ในช่วงต้นๆ หลังจากขุด swale ผลลัพธ์จะขึ้นอยู่กับลักษณะของดินในร่อง ในร่องที่สัดส่วนของดินเหนียวมีมากก็จะสามารถอุ้มน้ำได้ดีมากๆ น้ำจะขังในร่องได้เป็นเดือน ทั้งๆ ที่ระดับ Table Table ในบริเวณนี้ไม่สูง ดูจากภาพตัวอย่างข้างล่างเราจะเห็นได้ชัดถือผลของ Capillary action ซึ่งจะทำให้น้ำที่อยู่ระดับต่ำกว่าถูกดึงขึ้นมาที่ระดับสูงขึ้น ดังนั้นน้ำที่อยู่ใต้ดินจะถูกดึงขึ้นมาด้วยแรง Capillary action เพื่อให้ใกล้รากพืชมากขึ้น ประเด็นคือ swale จะช่วยเราในการเอาน้ำที่เดิมจะเป็น run-off มาเก็บเป็นน้ำใต้ดินให้กับเรา และโดยปกติแรง Capillary action จะดึงน้ำใต้ดินขึ้นมาได้สูงประมาณ 50 เซนติเมตร
ส่วนที่เราจะเห็นส่วนใกล้ผิวดินแห้งเนื่องจากความร้อนจะทำให้น้ำใกล้ผิวดินระเหยออกไป เมื่อน้ำใกล้ผิวดินระเหยก็จะมีแรง Capillary action ดึงน้ำจากส่วนที่อยู่ติดกันขึ้นมาใกล้ผิวดิน ซึ่งก็จะโดนความร้อนที่ผิวทำให้ระเหยอีกจนสุดท้ายหากไม่มีฝน น้ำค้าง หรือการรดน้ำ ดินบริเวณ 30-50 เซนติเมตรแรกจะแห้งสนิท แต่น้ำที่อยู่ล่างลงกว่านั้นจะเกินที่ Capillary action ดึงน้ำขึ้นมา ทำให้น้ำที่อยู่ใต้ดินลึกกว่า 50 เซนติเมตรไม่โดนผลกระทบจากการระเหยเท่าไหร่ แต่หมายความว่าพืชที่จะนำน้ำส่วนนี้มาใช้งานได้จะต้องมีรากลึกมากกว่า 50 เซนติเมตร ซึ่งส่วนใหญ่พืชที่มีรากลึกแบบนั้นจะเป็นต้นไม้มากกว่าพืชล้มลุก
ในบริเวณที่มีดินเหนียวเป็นองค์ประกอบน้อยก็จะไม่ค่อยเก็บน้ำได้ (ส่วนใหญ่ swale ที่สวนขี้คร้านจะเป็นแบบนี้) เราจะเห็นน้ำค้างในร่องแบบนี้เฉพาะวันที่ฝนตกหนัก และนานจริงๆ หากมีน้ำเต็มร่องก็จะใช้เวลาซึมลงดินจนหมดแตกต่างกันไปตามลักษณะดิน จากผลทดลองที่สวนขี้คร้านจะมีทั้ง swale ที่แห้งภายใน 6 ชั่วโมง ภายใน 1 วัน และภายใน 3 วัน และภายใน 5 วัน
เมื่อดินมีน้ำใต้ดินมากขึ้นเราก็จะเริ่มเห็นวัชพืชประเภทหญ้าจำนวนมากผิดจากลักษณะเดิมของที่ดิน
ถ้าพวกเราศึกษาเรื่องดินจริงจังจะพบว่าอินทรีย์วัตถุ (organic matter) จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของดินที่ดี โดยปกติ organic material เช่น รากพืช ใบไม้ กิ่งไม้เมื่อย่อยสลายแล้วจะเหลือเป็น organic matter เพียง 10% หมายความว่าถ้าเราต้องการเพิ่ม organic matter 1 ตัน เราจะต้องใช้ organic material มากถึง 10 ตัน คำถามคือเราจะใช้วิธีซื้อมาจากที่อื่นหรือเราจะให้ธรรมชาติเป็นคนสร้าง organic material ให้กับเรา? (ลองไปอ่านเรื่องวัฏจักรของคาร์บอนที่ http://my-experimental-farm.blogspot.com/2014/04/CarbonCycle.html จะพบมวลของต้นไม้ส่วนหนึ่งจะเกิดจากตรึงธาตุในอากาศให้กลายมาเป็นส่วนต่างๆ ของพืช )
เมื่อเราศึกษาในเชิงลึกลงไปเราจะพบว่าในบริเวณที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่จะเป็นแหล่งของ organic material ได้น้อยกว่าบริเวณที่เป็นทุ่งหญ้าหรือไม้ล้มลุก เนื่องจากต้นไม้ขนาดใหญ่ใช้เวลานานกว่าที่รากจะตาย เราจึงจะได้ organic material จากใบที่ร่วงเท่านั้น แต่หากเป็นพืชล้มลุกมักจะตายในหน้าแล้งทุกปี และงอกขึ้นมาใหม่ในหน้าฝน จึงสามารถเพิ่ม organic material ให้กับพื้นดินมากกว่า การที่เราเห็นว่าพื้นที่ว่างเปล่าที่เสื่อมโทรมนั้นธรรมชาติจะเริ่มต้นการฟื้นฟูด้วยหญ้า และวัชพืชล้มลุกก่อนเพื่อเพิ่ม organic matter จากนั้นเราจึงจะเห็นไม้พุ่มขนาดเล็ก และตามมาด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ ดังนั้นเราอย่าไปมองว่าหญ้าเป็นศัตรู เนื่องจากหญ้าเป็นกลไกตามธรรมชาติที่จะช่วงฟื้นฟูสภาพดิน การเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดินแล้วทำให้หญ้าและวัชพืชที่มีรากตื้นเหล่านี้เติบโตได้ดีจึงเรียกได้ว่าเป็น "ทรัพยากรที่ยังไม่ถูกใช้" (unused resources)
เพื่อเร่งให้มีการสร้าง organic material จำนวนมากขึ้น บางครั้งผมก็จะตัดวัชพืชในช่วงหน้าฝน การตัดเราไม่ได้ต้องการตัดให้ตาย เราต้องการตัดเพื่อให้วัชพืชสามารถงอกขึ้นมาใหม่อีกรอบ เพื่อให้เราได้ organic material ใน 1 ปีเพิ่มขึ้นมากว่าการไม่ตัด (แตกต่างกับการใช้ยาฆ่าหญ้าที่มีจุดมุ่งหมายจะฆ่าวัชพืชมากกว่าจะเพิ่มปริมาณ organic material จากวัชพืช) หรือเราอาจจะตัดเพื่อควบคุมให้ต้นไม้ได้มีโอกาสเติบโตเร็วกว่าการไม่ช่วยควบคุมวัชพืชเลย ส่วนวัชพืชที่ตัดนั้นบางคร้งผมก็ทิ้งกองไว้ตรงนั้น ถ้ามีเวลามากหน่อยก็เอามาสุมรวมๆ กันเพื่อทำปุ๋ย
ถึงแม้นว่าเราจะตัดหรือไม่ตัดวัชพืช การปลูกแนวธรรมชาติที่ไม่มีการให้น้ำที่ผิวดินนั้นวัชพืชมักจะแห้งตายเองในหน้าแล้ง วัชพืชส่วนที่แห้งตายเองตามธรรมชาติก็ดี ส่วนที่เราตัดแล้วทิ้งไว้ให้แห้งก็ดีจะกลายเป็นวัสดุคลุมดิน (mulch) ซึ่งจะช่วยลดน้ำ run off และรักษาความชุ่มชื้นให้กับดิน ความชุ่มชื้นนี่เองก็จะช่วยให้วัชพืชเติบโตได้ดีขึ้นในรอบปีถัด เมื่อผ่านไปนานๆ เข้าชั้นของวัสดุคลุมดินก็จะหนาขึ้น ดินเองก็จะมี organic matter มากขึ้นจนเอื้อให้ไม้พุ่ม หรือต้นไม้ขนาดใหญ่สามารถรอดแล้งและเติบโตได้ดีขึ้น เป็นขบวนการฟื้นฟูป่าโดยธรรมชาติ และเมื่อไม้ใหญ่มีมากขึ้นวัชพืชก็จะได้รับแสงแดดน้อยลง จนเริ่มมีจำนวนลดลงไปเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น