11 เมษายน 2557

"มัน" คืออะไร?

หากตอบแบบอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งก็คงตอบว่า Potato แต่เรามาดูตัวอย่างกัน เริ่มต้นที่ "มันแกว" (ภาษาภาคกลาง) ในที่นี้คือต้นเดียวกับ "มันเพา" ในภาษาอีสาน  ความจริงแล้วไม่ใช่มัน  แต่เป็นพืชวงศ์ถั่ว (Leguminosae-Papilionoideae) จะมีปมที่รากที่สามารถตรึงไนโตรเจนได้เหมือนกันแต่ไม่เยอะมาก "มันแกว" จึงสามารถขึ้นในดินที่มีธาตุไนโตรเจนต่ำได้ แต่เปอร์เซ็นต์ไนโตรเจนต่อน้ำหนักแห้งจะมีประมาณ 1% นิดๆ เทียบกับปอเทืองที่มี 1.98% ก็จะเห็นว่าน้อยกว่าเกือบเท่าตัว  เนื่องจากต้นมันแกวจะต้องเอาอาหารไปเลี้ยงหัวที่ราก เวลาออกดอก และเมล็ดก็จะยิ่งมีไนโตรเจนต่ำลงไปอีก   ส่วนมันเทศ (ซึ่งเรียกว่า"มันแกว"ในภาษาอีสาน) วงศ์ Convolvulaceae  นั้นไม่มีเชื้อ Rhizobia ที่รากไว้สำหรับตรึงไนโตรเจนเหมือนพืชวงศ์ถั่วครับ  แต่สามารถปลูกเป็นพืชคลุมดินได้เช่นกัน
มันแกว

แม้นว่าหัวของมันแกว และฝักอ่อนของมันแกวสามารถจะรับประทานได้ แต่ใบและเมล็ดแก่ของมันแกวนั้นมีพิษ โดยเฉพาะที่เมล็ดของมันแกวนั้น มีสารที่มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง หลายชนิด ได้แก่ pachyrrhizin, pachyrrhizone, 12-(A)-hydroxypachyrrhizone, dehydropachyrrhizone, dolineone, erosenone, erosin, erosone , neodehydrorautenone, 12 -(A)-hydroxy lineonone, 12-(A)-hydroxymundu- serone, rotenone  นอกจากนี้ยังมีสารซาโปนิน ได้แก่ pachysaponins A และ B ซึ่งละลายน้ำได้ และเป็นพิษต่อปลาทำให้ปลาตาย ส่วนใบของมันแกวนั้นมีสารพิษคือ pachyrrhizid ซึ่งมีพิษต่อโคและกระบือมากกว่าม้า

เมื่อศึกษาพิษของ rotenone ในมันแกวพบว่า ถ้ารับประทาน rotenone เข้าไป จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน การหายใจเข้าไปพิษจะรุนแรงกว่า โดยไปกระตุ้นระบบการหายใจ ตามด้วยการกดการหายใจ ชัก และอาจถึงชีวิตได้  มีรายงานว่าถ้ารับประทานเมล็ดมันแกวเพียงครึ่งเมล็ดจะเป็นยาระบาย และบางแห่งใช้เป็นยาขับพยาธิ ดังนั้นจึงควรระมัดระวัง นอกจากนี้อาจเกิดอาการพิษเรื้อรัง โดยทำให้ไขมันในตับและไตเปลี่ยนแปลง ส่วนพิษของสารซาโปนิน จะมีผลต่อระบบทางเดินอาหารเช่นกัน คือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ลำไส้อักเสบ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีปัญหาในระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถทรงตัวได้ ระบบไหลเวียนโลหิตผิดปกติและทำให้ชักได้

มันแกว มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Mexican Yam, Mexican Turnip หรือ Jícama และพืชในกลุ่มนี้เรียกรวมๆ ว่า Yambean ซึ่งถ้าแปลตรงๆ น่าจะเรียกว่า "มันถั่ว" เนื่องจากพืชชนิดนี้เป็นพืชวงศ์ถั่ว แต่มีหัวใต้ดินคล้ายๆ พืชวงศ์มันเทศ  โดยจากหลักฐานทางชีววิทยาคาดว่า "มันแกว" มีต้นกำเนิดในอเมริกากลาง แถบประเทศเม๊กซิโก  ภายหลังจากที่ชาติตะวันตกค้นพบทวีปอเมริกา เข้าใจกันว่าชาวสเปนเป็นผู้นำ "มันแกว" เข้ามาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยนำเข้าปลูกครั้งแรกที่ประเทศฟิลิปปินส์ในช่วงศตวรรษที่ 16

ต่อมา จึงมานำไปปลูกและบริโภคในประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน  โดยได้ชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น "singkamas" ในฟิลิปปินส์  "cu dau", "cu san" หรือ "san nuoc" ในเวียดนาม  และ "man pao" (มันเพา)  ในลาว

ส่วนคำว่า "มันแกว" ในภาษาภาคกลางสันนิษฐานว่ามาจากความนิยมรับประทานมันแกวในหมู่ชาวเวียดนาม ซึ่งเดิมเคยมีคำเรียกชาวเวียดนาม (หรือชาวญวน) ว่า "ชาวแกว" ต่อมาชาวญวณบางส่วนได้อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทย และนำมันแกวมาปลูกรับประทาน  จึงอาจจะมีการเรียกพืชชนิดนี้ซึ่งลักษณะคล้ายหัวมันตามชื่อชาวแกวว่า "มันแกว" หรือมันของชาวแกวนั่นเอง

ส่วนชื่อเรียก "มันเพา" หรือ "มันสะเภา" ในภาษาอีสานน่าจะมาจากภาษาลาว  และเนื่องจาก "มันแกว" ในภาษาอีสาน และภาษาเหนือหมายถึง "มันเทศ" อาจจะทำให้สับสน  ในภาษาเหนือจึงเรียกมันแกวว่า "มันแกวลาว" "มันลาว" "มันแกวละแวก" หรือ "มันละแวก" (ละแวกในที่นี้น่าจะหมายถึงเมืองหนึ่งของชาวเขมร) เพื่อให้รู้ว่าไม่ได้หมายถึง "มันเทศ"  ถ้าฟังดูจากชื่อเรียกทำให้เข้าใจว่าการแพร่พันธุ์ของมันแกวในยุคแรกๆ น่าจะเริ่มจากฟิลิปปินส์แล้วถูกนำเข้ามาปลูกทางประเทศชายฝั่งตะวันออก เช่น เวียดนาม (ญวน)  เขมร (กัมพูชา) แล้วจึงค่อยๆ นำเข้าปลูกในฝั่งตะวันออกอย่างประเทศลาว และไทยในภายหลัง  เราจึงเรียกชื่อเสมอหนึ่งกับว่าพืชชนิดนี้เป็นของชาวญวน(แกว) ชาวเขมร(ละแวก) และชาวลาว  พอรู้ประวัติแบบนี้ผมชักอยากจะเรียกพืชชนิดนี้ว่า "มันเม็กซิโก" แทน  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม

หมายเหตุ เข้าใจว่าในภาษาลาวจะเรียกมันเทศว่า "มันด้าง" จึงยังไม่แน่ใจว่าทำไมจึงมีการเรียกมันเทศว่า "มันแกว" ในภาษาอีสาน และภาษาเหนือ
 

ส่วน "มันเทศ" ถ้าแปลตรงตัวหมายถึงมันที่มาจากต่างประเทศ  ความจริงแล้วมันเทศมีต้นกำเนิดในทวีปอเมริกาเช่นเดียวกับมันแกว ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ของมันเทศในทวีปเอเชีย จะพบว่ามีหลายทฤษฎีได้แก่ (1) ชาวสเปนนำเข้าทางประเทศฟิลิปปินส์ในช่วงศตวรรษที่ 16 เหมือนประวัติของมันแกว (2) ชาวโปรตุเกสนำเข้ามาในเอเชียในช่วงศตวรรษที่ 15  ซึ่งทั้ง 2 ทฤษฎีเป็นช่วงเวลาภายหลังจากที่โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกาในปี ค.ศ. 1492 ในช่วงท้ายๆ ของศตวรรษที่ 15  และโคลัมบัสได้นำมันเทศกลับไปแนะนำให้ทวีปยุโรบ  ในตอนนั้นการค้นพบมันเทศเป็นเสมือนหนึ่งกับทองคำ เนื่องจากมันเทศมีรสชาติหวานกว่ามันชนิดอื่นที่ชาวยุโรบเคยรับประทาน  จึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วที่จะติดมันเทศไว้ในเรือในยามที่ต้องเดินทาง ไกลเป็นแรมเดือนอย่างเช่นการเดินทางมาเอเชีย

และ (3) หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ขุดพบมันเทศที่มีอายุในช่วงศตวรรษที่ 11 ในทวีปเอเซีย  จึงมีอีกทฤษฎีหนึ่งว่าชาว Polynesia ซึ่งเดินทางระหว่างหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิค เป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่นำเอามันเทศมาที่ทวีปเอเชีย  ซึ่งทฤษฎีนี้อาจจะสอดคล้องกับต้นสาบเสือ ซึ่งถูกเรียกว่า Siam Weed เนื่องจากชาวตะวันตกพบต้นนี้ในประเทศไทยตั้งแต่ก่อนจะเจอทวีปอเมริกา ทั้งๆ ที่ต้นสาบเสือมีต้นกำเนิดจากทวีปอเมริกา  แสดงว่าจะต้องบางชนชาติที่สามารถเดินทางจากทวีปอเมริกามาถึงเอเชียก่อน ชาวตะวันตกจะค้นพบทวีปอเมริกาในปลายศตวรรษที่ 15 (ปี ค.ศ. 1492) และนำพาพืชเหล่านี้มาด้วย  โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในปัจจุบันพอจะสรุปได้ว่า  มันเทศถูกนำเข้ามาในเอเชียก่อนมันแกว



ผม จึงขอมั่วๆ อีกสมมุติฐานหนึ่ง (ไม่มีแหล่งอ้างอิงใดๆ ทั้งสิ้น) ว่า ในช่วงแรก "มันเทศ" ก็ถูกแนะนำเข้ามาในไทยโดยชาวแกว (ญวน) เช่นเดียวกับมันแกว  ในภาษาดั้งเดิมจึงเรียกมันเทศว่ามันแกว  ในภาษาไทลื้อ (ทางภาคเหนือ) ซึ่งน่าจะมีภาษาที่เก่าแก่กว่าภาษาภาคกลางจึงเรียกมันเทศว่า "มันแก๋ว"   ต่อมามีการแนะนำมันเทศเข้ามาในภาคกลางโดยชาวโปรตุเกศที่เข้าทำงานในช่วงสมัย อยุธยาจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในภาคกลาง  ทำให้ในภาคกลางเริ่มเรียกมันชนิดนี้ว่า "มันเทศ" หมายถึงมันของชาวต่างชาติ  ต่อมา "มันแกว" จริงๆ เริ่มถูกนำเข้าในประเทศไทยโดยชาวแกว (ญวน) ในช่วงประมาณหนึ่งร้อยปีถัดมา  ทางภาคกลางเลยเรียกมันแกวว่า "มันแกว"  ส่วนคนภาคเหนือใช้ชื่อมันแกวหมายถึงมันเทศ  จึงต้องเติมชื่อต่อท้ายกลายเป็น "มันแกวลาว" หรือ "มันแกวละแวก" ตามกลุ่มชนที่มาจำหน่ายพืชชนิดนี้เพื่อให้แตกต่างจากชื่อ "มันแกว" เดิม  ต่อมาก็มีการเรียกให้สั้นกลายเป็น "มันลาว" หรือ "มันละแวก" แทน... มั่วสุดชีวิต  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิ้มกว้างๆ ยิ้มกว้างๆ

มั่ว ต่ออีกนิด...คำว่า "มันเพา" หรือ "มันสะเภา" ที่ใช้เรียกมันแกวในภาษาลาว และภาษาอีสาน  คำว่า "เพา" น่าจะจากคำว่า "สะเภา" ซึ่งมีความหมายเดียวกับคำว่า "สำเภา"  ดังนั้น "มันเพา" จึงน่าจะแปลว่ามันที่มากับเรือสำเภา  ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ที่บอกว่า มันแกว ถูกนำเข้ามาครั้งแรกในแถบนี้ที่ฟิลิปปินส์  จากนั้นมันแกวคงถูกลำเลียงมาจำหน่ายในแถบนี้ด้วยเรือสำเภาในสมัยโบราณ... มั่วสุดชีวิต  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิ้มกว้างๆ ยิ้มกว้างๆ

พอฟังไป 2 "มัน" ก็ชักสงสัยว่า "มัน" คืออะไร? เรามาดูกันว่าสิ่งที่คนไทยเรียกว่า "มัน" นั่นส่วนใหญ่จะเป็นพืชวงศ์ไหน

ชื่อมันชื่อภาษาอังกฤษชื่อวิทยาศาสตร์วงศ์
มันเลือดนกfive leaf yam, Mountain yam, Wild yamDioscorea pentaphyllaDioscorea
มันขมิ้น หรือ มันเหน็บ มันนก มันอีโม้Aerial yamDioscorea bulbiferaDioscorea
มันเสาPurple yam, Greater yam, Winged yamDioscorea alataDioscorea
มันมือเสือSpiny yam, Potato yam, Lesser yamDioscorea esculentaDioscorea
กลอยIntoxicating yam, Nami, Wild yamDioscorea hispidaDioscorea
มันนกN/ADioscorea myrianthaDioscorea
มันเทียนN/ADioscorea dauneaeDioscorea
มันแซงN/ADioscorea pseudo-tomentosaDioscorea
มันขี้หนูChinese Potato, Coleus potato, Hausa potatoPlectranthus rotundifoliusLamiaceae
มันสาคูMaranta, ArrowrootMaranta arundinaceaMarantaceae
มันเทศSweet PotatoIpomoea batatasConvolvulaceae
มันสำปะหลังCassava Root , TapiocaManihot esculentaEuphorbiaceae
มันฝรั่งPotatoSolanum tuberosumSolanaceae
มันแกวYam beanPachyrhizus erosusLeguminosae-Papilionoideae

ดังนั้นหากเราสังเกตุดีๆ จะพบว่าส่วนใหญ่มันจะหมายถึงพืชในวงศ์ Dioscorea และชื่อภาษาอังกฤษก็น่าจะเป็น Yam มากกว่าที่อดีตนายกรัฐมนตรีเคยตอบไว้ว่า Potato อย่างไรก็ตามพืชที่ถูกที่เรียกว่ามันมีอย่างน้อยก็ 7 วงศ์ในตารางข้างบน  แถมพืชในวงศ์ Dioscorea อย่าง "กลอย" กลับไม่ถูกเรียกว่า "มัน"  ดังนั้นเราน่าจะพอสรุปได้คร่าวๆ ว่า

"มัน" ในภาษาไทยหมายถึงพืชที่มีหัว เป็นแหล่งอาหารพลังงานจำพวกแป้งที่บรรพบุรุษของเราพอใจจะเรียกว่า "มัน" ส่วนพืชที่มีหัวจำพวกแป้งอื่นๆ ที่บรรพบุรุษของเราอยากเรียกเป็นชื่ออื่นก็สามารถเรียกได้ตามความถนัด เช่น กลอย เผือก กลิ้งกลางดง ท้าวยายม่อม เป็นต้น ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะในอดีตความรู้ทางพฤษศาสตร์ของคนไทยเราจะน้อยจึงไม่ได้เรียกชื่อตามลักษณะของพืชเหมือนในภาษาอังกฤษ  เราไม่สามารถสรุปจากชื่อในภาษาไทยของ "มัน" ว่าจะหมายถึงพืชวงศ์ใดวงศ์หนึ่งโดยเฉพาะ หรือพืชที่มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกันก็ไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น