เท้าความถึงบทที่แล้ว
หลังจากตกกะใจกับผลการทดลองที่ทำเอาต้นมะนาวตายไปเกือบทั้งสวน
หญ้าก็ปล่อยรกเต็มสวน เรื่องราวของชายเพี้ยนก็กระฉ่อนไปทั้งหมู่บ้าน
ส่วนชายเพี้ยนยังคงหมกหมุ่นในการแสวงหาศาสตร์ใหม่เข้ามาเพิ่มเติม
ด้วยความปารถนาจะทำสวนแบบคนขี้คร้าน ในระหว่างที่ออกท่องยุทธภพแบบ Virtual
กับอากู๋ผ่านทางอินเทอร์เน็ต
เริ่มจากหาความรู้เพิ่มเติมเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติ
พอหาอ่านภาษาไทยไม่ค่อยจะเจอ ก็ขยับเป็นภาษาปะกิต ด้วยความรู้แบบ snake ๆ
fish ๆ ก็ไปเจอคำศัพท์ไม่รู้จักเรียกว่า Permaculture (เพอร์มาคัลเชอร์)
ซึ่งดูแล้วน่าสนใจมาก และอาจจะมาตอบคำถามหลายๆ อย่างที่กำลังค้นหาอยู่
ค้นหาข้อมูลไปเรื่อยๆ จากเรื่องนึงไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง
สุดท้ายก็เริ่มเข้าใจว่าเพอร์มาคัลเชอร์เป็นเรื่องราวเดียวกันกับเกษตรกรรม
ธรรมชาติของปู่ฟูกูโอกะ
เป็นการเดินทางขึ้นภูเขาลูกเดียวกันด้วยเส้นทางที่แตกต่างกัน
ก่อน
ที่เราจะเข้าไปในเรื่องเพอร์มาคัลเชอร์
เรามาทำความรู้จักกับปราชญ์ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดในด้านนี้ก่อน
ท่านแรกที่ท่านรู้จักกันแล้ว คือ Masanobu Fukuoka (ปู่ฟู)
ส่วนท่านที่สองคือคนที่บัญญัติศัพท์คำว่าเพอร์มาคัลเชอร์ชื่อว่า Bruce
Charles 'Bill' Mollison (ปู่บิล)
มัน
ชั่งเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่ Bruce Charles 'Bill' Mollison (ปู่บิล) และ
Masanobu Fukuoka (ปู่ฟู) ซึ่งต่างคนต่างคิดและลงมือทำในช่วงเวลาเดียวกัน
ในที่ดินของตนเองในคนละทวีป คนละสภาพแวดล้อม
คนละสภาพอากาศกลับได้คำตอบที่คล้ายกันมากของคำถามที่ว่า
"มนุษย์จะอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้อย่างไร?"
ปู่บิล และปู่ฟูเลือกเส้นทางที่แตกต่างในการไปถึงจุดหมายเดียวกัน
และแนวคิดของทั้งคู่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับพื้นที่ในทุกสภาพอากาศ
ปู่
ฟูเริ่มเกิดในปี ค.ศ. 1913 (พ.ศ. 2456) ในหมู่บ้านเล็กๆ
บนเกาะชิโกกุทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เขาจบการศึกษาทางจุลชีววิทยา
สาขาพยาธิวิทยาของพืช
และทำงานเป็นนักวิจัยทางเกษตรของกรมศุลกากรในเมืองโยโกฮาม่า
ในแผนกตรวจสอบพันธุ์พืชที่จะนำเข้าและส่งออก เมื่อเขาอายุได้ 25 ปี
ฟูกูโอกะเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของเกษตรกรรมสมัยใหม่
เขาตัดสินใจลาออกจากงานและกลับ ไปทำเกษตรกรรมที่บ้านในชนบท
เขาอุทิศเวลากว่า 50 ปีให้กับการพัฒนาวิธีการทำเกษตรกรรมธรรมชาติ
(รายละเอียดสามารถหา อ่านได้จากหนังสือของปู่ฟู
จึงขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดมากนัก)
ขออนุญาตแทรก link ของหนังสือของปู่ฟู 4 เล่มดังนี้ :
1. ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว
http://www.neutron.rmutphysics.com/teaching-glossary/index.php?option=com_content&task=view&id=7786&Itemid=8
http://www.homebankstore.com/dl/sread/017.pdf
http://www.bkw.ac.th/onet/2555/_book_/ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว.pdf
2. วิถีสู่ธรรมชาติเล่ม 1
http://www.neutron.rmutphysics.com/news/index.php?option=com_content&task=view&id=355
3. วิถีสู่ธรรมชาติเล่ม 2
http://www.neutron.rmutphysics.com/news/index.php?option=com_content&task=view&id=356
4. วิถีสู่ธรรมชาติเล่ม 3
http://www.neutron.rmutphysics.com/news/index.php?option=com_content&task=view&id=357
ส่วน
ปู่บิลเกิดในปี ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) ในทัสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย
เขาลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 15
ปีเพื่อออกมาช่วยครอบครัวทำงานร้านขนมปัง
ต่อมาเขาทำงานเป็นชาวประมงบนเรือล่าปลาฉลาม
การทำงานบนเรือทำให้เขามีโอกาสในการเดินทาง
และหันไปทำงานอีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นคนงานเหมือง คนขับรถไถ คนดักจับสัตว์
เจ้าหน้าที่ดูแลป่าไม้ และนักธรรมชาติวิทยา
เมื่อปู่บิลมีอายุ 26
ปีเขาร่วมงานกับหน่วยงานสำรวจสัตว์ป่าของ The Commonwealth Scientific and
Industrial Research Organisation (CSIRO) และทำงานที่นั่นเป็นเวลา 9 ปี
ตามสถานที่ห่างไกลผู้คนในฐานะนักชีววิทยาทำงานวิจัยเกี่ยวกับ กระต่าย
ตั๊กแตน นกมัตตัน (muttonbirds)
สัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องเลี้ยงสำหรับเลี้ยงลูก (เช่น จิงโจ้)
และปัญหาการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม ในช่วงปี ค.ศ. 1959
ระหว่างที่ทดลองปลูกป่าด้วยพรรณไม้ 26 ชนิด
ควบคู่ไปกับเลี้ยงสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้องสำหรับเลี้ยงลูก 5 สายพันธุ์
เขาค้นพบว่าจะมีพรรณไม้เพียง 4 ชนิด และจิงโจ้ 2
สายพันธุ์เท่านั้นก็เพียงพอจะเติบโตได้ดีร่วมกัน
เขาเริ่มมองเห็นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์ประกอบต่างๆ
ในธรรมชาติจากระบบง่ายๆ ที่ใช้ในการทดลองยังได้ผลดี
เขามีความเชื่อว่ามนุษย์สามารถออกแบบระบบที่ซับซ้อนกว่านี้ได้
และได้ผลดีกว่านั้นแน่นอน
เขาอยากจะเล่าเรื่องการค้นพบครั้งนี้ให้ผู้คนฟังแต่ยังไม่มีโอกาส
ปี
ค.ศ. 1963 เขากลับมาทำงานเอกสารที่พิพิธภัณฑ์ในเมืองทัสมาเนียได้เพียง 1
ปี แต่เขายังคงติดใจความมหัศจรรย์ของการทำงานร่วมกันขององค์ประกอบต่างๆ
ในธรรมชาติ
ทำให้เขาอดไม่ได้ที่จะกลับไปทำงานลงพื้นที่อีกเป็นนักสำรวจระบบนิเวศน์ของ
สัตว์น้ำจืด ไม่ว่าจะเป็นแหล่งอาศัย ห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำ
และสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของลำห้วย แม่น้ำ และทะเลสาบต่างๆ
ในเมืองทัสมาเนีย
ด้วยจิตวิญญาณของการเป็นครู
ปู่บิลต้องการถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติที่เขาค้นพบจากการทำงานใน
ฟิลดิ์ ในปี ค.ศ. 1966 เขากลับมาเรียนหนังสืออีกครั้งตอนอายุ 38 ปี
(หลังจากลาออกไปทำงานตั้งแต่อายุ 15 ปี) ในขณะที่เรียนเขาก็ทำงานเลี้ยงวัว,
ทำประมงจับปลาฉลาม และเป็นอาจาย์ part time ที่โรงเรียน
ภายหลังจากที่ได้รับปริญญาทางด้านชีวภูมิศาสตร์ (bio-geography)
เขาก็ได้รับบรรจุเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย
เขาได้พัฒนาหลักสูตรจิตวิทยาสิ่งแวดล้อม
เขายังเขียนบทความและทำงานวิจัยเกี่ยวกับชาวอะบอริจิน
(ชนพื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย)
ในระหว่างนั้นเขาค้นพบเรื่อง
ที่ทำให้เขาประหลาดใจหลายอย่าง เช่น
นักนิเวศวิทยาไม่เคยประยุกต์ใช้ความรู้ให้สวนในบ้านของตนมีระบบนิเวศน์ที่
ดี นักฟิสิกส์กลับอยู่ในบ้านที่ใช้พลังงานจำนวนมาก
สถาปนิกออกแบบสร้างบ้านไม่เคยเข้าใจการกระจายของความร้อน
ที่สำคัญมนุษย์รู้วิธีทำการเกษตรมากว่า 7,000 ปี
แต่เรากลับปล่อยให้ป่าไม้แห้งแล้งมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นทะเลทราย
ปู่บิลแปลกใจมากที่ยังไม่มีคนคิดนำความรู้ทางการเกษตรที่มี
มาใช้ในการออกแบบระบบที่มีความสมดุลย์ทางนิเวศน์
แนวคิดดังกล่าวกลายเป็นแรงจูงใจในการนำเสนอแนวคิดที่เรียกว่า
"เพอร์มาคัลเชอร์"
ต่อมาในปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) เขาได้ร่วมกับ
David Holmgren พัฒนาแนวคิด และบัญญัติศัพท์คำว่า Permaculture
(เพอร์มาคัลเชอร์) ขึ้นมา โดยมาจากการสนธิของคำว่า Permanent + Culture
ต่อมาจึงได้ตีพิมพ์หนังสือ 2 เล่มคือ Permaculture One : A Perennial
Agriculture for Human Settlements (เล่มนี้เขียนร่วมกับ David Holmgren
พิมพ์์ปี ค.ศ. 1978) และ Permaculture Two : Practical Design for Town and
Country in Permanent Agriculture (เล่มนี้เขียนคนเดียว พิมพ์ปี ค.ศ.
1979)
ปี ค.ศ. 1979 ภายหลังจากที่เขาลาออกจากการทำงานที่มหาวิทยาลัย
เขาได้จัดตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชื่อว่า Permaculture Institute
(สถาบันเพอร์มาคัลเชอร์)
และได้อุทิศตนในการพัฒนาหลักสูตรในการเผยแพร่แนวคิดของเพอร์มาคัลเชอร์
และเข้าไปช่วยงานในโครงการนำเอาแนวคิดของเพอร์มาคัลเชอร์ไปประยุกต์ใช้ทั่ว
โลก
ปี ค.ศ. 1997 ในวัย 69
ปีปู่บิลเกษียณอายุจากการเป็นผู้อำนวยการของสถาบันเพอร์มาคัลเชอร์ โดยให้
Geoff Lawton เข้ามาดำเนินการต่อ
แต่เขาก็ยังเป็นวิทยากรในการสอนหลักสูตรต่างๆ ตามโอกาสจะอำนวย
การพบปะของปู่ฟู และปู่บิล
เนื่อง
จากปู่ฟูทำงานเหมือนคนบ้าอยู่คนเดียวอยู่ในสวนของเขาเป็นหลายปีโดยที่ทั่ว
โลกไม่มีใครรู้จักเขา
แนวคิดของปู่ฟูจึงเป็นเพียงเรื่องลึกลับของชายเพี้ยนคนหนึ่งที่ร่ำลือกัน
บ้างในหมู่คนกลุ่มเล็กๆ ในโลก (น่าจะเป็นเพราะอุปสรรคทางภาษา) จนกระทั่ง
Larry Korn ซึ่งเรียนวิชาภาษาญี่ปุ่นได้ยินเรื่องราวนี้
เขาสนใจเป็นอย่างมากจึงได้เดินทางไปทำงานในไร่ของปู่ฟูในปี ค.ศ. 1973
(ในขณะนั้นโลกก็ยังไม่รู้จักคำว่าเพอร์มาคัลเชอร์
เพราะหนังสือของปู่บิลยังไม่ได้ถูกตีพิมพ์
มีเพียงการพูดคุยกันในรายการวิทยุที่กระจายเสียงเฉพาะในประเทศออสเตรเลีย)
ต่อมาในปี ค.ศ. 1975 ปู่ฟูเขียนหนังสือเล่มแรก
"ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางข้าวเส้นเดียว" ลูกศิษย์อย่าง Larry Korn
จึงได้ช่วยแปลเป็นภาษาอังกฤษและตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1978 (ปีเดียวกับที่ Bill
Mollison ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรก ชื่อ Permaculture One)
ในปี ค.ศ.
1978
พวกเขาทั้งสองคนจึงได้เรียนรู้ว่ามีคนในอีกซีกหนึ่งของโลกกำลังพยายามหาคำ
ตอบเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติเช่นกัน
ทั้งสองต่างได้นำแนวคิดของแต่ละฝ่ายมาใช้งานตั้งแต่ยังไม่ได้พบกัน
โดยแนวคิดเพอร์มาคัลเชอร์ของปู่บิลที่ออกมาในช่วงต้นๆ
เน้นเรื่องเทคนิคและวิทยาศาสตร์มากเกินไป(ปู่บิลเน้นที่การลงมือปฏิบัติโดย
ไม่ต้องมีแรงจูงใจว่าทำไมต้องทำ)
ปู่บิลได้ส่วนที่เป็นปรัชญาของปู่ฟูมาช่วยเสริมแนวคิดด้านเพอร์มาคัลเชอร์
ทำให้มีเหตุผลทางจิตวิญญาณว่าทำไมจะต้องทำงานร่วมกับธรรมชาติ
นอกจากนี้ปู่บิลยังได้นำเทคนิคหลายอย่างที่ปู่ฟูพัฒนาขึ้นมาไปประยุกต์ใช้
งาน เช่น การทำแปลงผักแบบไม่ต้องพรวนดิน หรือ กระสุนดิน
ส่วนปู่ฟู
ได้แนวคิดวิธีการทำงานที่ขับเคลื่อน
และการกระจายองค์ความรู้ในรูปแบบเป็นองค์กร
มีความครบถ้วนทั้งเรื่องการเกษตร การตลาด และการบริหารจัดการทางการเงิน
มีทำงานร่วมกับคนในท้องถิ่นเพื่อให้โครงการมีคนทำงานต่อเนื่อง
ทำให้การเผยแพร่องค์ความรู้
และการถ่ายทอดแนวคิดและประสบการณ์ออกไปได้อย่างรวดเร็ว
ปู่ฟูจึงเริ่มทำกิจกรรมการฝึกอบรม การเขียนหนังสือ
และการเดินทางไปช่วยเหลืองานขับเคลื่อนการนำเกษตรกรรมธรรมชาติไปใช้งานใน
ประเทศต่างๆ
เขาทั้งสองคนมีโอกาสได้พบกันครั้งแรกในปี ค.ศ. 1986
(พ.ศ. 2529) ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่งต่อมาได้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดกันอีกหลายครั้ง
ปัจจุบันปู่ฟูได้
จากโลกใบนี้ไปแล้วในวันที่ 16 สิงหาคม 2008 (พ.ศ.2551) ในวัย 95 ปี
ส่วนปู่บิลเกษียณเพื่อกลับไปอยู่ที่สวนของเขาด้วยวัย 84 ปี (นับถึงปี พ.ศ.
2555)
และยังคงมีส่วนร่วมในการเผยแพร่การประยุกต์ใช้เพอร์มาคัลเชอร์เป็นครั้งคราว
ใน
ตอนต่อไปเรามาติดตามดูว่าปู่บิลมีแนวคิดที่แตกต่างจากปู่ฟูมากน้อยเพียงใด
และแนวคิดของปู่บิลจะเอามาประยุกต์ใช้ที่สวนขี้คร้านได้หรือไม่
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0
กำลังเริ่มศึกษาค่ะ หาข้อมูลยากมาก ขอบคุณนะคะ ที่แบ่งปันข้อมูล
ตอบลบ