett ในปี ค.ศ. 1982 พบว่าการให้สัตว์ทดลองบริโภคคอมเฟรย์ในระดับ 5% ของอาหารที่รับประทานไม่พบการเปลี่ยนแปลงของเอ็มไซน์ (แสดงระดับความเป็นพิษเลย)  แต่การบริโภค Oxford Ragwort เพียง 1% ก็เริ่มแสดงอาการเป็นพิษในตับแล้ว  นักวิจัยยังได้เพิ่มสัดส่วนของคอมเฟรย์ไปถึง 20% ก็ยังไม่ได้แสดงความเป็นพิษเท่ากับ Ragwort เพียง 1%   นี่จึงสามารถอธิบายได้ว่าสาร PAs ใน Ragwort มีความเป็นพิษสูงกว่าในคอมเฟรย์มาก  เราจึงไม่เห็นความเป็นพิษในสัตว์ที่บริโภคคอมเฟรย์ และหมายความว่าเราไม่ควรจะสรุปโดยรวมว่าการมีสารกลุ่ม PAs ในพืชจะทำให้เป็นพิษเสมอไป   จะต้องมาดูรายละเอียดว่าเป็นสารตัวไหน

4.ผลงานวิจัยเรื่องความเป็นพิษควรจะถูกตีความเป็นอย่างไร?
หากแปลงปริมาณของสาร PAs จากคอมเฟรย์ที่จะทำให้เกิดความเป็นพิษในหนูมาเป็นในมนุษย์จะมีปริมาณเทียบเท่าดังนี้
- เสียชีวิตทันทีหากรับประทานใบคอมเฟรย์จำนวนมากกว่า 66,300 ใบ (ประมาณ 332 กิโลกรัม)
- ไม่มีผลกระทบหากรับประทานใบคอมเฟรย์จำนวนน้อยกว่า 16,600 ใบ (ประมาณ 83 กิโลกรัม)
- มีผลในการทำลายเซลของตับหากรับประทานใบคอมเฟรย์ต่อเนื่องกันทุกวันอย่างน้อย 3 สัปดาห์ และรับประทานอย่างน้อยวันละ 890 ใบต่อวัน (ประมาณ 4 กิโลกรัมต่อวัน)

ส่วนการเป็นมะเร็งในสัตว์ทดลองที่บริโภคคอมเฟรย์ มากกว่า 33% ของอาหารที่บริโภค  พบว่าเป็นมะเร็งในระยะยาวบางส่วน  เมื่อศึกษานัยสำคัญของผลการทดลองแล้วพบสัตว์บางส่วนเสียชีวิตเนื่องจากอายุ มากก่อนที่จะแสดงอาการเป็นมะเร็ง  ดังนั้นระดับความเป็นพิษที่จะก่อให้เกิดมะเร็งจากคอมเฟรย์จึงน่าจะน้อยมาก

ถึง แม้นว่าผลการทดลองเรื่องความเป็นพิษของคอมเฟรย์จะยังไม่ชัดเจนว่าระดับความ เป็นพิษจะมีนัยสำคัญอย่างที่กังวัลกันหรือไม่  เพื่อความสบายใจองค์กรอาหารและยาในหลายประเทศจึงแนะนำไม่ให้บริโภคคอมเฟรย์ และแนะนำการใช้งานในฐานะสมุนไพรดังนี้ :
- ใช้คอมเฟรย์เป็นยาทาภายนอกอย่างเดียว  ไม่ควรรับประทาน (ทั้งๆ ที่ก็ยังมีคนรับประทานใบคอมเฟรย์อยู่เป็นจำนวนมาก)
- ไม่ควรใช้หากมีแผลเปิด
- ไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันทุกวันเกิน 10 วัน
- ใน 1 ปีไม่ควรใช้คอมเฟรย์เป็นจำนวนวันเกิน 4-6 สัปดาห์

ใน บางประเทศมีความกังวัลใจว่าการใช้เป็นยาทานภายนอกก็อาจจะทำให้มีสาร PAs ซึมเข้าสู่ร่างกาย  แม้นว่าปริมาณที่ซึมจะน้อยมากจนไม่ทำให้เป็นอันตรายใดๆ  แต่ในทางปฏิบัติพวกเขาไม่อาจคาดเดาพฤติกรรมการใช้ยาของผู้บริโภค  เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในบางประเทศก็ประกาศห้ามใช้คอมเฟรย์ในยา ทาภายนอกด้วย

เพื่อนๆ อาจจะสงสัยว่าถ้าหากคอมเฟรย์มีพิษ ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากแล้วทำไมคนยังอยากนำเอาคอมเฟรย์ไปใช้เป็นยาทาภาย นอก  ความจริงก็คือในคอมเฟรย์มีสารที่ช่วยเร่งการสร้างเซลสมานแผล เช่น allantoin, rosmarinic acid และ tannins   นักวิทยาศาสตร์คิดว่าสารสำคัญหลักคือ Allantoin ซึ่งก็พบในนมของแม่ในช่วงให้นมเด็กทารก  เข้าใจว่าเป็นสารที่มีประโยชน์ในการสร้างเซลใหม่ๆ ในทารก  ชื่อวิทยาศาสตร์ของคอมเฟรย์เองก็มาจากภาษากรีก Symphytum ซึ่งแปลว่า "เชื่อม" หรือ "สมาน"  ชื่อเดิมของคอมเฟรย์ในภาษาอังกฤษแปลว่า "เชื่อมกระดูก"

ในอดีตจะใช้คอมเฟรย์มาทุบให้ละเอียดแล้วประคบบริเวณ ที่กระดูกหักอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงต่อวัน เชื่อกันว่าสารในคอมเฟรย์จะซึมเข้าไปและช่วยรักษาอาการกระดูกหักให้หายเร็ว ขึ้น  คุณสมบัติที่ช่วยเชื่อมประสานผิวหนังของคอมเฟรย์จึงถูกนำมาใช้ในการทารอย แผลถลอก  ปัจจุบันมีการนำสารสกัดจากคอมเฟรย์ไปใช้ในด้านการรักษาสิว  ทำให้รอยแผลจากสิวสมานได้เร็วขึ้น  ลดโอกาสการเกิดแผลเป็นจากสิวอักเสบ  และยังถูกนำมาผสมในเครื่องสำอางหลายชนิดเพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้ผู้ใช้ผิว ที่เรียบสวยขึ้น

ประเด็นข้อควรระวังในการใช้คอมเฟรย์คือไม่ควรจะใช้ กับบาดแผลลึก  เนื่องจากสาร Allantoin ในคอมเฟรย์จะทำให้ผิวหนังสมานกันเร็วเกินไปในขณะที่แผลที่อยู่ลึกลงไปอาจจะ ยังติดเชื้อ  ทำให้เกิดเป็นหนองฝังใน  (การแพทย์ในปัจจุบันก็ไม่แนะนำให้ใช้คอมเฟรย์กับแผลเปิดเช่นกัน)  ควรจะใช้กับเฉพาะแผลถลอก  หรือใช้ในช่วงหลังที่แผลเริ่มสมานแล้วเพื่อใช้ลดโอกาสการเกิดแผลเป็นเท่า นั้น

ส่วนการกิน (บริโภค) คอมเฟรย์นั้น ทางการแพทย์ไม่แนะนำให้บริโภค  แต่กลุ่มคนที่บริโภคเชื่อว่าคอมเฟรย์จะช่วยบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ บรรเทาอาการแน่นอก  ความคิดเห็นส่วนตัวผมคิดว่าไม่น่าจะนำมารับประทานเนื่องจากเราสามารถใช้ยา อื่นที่ปลอดภัยกว่าทดแทนคุณสรรพทางยาจากการบริโภคคอมเฟรย์  ส่วนการใช้เป็นยาทาภายนอกนั้นน่าสนใจทีเดียว  โดยเฉพาะสำหรับสาวๆ  ยิ้ม

อาหารสัตว์
นอก เหนือจาก Allatoin แล้วคอมเฟรย์ยังโดดเด่นที่มีปริมาณโปรตีนในใบแห้งมากพอๆ กับที่พบในถั่วเหลือง  แต่หากเปรียบเทียบผลผลิตโปรตีนต่อไร่แล้วคอมเฟรย์จะให้โปรตีนมากกว่าถั่ว เหลืองถึง 20 เท่า  อย่างไรก็ตามคุณสมบัติการเป็นพืชสร้างโปรตีนที่เร็วที่สุดชนิดหนึ่งจึงทำ ให้มนุษย์เลือกใช้คอมเฟรย์มาเป็นอาหารให้สัตว์ เช่น หมู แกะ แพะ เป็ด ไก่ นก ม้า เป็นต้น ส่วนวัวและกระต่ายก็สามารถกินคอมเฟรย์ได้ แต่พวกเขาจะไม่ค่อยชอบรสชาติของคอมเฟรย์เท่าไหร่


อย่างไรก็ตามข้อ ด้อยของคอมเฟรย์เมื่อเทียบกับถั่วเหลือง หรือพืชวงศ์ถั่วอื่นๆ คือเชื่้อไรโซเบียมที่อยู่ในรากถั่วเหลืองสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้  แต่คอมเฟรย์ไม่มีความสัมพันธ์ดังกล่าวกับเชื่อไรโซเบียม  จึงทำให้ต้องการธาตุไนโตรเจนจากปุ๋ยเพื่อใช้ในการสร้างโปรตีน  ทำให้การปลูกเพื่อใช้ในการค้ามีต้นทุนของปุ๋ยเพิ่มเติมขึ้นมาเมื่อเทียบกับ การปลูกถั่ว  เพื่อแก้ไขปัญหานี้ในฟาร์มขนาดเล็กจะปลูกคอมเฟรย์ปนอยู่กับพืชวงศ์ถั่ว  เพื่อลดภาระในการใส่ปุ๋ย  แต่วิธีการนี้ไม่เหมาะกับเกษตรเชิงเดี่ยว

เมื่อ ประกอบกับรสชาติคอมเฟรย์ที่ไม่อร่อยสำหรับสัตว์บางชนิด (เช่น วัว กระต่าย)  ความสงสัยในเรื่องความเป็นพิษต่อสัตว์หากให้ในปริมาณมาก และความยุ่งยากในการเก็บเกี่ยว (ต้องใช้แรงงานคนไม่สามารถใช้เครื่องจักรได้ และไม่สะดวกในการเก็บไว้นานๆ เหมือนเมล็ดถั่วแห้ง)  ทำให้คอมเฟรย์ไม่ได้รับความนิยมในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่  ความนิยมใช้คอมเฟรย์จึงอยู่ในกลุ่มเกษตรรายเล็ก และเกษตรผสมผสานเนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่า  และคอมเฟรย์เป็นพืชยืนต้นที่มีอายุหลายสิบปี  ไม่ค่อยมีศัตรูทางธรรมชาติ  ทนแล้ง ไม่ต้องดูแลมากนัก  ทำให้ไม่ต้องปลูกใหม่ทุกๆ ปีเหมือนพืชวงศ์ถั่ว

มีรายงานถึงผลดีในใช้คอมเฟรย์ในการเลี้ยงสัตว์หลายอย่างดังนี้ (ข้อมูลจาก http://www.coescomfrey.com ) :
- ไก่ที่กินคอมเฟรย์จะให้ผลผลิตไข่มากขึ้น และไข่มีสีเหลืองเข้มมากขึ้น หรือออกไปทางสีส้ม
- แพะ แกะ และวัว (มีบางแหล่งบอกว่าวัวไม่ค่อยชอบกินคอมเฟรย์ ต้องผสมกับอาหารอื่น) ที่กินคอมเฟรย์จะให้ผลผลิตนมมากขึ้น  และกินฟางได้มากขึ้น
- สามารถใช้คอมเฟรย์ผสมในอาหารของหมู และช่วยลดปริมาณอาหารลง 25-35%
- การใช้คอมเฟรย์เลียงไส้เดือนจะช่วยเพิ่มจำนวนประชากรของไส้เดือนได้สูงสุดถึง 4 เท่า

ใน เรื่องจากใช้คอมเฟรย์เลี้ยงสัตว์นั้น ตอนนี้ผมยังไม่ได้เลี้ยง แต่คิดเล่นๆ ว่าถ้าเราปลูกคอมเฟรย์ในบริเวณที่ต่ำกว่าของคอกสัตว์  เวลาสัตว์ถ่ายมูล (ซึ่งมีไนโตรเจนสูง) ออกมาก็จะไหลซึมลงมาในบริเวณที่เราปลูกคอมเฟรย์  แล้วเราก็ตัดคอมเฟรย์กลับไปให้สัตว์กินเป็นครั้งคราวคงจะดีไม่น้อย  คอมเฟรย์จะได้ช่วยทำหน้าที่จับไนโตรเจนที่ไหลซึมลงดินบริเวณคอกกลับมาเป็น อาหารสัตว์ที่มีโปรตีนสูงได้อีก  นับเป็นวงจรชีวิตของธาตุไนโตรเจนที่ดีไม่ใช่น้อย   ความจริงเราก็สามารถทำได้อย่างเดียวกันโดยใช้พืชชนิดอื่น  แต่คอมเฟรย์น่าสนใจกว่าพืชผักชนิดอื่นตรงที่เป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลมาก  และสามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละหลายครั้ง

ปุ๋ย
ประโยชน์ หลักอีกอย่างหนึ่งของคอมเฟรย์คือใช้ในการทำปุ๋ย  คอมเฟรย์มีระบบรากที่ลึกมากจนได้ชื่อว่า "dynamic accumulator" เนื่องจากคอมเฟรย์จะไปหาอาหารจากดินชั้นล่างที่พืชอื่นไม่ค่อยมีรากลงไปลึก ถึง (รากของคอมเฟรย์ลึกได้ถึง 3 เมตร  ใกล้เคียงกับความลึกของรากหญ้าแฝก)  คอมเฟรย์จะนำสารอาหารจากดินชั้นล่างมาสะสมใบและลำต้น  เมื่อเราใช้ต้นคอมเฟรย์มาทำเป็นปุ๋ยก็จะทำให้สารอาหารเหล่านั้นถูกปลดปล่อย ออกมา  จุดเด่นมีคอมเฟรย์คือแร่ธาตุโพแทสเซียมค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับ ปุ๋ยชีวภาพอื่นๆ  ธาตุโพแทสเซียมจำเป็นสำหรับพืชในช่วงการสร้างดอก เมล็ด และผล  ทำให้ในต่างประเทศมีการปลูกคอมเฟรย์ปนอยู่กับต้นผลไม้  ชาวสวนจะคอยตัดคอมเฟรย์ที่โคนต้นสูงจากพื้นดินอย่างน้อย 1-2 นิ้ว  เพื่อให้ใบและลำต้นของคอมเฟรย์ย่อยสลายเป็นปุ๋ยให้กับต้นผลไม้ จำนวนรอบของการตัดต้นคอมเฟรย์ในต่างประเทศจะประมาณ 3-4 ครั้งต่อปีเนื่องจากมีแสงแดดน้อยกว่าในเขตร้อนอย่างประเทศไทย  ผลการทดลองในทวีปอาฟริกาพบว่าสามารถตัดได้บ่อยถึง 10-12 ครั้งต่อปี  แต่ในประเทศไทยยังไม่มีผลการศึกษาของพืชชนิดนี้

จุดเด่นที่สองของ คอมเฟรย์คือมีธาตุไนโตรเจนในสัดส่วนที่สูง (เข้าใจว่าอยู่ในโปรตีนที่มีปริมาณสูง) มีเส้นใย (fiber) น้อย  ทำให้สามารถย่อยสลายได้เร็วมากกว่าพืชทั่วๆ ไป  จึงมีการนำคอมเฟรย์มาใช้เป็น "compost activator" คือเป็นตัวเร่งการย่อยสลายของปุ๋ยหมัก  มีเกษตรกรหลายรายปลูกคอมเฟรย์ไว้ใกล้ๆ บริเวณกองปุ๋ยหมัก  ทุกครั้งที่ทำปุ๋ยหมักก็จะตัดต้นคอมเฟรย์โยนเข้าไปผสมกับวัสดุอื่นๆ ที่ใช้ในการทำปุ๋ยหมัก  ทำให้กลายเป็นปุ๋ยเร็วขึ้น   มีบางคนยังใช้ต้นคอมเฟรย์ทดแทนมูลสัตว์ในสูตรการทำปุ๋ย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่หามูลสัตว์ได้ยาก   ในต่างประเทศยังนำต้นคอมเฟรย์มาใช้ทำปุ๋ยหมักน้ำ (เรียกว่า Comfrey Tea)  ซึ่งได้ผลดีกับพืชผักต่างๆ โดยเฉพาะพวกผักที่เราทานผล เช่น มะเขือเทศ เป็นต้น
คอมเฟรย์

พันธุ์
คอมเฟรย์ทั่วไปจะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Symphytum officinale เป็นพืชในวงศ์ Boraginaceae เช่นเดียวกับหญ้างวงช้าง แต่เนื่องจากคุณสมบัติที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมทำให้ยากต่อการควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ และการกำจัดต้นคอมเฟรย์เมื่อไม่ต้องการ  ในบางพื้นที่จึงถือว่าคอมเฟรย์เป็นวัชพืช และมีความพยายามในการกำจัดคอมเฟรย์ชนิดนี้

ต่อมามนุษย์จึงทำทดลองการผสมคอมเฟรย์ 2 สายพันธุ์คือ  Symphytum officinale (Common Comfrey) และ Symphytum asperum (Rough Comfrey) กลายมาเป็นคอมเฟรย์รัสเซีย (Symphytum × uplandicum) โดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อ Lawrence D Hills ในช่วงปี ค.ศ. 1950s ได้ทำการพัฒนาสายพันธุ์โดยการแบ่งพื้นที่ทดลองออกมาเป็นแปลงหลายแปลงทดลอง ปรากฎว่าใน Bocking 14 ได้เป็นสายพันธุ์ที่ไม่เป็นพืชรุกรานเนื่องจากเมล็ดของคอมเฟรย์ชนิดนี้จะ เป็นหมัน  ไม่สามารถขยายพันธุ์เองโดยเมล็ดได้ ทำให้ต้องขยายพันธุ์ด้วยการแบ่งรากเท่านั้น (คอมเฟรย์รัสเซียต้องใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะโตเต็มที่ และสามารถใช้ในการขยายพันธุ์ได้)   ในปัจจุบันคอมเฟรย์รัสเซียสายพันธุ์ Blocking 14 จึงเป็นที่นิยมในบรรดานักทำสวนมากกว่าคอมเฟรย์สายพันธุ์ดั้งเดิม  แต่ก็จะหาซื้อต้นพันธุ์ได้ยากมากกว่าพอสมควร (เนื่องจากขยายพันธุ์ได้ช้า)

สุด ท้ายแล้วในบรรดาการใช้ประโยชน์ของคอมเฟรย์  การใช้คอมเฟรย์มาทำปุ๋ยในสวนผลไม้เป็นสิ่งที่ผมสนใจมากที่สุด   เรื่องราวของคอมเฟรย์จากความรู้ในต่างประเทศฟังดูน่าสนใจมาก แต่ข้อมูลของคอมเฟรย์ในประเทศไทยมีให้ศึกษาน้อยมาก   ตอนนี้ที่สวนขี้คร้านยังไม่มีต้นคอมเฟรย์ประจำการอยู่  จึงยังไม่สามารถทำการทดลองได้  ในประเทศไทยนั้นมีชาวต่างชาติ และคนไทยที่เคยอยู่ในต่างประเทศนำคอมเฟรย์เข้ามาปลูกไม่กี่รายในวงจำกัดทำ ให้ยากในการหาแหล่งซื้อต้นพันธุ์ในประเทศ  โดยเฉพาะการหาคอมเฟรย์รัสเซียสายพันธุ์ Blocking 14  แต่หวังว่าในไม่ช้าสวนขี้คร้านคงจะมีโอกาสได้ต้อนรับต้นคอมเฟรย์มาเป็น สมาชิกในห้องทดลองแห่งนี้บ้าง  ไม่รู้ว่าจะได้ผลดีเหมือนในต่างประเทศหรือไม่ ยิ้มเท่ห์


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมใน http://my-experimental-farm.blogspot.com/p/plants.html

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น