6 พฤศจิกายน 2556

ออกแบบตำแหน่งสร้างบ้านสร้างรั้ว


ก่อนจะทำอะไรมากมายมีเพื่อนๆ หลายท่านแนะนำมาว่าเกษตรกรวันหยุดแบบผมควรสร้างบ้านพักก่อน  เวลาไปสวนฯ จะได้มีเวลาทำงานสวนได้เต็มที่  ถ้ามีเนื้อที่ไม่กี่ตารางเมตรเหมือนใน กทม. ผมคงไม่ต้องคิดมากว่าจะสร้างขนำตรงไหนในที่ดินดี แต่ด้วยขนาดที่ดินที่ใหญ่จึงเป็นประเด็นให้คิดว่าจะวางตำแหน่งบ้านไว้ตรงไหน ดี  ในตอนเริ่มต้นยังไม่ทันรู้จักเพอร์มาคัลเชอร์ เราไม่ใช้วิทยาศาสตร์ก็ใช้ไสยศาสตร์แทนแล้วกัน ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม  ศาสตร์แรกเป็นศาสตร์ของพราหม์ได้ยินมาจากตอนอาจารย์เดชาสอนอุ้มในรายการ "ฉันจะเป็นชาวนา" เรียกว่าคัมภีร์โสฬสปุรำสร้างบ้านสร้างรั้ว

คัมภีร์โสฬสปุรำ

วิธี การคำนวนไม่อยาก  เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่ของเราจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมอยู่แล้ว  ในตำราท่านพูดถึง 2 เรื่อง  เรื่องแรกคือตำแหน่งสร้างบ้าน เพื่อความง่ายในการอ่านแผนที่ผมของอนุญาตเขียนใหม่ตามทิศในแผนที่ที่เราคุ้น เคยกว่าในรูปด้านล่าง คือทิศเหนืออยู่ด้านบน  ให้เราแบ่งพื้นที่ออกเป็นเหมือนตารางหมากรุกโดยแบ่งแต่ละด้านของที่ดินออก เป็นอย่างละ 4 ส่วนเท่าๆ กัน  แต่ละส่วนในตารางจะมีชื่อตำแหน่ง  ผมแบ่งเป็นสีเขียวถ้าเป็นตำแหน่งมงคล และสีชมพูถ้าเป็นไม่มงคล  จะเห็นว่าพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นมงคลอยู่แล้ว  ถ้าไม่คิดมากก็แค่หลบตำแหน่งไม่มงคลก็แล้วกัน

คัมภีร์โสฬสปุรำ

บางคนอาจจะสงสัยว่าถ้าที่ดินไม่เป็นสี่เหลี่ยมจะทำอย่างไร  ถ้าแนวที่ดินไม่อยู่ในแนวเหนือใต้ แต่เฉียงๆ จะทำอย่างไร ขออภัยที่ต้องตอบว่าไม่รู้จริงๆ บังเอิญลักษณะที่ดินของผมใช้ได้ตำราเพราะที่ดินอยู่ในแนวเหนือใต้  และค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมพอดี

เรื่องที่ 2 ในคัมภีร์โสฬสปุรำสร้างบ้านสร้างรั้ว คือเรื่องสร้างรั้วก็ให้แบ่งแนวขอบที่ดินแต่ละด้านออกแปดส่วน  หันทิศแผนที่ให้ตรงกับที่ดินของเรา แล้วเล็งหาตำแหน่งที่ไม่เป็นอัปมงคลมาใช้ในการสร้างประตูรั้ว  เห็นมั๊ยง่ายมากไม่ต้องคิดมาก  แต่มีทางเลือกเยอะพอควรเพราะสร้างประตูรั้ว และบ้านได้หลายตำแหน่งมากจึงต้องเอาไสยศาสตร์อื่นมาช่วย

ศาสตร์ที่ 2 ที่อ่านเจอเป็นเรื่องของฮวงจุ้ย  แต่ตำราฮวงจุ้ยจะไม่ได้กล่าวถึงตำแหน่งสร้างบ้านเท่าไรหนัก  แต่เท่าที่จับประเด็นได้คือเดิมในอดีตมีการสัญจรทางน้ำเป็นหลัก  บ้านจึงควรอยู่ใกล้แม่น้ำจะได้สะดวกในการเดินทาง  มีแขกมาก็จะได้เห็น  แต่ในปัจจุบันการเดินทางเปลี่ยนไปเป็นใช้รถยนต์เป็นหลัก  หากเราประยุกต์ใช้หลักการเดียวกัน  ตำแหน่งสร้างบ้านก็ไม่ควรจะห่างจากรั้วมากนัก เวลามีแขกไปใครมาจะได้มองเห็นบ้าง  แต่อยู่ติดรั้วไปเลยก็ไม่ดีเพราะจะขาดความเป็นส่วนตัว  ส่วนเรื่องเพื่อนบ้านส่วนด้านฝั่งตะวันออกของผมจะขึ้นมาพักเพื่อทำงานสวน บ่อยๆ ส่วนสวนฝั่งตะวันออกไม่ค่อยจะมาเลย  ผมจึงเลือกที่จะสร้างขนำที่ไม่ไกลจากรั้วด้านเหนือมากนัก และค่อนมาทางฝั่งเพื่อนบ้านที่มาบ่อยๆ ด้านฝั่งตะวันออก  เพราะว่าถ้ามีขโมย หรือมีเหตุอะไรกับขนำ เขาอาจจะมองเห็นบ้าง

ตำแหน่งที่ผมเลือกสร้าง บ้านก็เลยจะอยู่แถวๆ ตำแหน่งตักกสิลา และตำแหน่งสาวัตถีตามคัมภีร์โสฬสปุรำสร้างบ้านสร้างรั้ว ซึ่งยังเป็นตำแหน่งมงคล  ส่วนประตูรั้วนั้นก็เลือกระหว่างตำแหน่ง "ได้ของ" และ "ได้ลาภ" ตามคัมภีร์โสฬสปุรำสร้างบ้านสร้างรั้ว  ซึ่งก็จะสอดคล้องกับหลักฮวงจุ้ยเนื่องจากถนนใหญ่จะเข้ามาสวนจากทางทิศตะวัน ออกมาทางถนนทิศเหนือ  การที่ตำแหน่งรั้วของเราค่อนมาทางด้านทิศตะวันออกจะทำให้คนที่มาเยี่ยมจะเจอ ประตูรั้วก่อน




ปล. ขอนอกเรื่องด้วยความหมายของตักกศิลา และสาวัตถี

"ตัก กสิลา" สถานที่เก่าแก่ทางพุทธศาสนา ถือเป็นเมืองมหาวิทยาลัยอันยิ่งใหญ่ของโลกที่มีมาก่อนพุทธกาล  เป็นศูนย์กลางการศึกษา มีสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สั่งสอนศิลปวิทยาต่างๆ แก่ศิษย์ที่เดินทางมาเล่าเรียนจากทุกถิ่นในชมพูทวีป  บุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงหลายท่านในสมัยพุทธกาลสำเร็จการศึกษาจากนครตักศิลา เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศ(พระเจ้าแผ่นดินแคว้นโกศลครองราชสมบัติอยู่ที่พระนครสาวัต ถี) เจ้ามหาลิลิจฉวี พันธุลเสนาบดี หมอชีวกโกมารภัจจ์(แพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า) และองคุลีมาล(มหาโจรผู้กลับใจเป็นพระอรหันต์มหาสาวก)

"สาวัตถี" ชื่อของเมืองมาจากชื่อของฤๅษีชื่อ สวัตถะ หรืออีกนัยหนึ่งเมืองสาวัตถีมาจากคำภาษาบาลีที่แปลว่า มีสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคเพียบพร้อมทุกอย่าง หรือจากตำนานที่ว่าเมื่อพ่อค้ามาที่เมืองนี้มักถูกถามว่ามีข้าวของอะไรมาขาย บ้าง ซึ่งคำว่าทุกอย่างมาจากภาษาบาลีว่า "สพฺพํ อตฺถิ" ซึ่ง สพฺพํ แปลว่า ทุกอย่าง หรือมาจากภาษาสันสกฤตว่า สรฺวํ อสฺติ จึงกลายมาเป็นชื่อเมืองนี้ว่า สาวัตถี

เมืองสาวัตถีในสมัยพุทธกาล เป็นเมืองที่ใหญ่พอกับเมืองราชคฤห์และพาราณสี เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าขายในสมัยพุทธกาล โดยในสมัยนั้นเมืองสาวัตถีมีพระเจ้าปเสนทิโกศลปกครองร่วมสมัยกับพระเจ้า พิมพิสาร นอกจากนี้เมืองสาวัตถีนับว่าเป็นเมืองสำคัญในการเป็นฐานในการเผยแพร่พระพุทธ ศาสนาของพระพุทธเจ้าที่สำคัญ เพราะเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าประทับนานที่สุดถึง 25 พรรษา เป็นที่ตรัสพระสูตรมากมายและเป็นเมืองที่พระพุทธศาสนามั่นคงที่สุด เพราะมีผู้อุปถัมภ์สำคัญ เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล อนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขา เป็นต้น

หากเราจะยึดตามหลักการออกแบบของปู่บิลเราก็ต้อง วิเคราะห์โซนการใช้งานที่ดินของเราก่อน  การออกแบบโซนในเพอร์มาคัลเชอร์จะคำนึงถึงการใช้อนุรกษ์พลังงานอย่างมี ประสิทธิภาพของทั้งคน เครื่องจักร และเชื้อเพลิง  ดังนั้นผู้ออกแบบจึงควรวิเคราะห์พฤติกรรมและเลือกใช้พื้นที่แต่ละโซนตามความ ถี่ในการใช้งานพื้นที่ และระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางไปยังพื้นที่ในโซนนั้นๆ

เราควรจะเลือก องค์ประกอบที่ต้องทำกิจกรรมบ่อยไว้ใกล้ๆ ใจกลาง  โดยความถี่ของกิจกรรมอาจจะเกิดจากองค์ประกอบนั้นต้องการการดูแลจากเรา (เช่น ต้องไปให้อาหารไก่) หรือความต้องการของเราในการไปเก็บเกี่ยว/ใช้ประโยชน์จากองค์ประกอบนั้นๆ (เช่น ต้องไปเก็บไข่) ตัวอย่างเช่น เล้าไก่ อาจจะต้องการให้เราไปให้อาหารและเก็บไข่ทุกวัน  ต้องไปให้น้ำทุกสัปดาห์ ต้องไปเก็บมูลไก่ทุกเดือน รวมๆ กันแล้วเราอาจจะต้องเดินทางไปเล้าไก่มากถึง 450 ครั้งใน 1 ปี ดังนั้นถ้าอยู่ไกลก็จะเสียเวลาในการเดินไปกลับนาน สูญเสียทั้งเวลา และกำลังกาย

เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบภูมิทัศน์ เราอาจจะแบ่งการใช้พื้นที่ของเราออกเป็นโซนต่างๆ ดังนี้ (หมายเหตุ บางคนอาจจะไม่มีทุกองค์ประกอบตามนี้ เพราะอาจจะไม่มีพื้นที่ใหญ่พอจะแบ่งเป็นทั้ง 6 โซน  แต่ขอให้ศึกษาเอาหลักการ และนำไปประยุกต์ใช้)



โซน 0 : บ้าน

เรา ต้องอยู่บ้านบ่อยที่สุด  จึงเป็นแกนกลางของระบบ  ซึ่งอาจจะมีองค์ประกอบอื่นๆ นอกเหนือจากตัวบ้านที่เรามักจะไปทำกิจกรรมบ่อยๆ เช่น ที่เพาะพันธุ์ / อนุบาลพืช, ที่เลี้ยงสุนัข/แมว, ไม้กระถาง หรือไม้ประดับเพื่อความสวยงามอื่นๆ

โซน 1 : สวนหย่อม

เรา มักจะต้องไปกิจกรรมทุกวัน และอยู่ในระยะห่างไม่เกิน 6 เมตรจากตัวบ้าน  ตัวอย่างองค์ประกอบที่อยู่ในโซนนี้ได้แก่ ถังน้ำฝน, พืชสวนครัวที่ใช้บ่อยๆ (เช่น พริก มะนาว), สระน้ำขนาดเล็กสำหรับเลี้ยงปลาสวยงาม, ที่เลี้ยงไส้เดือน, ที่วางไข่ของไก่ที่เลี้ยงไว้, ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงสวยงามที่ต้องดูแลบ่อย (เช่น กระต่าย, นก)  ที่นั่งเล่น

โซน 2 : แปลงผัก

เรามักจะต้องไปทำกิจกรรม ทุก 2-3 วัน  โซนนี้ต้องการการจัดการน้อยลงมาหน่อย ได้แก่ แปลงปลูกผักที่ใช้เวลาในการปลูกนานขึ้นแต่เป็นที่ปลูกไว้เพื่อรับประทานเอง หรือขายเล็กๆ น้อยๆ, ที่เลี้ยงสัตว์ที่ต้องดูแลบ่อย(เช่น เป็ด ไก่ แพะนม วัวนม) หรือแม้นแต่โรงเวิร์คชอพสำหรับงานไม้ หรืองานประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆ

โซน 3 : ฟาร์ม

เรา มักจะต้องไปทำกิจกรรมทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน ได้แก่ แปลงผักปลูกเพื่อขายขนาดใหญ่, นา, แนวต้นไม้กันลม,ไม้ผล  โซนนี้เราดูแลด้วยการคลุมดิน และการจัดการน้ำที่ดีทำให้ไม่ต้องไปดูแลบ่อย หรือเป็นที่หมักปุ๋ย ยุ้งข้าว ที่เก็บฟืน/ถ่าน อาจจะเลี้ยงสัตว์พวกแพะ แกะ ห่าน ผึ้ง หรือวัว

โซน 4 : ป่าปลูก

เราไปทำกิจกรรม เป็นครั้งคราว ควรจะปลูกไม้ยืนต้นที่โตได้เร็ว  เพื่อใช้เป็นฟืน/ถ่าน สำหรับใช้ในบ้าน อาจจะเลี้ยงสัตว์พวกวัว กวาง หรือหมู

โซน 5 : ป่าธรรมชาติ

เรา แทบจะไม่ต้องไปทำกิจกรรมในบริเวณนี้เลย หรือไปเพียงเพื่อท่องเที่ยว หรือพักผ่อน  ถ้าที่ดินของเราติดแนวป่า  โซนนี้จะเหมือนกับการขยายขอบเขตของแนวป่าเข้ามาในพื้นที่ของเรา  เพื่อจะได้สามารถปลูกไม้ยืนต้นที่มีอายุ 20ปีขึ้นไป และสามารถตัดไม้ได้อย่างถูกกฎหมาย

ตัวอย่างของการออกแบบโซนสำหรับบ้านในเมือง เราอาจจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นเพียงโซน 0 - 3 เท่านั้น







เมื่อ ดูหลักของเพอร์มาคัลเชอร์มันช่างเข้ากับนิสัยขี้คร้านเสียจริง  ดังนั้นเราจะต้องเลือกโซน 0 (บ้าน) ให้อยู่ในตำแหน่งที่เราจะเดินไปทำกิจกรรมต่างๆ ในสวนได้สะดวก  การที่ผมเลือกตำแหน่งสร้างขนำอยู่ค่อนข้างตรงกลางที่ก็จะทำให้การเดินทางไป ทำกิจกรรมต่างๆ ในสวนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ลดภาระการเดินมากจนเกินไป (สมกับสไตล์ขี้คร้าน)  ส่วนการที่อยู่ใกล้แนวรั้ว  และประตูรั้วก็อยู่ใกล้ทางเข้าหลักของสวนที่รถจะขับมาจากทางด้านขวามือ (ด้านตะวันออก) ก็จะทำให้การเดินทางด้วยรถยนต์เข้ามาที่สวนได้สะดวก ไม่ต้องขับรถไกลไปเพื่อจะเลี้ยวเข้ารั้ว  เป็นอีกเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในการลดพลังงานในการขับรถยนต์  มันชั่งน่าอัศจรรย์ที่ศาสตร์ของพราหมณ์ ศาสตร์ฮวงจุ้ย และศาสตร์ของเพอร์มาคัลเชอร์ออกแบบตำแหน่งของโซน 0 (บ้าน) ได้อย่างลงตัวโดยไม่มีประเด็นขัดแย้งกัน

หลักการออกแบบโซนของเพอร์มา คัลเชอร์ยังให้แนวทางในการออกแบบการใช้พื้นที่  การเลือกปลูกพืชให้ถูกต้องตามลักษณะการใช้งานในแต่ละโซน การออกแบบที่ดีจะช่วยลดทั้งพลังงานกาย และเครื่องจักรที่จะเอามาใช้ในงานสวน ทำการดำรงชีวิตในสวนขี้คร้านใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ  ลดการเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่จำเป็น และลดของเสียที่เราจะปล่อยกลับไปในธรรมชาติ  เพื่อที่เราจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ยั่งยืนมากยิ่งขึ้นในระยะยาว


เพิ่มเติมนิดนึงเรื่องการออกแบบ อย่าไปดูที่ผลลัพธ์เพราะจะต้องดูประโยชน์ใช้สอยที่สอดคล้องกับกิจกรรมของ เจ้าของ ดังนั้นแต่ละสวนก็จะได้แบบที่ออกมาแล้วไม่เหมือนกัน  ในตัวอย่างของสวนขี้คร้าน ผมคิดจะสร้างขนำสำหรับใช้ในการทำงานสวน  ไม่ได้เน้นเรื่องการพักผ่อนเป็นรีสอร์ท  เนื่องจากมีเวลาเฉพาะวันหยุด ผมใช้เวลามากไปกับการเดินสำรวจให้ทั่วทั้งพื้นที่ถ้าเป็นไปได้  และมุ่งเน้นเฉพาะบางโซนที่ต้องการการใส่ใจเป็นพิเศษ เช่น บริเวณที่ปลูกผัก หรือต้นไม้พุ่มขนาดเล็ก ขนำจึงเป็นศูนย์กลางในเก็บเครื่องมือ เมื่อเราสำรวจเจองานที่ต้องกระทำก็จะสามารถเดินทางกลับมาขนำเพื่อเอาเครื่อง มือได้ง่าย  เป็นที่พักเวลาเหนื่อย  ผมจึงเอาไม้ผลที่กินทั้งปี หรือต้องดูแลมากหน่อยมาปลูกใกล้บ้าน เอาไม้ผลที่ออกผลปีละครั้งปลูกไกลถัดไป ส่วนไม้ป่าที่ไม่ต้องดูแลมาก ถ้าจะใช้งานได้ก็อีก 10-15 ปีถัดไปก็เอาไปปลูกริมรั้วด้านไกลที่สุด

แนวคิดแบบนี้ไม่ใช่เรื่อง แปลกสำหรับเมืองไทย  ในสมัยเดิมที่ไม่มีระบบชลประทาน  ทำนาปีละครั้ง ชาวนาหลายคนก็มักเอาที่นาไว้ไกลบ้านเพราะไม่ต้องไปทำบ่อยๆ  ที่ใกล้บ้านก็จะปลูกพืชสวนครัว ไม้ผล และเลี้ยงสัตว์  ในเพอร์มาคัลเชอร์เพียงแต่เอาองค์ความรู้เหล่านี้มาจัดระเบียบ และสอนเป็นหลักสูตรให้กับคนที่ต้องออกแบบระบบ ออกแบบการใช้งานที่ดิน  เพื่อจะได้มีหลักในการออกแบบ  และเข้าใจถึงเหตุผลเบื้องหลัง มากกว่าที่จะทำตามๆ คนอื่นโดยไม่เข้าใจว่าทำไม
 



ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=79810.0 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น